.
.
ข้อมูลจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)ระบุว่า รถยนต์ รถบรรทุก เรือ รถประจำทางและเครื่องบินมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ประมาณ 1 ใน 4 และปริมาณก๊าซคาร์บอนฯส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนน
วอลโว่ ของสวีเดน ,ฟอร์ด มอเตอร์ โค ,เจเนอรัล มอเตอร์ส โค (จีเอ็ม),เมอร์เซเดส -เบนซ์ของเดมเลอร์ เอจี ,บีวายดี โค ของจีน และจากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ หน่วยงานในเครือของทาทา มอเตอร์ส จำกัดของอินเดีย ได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันในเรื่องนี้ ในการประชุมสภาพอากาศโลกที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ถือเป็นข้อริเริ่มล่าสุดที่ค่ายรถยนต์ร่วมกันบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนให้ได้ภายในกลางศตวรรษ
ที่ผ่านมา วอลโว่ได้ให้คำมั่นว่าจะผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคันอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2573
อังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศโลก หรือ COP 26 กล่าวว่า บรรดาประเทศน้องใหม่ ที่รวมถึง นิวซีแลนด์ และโปแลนด์จะเข้าร่วมกับประเทศอื่นๆที่เข้าร่วมทำข้อตกลงให้รถยนต์และรถแวนใหม่ทุกคันที่ผลิตออกมาเป็นรถที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ศูนย์เปอร์เซนต์ภายในปี 2583 หรือเร็วกว่านั้น
ด้านจีเอ็ม กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ร่วมกับบริษัทอื่นๆ รัฐบาลประเทศต่างๆและองค์การเพื่อประชาสังคมเพื่อเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯให้เหลือศูนย์เปอร์เซนต์ ภายในปี 2588
เช่นเดียวกับฟอร์ด ยืนยันการมีส่วนร่วมกับความพยายามครั้งนี้และว่าจะผลักดันให้ทุกคนมาร่วมกันทำงานนี้ให้ประสบความสำเร็จ ขณะที่ในส่วนของสหรัฐนั้น แม้รัฐบาลสหรัฐไม่ได้รับปากหรือให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แต่รัฐที่เป็นตลาดรถยนต์หลักๆในสหรัฐอย่างแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเลิกใช้รถยนต์ที่กินน้ำมันในครั้งนี้ด้วย
ที่ผ่านมา คณะกรรมธิการยุโรป(อีซี)เสนอให้มีการห้ามรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันวิ่งบนท้องถนนภายในปี 2578 พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จแบตเตอรีตามที่บรรดาค่ายรถยนต์เรียกร้อง
ด้านสเตลแลนทิส ค่ายรถยนต์อันดับ 4 ของโลก ไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงครั้งนี้ด้วย เช่นเดียวกับค่ายรถญี่ปุ่นอีกหลายแห่ง อย่างฮอนด้า มอเตอร์ โค จำกัด และนิสสัน มอเตอร์ โค จำกัด บีเอ็มดับเบิลยู ของเยอรมนี และฮุนได มอเตอร์ โค ของเกาหลีใต้
นอกจากค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกจะเคลื่อนไหวเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแล้ว ภาครัฐก็มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เช่นกัน โดยรัฐบาลออสเตรเลียประกาศตั้งกองทุนใหม่เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษต่ำ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (ซีซีเอส)
นายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสัน และ“แองกัส เทย์เลอร์” รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม พลังงานและการลดมลพิษ ประกาศเปิดตัวกองทุนสนับสนุนเทคโนโลยีปล่อยมลพิษต่ำ (Low Emissions Technology Commercialisation Fund)
โดยกองทุนนี้จะบริหารงานโดยบรรษัทการเงินด้านพลังงานสะอาด (ซีอีเอฟซี) จะประกอบด้วยเงินทุนจากภาครัฐและเอกชนภาคส่วนละ 500 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (369 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
“แผนของเราในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2593 นั้น เป็นหนึ่งในภารกิจของออสเตรเลียที่จะมุ่งเน้นไปที่ด้านเทคโนโลยีไม่ใช่ด้านภาษี และกองทุนนี้จะช่วยสนับสนุนบริษัทของออสเตรเลียในการหาโซลูชั่นใหม่ ๆ” มอร์ริสัน กล่าว
ในการจัดตั้งกองทุนนี้ รัฐบาลต้องผ่านร่างกฎหมายเป็นครั้งแรกเพื่ออนุญาตให้ซีอีเอฟซีสามารถลงทุนในเทคโนโลยีซีซีเอส
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า การเคลื่อนไหวใด ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำหรับซีอีเอฟซีก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2565 นั้น มีแนวโน้มที่จะถูกคัดค้านโดยพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน
As part of their spo…
This website uses cookies.