ปกติ”คนจน”ก็ใช้ชีวิตยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ยิ่งแย่กว่าเดิม แท็กซี่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีการเช่า และอีกหลายกลุ่มที่มีปัญหาไม่มีรายได้ จึงมีข้อเสนอว่า น่าจะมีการประกันรายได้
ปกติ”คนจน”ก็ใช้ชีวิตยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด ยิ่งแย่กว่าเดิม แท็กซี่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่มีการเช่า และอีกหลายกลุ่มที่มีปัญหาไม่มีรายได้ จึงมีข้อเสนอว่า น่าจะมีการประกันรายได้
“โควิดทำพิษ ชีวิตพัง”
“ช่วยด้วยจะตายแล้ว”
“ลุงตู่ช่วยด้วย วิ่งทั้งวันได้แค่ค่าข้าว”
ป้ายข้อความเหล่านี้วางอยู่บนกระจกหน้ารถของแท็กซี่บางส่วน จากจำนวนแท็กซี่ทั้งหมด 300 คันที่ถูกจอดทิ้งไว้ลานจอดรถของอู่สหกรณ์บวรและราชพฤกษ์แท็กซี่ ขณะที่บนหลังคาของรถแท็กซี่เหล่านั้นปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิด
ฐาปกรณ์ อัศวเลิศกุล อายุ 54 ปี ที่ปรึกษาสหกรณ์บวรและราชพฤกษ์แท็กซี่ กล่าวว่า เพราะสถานการณ์โควิด-19 คนขับไม่สามารถหารายได้ได้ หรือบางคนรายได้ก็ไม่พอกับรายจ่าย
จึงต่างพากันทยอยคืนรถเรื่อย ๆ จนต้องกระจายไปจอดตามจุดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพ รวมแล้วกว่า 2,000 คัน จากแท็กซี่ของสหกรณ์ทั้งหมดที่มีกว่า 3,000 คัน หมายความว่ารถแท็กซี่ของสหกรณ์ที่ขับอยู่บนท้องถนนวันนี้เหลือไม่ถึง 1,000 คัน ทั้งยังเป็นหนี้กับบริษัทไฟแนนซ์รถยนต์อีกกว่า 3,000 สัญญา
1.ความเหลื่อมล้ำช่วงโควิด
นอกจากวิกฤตโควิดสี่ระลอกที่ผ่านมาจะท้าทายขีดจำกัดของระบบสาธารณสุขบ้านเราอย่างถึงที่สุดแล้ว วิกฤตโควิดยังตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำแทบจะเรียกได้ว่าทุกอณู
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงวัคซีน เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง หรือแม้แต่การกักตัวที่บ้าน โดยมีการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ โอกาสในการพยุงกิจการหรือรักษาตำแหน่งงานเอาไว้ การได้รับหรือไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหาย โอกาสในการได้อยู่ต่อหรือหลุดออกไปจากระบบการศึกษา ฯลฯ
วิกฤตโควิด หรืออันที่จริงคือ สถานการณ์โรคระบาดโควิด บวกกับนโยบายการรับมือโควิดที่ผิดพลาด บอกให้เรารู้ว่า ความสิ้นหวังหน้าตาเป็นอย่างไร และการสิ้นเนื้อประดาตัวนั้นอยู่ใกล้ตัวแค่ไหน
และวิกฤตนี้ยังบอกเราด้วยว่า ตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมมีไม่เพียงพอ หรือแทบจะไม่มีเลยสำหรับคนบางกลุ่ม
แม้ว่าข้อมูลของภาครัฐจะระบุว่า จำนวนคนว่างงานในไตรมาสสองของปี 64 มีเพียง 7.8 แสนคน แต่นั่นเป็นเพราะตัวเลขนี้คำนวณเฉพาะแรงงานในระบบเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบในสัดส่วนที่มากกว่า
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ และวันใหม่ นนท์ฐิติพงศ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุไว้ในบทความ “แรงงานนอกระบบ : ผลกระทบและความท้าทายในยุค COVID-19” ว่า ไทยมีกำลังแรงงานทั้งประเทศมี 38 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานในระบบ 17.6 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 20.3 ล้านคน
โดยแรงงานนอกระบบแบ่งเป็น แรงงานนอกระบบภาคเกษตร 11.3 และแรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตร 9 ล้าน
แรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรนี้เอง เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้ลดลงเหลือเพียง 10-50% เทียบกับรายได้ในช่วงก่อนโควิด ตัวอย่างของแรงงานที่ได้รับผลกระทบในกลุ่มนี้ ได้แก่ หาบเร่แผงลอย แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซด์ พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัด เป็นต้น
เหตุผลที่คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบสูงกว่า ก็คือ แรงงานกลุ่มนี้ขาดตัวช่วยในการพยุงรายได้หรือลดค่าใช้จ่าย หรือพูดง่ายๆ ขาดหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน
2.ปัญหาใหญ่แรงงานนอกระบบ
รายงานของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างฉับพลันสูงสุด โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบประกันสังคมมาตรา 33 และแรงงานที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจ SMEs
KKP Research ได้รวมผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา39 และมาตรา 40 ไว้ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวด้วย เนื่องจากผู้ประกันตนสองกลุ่มนี้ไม่มีสวัสดิการว่างงาน (แม้ว่าต่อมารัฐบาลจะให้เงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลาสองเดือน แต่ก็ชัดเจนว่าเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวซึ่งไม่เพียงพอต่อวิกฤตโควิดอันยืดเยื้อครั้งนี้)
ดังนั้นแล้ว ปัญหาใหญ่ของแรงงานนอกระบบจึงไม่ใช่เพียงสถานการณ์โรคระบาด หากแต่เป็นเพราะคนกลุ่มนี้ไม่เคยมีตาข่ายความปลอดภัยหรือ “ตัวช่วย” ใด ๆ มาก่อนเลย
เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา ปัญหาวิกฤต ก็ตามของแรงงานนอกระบบแต่ละคนถูกผลักให้เป็นภาระบ้านใครบ้านมัน หรือของใครของมันเท่านั้นเอง
เมื่อปัญหาพร่องหลักประกันของของกลุ่มแรงงานเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในภาวะก่อน ระหว่าง และหลังวิกฤตโควิด จึงมีความพยายามในการนำเสนอนโยบาย สวัสดิการหรือมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นองค์กรที่คาดการณ์ว่า วิกฤตโควิดจะมีผลกระทบด้านรายได้ต่อแรงงานสูงถึง 13 ล้านคน เสนอว่า รัฐควรอุดหนุนเงินให้เปล่าเป็นรายหัวให้กับแรงงานทั้ง 13 ล้านคน จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะใช้เงินทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท โดยระบุว่ารัฐอาจใช้วิธีกู้เงินเพิ่มเติมได้ โดยอาศัยอำนาจของพ.ร.ก.ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวในระหว่างวิกฤตโควิด
3.รายได้พื้นฐานทุกเดือน
“รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal basic income -UBI)” เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่ไปไกลกว่ามาตรการชั่วคราวในระหว่างวิกฤตโควิด
UBI คือ นโยบายการจ่ายรายได้ขั้นพื้นฐานจำนวนหนึ่งแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกเดือน รายได้พื้นฐานในทีนี้หมายถึง เพียงพอต่อการยังชีพโดยพื้นฐาน โดยมีลักษณะการจ่ายดังนี้
1) จ่ายเป็นเงินสด ไม่ใช่คูปอง หรือสวัสดิการในรูปของการบริการ
2) จ่ายโดยไม่มีเงื่อนไขที่ผูกว่าจะต้องนำเงินไปใช้ในด้านใด
และ3) จ่ายแบบถ้วนหน้า คือ ให้ทุกคน เช่น จ่ายให้กำลังแรงงานทุกคน หรือจ่ายให้เด็กเล็กทุกคน
ความพิเศษของ UBI คือ ความยืดหยุ่นที่ผู้รับจะนำเงินไปใช้ได้ตรงกับเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของตนเอง เพื่อทำให้ตนเองหรือครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสการหารายได้ที่มากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาตัวเองด้านต่าง ๆ หรือพูดง่ายๆว่า UBI เป็นการใส่เงินเข้าเพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลายของประชาชนแต่ละคน
UBI เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยหลายประเทศทั่วโลกได้นำไปทดลองใช้พร้อมทั้งติดตามวัดผล
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เล่าถึงตัวอย่างของสาธารณรัฐเคนยาที่นำ UBI ไปใช้กับกลุ่มทดลอง 3ปี ในชื่อว่า Give Directly (GD)
ผลสำรวจพบว่า ครอบครัวของผู้รับเงิน UBI มีการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะหิวโหยลดลง มีการสะสมทรัพย์สินเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะการซ่อมแซมต่อเติมบ้านและการทำปศุสัตว์ รายได้จากการเลี้ยงสัตว์และรายได้จากการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่การบริโภคยาสูบหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เพิ่มขึ้น
ประเด็นที่ UBI ถูกตั้งคำถามมากที่สุด คือ งบประมาณ ด้วยเหตุที่การให้แบบ “ถ้วนหน้า” ต้องใช้งบประมาณสูง และบางคนมองว่าการให้เงินกับประชากรที่ไม่ยากจนนั้นเป็นสิ่งเกินความจำเป็น
หาก “ความถ้วนหน้า” นั้นมีที่มาที่ไป ปัญหาคลาสสิคที่นักวิชาการและคนทำนโยบายกระจายรายได้พบเสมอ คือ การควานหาตัวคนจน ซึ่งนำไปสู่การพิสูจน์ความจนที่กระทบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อต้องมีการพิสูจน์ความจนก็จะตามมาด้วย “การตกหล่น” เสมอ
4.ที่สำคัญคือ mindset
สำหรับคำถามในเรื่องการใช้งบจำนวนมากนั้น ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ mindset มากกว่าเม็ดเงิน
“จริง ๆ แล้วคำถามเรื่องเงินน่ากังวลน้อยที่สุด เมื่อช่วง 70 ปีก่อน หลายประเทศก่อนที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ ถ้าหักค่าเงิน หักค่าโน่นนี่แล้ว ประเทศไทยปี 2521 ยังรวยกว่าประเทศเหล่านั้นเมื่อ70-80 ปีที่แล้ว” ดร.ษัษฐรัมย์กล่าว
ไทยจะสามารถสร้าง UBI ได้หรือไม่นั้น ดร.เดชรัตน์มองว่า ไทยสามารถเริ่มทำได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสามารถดำเนินการเป็นระยะได้ตามกลุ่มอายุ เพื่อนำร่องไปสู่ UBI เต็มรูปแบบเมื่อการคลังมีรายได้มากขึ้น
“ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ ตอนนี้ประเทศไทยมีการมอบเงินให้เปล่ากับผู้สูงอายุ แต่น้อยกว่าเส้นความยากจน และเด็กอายุ 0-6 ปี ซึ่งต้องได้รับการพิสูจน์ความจน หากใน 2 กรณีนี้ ทั้ง 2 ช่วงวัยได้รับเงินให้เปล่าแบบถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท และมีการขยายไปสู่เด็กโต 7-15 ปี รวมไปถึงเยาวชน 16-18 ปี
กล่าวคือ เยาวชนผู้ที่มีอายุ 0-18 ปี และผู้สูงอายุจะสามารถได้รับเงินรายได้พื้นฐานก่อน ในกรณีนี้จะทำให้เงินรายได้พื้นฐานแบบถ้วนหน้าครอบคลุมประชากร 25.27 ล้านคน เป็นเงินงบประมาณ 837,852 ล้านบาท เทียบเท่า 4.96% ของ GDP” ดร.เดชรัตน์กล่าว
ลองจินตนาการว่า ถ้าเยาวชนแรกเกิดถึง18 ปี วัยแรงงาน ตลอดจนผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ากันทุกคน ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา คนจนฉับพลัน และผู้สูงอายุที่ไร้การดูแล จะคลี่คลายไปมากขนาดไหน ?
เมื่อถึงวันนั้น หลักประกันด้านรายได้ที่สม่ำเสมอและแน่นอนจะนำมาซึ่ง “ความหวัง” และที่สำคัญโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าของทุกคน !
……………..
ผลงานเรื่องนี้ : ตีพิมพ์ในเซคชั่นจุดประกายฉบับพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปีหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ (6 ตุลาคม 2564)