วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ปตท. ร่วมมือกับ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” นำเข้าวัคซีนโควิด เล็งเป้าหมายฉีดให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมลุยเต็มสูบ “รถยนต์ไฟฟ้า” ครบวงจร ผลิตทั้งรถเก๋ง รถบรรทุก ส่วน “มอเตอร์ไซด์” ได้ฤกษ์ออกแบบโมเดลเสร็จปลายปีนี้ ก่อนเปิดไลน์ผลิตยี่ห้อเป็นของตัวเอง วางเป้าลุยเจาะตลาดภูมิภาคด้วย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการนำเข้าวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อช่วยลดภาระรัฐบาลด้านงบประมาณ และช่วยการกระจายฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด ยกตัวอย่างการเปิดสถานีบริการน้ำมันของโออาร์ ที่ถนนพระราม 2 เป็นศูนย์การฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ พื้นที่ต่างจังหวัดหลายๆ แห่งทั่วประเทศมีสถานีบริการน้ำมันของโออาร์ที่มีความพร้อมเช่นกัน
“วัคซีนที่ได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะมีการนำไปฉีดให้กับภาคโรงงานต่างๆ เนื่องจากมองว่า ตอนนี้เหลือเพียงเครื่องยนต์เดียวที่ยังวิ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่”
อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโควิดที่ ปตท. จะได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังไม่ทราบมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยหารือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
นอกจากนี้ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด ทางบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท. ที่ได้ร่วมทุนกับ Lotus บริษัทยาจากไต้หวัน กำลังจะนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิดที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่ไม่สามารถใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ได้ คาดว่าจะเข้าช่วงปลายเดือนมิถุนายน นี้
นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า จากนโยบายรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในประเทศไทย ทาง ปตท. เตรียมตั้งบริษัท On – I On ขึ้นมาดูแลทางด้าน EV โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ ปตท. อยู่ระหว่างการหารือกับพาร์ทเนอร์ คาดว่าจะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม EV ออกมาช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ทั้งนี้ On -I ON Slutions เดิมดูแลการติดตั้งสถานีชาร์จ EV นอกสถานีบริการน้ำมันของโออาร์เท่านั้น แต่อยู่ระหว่างเจรจาให้ขยายความครอบคลุมถึงการโรงงานผลิต EV ด้วย ซึ่งอาจจะรวมถึงการลงทุนแบตเตอร์รี่ด้วย อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการปรึกษาบริษัทในกลุ่มก่อนว่า สนใจจะลงทุนร่วมกัน หรือว่าจะหันไปใช้แบตเตอร์รี่ของ GPSC ที่กำลังลงทุนนำร่องในไทย และประเทศจีนอยู่แล้ว
“ปตท. สนใจผลิต EV แบบครบวงจร ใช้งบจากการลงทุนในส่วนของ Provisional ที่มีอยู่ประมาณ 3.32 แสนล้านบาท ซึ่งได้มองการลงทุนจะมีทั้งรถสองล้อ สี่ล้อ และรถบรรทุก และคาดว่าประมาณปลายปีนี้จะมีการออกแบบรถมอเตอร์ไซด์แล้วเสร็จ เพื่อนำไปผลิตเป็นยี่ห้อของตัวเอง ตามแผนนอกจากจะผลิตขายในไทยแล้วยังจะส่งออกไปขายในภูมิภาคด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่มีการลงทุนก่อสร้างโรงงาน”
นอกจากนี้ บริษัท อินโนบิกฯ ยังได้ร่วมกับ บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) ดำเนินธุรกิจพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชแบบครบวงจร มีการจัดตั้งโรงงานผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนำเข้าชั้นสูงในไทย ด้วยกำลังการผลิต 3,000 ตันต่อปี
ส่วนแนวโน้มราคมน้ำมันดิบในตลาดโลก นายอรรถพล กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน และคาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะเคลื่อนไหวอยู่ดับเดียวกันนี้ ซึ่งมองว่า เป็นราคาสมดุลไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกันทั่วโลก
สำหรับผลประกอบการปี 64 จะเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลประกอบการไตรมาส 1 ปีนี้ มีรายได้อยู่ที่ 477,837 ล้านาท กำไรสุทธิ 32,588 ล้านบาท เติบโตมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ตัวเลขติดลบอยู่ที่ 1,554 ล้านบาท ซึ่งผลประกอบการที่ดีนอกจากสถานการณ์น้ำมันและปิโตรเคมีที่ดีขึ้นแล้ว ทาง กลุ่ม ปตท. ยังสามารถบริหารจัดการการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางการะบาดของไวรัสโควิดด้วย