ปรับโครงสร้าง 6 ธุรกิจใหม่
ดังนั้น โควิด-19 ส่งกระทบต่อทั่วโลก แต่หลังจากโรคเริ่มคลี่คลายลงแล้ว เชื่อว่าโลกจะต้องเปลี่ยนไป ปตท.จึงตั้งทีม Reimagine คู่ขนานมารองรับการเปลี่ยนแปลงดูเรื่อง “New Normal” เพื่อปรับทิศทางธุรกิจที่มีอยู่และรองรับธุรกิจใหม่ ประกอบกับเทรนด์ของพลังงาน แม้ว่าไม่มีโควิด-19 ก็ต้องเปลี่ยนไป และ ปตท.ถือโอกาสปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับสิ่งที่ต้องทำให้อนาคต โดยจัดพอร์ตการลงทุนธุรกิจใหม่ใน 6 ได้แก่
1.ธุรกิจ New Energy ลงทุนในบริษัท GRP ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ GPSC เพื่อเสริมศักยภาพขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า แตะ 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 การสร้างโรงงานต้นแบบผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย.นี้
อีกทั้งตั้งบริษัทใหม่ที่ ปตท.ให้ความสำคัญกับการมีพันธมิตรใหม่ และเปิดรับร่วมลงทุนในธุรกิจ เช่น จัดตั้งบริษัท SWAP & GO เป็นธุรกิจเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้กับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า การตั้งบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) การพัฒนา EV Changer Platform
2.ธุรกิจ Life Science โดยจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเชีย) เพื่อลงทุนธุรกิจ Life Science ซึ่งระยะต่อไปอาจเห็นการทยอยปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A) การร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยารักษามะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนเริ่มก่อสร้างปี 2565
“โออาร์”หัวหอกธุรกิจไลฟ์สไตล์
3.ธุรกิจ Mobility & Lifestyle จะมี บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นหัวหอกหลัก เข้าไปทำเรื่องใหม่ๆ เช่น คลาวด์คิทเชน ก็ได้ร่วมมือกับ LINE MAN จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ซึ่งเปิดดำเนินการสาขาแรกไปแล้ว และจะขยายสาขาต่อไป และเมื่อเร็วๆนี้ OR ก็มีพันธมิตรใหม่ คือ โอ้กะจู๋ เป็นร้านอาหารที่รับกับเทรนด์ธุรกิจใหม่ เป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ ก็เป็นการผันตัวไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non oil) มากขึ้น
4.ธุรกิจ High Value Business จะเป็นการผันตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ไปเน้นเรื่องของการผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นสเปเชียลตี้ แม้ว่าโควิด-19 ก็กระทบต่อราคาปิโตรเคมี แต่มองว่าในระยะยาวยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต โดยจะเน้นต่อยอดสู่การผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
5.ธุรกิจ Logistics & Infrastructure ได้เริ่มจับมือพันธมิตรเข้าร่วมประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งทางเรือ ทางบก ระบบร่าง ที่มีโอกาสเห็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาอีกต่อเนื่อง และ ปตท.สนใจเข้าไปร่วมพัฒนาหลายโครงการ
6.ธุรกิจ AI & Robotics Digitalization ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ก็มีการจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ที่ทำธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มีการผลิตหุ่นยนต์และโดรน เพื่อเข้ามาเสริมรายได้ทางธุรกิจ รวมถึงจับมือพันธมิตร เข้าไปใช้บริการโรงงานที่ต้องการใช้ดิจิตัลเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต