บอร์ด อีวี เร่งเครื่องสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1,450 แห่ง หนุนมอเตอร์ไซค์อีวี ภายในปี 2573 ขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้า ประเภทฟาสต์ชาร์จตั้งเป้า 12,000 หัวจ่าย
บอร์ด อีวี เร่งเครื่องสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1,450 แห่ง หนุนมอเตอร์ไซค์อีวี ภายในปี 2573 ขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้า ประเภทฟาสต์ชาร์จตั้งเป้า 12,000 หัวจ่าย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะ Fast Change หรือ ชาร์จเร็ว จะมีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการส่งเสริมทางการเงินและภาษี การกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย โดยจะบูรณการให้เข้ากับระบบสมาร์ทกริด รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ ได้พิจารณาจากแผนการผลิตของภาคเอกชนแล้วที่ประชุมจึงได้กำหนดเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับการผลิตรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในประเทศ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบกรอบแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยมุ่งเน้นให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนผ่านมาตรการด้านภาษี การกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับด้านการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีกรอบแนวทางมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
ส่วนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้านั้น มีแนวทางการสนับสนุนการลงทุน พร้อมทั้งหาแนวทางการลดขั้นตอน ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาการขออนุญาตติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น
ด้านมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการสนับสนุนด้านการเงินให้กับผู้ผลิต การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัตถุดิบ พร้อมทั้งสนับสนุนการทดสอบมาตรฐานกับหน่วยตรวจหรือศูนย์ทดสอบภายในประเทศ และจะมีการออกกฎระเบียบแนวทางนโยบายมาตรการด้านแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วอีกด้วย
ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกำหนดกรอบแนวทาง เตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่สำคัญในแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศตามนโยบาย 30/30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีกำลังการผลิตรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิต ในปี 2573 (ปี ค.ศ. 2030) ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต เนื่องจากปัจจุบัน หลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในทวีปยุโรป ได้กำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมรถอีวี
สำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้รถอีวี โดยกำหนดให้ภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุกจะมีการผลิตทั้งสิ้น 34,000 คัน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนำแนวทางต่างๆ ไปศึกษาถึงรายละเอียดและความเป็นไปได้ของมาตรการส่งเสริมต่างๆ เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ปี 2564 – 2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ
ระยะที่ 2 ปี 2566 – 2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy of Scale
ระยะที่ 3 ปี 2569 – 2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย