Motor Sport Sponsored

บพข. ร่วมผนึกกำลังบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จับมือองค์กรพันธมิตรร่วมกันแก้ปัญหาความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างระบบความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 และไม่เกิน 12 คนต่อประชากร 100,000 คน ภายในปี 2570

อุบัติเหตุทางท้องถนนเป็นประเด็นสำคัญในระดับโลก และเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย อุบัติเหตุทางท้องถนนในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลกระทบทั้งทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ ด้านความปลอดภัย เศรษฐกิจ และสังคม ประเทศไทยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นจำนวนมาก โดยช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังมีการเดินทางเป็นจำนวนมาก มีจำนวนผู้เสียชีวิต 22,491 คน คิดเป็น 31 คน ต่อประชากร 100,000 คน เป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 9 ของโลก จากสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนในปี 2560-2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 20,480 คน โดยอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ในแต่ละวันมีจำนวนเฉลี่ยเกือบ 600 รายต่อวัน การเสียชีวิตจากความเร็วมีแนวโน้มสูงขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลต่าง ๆ สูงขึ้นกว่าในช่วงไม่ใช่เทศกาลถึง 25% ที่สำคัญประชากรในวัยทำงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 15-19 ปี และในช่วง 20-40 ปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญชาติเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ หรือมีจำนวนทั้งการบาดเจ็บ การเสียชีวิต เป็นจำนวนมาก แม้ในช่วงที่ผ่านมา จากการดำเนินงานต่าง ๆ ที่ดีขึ้น และจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีการเดินทางที่ลดลง ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเรื่อย ๆ โดยตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 25 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน แต่ก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ต้องการให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่เกิน 12 คน ต่อจำนวนประชากร 100,000 คน

ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการผนึกกำลังร่วมกันระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการลดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งเรื่องการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายความร่วมมือบูรณาการทำงานในพื้นที่ และผลักดันเพื่อสร้างสังคมแห่งการเดินทางที่ปลอดภัยการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์การส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยของยานพาหนะการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัยรวมถึงเทคโนโลยีการบังคับใช้กฎหมายการวิจัยเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และกฎหมายเพื่อความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย การวิจัยเพื่อยกระดับความปลอดภัยด้านการเดินทางท่องเที่ยวสร้างสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย เป็นต้น โดยได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานดังกล่าวภายในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 65 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการเปิดงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “บทบาทผู้นำประเทศ” ว่า “รัฐบาลมุ่งเน้นนำแนวคิดวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนฐานคิดของคนทำงาน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลไก ศปถ.ทุกระดับ โดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้น การสร้างระบบแห่งความปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้ และรัฐบาลจะผลักดันให้มีการกำกับติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอสถานการณ์ ความก้าวหน้าการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกไตรมาส พร้อมสรุปผลการดำเนินงานเสนอสภา และสาธารณะทราบทุกปี เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการวิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน” ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการมอบนโยบายให้กับหน่วยงานในกระทรวง โดยเฉพาะ สกสว. วช. และ บพข. ให้สนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ มีการกำหนดให้เรื่องของความปลอดภัยทางท้องถนนเป็นประเด็นสำคัญในแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในปี 2566-2570 กระทรวงจะจัดสรรงบประมาณการวิจัย รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาทั้งนโยบาย ต้นแบบ และการจัดการเพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัย ความปลอดภัยในชีวิต ในทรัพย์สิน รวมทั้งสวัสดิการสาธารณะในการดำรงชีวิต ด้วยการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชญน์ รองผู้อำนวยการ บพข. ในฐานะตัวแทนผู้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ได้กล่าวว่า “บพข. เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่กระทรวง อว. ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการทำงานด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะ ที่ผ่านมา บพข. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่าง ๆ ของประเทศหลายโครงการ เช่น โครงสร้างพื้นบานด้านการแพทย์ การผลิตอาหารมูลค่าสูง การสร้างระบบตรวจสอบรับรอง และดิจิทัลแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้สามารถนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ การสร้างความปลอดภัยทางท้องถนนถือเป็นอีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการ องค์ความรู้การวิจัยที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม สถาปัตยกรรม วิธีการทางด้านการแพทย์ ตลอดจนมาตรการทางด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยทางท้องถนนอย่างเป็นรูปธรรม บพข. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับองค์กรภาคี และพร้อมที่จะสนับสนุนดำเนินงานด้านต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความปลอดภัยทางถนน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศ ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้เผยว่า “ในงานทำงานร่วมกันครั้งนี้ บพข. ได้เข้ามามีบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ ผลงานวิจัย พัฒนาระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน นอกจากนี้ บพข. ยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนด้านองค์ความรู้ด้านเทคนิควิชาการในการพัฒนาระบบที่ปลอดภัย เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย การสร้างนวัตกรรมทางเลือกในการเดินทางสาธารณะที่ปลอดภัย และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศของภาคการผลิตและภาคบริการ โดยรวบรวมองค์ความรู้ ภาคีเครือข่าย เสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสำหรับหน่วยงานภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชน ผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างความปลอดภัยทางถนน นำไปสู่การลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตามเป้าหมาย”

ความร่วมมือทางการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัย จะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อเป็นแนวทางการสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การลดความสูญเสียที่ป้องกันได้ตามแนวทางสากลที่เน้นวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย การสัญจรที่ยั่งยืนและเท่าเทียม และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับบุคลากรด้านความปลอดภัยทางถนนให้สามารถดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ความร่วมมือในการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางถนนระหว่าง 5 หน่วยงานภาคีนี้ มีความมุ่งมั่นในการร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ ด้านงานวิจัยและการพัฒนาที่เป็นอิสระการสร้างความรู้และการผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการความปลอดภัยทางถนน ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 ตามทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ ให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาที่ท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก


Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.