• โดย เอเฟร็ม เกเบรียบ, โธมัส นาดี, รังกา สิริลัล และ เบ็คกี เดล
  • บีบีซีนิวส์

Protesters in Ecuador hit the streets over the rise in cost of living

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ผู้ประท้วงในเอกวาดอร์

ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ผู้คนออกมาประท้วงตามท้องถนนในหลายประเทศ บีบีซีตามเก็บข้อมูลรายงานการประท้วงเรื่องค่าน้ำมันแพงในประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ ม.ค. 2021 โดยพบว่ามีการประท้วงเพิ่มขึ้นมากในปีนี้

ราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อหลายอย่างในชีวิตประจำวันเรา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง และการขนส่งสินค้า ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้นด้วย

ผู้ประท้วงทั่วโลกเรียกร้องให้รัฐลดค่าน้ำมันลง หรืออย่างน้อยที่สุดให้มีเพียงพอให้ประชาชนไปเติมได้

ที่กรุงฟรีทาวน์ เมืองหลวงของเซียร์ราลีโอน คาดีจา บาห์ หญิงวัย 16 ปี โดนกระสุนลูกหลงยิงใส่เสียชีวิตขณะยืนอยู่บนระเบียงบ้าน เธอกำลังยืนมองดูการประท้วงเรื่องราคาน้ำมันที่ท้องถนนเบื้องล่างที่ปะทุรุนแรงเมื่อวันที่ 10 ส.ค.

คำบรรยายภาพ,

พ่อแม่ของคาดียา มาเรีย (ซ้าย) และอับดุล (ขวา)

ประท้วงเรื่องน้ำมัน

ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทำให้เกิดความรุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศเล็ก ๆ ทางฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาแห่งนี้มาหลายปีแล้ว

ในเดือน ส.ค. มีผู้ประท้วง 25 รายถูกตำรวจสังหารระหว่างการปะทะรุนแรงในเมือง ค่าน้ำมันไม่ได้ส่งผลต่อการเดินทางของผู้คนเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการขนส่งสินค้า ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น

ตั้งแต่เดือน มี.ค. ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 12,000 ลีโอน ต่อลิตร (ราว 27 บาท) มาเป็น 22,000 ต่อลิตร (ราว 50 บาท) ในเดือน ก.ค. นี่ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นด้วย

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ,

การประท้วงที่กรุงฟรีทาวน์ เมืองหลวงของเซียร์ราลีโอน

วิกฤตน้ำมันทั่วโลก

จากข้อมูลโดยโครงการเก็บข้อมูล Armed Conflict Location and Event Data Project หรือ Acled) บีบีซีพบว่า ระหว่างเดือน ม.ค. ถึง ก.ย. ปีนี้ มีผู้คนในประเทศและดินแดนมากกว่า 90 แห่งนี้ออกมาประท้วงเรื่องนี้ตามท้องถนน

ย้อนไปเมื่อปี 2021 ไม่ได้เกิดการประท้วงเรื่องน้ำมันใน 1 ใน 3 ของประเทศเหล่านี้ เช่น ไม่เกิดการประท้วงเรื่องน้ำมันในสเปนเลยในปี 2021 แต่ในเดือน มี.ค. เดือนเดียว เกิดการประท้วงเรื่องนี้ถึง 335 ครั้ง

รายงานประท้วงเรื่องน้ำมันตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2022

Your device may not support this visualisation

ที่มา : บีบีซีวิเคราห์โดยใช้ข้อมูลจาก Acled

ไม่มีทวีปไหนเลยในโลกที่ไม่เกิดการประท้วงขึ้นในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

ในอินโดนีเซีย มีการประท้วงเรื่องน้ำมันเกิดขึ้นมากกว่า 400 ครั้ง เทียบกับแค่ 19 ครั้งในปี 2021

ในอิตาลี มีการประท้วงมากกว่า 200 ครั้งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 เทียบกับแค่ 2 ครั้งในปีที่แล้ว

ในเอกวาดอร์ มีการประท้วงเรื่องน้ำมันมากกว่า 1,000 ครั้งในเดือน มิ.ย. เดือนเดียว

เฮนรี วิลคินสัน จากบริษัทวิเคราะห์ด้านข่าวกรองและความมั่นคง Dragonfly บอกว่า สิ่งที่เขาประหลาดใจที่สุดคือเกิดการประท้วงในประเทศในมักจะไม่ค่อยเกิดการประท้วงขึ้น เขาบอกว่าสงครามในยูเครนส่งผลกระทบอย่างมาก และการแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้จะช่วยบรรเทาวิกฤตทั่วโลกได้เป็นอย่างมาก

สงครามยูเครนเป็นปัจจัยเดียวหรือเปล่า

ไม่ใช่อย่างนั้น มีอีก 2 ปัจจัยด้วยกันที่ทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้น

น้ำมันดิบ – น้ำมันดิบมีราคาถูกกว่าตอนโควิดเริ่มระบาดเพราะบริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลงและพลังงานไม่ได้เป็นที่ต้องการ แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดใหญ่เริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ราคาพลังงานสูงขึ้นเพราะผู้ผลิตพลังงานพยายามตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อที่สูงขึ้น

เงินดอลลาร์สหรัฐ – เงินดอลลาสหรัฐแข็งขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเงินปอนด์, เงินยูโร, เงินหยวน และเงินเยน เงินที่ซื้อวัตถุดิบไปผลิตน้ำมันใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นราคาน้ำมันจึงแพงขึ้นเมื่อซื้อด้วยสกุลเงินต่าง ๆ ที่อ่อนกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและการเมือง

จากประเทศและดินแดน 91 แห่งทั่วโลกที่เกิดการประท้วงขึ้น ความวุ่นวายในศรีลังกาในปีนี้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก โดยกลุ่มผู้ประท้วงเดินหน้าเรียกร้องจนสามารถขับไล่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ

ศรีลังกาเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในเอเชียประเทศหนึ่ง ทำให้ชาวศรีลังกาต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพเมื่อราคาน้ำมัน อาหาร และยา พุ่งสูงขึ้น

คำบรรยายภาพ,

ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาพยายามควบคุมผู้ประท้วงในศรีลังกา

วิมาลา ดิสนายกา หญิงวัย 48 ปี เจ้าของร้านขายผักในย่านชนชั้นสูงในเมืองโคลอมโบของศรีลังกา บอกว่าทุกวันนี้ครอบครัวเธอต้องหาเช้ากินค่ำแล้ว

“ฉันมีลูกสามคนและค่ารถโดยสารพุ่งสูงขึ้นมา ตอนนี้ค่ารถไปโรงเรียนลูกคนหนึ่งต้องใช้เงิน 100 รูปีศรีลังกา (ราว 10 บาท) ดังนั้นจะเท่ากับวันละ 600 รูปีศรีลังกา (60 บาท) สำหรับเด็ก 3 คน”

วิมาลา บอกว่า เธอไม่สามารถเติมน้ำมันรถบรรทุกคันเล็ก ๆ ที่ใช้ขนผักจากตลาดได้แล้ว เธอต้องใช้รถขนส่งสาธารณะหรือติดรถไปกับเพื่อนแม่ค้า

“ราคา[ของ]สูงมาก ลูกค้าฉันไม่อยากใช้เงินเยอะ จากที่คนเคยซื้อผัก 500 กรัม หรือ 1 กก. ตอนนี้ขอซื้อ 100 หรือ 250 กรัม แทน และคนที่เคยขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์มา ตอนนี้เดินหรือไม่ก็ขี่จักรยานมา”

ไม่มีทางออก

ขณะที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ พยายามหาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศตัวเอง การลงถนนประท้วงเรื่องค่าอาหารและน้ำมันก็ยังดำเนินต่อไป สำหรับบางคน การสูญเสียที่เกิดขึ้นร้ายแรงเรื่องเงิน บีบีซีพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีคนมากกว่า 80 รายที่เสียชีวิตขณะไปประท้วงเรื่องค่าน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นที่อาร์เจนตินา, เอกวาดอร์, กินี, เฮติ, คาซัคสถาน, ปานามา, เปรู, แอฟริกาใต้ และเซียร์ราลีโอน

กลับมาที่เมืองฟรีทาวน์ในเซียร์ราลีโอน ท้องถนนกลับมาเงียบสงบเหมือนเดิมแล้ว และร้านค้าต่าง ๆ ก็กลับมาเปิดบริการแล้ว แต่สำหรับอับดุล พ่อของคาดียา และครอบครัวเขา ชีวิตจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีก

“ลูกสาวผมเป็นคนที่มีศักยภาพมากมาย แต่ตอนนี้เธอจากไปแล้ว”