หลังจากได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยประกาศ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 สาระสำคัญที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเช่าซื้อและการให้ส่วนลด กรณีปิดสัญญาก่อนกำหนด ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กระทบต่อการทำธุรกิจเช่าซื้อได้ไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ต้องรอดูการปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ในลักษณะนี้ของสถาบันการเงิน ที่จะรองรับกับเงื่อนไขที่ถูกประกาศใหม่
นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัทผู้ดำเนินการประมูลขายทอดตลาดรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ ได้วิเคราะห์ประกาศของ สคบ.ใหม่ที่จะมีผลปฏิบัติในต้นปี 2566 ว่าการที่ประกาศ สคบ.ครั้งนี้มีหลายประเด็นที่มีข้อเปลี่ยนแปลง แต่ขอหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องและได้รับความสนใจของผู้บริโภคมาก คือเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศใหม่และการลดดอกเบี้ยในกรณีปิดสัญญาก่อนกำหนด ซึ่งถือว่ามีสาระสำคัญที่มีทั้งข้อดีต่อผู้บริโภคที่ได้รับผลประโยชน์ในการลดภาระดอกเบี้ยลง แต่อีกมุมหนึ่งก็อาจทำให้เกิดเงื่อนไขการให้สินเชื่อต่อผู้บริโภคเช่นกัน ถ้าพิจารณาสาระสำคัญของดอกเบี้ย ได้มีประกาศดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ไม่เกินร้อยละ 10, ดอกเบี้ยรถยนต์มือสองไม่เกินร้อยละ 15 และดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์ไม่เกินร้อยละ 23
นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกหนึ่งข้อคือการให้ส่วนลดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ดังนี้ 1.ถ้าผู้กู้ผ่อนมาไม่เกิน 1 ใน 3 ของค่างวด หากปิดบัญชีก่อนได้ส่วนลด 60% ของดอกเบี้ยที่ไม่ถึงกำหนดชำระ 2.ถ้าผู้กู้ผ่อนมาระหว่าง 1 ใน 3 ถึง 2 ใน 3 ของค่างวด หากปิดบัญชีก่อนได้ส่วนลด70% ของดอกเบี้ยที่ไม่ถึงกำหนดชำระ 3.ถ้าผู้กู้ผ่อนชำระเกินกว่า 2 ใน 3 ของค่างวด ได้รับส่วนลดดอกเบี้ยที่ไม่ถึงกำหนดชำระทั้งหมด
ถ้าวิเคราะห์ในภาพรวมย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ตรงไปตรงมาคือ ดอกเบี้ยที่จะกู้ไม่สูงไปกว่าที่ประกาศกำหนด ซึ่งลดลงจากดอกเบี้ยเดิมแน่นอน แต่หากมองมุมกลับ การประกาศออกมาครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินหรือผู้ให้เช่าซื้อคงมีการปรับเงื่อนไข เพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแน่นอน
จริงแล้วถ้าวิเคราะห์ถึงดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ คงไม่มีผลกระทบเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ไม่เกินร้อยละ 10 เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว
สำหรับรถยนต์มือสองภาพรวมของดอกเบี้ยก็ไม่กระทบรุนแรง แต่จะส่งผลต่อประเภทรถมือสองปีเก่า หรือปี 2008-2010 ที่ดอกเบี้ยเช่าซื้ออาจจะสูงกว่า 15% คงได้รับผลกระทบต่อผู้ให้เช่าซื้อ และอีกประเด็นที่สำคัญคือการให้กู้แก่ผู้ให้เช่าซื้อที่กู้ระยะยาวเช่น 6-7 ปี
ส่วนเช่าซื้อมอเตอร์ไซด์อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 23% คงได้รับผลกระทบต่อผู้ให้เช่าซื้อมากหน่อย เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง การคิดดอกเบี้ยในอัตราสูง เพื่อครอบคลุมเครดิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งที่จะสะท้อนกลับมาที่ผู้เช่าซื้ออีกมุมหนึ่งคือ สถาบันการเงินอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นบ้าง ให้อยู่ในกรอบที่ประกาศกำหนดและสถาบันการเงินคงต้องคิดดอกเบี้ย รวมทั้งกำหนดเงินดาวน์การซื้อรถยนต์ใหม่สูงขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมกับส่วนลดที่ประกาศใหม่กำหนด จึงเป็นความท้าทายใหม่ของสถาบันการเงินที่ทุกวันนี้ยังต้องมีเรื่องการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง และประกาศที่ออกมาจำกัดเรื่องเพดานดอกเบี้ย สุดท้ายผู้บริโภคก็จะได้ทั้งความรู้สึกดีในอัตรดอกเบี้ยที่ลดลง และอีกส่วนหนึ่งอาจได้รับผลกระทบจากเงื่อนไขการให้เช่าซื้อที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่รายได้ไม่สูงมากนักอาจต้องใช้เงินเพื่อดาวน์รถยนต์สูงขึ้น ยิ่งกลุ่มรถยนต์มือสองซึ่งมีเงินจำกัด อาจเข้าสู่ระบบการกู้ได้ยากขึ้น
โดยในปี 2566 เป็นปีที่เริ่มใช้ประกาศใหม่ เงื่อนไขต่างๆ คงจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงปลายปี 2565 ที่จะทราบว่า ผลจากการประกาศฉบับใหม่คงต้องมีทั้งคนได้และคนเสีย มุมมองที่ได้คือดอกเบี้ยส่วนลดที่เป็นประโยชน์ มุมมองที่เสียอาจมีคนส่วนหนึ่งสถาบันต้องปรับเงื่อนไขเงินดาวน์ อาจเสียโอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ ซึ่งต้องติดตามความเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินที่จะเป็นเรื่องท้าทายในปี 2566 อีกรอบสำหรับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ แต่ที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงนี้คือผู้กู้หลายรายชะลอการออกรถยนต์ เพื่อรอสัญญาใหม่กันบ้างแล้ว แต่เชื่อมั่นว่าการปรับกลยุทธ์ของสถาบันการเงินคงหาทางออก เพื่อทำธุรกิจอย่างมั่นคงต่อไป