วันนี้ (24 มี.ค. 65) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แถลงรายละเอียด หลังครม. ประกาศ 10 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือค่าไฟ น้ำมัน ก๊าซ และ เงินประกันสังคม ช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ใน 3 เดือนนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ในปี 2565 ยังกู้เงินไม่ถึง 700,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกู้ตามสภาพการใช้จ่าย แม้ 5 เดือนที่ผ่านมาเงินคงคลังลดลงไปบ้าง แต่ยังคงมีสภาพคล่อง 4 ถึง 5 แสนล้านบาท ยังถือว่าเพียงพอ สำหรับการบริหารรายจ่ายปี 2565 จะดำเนินการตามนโยบายการเงินและการคลัง ควบคู่กันนไป
ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การลดเงินสมทบทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันทุกมาตราเป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้แก่
ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ เช่น ฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสบทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพ ไปได้ประมาณ 600 บาท/คน/เดือน
ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจาก 9 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1.9 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาท/คน/เดือน
ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลง 40 เปอร์เซ็นต์ คือ
ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท
ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท
ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84 – 360 บาท/คน/เดือน
นอกจากนี้ นายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจาก 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต
ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุน การผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือนเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท
มาตรการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 34,540 ล้านบาท ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 103,620 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผย จากการคาดการณ์ของสถาบันต่าง ๆ เห็นตรงกันว่า สถานการณ์จะมีความชัดเจนขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้มีนโยบายและมาตรการด้านพลังงานที่จะดูแลประชาชนในช่วง 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน) ดังนี้
1.ด้านน้ำมันดีเซล
มีปริมาณการใช้มากที่สุดประมาณร้อยละ 65 โดยส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนส่งและรถโดยสาร ตั้งแต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยในการอุดหนุน รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว 3 เดือนตั้งแต่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 และการขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรักษาระดับค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร นอกจากนั้นได้มีการปรับส่วนผสมไบโอดีเซลเพื่อลดต้นทุนเนื้อน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ใช้เงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลมาจนถึงปัจจุบันประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท
ส่วนแนวทางการบริหารราคาน้ำมันดีเซลในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 นี้ ประกอบด้วย
– เดือนเมษายน จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร (กรณีราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 115 ถึง 135 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอุดหนุนอยู่ที่ประมาณลิตรละ 8 บาท
– เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน รัฐจะช่วยสนับสนุนการตรึงราคาครึ่งหนึ่ง (50%)
นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมี่ยม เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถของผู้ที่มีกำลังจ่ายสูง เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และนำเงินในส่วนนี้ไปชดเชยให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็น
2. ด้านน้ำมันเบนซิน
มีสัดส่วนการใช้ประมาณร้อยละ 35 ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นรถส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือนั้น จะสนับสนุนส่วนลดค่าน้ำมันแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และบัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ จำนวน 5 บาทต่อลิตร ปริมาณไม่เกิน 50 ลิตรต่อเดือนต่อคน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในต้นเดือนพฤษภาคม 2565
3. ด้านก๊าซหุงต้ม
กระทรวงพลังงานได้ดูแลประชาชนโดยตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีการอุดหนุนในปี 2563 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 370 บาท/ถัง และปี 2564 ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 417 บาท/ถัง และในปัจจุบันหากไม่มีการอุดหนุน ราคาก๊าซ LPG จะอยู่ที่ 463 บาทต่อถัง ซึ่งที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้จ่ายเงินชดเชยก๊าซ LPG รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 28,803 ล้านบาท จึงทำให้จำเป็นต้องบริหารจัดการราคาก๊าซหุงต้ม ดังนี้
– เดือนเมษายน 2565 ปรับขึ้นราคาขายปลีก 1 บาท/กิโลกรัม หรือ ปรับจากราคา 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม เป็น 333 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม เดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะปรับขึ้นเป็น 348 บาท และ 363 บาท ตามลำดับ คาดว่าตลอด 3 เดือน แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นราคาขายปลีกแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะยังคงใช้เงินชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม อยู่รวมประมาณ 6,380 ล้านบาท
แต่เมื่อมีการปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มในวันที่ 1 เมษายน 2565 แล้ว รัฐบาลได้กำหนดมาตรการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป จะได้รับส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG เพิ่มเติมอีก 55 บาท รวมเป็น 100 บาท ต่อ 3 เดือน โดยในเบื้องต้นจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และในส่วนของกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป ที่เป็นผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความร่วมมือรัฐบาล ในการให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซ LPG ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน
4. ด้านก๊าซ NGV
การดูแลราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยตรึงราคาขายปลีก NGV เท่ากับ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และสนับสนุนราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน จำนวน 17,460 ราย สามารถซื้อก๊าซ NGV ในอัตรา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน สนับสนุนโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
5. ด้านราคาค่าไฟฟ้า
ในรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ได้มีการปรับค่า Ft เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วยในปี 2564 ปรับเป็น 1.39 สตางค์ต่อหน่วย และในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ซึ่งคิดเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 20 ล้านรายหรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของครัวเรือน จะมีการให้ส่วนลดโดยคงค่า Ft ไว้ที่ 1.39 บาทต่อหน่วยในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565
อย่างไรก็ตามในส่วนของค่า Ft ที่จะปรับขึ้นเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วยในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 หากไม่ได้มีการบริหารจัดการใด ๆ ค่า Ft จะปรับเพิ่มขึ้นถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วย แต่ในส่วนนี้ กฟผ. ได้ช่วยรับภาระค่า Ft ไปแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท
This website uses cookies.