ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ ?BBB? ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มสถานะเครดิตขึ้นมา 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทที่ ?bbb-? โดยการยกระดับสะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งต่อสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ?A-/Stable? จากทริสเรทติ้ง)
อันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานทุนที่แข็งแกร่ง ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่เพียงพอในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทประกอบไปด้วยหนี้เสียที่อยู่ในระดับสูงของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากสถานะเครดิตที่มีความเสี่ยงสูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่อาจอ่อนไหวตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอและสภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง การควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการทำกำไรในระดับหนึ่งของบริษัทได้ในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของ เอ็ม บี เค
การที่บริษัทยังคงมีสถานะการเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของบริษัท เอ็ม บี เค ทำให้อันดับเครดิตของบริษัทได้รับได้รับการยกระดับจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทขึ้นมา 1 ขั้น โดยบริษัท เอ็ม บี เค เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท และมีการควบคุมบริษัทโดยตรงผ่านคณะกรรมการบริษัทที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งคณะกรรมการของบริษัทประกอบด้วยผู้บริหารจากบริษัท เอ็ม บี เค และ คณะกรรมการอิสระ การควบคุมดูแลการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัทนั้นดำเนินการผ่านการประชุมคณะกรรมการซึ่งจัดเป็นประจำในทุก ๆ เดือน บริษัทเป็นแหล่งรายได้ที่ดีที่กระจายตัวออกมาจากธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มธุรกิจเอ็ม บี เค ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
บริษัทได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากบริษัท เอ็ม บี เค ผ่านการเพิ่มทุนและเงินกู้ยืมระหว่างกันเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ บริษัทได้รับการเพิ่มทุนรวมประมาณ 3 พันล้านบาทในปี 2561-2562 ในปี 2564 บริษัทได้ลดทุนลงจำนวน 1.1 พันล้านบาทเพื่อเตรียมตัวเข้าเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering — IPO) ตามแผนที่วางไว้ในช่วงต้นปี 2566 โดยในเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีเงินกู้คงค้างกับบริษัท เอ็ม บี เค อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท หลังจากการ IPO ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทเอ็ม บี เค จะยังคงมีอำนาจในการควบคุมบริษัทจากการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด และจะยังคงสนับสนุนบริษัทด้านการเงินในอนาคตหากมีความจำเป็น
มีฐานทุนที่แข็งแกร่งและมีหนี้ในระดับต่ำ
จากแผนการบริหารจัดการฐานทุนของบริษัทก่อน IPO บริษัทได้ลดทุนจำนวน 1.1 พันล้านบาท และมีการจ่ายปันผลพิเศษจำนวน 610 ล้านบาทในปี 2564 ซึ่งอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงปรับตัวลดลงเป็น 21.2% ณ สิ้นปี 2564 จาก 29.3% ณ สิ้นปี 2563 ในด้านการก่อหนี้ของบริษัท อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1.46 เท่า ณ สิ้นปี 2564 จาก 0.78 เท่า ณ สิ้นปี 2563
บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินทุนเพิ่มจาก IPO ในปี 2566 และจากสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าบริษัทจะมีการเติบโตของสินเชื่อคงค้างประมาณ 5%-10% ต่อปี และจ่ายเงินปันผลประมาณ 40% ของกำไรสุทธิหลังจาก IPO ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะอยู่ในระดับสูงกว่า 30% และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจะลดลงเป็นประมาณ 0.7 เท่าในปี 2566 นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งและรักษาระดับการก่อหนี้ในระดับต่ำไว้ได้ในระยะยาว ซึ่งจะยังคงเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทต่อไป
สถานะทางตลาดอยู่ในระดับปานกลาง
สินเชื่อรวมของบริษัทในปัจจุบันอยู่ใน 5 อันดับแรกของผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง สินเชื่อรวมของบริษัทหดตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากแผนการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังของบริษัทเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2563 ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 6.7 พันล้านบาท ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 7.8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 อีกเหตุผลหนึ่งของการลดลงของสินเชื่อรวมมาจากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ที่ลดสัดส่วนสินเชื่อรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ลงและให้ความสำคัญกับรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กที่มีผลตอบแทนที่สูงกว่า ทำให้สัดส่วนสินเชื่อรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ลดลงเป็น 11% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด จากจุดสูงสุดที่ 30% ในปี 2562 และทำให้อัตราผลตอบแทนรวมสุทธิ (หักค่าใช้จ่ายในการเช่าซื้อ) ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 18.9% ในไตรมาสแรกของปี 2565 จาก 17.6% ในปี 2562 ในด้านกระจายตัวของธุรกิจ บริษัทค่อนข้างมีการกระจุกตัวของพื้นที่เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น โดยบริษัทมีสินเชื่อที่อนุมัติในเขตกรุงเทพฯ คิดเป็นประมาณ 80% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ
แหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่ดีและเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจ บริษัทมีการกระจายตัวของแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินหลายแห่งรวมไปถึงเงินกู้จากบริษัท เอ็ม บี เค ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 บริษัทมีวงเงินรวมกับสถาบันการเงินทั้งหมดจำนวน 1.7 พันล้านบาท และมีเงินกู้คงค้างกับทางบริษัท เอ็ม บี เค อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท ถึงแม้ว่าเงินกู้จากบริษัท เอ็ม บี เค น่าจะมีทิศทางที่ลดลงในอนาคตจากการกระจายตัวของแหล่งเงินกู้ที่มากยิ่งขึ้น แต่ทริสเรทติ้งก็ยังมองว่าบริษัท เอ็ม บี เค จะยังคงเป็นผู้ให้กู้ยืมในเวลาที่บริษัทมีความจำเป็น และมองว่ากระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับรวมทั้งเงินกู้จากบริษัท เอ็ม บี เค จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดยบริษัทประมาณการว่ากระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับชำระคืนจากลูกหนี้ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 450 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2565 บริษัทไม่มีหนี้ที่มีลำดับในการชำระคืนก่อนหนี้สินปกติทั่วไป
ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองเริ่มคงที่
คุณภาพสินทรัพย์ของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยังคงเปราะบางและเป็นข้อจำกัดสำหรับอันดับเครดิตของกลุ่มธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งหมดรวมไปถึงบริษัทเองด้วย อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.9% ณ สิ้นปี 2564 จาก 5.4% ณ สิ้นปี 2563 การปรับลดลงมาจากแผนการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังของบริษัทรวมถึงกลยุทธ์การเร่งตัดหนี้สูญจำนวนมากเพื่อสะสางสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 เห็นได้จากอัตราการตัดหนี้สูญของบริษัทที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9.7% จาก 6.7% ในปี 2563 ทั้งนี้ ในระยะกลาง คุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทคาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอและการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่อาจทำให้สถานะเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอ่อนแอลง อย่างไรก็ตาม จากแผนการขยายสินเชื่อที่ระมัดระวังของบริษัทน่าจะช่วยทำให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทไว้ได้
ค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของบริษัทปรับลดลงในปี 2564 จากการตั้งสำรองจำนวนมากในปี 2563 เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานบัญชี TFRS9 ในปี 2564 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวลดลงเป็น 7.1% จาก 9.2% ในปี 2563 เนื่องมาจากการตัดหนี้สูญในปี 2564 ที่ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลง ณ สิ้นปี 2564 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 243% จาก 171% ณ สิ้นปี 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของบริษัทจะอยู่ในระดับสูงกว่า 200% ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าตามสมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งที่คาดว่าจะมีผลขาดทุนด้านเครดิตถัวเฉลี่ยประมาณ 8%-9%
การแข่งขันที่รุนแรงและเพดานอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อและกดดันต่อความสามารถในการทำกำไร
ในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยและการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์และการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวลดลง 11.8% และ 1.7% ตามลำดับ ในปี 2563 ซึ่งในปี 2564 ยอดขายรถจักรยานยนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ระดับสินเชื่อรวมของผู้ประกอบการ 8 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งค่อนข้างคงที่ ถึงแม้ว่าความต้องการรถจักรยานยนต์ในปีนี้จะมีอยู่ในระดับสูง แต่การขาดตลาดของรถจักรยานยนต์ทำให้ยอดขายรถจักรยานยนต์เติบโตแค่ 3% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ในด้านการปล่อยสินเชื่อ นโยบายการอนุมัติสินเชื่อมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นจากคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ปรับตัวอ่อนลงทำให้การเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ยังคงเข้ามาในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยรับยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ดังนั้น การแข่งขันจึงยังคงรุนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของผู้บริโภค จึงมีการพยายามผลักดันกฎหมายการควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยกฎระเบียบการควบคุมที่จะคาดว่าจะประกาศในไม่ช้านี้มีแนวโน้มที่จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับไม่เกิน 30% ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อการเติบโตของสินเชื่อและความาสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งตั้งสมมติฐานกรณีพื้นฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2565-2567 ดังนี้
? สินเชื่อคงค้างของบริษัทจะยังอยู่ในระดับเดิมในปี 2565 และจะเติบโตที่ระดับ 5% ต่อปีในปี 2566-2567
? อัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงจะคงอยู่ในระดับมากกว่า 30% ในปี 2566-2567
? อัตราผลตอบแทนจากรายได้ดอกเบี้ยต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ประมาณ 19%
? ต้นทุนทางด้านเครดิตจะอยู่ในระดับ 8%-9%
? อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมจะอยู่ที่ระดับ 30%
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต ?Stable? หรือ ?คงที่? อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด ผลประกอบการ คุณภาพสินทรัพย์ และระดับการก่อหนี้ไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาสถานะทางการตลาดของบริษัทให้ดีขึ้น โดยยังคงรักษาคุณภาพสินทรัพย์ไว้ได้และมีฐานทุนที่แข็งแรง ในอีกทางหนึ่ง อันดับเครดิตอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทได้รับเงินทุนจำนวนมากจาก IPO ซึ่งทำให้สถานะฐานทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทปรับตัวลดลงจากการที่กำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยลดลงต่ำกว่า 1.5% และความเพียงพอของเงินทุนซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงลดลงต่ำกว่าระดับ 25% อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากสถานะเครดิตของบริษัท เอ็ม บี เค ถูกปรับลดลงมากกว่า 1 ขั้น หรือหากทริสเรทติ้งมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองความสำคัญของบริษัทต่อบริษัท เอ็ม บี เค ที่ลดลงก็อาจเป็นเหตุผลทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิตได้ด้วยเช่นกัน
เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 13 มกราคม 2564
– เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร, 17 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด (TLS)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com
ติดต่อ santaya@trisrating.com โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
? บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2564 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html
This website uses cookies.