วันพฤหัสบดี ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 11.46 น.
“ประวิตร”ประชุมคกก.ป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เน้นสร้างการรับรู้ ควบคู่บังคับใช้กฎหมายเข้มข้น ถอดบทเรียนกรณี”หมอกระต่าย” เพิ่มโทษ”ผิดซ้ำ/เมาแล้วขับ/แข่งรถในทาง” ย้ำสวมหมวกกันน็อก 100% มุ่งรักษาชีวิต ปชช.ทุกคนให้ปลอดภัย
วันที่ 20 ต.ค. ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แห่งชาติ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมได้รับทราบ ความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 เพื่อปรับปรุงมาตรการทางกฏหมาย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้รถใช้ถนน รวมทั้งกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่ เช่น การกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก การเพิ่มโทษผู้ทำผิดซ้ำ การขับรถขณะเมาสุรา การป้องกันการแข่งรถ เป็นต้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 ก.ย.65 รวมทั้งระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 ม.ค.66 และรับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กำหนดให้วันที่ 21 ม.ค.ของทุกปี เป็น”วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” เพื่อย้ำเตือนผู้ขับขี่ยานพาหนะ จะต้องระมัดระวังความปลอดภัย ต่อผู้ใช้รถใช้ถนน อย่างยิ่งยวด สืบเนื่องจากเหตุการณ์ วันที่ “หมอกระต่าย”หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ถูกรถจักรยานยนต์ชนบนทางม้าลาย เมื่อ 21 ม.ค.65 ที่ผ่านมาแล้ว
จากนั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเห็นชอบ แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด พ.ศ.2566 โดยช่วงเทศกาลปีใหม่และวันสงกรานต์ ปี66 กำหนดชื่อโครงการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” และเห็นชอบ (ร่าง)แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ปี65-70 ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การสัญจรทางถนนที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน”
พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ มท. สตช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งนำนโยบายและแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยเคร่งครัด เพื่อลดการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้ได้อย่างต่อเนื่อง และจากแนวโน้มอุบัติเหตุทางถนนที่ลดลง ในขณะนี้ ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงานอย่างได้ผล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเพิ่มการทำงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้มีใครต้องเสียใจ เพราะคนในครอบครัวเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ จากอุบัติเหตุ โดยเน้นมาตรการเชิงรุก วิเคราะห์จุดเกิดเหตุซ้ำควบคู่ประชาสัมพันธ์ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยงด้าน คน ถนน และยานพาหนะ ซึ่งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย 100% พร้อมสร้างการรับรู้ ควบคู่การบังคับใช้กฎหมาย อย่างเข้มข้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ยานพาหนะ และผู้ใช้ถนนร่วมกัน ทุกคน
++++