ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินเกิดขึ้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน
ปัญหาที่พบบ่อยในยุคหลังคือ การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตป่าทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทำให้ประชาชนตาดำๆ ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ บางครั้งถึงขั้นต้องจัดม็อบชุมนุม และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุม คุมขัง กลายเป็นคนผิด
เรื่องลักษณะเดียวกันนี้ กลับกันถ้าเกิดกับคนรวย นายทุน นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล ขนาดไปออกโฉนดรุกเข้าไปในเขตป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ชื่อดัง หลายๆ ครั้งก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ อยู่กันมาได้แบบไม่โดนขับไล่ บ้างสร้างบ้าน ทำธุรกิจอยู่ในที่ดินรถไฟก็ยังมี
ปัญหาเกิดขึ้นทุกพื้นที่ ทุกสารบบที่ดิน ไม่เว้นแม้แต่ “ที่ดินหลวง” ที่เรียกว่า “ที่ราชพัสดุ” ที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์
อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่ “ทีมข่าวอิศรา” เป็นชาวบ้านจาก อ.เบตง จ.ยะลา เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ บ่อน้ำร้อนเบตง สถานที่ท่องเที่ยวชื่อก้องใน ต.ตาเนาะแมเราะ
ชาวบ้านกลุ่มนี้รวมตัวกัน บอกว่า อยากพบนายกรัฐมนตรี เพราะ 7 ปีมาแล้วที่ชาวบ้านร่วม 200 ชีวิตต้องเดือดร้อน เนื่องจากใช้ชีวิตบนที่ดินราชพัสดุมานานกว่า 40 ปี พยายามขอเช่าที่แบบถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าทางหน่วยงานรัฐกลับปล่อยให้คนที่มาเช่า ซ้ำเป็นการเช่าเพียงรายเดียวถึง 1,088 ไร่
แม้ผู้เช่ารายเดียวคนนี้จะเช่ามานานแล้ว และแจ้งว่าทำการเกษตร สวนยางพารา แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านยืนยันว่า ปัจจุบันนี้ที่ดินผืนดังกล่าวแปรเปลี่ยนเป็นของกลุ่มนายทุน, คนมีสี, นอมินีของทุนต่างประเทศ รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม
ปากคำของชาวบ้านข้องใจว่า ผู้เช่าใช่หรือครอบครองที่ดินเหล่านี้ ไม่เห็นดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่เคยขอเช่า คือ ทำสวนยางพารา หรือทำการเกษตรเลย
“ทีมข่าว” ได้ลงพื้นที่และขับรถสำรวจบริเวณริมถนนทางเข้าบ่อน้ำร้อนเบตง สิ่งที่พบคือ ที่ดินราชพัสดุทุกวันนี้กลายสภาพเป็นพื้นที่คล้ายสนามแข่งรถบ้าง, มีการประกาศให้เช่ารถ ATV (รถจักรยานยนต์สี่ล้อวิบาก), เป็นสนามยิงปืนบ้าง และมีการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ขายที่ดินกันไร่ละ 500,000 บาท และพบการเตรียมการสร้างรีสอร์ท
เส้นทางที่ “ทีมข่าว” สำรวจ คือบริเวณรอบๆ บ่อน้ำร้อน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ เนื้อที่กว่า 1,400 ไร่ จากภาพถ่ายมุมสูง มองเห็นได้ชัดเจนว่ามีการแบ่งพื้นที่เป็นร้านค้าต่างๆ และมีสถานปฏิบัติธรรมด้วย
@@ ที่ดินพันไร่ เช่าปีละ 2 แสน!
ย้อนดูปัญหาการเช่าที่ราชพัสดุจากปากคำของชาวบ้าน ผู้ร้องเรียนได้รวมตัวกันเป็นสมาคม ชื่อ สมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน-อาศัย ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา มีสมาชิกประมาณ 50 คน
เอกสารที่ชาวบ้านมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา เป็นเอกสารสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อการเกษตร เอกสารลงวันที่ช่วงเดือน ต.ค. ปี 2533 เป็นการให้เช่าที่ดินจำนวน 1,088 ไร่ 2 งาน 79 ตารางวา กำหนดเวลา 2 ปี 21 วัน ค่าเช่าไร่ละ 270 บาทต่อปี รวมทั้งหมดจะเป็นเงิน 293,950 บาทต่อปี
เฉพาะเอกสารนี้ สิ่งที่ชาวบ้านสงสัยคือ ทำไมคนคนเดียว ตอนทำสัญญาตอนอายุเพียง 33 ปี ถึงได้สิทธิ์เช่าที่ดินมากถึงพันกว่าไร และหลังจากหมดสัญญาไปแล้ว มีการเช่าต่อหรือไม่ หรือว่าเปลี่ยนมือผู้เช่า
เหตุผลที่ชาวบ้านอยากได้คำตอบ ก็เพราะชาวบ้านอยากจะขอเช่าพื้นที่ส่วนนี้บ้าง เนื่องจากก็อยู่กินกันมานาน แต่พอชาวบ้านไปขอเช่าจากทางธนารักษ์ทีไร กลับไม่เคยได้รับอนุญาตเลย
@@ โพสต์ขายที่ดินโจ๋งครึ่ม
เรื่องยังไม่จบเท่านี้ เพราะหลังจากมีคนเช่ารายเดียวเมื่อปี 2533 ก็ยังมีข้อน่าสงสัยอีกหลายจุด
จุดแรก ในปี 2555 ชาวบ้านกลับพบว่า ที่ดินเจ้าปัญหาบางส่วนถูกประกาศขาย มีสัญญาซื้อขาย วางมัดจำกันจริงจัง ราคาขายในรายละเอียดบอกว่า ที่ดินหน้ากว้าง 8 คูณ 12 เมตร มี 5 ห้อง ขายห้องละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 200,000 บาท
ที่ผ่านมาชาวบ้านทั้งกลุ่มที่รวมตัวเป็นสมาคม และชาวบ้านทั่วไปพยายามขอเช่าบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้สิทธิ์เหมือนเดิม
@@ ศูนย์ปฏิบัติธรรมโผล่แบบเงียบๆ
ผ่านไปไม่นาน ความเจ็บช้ำของชาวบ้านรอบที่สามก็เกิดขึ้น เมื่อชาวบ้านไปพบว่า มีศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติเบตง สามารถเช่าที่ดินในส่วนนี้ได้ สัญญาลงวันที่ไว้ช่วงต้นปี 2558
สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ดำเนินการในรูปแบบมูลนิธิ ชื่อว่า “มูลนิธิธรรมตะวัน” มีวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนเอาไว้ เช่นส่งเสริมกิจกรรมพระพุทธศาสนา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากความไม่สงบ ทำเกษตรวิถีพุทธแบบพอเพียง
@@ ชาวบ้านแฉโดนแจ้งจับ “ขโมยกล้วย”
ชาวบ้านนัดรวมตัวให้ข้อมูลกับ “ทีมข่าว” หนึ่งในแกนนำ คือ มณฑล สุเทวี เล่าว่า ถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์และบุกรุก เนื่องจากเคยทำงานให้กับผู้เช่าที่จากราชพัสดุมาก่อน แต่ต่อมาออกมาร่วมเคลื่อนไหวพร้อมกับชาวบ้านในนามสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกินฯ จากนั้นก็ถูกแจ้งจับ
“ผมเคยเป็นลูกจ้างกรีดยางของคนที่เช่าที่จากราชพัสดุมานานหลายสิบปี จนกระทั่งถูกเขาแจ้งความดำเนินคดีบุกรุก และลักทรัพย์ เป็นกล้วยที่เราปลูกบนพื้นที่ของเขา ทั้งที่ผมและครอบครัวอยู่ที่นี่มานาน 35 ปี ตอนนั้นผมเป็นลูกจ้างกรีดยางของผู้เช่า วันหนึ่งเขาจะปลูกต้นไม้โตเร็ว ผมจึงเสนอว่าเถ้าแก่…ถ้าเอาต้นไม้เล็กๆ มาปลูกแบบนี้ไม่มีอะไรบังแดดมันจะตาย เขาถามว่าแล้วจะทำอย่างไร ผมก็เสนอปลูกกล้วยเพื่อให้มันบังแดด”
“ผมก็ปลูกกล้วยมาเรื่อยๆ จนสามารถเก็บผลผลิตไปขายได้ นานถึง 7 ปี จนกระทั่งผมมาร่วมเคลื่อนไหว้กับชาวบ้านเพื่อขอเช่าพื้นที่ทำสนามกีฬา และที่ออกกำลังกาย แต่ถูกปฎิเสธ แล้วอยู่ๆ ก็มีการแบ่งที่ให้ศูนย์ปฏิบัติธรรมเช่า ผมก็ออกมาเคลื่อนไหว หลังจากนั้นก็มีการแจ้งความดำเนินคดีผม กล่าวหาว่าผม แฟน ลูกสาวขโมยกล้วย และเป็นผู้บุกรุก ผมก็ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปที่ทางจังหวัดยะลา ถึงนายกรัฐรัฐมนตรี ต่อสู้จนศาลรอลงอาญา” มณฑล กล่าว
@@ บุกร้องนายกฯ แต่ถูกบล็อก
4 เหตุการณ์ที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ปี 2533 ปี 2555 ปี 2558 และการถูกฟ้องดำเนินคดี จนมาถึงทุกวันนี้ หนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่เรียกกันในชื่อ “ลุงไข่” บอกว่าเห็นสภาพที่ดินแปรเปลี่ยนเป็นรีสอร์ท สนามแข่งรถ ทำให้ชาวบ้านที่พยายามเรียกร้องไปยังผู้นำประเทศเนื่องจากหมดความอดทน เคยนัดหมายไปยื่นหนังสือถึงนายกฯ ช่วงที่ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แต่กลับถูกบล็อก ไม่สามารถยื่นเรื่องได้ สุดท้ายต้องร้องเรียนผ่านสื่อให้ช่วยส่งสารถึงนายกรัฐมนตรีด้วย
นุท พรมสังข์ เป็นอีกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และอยากขอเช่าที่ดิน แต่ไม่ได้สิทธิ์
“อาศัยอยู่ที่นี่นาน 40 กว่าปี แต่ผมไม่มีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยบนที่ราชพัสดุอย่างถูกกฎหมาย ทั้งที่พวกเรามีความพยายามที่จะขอเช่า แต่เขากลับให้คุณค่ากับนายทุน กับนายพล และชาวมาเลเซีย ทั้งๆ ที่ให้คนพื้นที่เป็นนอมีนี เราอยากขอนายกรัฐมนตรีให้เห็นใจพวกเราด้วย ขอให้พวกเราเดือดร้อนในยุคของท่าน แล้วความเดือดร้อนนี้จบลงในยุคของท่านด้วย”
ขณะที่ นายหวังอามะ มือนา อดีต ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 94 ในพื้นที่เบตง เล่าว่า แม้แต่ชาวบ้านจะขอเช่าที่ดินเพื่อขยายพื้นที่โรงเรียนก็ไม่ได้ อบต.ขอเช่ายังไม่ได้เลย
@@ ร้อง คสช.ตั้งแต่ปี 60 ยังไร้ผล – ขู่บุก กทม.
แกนนำชาวบ้านในสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน-อาศัย นายประเสริฐ เกาะกลาง กล่าวว่า การที่ชาวบ้านรวมตัวกันก็เพื่อขอความเป็นธรรม อยากแค่ขอแบ่งเช่าพื้นที่เพื่อทำมาหากินและเป็นที่อยู่อาศัย แต่กลับถูกปฏิเสธจากผู้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ต่อจากธนารักษ์ จ.ยะลา ทั้งที่สามารถแบ่งเช่าให้ศูนย์ปฏิบัติธรรมได้ ยังไม่รวมรายอื่นๆ อีก
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้รวมตัวกัน เคยได้ทำหนังสือยื่นถึง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) รวมถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 60 แต่เรื่องราวกลับเงียบหาย
นายประเสริฐ บอกด้วยว่า ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา แจ้งมายังพวกตนว่า จะทำเรื่องนี้ให้เสร็จภายใน 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.65 ที่ผ่านมา ซึ่งทางสมาคมฯได้ยื่นหนังสือไป แต่ไม่ได้บอกจะทำให้เสร็จอย่างไร แต่นชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะดำเนินการจริง เพราะ 7 ปีที่มีการเคลื่อนไหวขอความเป็นธรรม ผู้มีอำนาจก็จะตอบมาแบบนี้ทุกครั้ง แต่ก็ให้เวลาผู้ว่าฯได้ดำเนินการตามที่พูด
“โดยอีก 2 เดือนหลังจากนี้ หากไม่มีความคืบหน้า อาจเดินทางไป กทม.เพื่อขอความเป็นธรรมจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แกนนำชาวบ้าน กล่าว
@@ ธนารักษ์ยะลาแจงปมที่ดินพันไร่เบตง
ไปฟังข้อมูลฝั่งกรมธนารักษ์บ้าง นายสาธิต บุญแล ธนารักษ์พื้นที่ยะลา อธิบายเอาไว้แบบนี้
– ที่ดิน 1 พันกว่าไร่ตามที่เป็นข่าวนั้น นายจำเริญ วัฒนายากร ยื่นประมูลคนเดียว โดย นายจำเร็ญเป็นบิดาของ นายวีระวัฒน์ วัฒนายากร ที่เป็นผู้เช่าในปัจจุบัน
– นายวีระวัฒน์ วัฒนายากร ทำสัญญาเช่า โดยแจ้งวัตถุประสงค์เพื่อทำสวนยางพารามาโดยตลอด และชำระค่าเช่าตามที่ราชการกำหนด
– ปัจจุบัน นายวีระวัฒน์ มีการแบ่งโอนสิทธิ์การเช่าให้บุคคลอื่นไปบางส่วน มีผู้เช่าทั้งหมด 224 ราย และมี 2 ราย ทำที่พักทราย (ที่วางกองทรายหลังจากดูดทรายมา) และเป็นสมาคมการท่องเที่ยวไทกัน
– ยืนยันว่าที่ดินแปลงอื่นทำสวนยางพาราอยู่ โดยเหลือที่เช่าของ นายวีระวัฒน์ ประมาณ 900 กว่าไร่
นายสาธิต อธิบายต่อว่า ที่ดินธนารักษ์ แบ่งการทำประโยชน์เป็น 3 รูปแบบ คือ
1.การเช่าเพื่ออยู่อาศัย เฉพาะที่เบตงมีชาวบ้านอยู่อาศัยประมาณ 200 กว่าราย
2.ขอเช่าเพื่อทำอย่างอื่น เช่น ทำแหล่งท่องเที่ยว และทำการเกษตร แต่ปัจจุบันที่ทำอยู่ที่เบตง มีแค่อยู่อาศัย และทำการเกษตร ไม่มีทำอย่างอื่นหรือแหล่งท่องเที่ยว
3.ตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติเบตง ในนามมูลนิธิธรรมตะวัน โดยมูลนิธิแห่งนี้เช่าที่ดินกับ นายวีระวัฒน์ ประมาณ 10 ไร่ โดยเปลี่ยนแปลงการเช่าเพื่อทำการเกษตรมาเป็นเพื่อเผยแผ่และปฏิบัติธรรม ลักษณะคล้ายๆ สำนักสงฆ์ทั่วไป
“เท่าที่ดูก็ไม่เห็นมีปัญหาตรงไหน มีสัญญาเช่า 3 ปี” นายสาธิต ระบุ
@@ พร้อมให้คนจนเช่า แต่ตรวจสอบแล้ว “ไม่จนจริง”
ส่วนชาวบ้านที่เรียกร้องขอเช่าที่ดินนั้น นายสาธิต ในฐานะธนารักษ์พื้นที่ยะลา บอกว่า กลุ่มที่เรียกร้องต้องการให้เลิกสัญญาเช่ากับ นายวีระวัฒน์ แล้วนำที่ดินมาให้ชาวบ้านเช่าต่อ ภายใต้สมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน-อาศัย ต.ตาเนาะแมเราะ โดยสมาคมฯจะนำที่ดินมาบริหารจัดการให้เช่าในนามสมาคมฯ แต่การเช่าที่ถูกต้อง ควรเช่าเป็นรายๆ และต้องตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นคนยากจนจริงหรือเปล่า ไม่มีที่อยู่อาศัยจริงหรือเปล่า
“ทางธนารักษ์พื้นที่ยะลา เคยแจ้งให้สมาคมฯส่งรายชื่อมา เพื่อส่งให้อำเภอตรวจสอบ ก็เคยส่งมาให้ตรวจสอบครั้งหนึ่งสมัยปี 2547 ตรวจสอบแล้วพบว่า บางคนเป็นคนที่มีที่ดินแล้ว บางรายไม่ใช่คนที่อยู่ในพื้นที่เบตง”
“ธนารักษ์เองก็ไม่ขัดข้อง ถ้าคนยากจนประสงค์จะขอเช่าที่ของเรา แต่ให้เราตรวจสอบก่อนว่าไม่มีที่ดินทำกินจริง แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการ หลักของธนารักษ์เราไม่เคยไล่ชาวบ้าน เพียงแต่ว่าที่ดินแปลงนี้ นายวีระวัฒน์ วัฒนายากร ทำประโยชน์มา เป็นพื้นที่ของเขาเอง การที่เราจะเอาที่ของเขามา ก็ต้องมีการเจรจา ถึงแม้เป็นพื้นที่หลวงก็ตาม เราคุ้มครองสิทธิ์ของผู้เช่าเดิม”
“ก็ได้มีการเจรจารอบนอกกันแล้วว่า ถ้าหากว่าเราไปขอใช้สิทธิ์จากเขามา โดยเราเสียเงินชดเชยตามสิทธิ์ที่เขามีอยู่ ผมคิดว่าเป็นทางออกที่น่าเป็นไปได้ แต่ถ้าเกิดเราจะเลิกสัญญาเช่าของเขาเลย แล้วเอามาให้ชาวบ้านเช่าแทน แน่นอนผมคิดว่าเป็นเรา เราก็ไม่ยอม เพราะทำให้เขาเสียประโยชน์ ทางที่ดี ถ้าเราเจรจากันก่อนว่าคุณต้องการเช่าบริเวณไหน แล้วคุณยอมจ่ายชดเชยบางสิ่งที่เขาออกไปแล้วนั้น ผมว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม และเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย”
@@ แจงเช่าแปลงใหญ่พันไร่ เป็นที่ “ประมูล” ยุคศัตรูยูเอ็น
“ทีมข่าว” ถามว่า กรณีผู้เช่าเดิมเช่าที่ดินถึงกว่า 1 พันไร่ ถือว่าเป็นคนจน ไม่มีที่ทำกินด้วยหรือไม่ นายสาธิต ตอบว่า ในส่วนของ นายจำเริญ วัฒนายากร ที่เป็นผู้เช่าเดิมนั้น เป็นการเช่าในนามบุคลธรรมดา เป็นการประมูลได้จากคณะกรรมการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์ของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ ไม่ได้เกี่ยวหรือมีเงื่อนไขในเรื่องของความยากจน
ส่วนชาวบ้านที่ร้องเรียนนั้น ทางธนารักษ์ได้คุยกับชาวบ้านครั้งสุดท้ายเมื่อปี 58 หลังจากนั้นก็ยังไม่มีการพูดคุยหรือเจรจาอะไรเพิ่มเติม เพราะสิ่งที่ร้องเรียนเป็นเรื่องเดิมๆ ทางธนารักษ์ไม่สามารถไปยกเลิกการเช่าจากผู้เช่าเดิมได้
“ทีมข่าว” ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจนทราบว่า คณะกรรมการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์ของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ ตามที่นายสาธิตพูดถึงนั้น เป็นไปตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกักคุมและการควบคุมจัดกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ พ.ศ.2488 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 /ให้อำนาจรัฐบาลเข้าไปควบคุมกิจการหรือทรัพย์สินของบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาติ คาดว่านายจำรูญ ไปประมูลที่ดินผืนนี้มาจากคณะกรรมการที่รัฐบาลยุคนั้นตั้งขึ้น และยึดที่ดินมา
@@ แจงปม “สนามแข่งรถ-ยิงปืน” โผล่ที่ราชพัสดุ
ยังคงมีประเด็นค้างคาใจชาวบ้านที่ธนารักษ์พื้นที่ยะลายังไม่ได้ตอบ “ทีมข่าว” จึงสอบถามเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่าง
เริ่มจากประเด็นแรก มีการปรับพื้นที่เป็นเหมือนสนามแข่งรถ ไม่ได้ทำการเกษตรตามที่อ้าง?
ธนารักษ์พื้นที่ยะลา อธิบายว่า ได้ลงพื้นที่ไปกับสำนักงาน ป.ป.ช.ยะลา และ ป.ป.ช.ภาค 9 เมื่อต้นเดือน มิ.ย.65 พบว่ามีการใช้พื้นที่ทำอย่างอื่นด้วยจริงๆ ซึ่งไม่ใช่ทำการเกษตร โดยที่ดินแปลงที่ดูเหมือนคล้ายสนามแข่งรถ ATV หรือรถมอเตอร์ไซค์สี่ล้อวิบาก เป็นของผู้เช่าอีก 4 ราย ไม่ใช่รายเดิม ผู้เช่าใหม่กลุ่มนี้มาขอเช่าคนละประมาณ 4 ไร่ เป็นข้าราชการเกษียณ ต้องการทำการเกษตร จะปลูกต้นไม้ แต่บังเอิญมีการติดป้ายให้เช่ารถ ATV เอาไว้ ตนจึงทำหนังสือถึงผู้เช่าเพื่อสอบถาม
ต่อมาผู้เช่าชี้แจงว่า ขอสร้างบ้าน 1 หลัง และมีรถ ATV 2 คัน เพื่อให้คนเช่าไปเที่ยวบ่อน้ำร้อน แต่ไม่ได้ปรับพื้นที่ให้รถวิ่งตรงนั้น
ประเด็นต่อมา เรื่องการโพสต์ขายที่ดินราชพัสดุในโซเชียลมีเดีย
นายสาธิต ธนารักษ์ยะลา อธิบายว่า เป็นที่ดินที่เคยทำปางช้าง เช่าต่อจาก นายวีระวัฒน์ วัฒนายากร ผู้ที่เช่าที่ดินตรงจากกรมธนารักษ์ ต่อมาช่วงโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยว จึงยกเลิกทำปางช้าง ทั้งๆ ที่เปิดหลายปาง ทั้งพัทยา หาดใหญ่ เบตง ปรากฏว่าเงินจม จึงโพสต์ประกาศขาย หวังให้คนอื่นรับช่วงไป แต่ไปเขียนว่าขายที่ราชพัสดุ
ตนทราบเรื่องก็แจ้งไปว่า การลงประกาศแบบนี้ไม่ถูกต้อง เพราะการขายคือโอนกรรมสิทธิ์ แต่ความจริงเป็นการโอนสิทธิ์การเช่า สุดท้ายก็เลยลบโพสต์ไป ปัจจุบันมีคนรับช่วงเช่าต่อ เป็นข้าราชการอยู่ในเบตง ขอซื้อคนละ 4 ไร่ (ซื้อสิทธิการเช่า) แปลงที่ 1 เป็นบ่อน้ำ และปลูกผัก แปลงที่สอง ปลูกต้นไม้อยู่ แปลง 3-4 เป็นพี่น้องกัน ใช้ทำที่อยู่อาศัย และให้เช่ารถ ATV สรุปว่าไม่มีปัญหาใดๆ
อีกประเด็นที่มีภาพปรับพื้นที่ทำสนามยิงปืน เรื่องนี้ นายสาธิต บอกว่า เป็นพื้นที่ของ “สมาคมไทกัน” สมาคมนี้ขอเช่าที่ดินจาก นายวีระวัฒน์ วัฒนายากร เหมือนกัน โดยเช่าประมาณ 1 ไร่ เพื่อทำสมาคมยิงปืน และทำเป็นสนามยิงปืนของเบตง ได้ทำเรื่องขออนุญาตมาแล้ว ซึ่งทางธนารักษ์ก็อนุญาตไป โดยให้เช่าเพื่อทำประโยชน์เชิงพาณิชย์ ไม่ได้เช่าเพื่อการเกษตร แต่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของทางอำเภอแล้ว ทางธนารักษ์จึงไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับท้องถิ่น
ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่เข้าใจว่าเป็นรีสอร์ทนั้น ธนารักษ์พื้นที่ยะลา บอกว่า เป็นการขอใช้ประโยชน์เพื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น ไม่ได้ทำรีสอร์ท เพียงแต่ถ้าเพื่อนๆ มาเที่ยวก็มาพักได้ เพราะมีแค่ 3 หลัง ไม่ได้มีหลายหลัง เป็นกิจการของครอบครัวผู้เช่าเอง
@@ ศูนย์ปฏิบัติธรรมฯ เช่าตรงกับธนารักษ์แล้ว
นายสาธิต ยังได้อธิบายเพิ่มเติมเรื่อง “ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติเบตง ว่า มูลนิธิธรรมตะวันรับโอนสิทธิการเช่าจาก นายวีรวัฒน์ วัฒนายากร ผู้เข่าเดิม พื้นที่ 10 ไร่ และตอนนี้เป็นผู้เช่าโดยตรงกับกรมธนารักษ์แล้ว
ส่วนกรณีที่ชาวบ้านรวมตัวกันเป็น “สมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน-อาศัย” ต.ตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง อ้างว่ากรมธนารักษ์ไม่ยอมให้เช่าในนามสมาคมฯ เพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์กันในหมู่สมาชิกสมาคมนั้น
@@ เปิดช่องชาวบ้านเช่า แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์
นายสาธิต อธิบายว่า ถ้าเจรจากับผู้เช่าเดิมได้ คือ นายวีรวัฒน์ วัฒนายากร ก็สามารถเช่าได้ ตนต้องการให้สมาคมฯเช่ารายเดียว แต่ไม่ใช่ภายใต้การจัดการของสมาคมฯ เพราะต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของกระทรวงการคลัง และหลักเกณฑ์ที่กรมธนารักษ์กำหนด เช่น ห้ามโอนสิทธิ หากเลิกเช่าหรือไม่ทำประโยชน์ ให้ตกกลับมาเป็นของทางราชการตามเดิมเท่านั้น
ที่สำคัญ ผู้ที่จะเช่าต้องผ่านการตรวจสอบว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ร้องขอ คือเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินและยากจน และควรเป็นคนในพื้นที่ตามที่กล่าวอ้างว่าอยู่อาศัยมาแต่เดิม โดยอำเภอเบตงและสำนักงานที่ดินจังหวัดยะลา สาขาเบตง จะเป็นหน่วยตรวจสอบก่อน การใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การเช่า คือ เพื่ออยู่อาศัย เพื่อการเกษตร เพื่อประโยชน์อย่างอื่น เช่น เพื่อการท่องเที่ยว เพื่อประกอบการค้า หรืออื่นๆ ซึ่งอัตราค่าเช่าที่เรียกเก็บจะไม่เท่ากัน
@@ ชาวบ้านมึนคำชี้แจงธนารักษ์
ด้าน นายประเสริฐ เกาะกลาง แกนนำสมาคมผู้ไม่มีที่ดินทำกิน-อาศัย กล่าวว่า ได้ทราบข่าวที่ทางธนาร้กษ์พื้นที่ยะลาชี้แจง มองว่าอธิบายไม่ตรงประเด็น ชี้แจงแบบให้ผ่านๆ ไปเท่านั้น ชาวบ้านดูแล้วรู้สึกตลก ดูแล้วมั่วมาก
“กรณีการโพสต์ขายที่ดินในโซเซียลฯ ที่ชาวบ้านหมายถึง ไม่ใช่แปลงนั้น คนละแปลงกันเลยกับที่ชี้แจง เพราะที่ชาวบ้านพูดถึง เจ้าของที่เขาขึ้นป้ายประกาศขายเลย ไม่ใช่แค่ในโซเชียลฯ ส่วนสนามยิงปืน เป็นไปได้หรือที่ไปตั้งข้างถนน มาตรฐานและความปลอดภัยอยู่ตรงไหน ทำไมต้องมาตั้งอยู่ริมถนนทางไปบ่อน้ำร้อน”
นายประเสริฐ บอกด้วยว่า ขณะนี้ตั้งความหวังกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว อาจพบสิ่งผิดปกติบ้าง เพราะชาวบ้านเห็นกันหมด ถ้า ป.ป.ช.ไม่เห็น ชาวบ้านก็คงไม่มีทางได้รับความเป็นธรรมอีกต่อไป