MGR Online – ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาเด็กแว้นอย่างยั่งยืน เปิดฝึกอบรมวิทยากร (ครูแม่ไก่) สร้างเครือข่าย “เด็กเยาวชนก่อการดี” ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง พัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน
วันนี้(8 ก.ค.)พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง (ศปข.ตร.) ได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำหน้าที่ครูแม่ไก่ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด บช.น. และ ภ.1 – 9 หน่วยละ 30 นาย จำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 150 นาย รวม 300 นาย ในห้วงวันที่ 4 – 9 ก.ค.65 ณ รร.นรต. เพื่อที่จะไปดำเนินการสานต่อนโยบายในการฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ถูกกฎหมาย และลดพฤติกรรมเสี่ยงในการแข่งรถในทาง
พล.ต.ท.ประจวบ เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาลที่ตระหนักและให้ความสำคัญในปัญหาการแข่งรถในทางของเด็กและเยาวชน (เด็กแว้น) ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างอุบัติเหตุบนท้องถนน และเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนในชุมชนและสังคม จึงมุ่งหวังให้ ตร. แก้ไขปัญหาดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศปข.ตร.และมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. เป็น ผอ.ศปข.ตร. มีตนเอง และ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รอง ผอ.ศปข.ตร. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง โดยใช้นโยบายบังคับใช้กฎหมายใน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการก่อนเกิดเหตุ มาตรการขณะเกิดเหตุ มาตรการสอบสวนขยายผล และ มาตรการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า นอกจากมาตรการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อควบคุมการกระทำผิดของกลุ่มผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงในการแข่งรถแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดหรือผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคม ลดพฤติกรรมเชิงลบ และการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการมีส่วนร่วมของผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน (Stronger together) ในการจัดการปัญหาการแข่งรถในทาง ส่งเสริมให้เด็กแว้นทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น กิจกรรมจิตอาสา อาสาจราจร จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของหลักสูตรการฝึกอบรม ได้มอบหมายให้คณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พัฒนาต้นแบบหลักสูตรการอบรมเด็กและเยาวชน เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ถูกกฎหมาย และลดพฤติกรรมเสี่ยงในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ในทาง และดำเนินการอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปขยายผลดำเนินการฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และสร้างเครือข่ายทั่วประเทศต่อไป
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวด้วยว่า ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เข้ารับการอบรมและจะต้องไปทำหน้าที่ครูแม่ไก่ 3 ประการ ดังนี้ 1. ต้องเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่อาจจะหลงผิด โดยต้องใช้จุดแข็งเรื่องความกล้าหาญของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ หากสามารถนำจุดแข็งไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน รวมถึงช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้ โดยการสร้างการมีส่วนร่วมให้เห็นถึงปัญหาและทำประโยชน์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา จะเป็นแรงผลักดันด้านบวกในการพัฒนาประเทศและสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยจะต้องออกแบบหลักสูตร เพื่อใช้ในการฝึกอบรมเด็กและเยาวชน และสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไป 2.หลังจากฝึกอบรมครูแม่ไก่ในโครงการนี้แล้ว ให้ทุกหน่วยดำเนินการจัดฝึกอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 18,000 คน ให้เรียบร้อย ภายในเดือน ส.ค.65 โดยมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะกระทำความผิด กลับตัวเป็นคนดี มีจิตอาสาพัฒนา เพื่อเป็นเด็กและเยาวชนก่อการดีต่อไป และ3.ผู้เข้ารับการอบรมครูแม่ไก่ทุกนาย จะต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ที่แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งรถในทาง เช่น การเพิ่มบทสันนิษฐานของกฎหมาย ในเรื่องของการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมกันในทาง หรือ สาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป โดยมีการนัดหมายเพื่อแข่งรถในทาง หรือรถที่ใช้ในการรวมกลุ่ม มีการดัดแปลงหรือปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้อง หรือมีพฤติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทาง ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามแข่งรถในทาง การเพิ่มบทความผิดของผู้จัด โฆษณา ประกาศ ชักชวน หรือดำเนินการ ด้วยวิธีการใดเพื่อให้มีการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต และการเพิ่มบทความผิดของผู้รับดำเนินการดัดแปลง หรือปรับแต่งรถให้มีสภาพไม่ถูกต้อง เป็นต้น
“การอบรมครูแม่ไก่ในวันนี้เพื่อต่อยอดไปสู่การอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดหรือผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ในการแข่งรถในทางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคม ลดพฤติกรรมเชิงลบ และส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนต่อไป”ผู้ช่วย ผบ.ตร.ระบุ
As part of their spo…
This website uses cookies.