5
คุณเคยเถียงกับเธอเรื่องการใช้เงินแก้ปัญหา
เธอบอกคุณว่า ไม่ว่าจะอย่างไร การใช้เงินแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ไม่ดี อันดับแรก ถ้าหากหาวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นได้ก่อนการใช้เงิน เธอก็อยากให้คุณทำ
เธอยังบอกอีกด้วยว่า มันอาจคลับคล้ายการ ‘เอาเงินฟาดหัว’ คนอื่น
เป็นเขานั่นเอง ที่เคยบอกคุณว่า หากมีและใช้เป็น การใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องแย่นัก
ครั้งหนึ่ง เขาเคยเปิดประตูรถแท็กซี่ออกไปเมื่อถึงที่หมายโดยไม่ได้ดูตาม้าตาเรือให้ดีเสียก่อน ปรากฏว่ามอเตอร์ไซค์คันหนึ่งพุ่งเข้ามาชนประตูที่เขาผลักเปิดออกไปเต็มรัก
ประตูแท็กซี่พัง คนขับรถมอเตอร์ไซค์ได้รับบาดเจ็บ และรถมอเตอร์ไซค์ก็พัง
บังเอิญว่าวันนั้น คุณนัดกับเขาในช่วงเย็น แต่เหตุการณ์เกิดในช่วงสาย เขาจึงเล่าเหตุการณ์นี้ให้คุณฟังด้วยท่าทีผ่อนคลาย มันเป็นเรื่องชวนตระหนก แต่เมื่อทุกอย่างผ่านไปด้วยดี เขาจึงสงบลงมากพอที่จะสรุปบทเรียนที่ได้รับ
“ฉันแค่คิดว่า โชคดีที่ฉันมีเงินมากพอ”
เขาแก้ไขสถานการณ์ทั้งหมดด้วยการขอโทษ ยอมรับผิด และยินยอมชดใช้และทำขวัญทุกคนในที่เกิดเหตุที่เกิดขึ้น เพราะความสะเพร่าของเขาด้วยเงินก้อนโต
เมื่อนึกย้อนกลับไป เงินครึ่งแสนที่เด็กหนุ่มเพิ่งทำงานไม่กี่ปีต้องควักกระเป๋าจ่ายออกไป ไม่ใช่เงินก้อนเล็กเลย คุณเคยบอกเขาอย่างนั้น – มันไม่ใช่เงินก้อนเล็กเลยนะเพื่อน
“แต่ทุกอย่างก็จบลงได้ด้วยดีไม่ใช่หรือ” เขาย้อนถามคุณอย่างนั้น “ถ้าเรามีเงินมากพอ เราจะไม่ใช้มันเพื่อแก้ปัญหาหรอกหรือ จะกอดเก็บเงินเอาไว้ทำไม ถ้าหากเงินนั้นสามารถใช้จ่ายออกไปเพื่อให้ปัญหายุติลงได้ด้วยความพึงพอใจของทุกฝ่าย”
คุณเล่าเรื่องนี้ให้เธอฟัง คุณบอกเธอว่า – การใช้เงินแก้ปัญหา หรือมี ‘สำนึก’ ว่าเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องกอดเก็บเอาไว้ไม่ยอมใช้เพื่อแก้ปัญหา เป็นคนละเรื่องกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และยิ่งเป็นคนละเรื่องกับการ ‘เอาเงินฟาดหัว’ คนอื่น เพื่อยุติปัญหา
แต่เธอไม่เห็นด้วย
ลองนึกดูสิ – คุณบอกเธอ, ลองนึกถึงข่าวที่เราเคยได้ยินมาเมื่อไม่นานมานี้ เรื่องของเศรษฐีสองคนที่ขับรถชนคนตายทั้งคู่ แต่ต่างมีวิธีแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน
คุณบอกเธอว่า – ถ้ายังจำได้ เคยมีเศรษฐีคนหนึ่งขับรถชนคนตาย เศรษฐีคนนี้น่าจะรวยในหลักร้อยล้าน (หรืออาจจะพันล้านก็ไม่รู้ได้ แต่ไม่น่าเกินไปกว่านั้น) เขายอมรับผิด เพราะตัวเองเมาแล้วขับ และรู้สึกผิดจริงๆ เขาจึงใช้ทั้งหัวใจและเงินแก้ปัญหา ด้วยการชดเชยให้กับลูกๆ ของผู้เสียชีวิตเป็นเงินหลายสิบล้านบาท และรับจะเลี้ยงดูเด็กๆ เหล่านั้นไปจนเรียนจบและเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ผลที่เกิดขึ้นนั้นมากยิ่งกว่าการให้อภัยของสังคม เพราะกระทั่งเด็กๆ ที่สูญเสียพ่อแม่ไปแล้ว – ก็ยังรักเขา
แต่ในอีกกรณีหนึ่ง ลูกชายของเศรษฐีที่ร่ำรวยในหลักหลายพันล้าน หรืออาจจะถึงหมื่นล้าน (ถ้าหากไม่ใช่แสนล้าน) ก็เคยขับรถชนคนตายเช่นเดียวกัน แต่มหาเศรษฐีคนนี้เลือกที่จะแก้ปัญหาอีกแบบ นั่นคือด้วยการหนีไปอยู่ต่างประเทศ และพยายามสร้างกระบวนการต่างๆ นานาขึ้นมากมาย เพื่อปัดความผิดและความรับผิดชอบทั้งหลาย เขาร่ำรวยมากพอที่จะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกอย่างสุขสบาย แต่คำสาปแช่งก่นด่าของผู้คนที่มีต่อกรณีนี้ จะทำให้เขาไม่อาจมีความสุขอย่างแท้จริงไปชั่วชีวิต แม้คดีจะหมดอายุความ เขาอาจจะกลับมาเยือนแผ่นดินเกิดได้ แต่เขาจะไม่มีวันมีศักดิ์ศรีแห่งความรู้รับผิดชอบได้เหมือนเศรษฐีคนแรกเลย
เศรษฐีคนที่สองอาจจะมีเงินมากมาย แต่เป็นไปได้ว่าเขาอยากกอดเก็บเงินมากมายนั้นเอาไว้ สุดท้ายเขาอาจต้องใช้เงินอีกมากเพื่อปกปิดคดี ซึ่งอาจจะมากยิ่งกว่าการยอมรับผิด ชดใช้ ชดเชย และยืดอกรับผิดอย่างเต็มตัวเต็มหัวใจเหมือนเศรษฐีคนแรกก็ได้
แม้จะมีเงินมากกว่าเศรษฐีคนแรกไม่รู้จักกี่สิบเท่า แต่ในความเห็นของคุณ เศรษฐีคนที่สองคือคนที่ ‘ใช้เงินไม่เป็น’ และอาจมีสำนึกของความยากจนฝังอยู่ในสมองของเขามากเสียยิ่งกว่าคนที่มีเงินน้อยกว่าเขาด้วยซ้ำ
คุณบอกเธอไปว่า – การใช้เงินเพื่อแก้ปัญหาเป็น คือ การไม่ยึดติดอยู่กับเงิน เงินไม่ใช่เจ้านายของเรา เงินมีไว้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา แต่ก็อีกนั่นแหละ – แค่เงินอย่างเดียวใช้แก้ปัญหาไม่ได้บริบูรณ์หรอก เงินต้องถูกนำไปแก้ปัญหาอย่างถึงพร้อมคู่กันไปกับหัวใจและสมองด้วย
ถึงอย่างไร เธอก็ไม่เห็นด้วยกับคุณอยู่ดี เธอบอกว่าเงินคือสิ่งที่ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้มากและนานที่สุด หากไม่จำเป็นจริงๆ เงินจะไม่มีวันกระเด็นออกจากกระเป๋าของเธอเลย
คุณไม่ได้ตอบอะไรเธอ คุณเพียงแต่นั่งอยู่เงียบๆ และนึกถึงเขา – เพื่อนคนที่สอนให้คุณรู้ว่าการใช้เงินแก้ปัญหาคืออะไร
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
Author
ผู้เขียนไร้นาม
เจ้าของ ‘เรื่องเล่า’ จากซีรีส์ ‘ณ ที่นี้ยังมีความรักหนึ่ง’ ที่เล่าถึงความรักของผู้คนไร้ชื่อในมหานครไร้ใบหน้า
Follow
As part of their spo…
This website uses cookies.