ในปี 2564 แม้ทั่วโลกยังคงเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงักหรือชะลอการดำเนินธุรกิจลงในทางตรงกันข้าม บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)(CKPower) ชื่อย่อหลักทรัพย์ CKP ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนประเภทต่าง ๆ ยังคงสามารถผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้อย่างต่อเนื่อง
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKPower กล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ CKPower อย่างเป็นรูปธรรมคือการได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2564 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากทีมผู้บริหารได้ปรับแนวทางการบริหารงานแบบวิถีใหม่ (New Normal) ในโรงไฟฟ้าทุกแห่งทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีมาตรการปฏิบัติงานที่สอดคล้องตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นใหม่หรือ Emerging Risk ทำให้เกิดการ ปรับตัวและสามารถตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคต
“นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเหลือสังคมเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยดี” นายธนวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้การได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ของ CKPowerยังเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญถึงการดำเนิน
ธุรกิจอย่างยั่งยืนใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล(Environment, Social, Governance : ESG) ครอบคลุมครบทั้ง 3 มิติโดยบริษัทมีการจัดทำกลยุทธ์สนับสนุน 9 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ปัจจุบัน CKPower มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 87.71% โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 10.96% และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1.33% เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้า Grid ในประเทศไทย CKPower สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.25 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนไม่น้อยกว่า 85% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดของบริษัท
CKPower ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและในระดับสากลอย่างจริงจัง โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ได้เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ในงาน Global Compact Network Thailand – (GCNT) Forum 2021 ที่จัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างองค์การสหประชาชาติและสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกำหนดเป้าหมายแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2608-2613 ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยที่ได้เข้าร่วมทำความตกลงกับองค์การระดับโลก โดยในการประชุมดังกล่าวมีผู้บริหารระดับสูงของ 74 องค์กรที่เป็นสมาชิก GCNT ในประเทศไทยจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมด้วย
สำหรับแผนพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรที่ทาง CKPower นำมาใช้ประกอบด้วยการบริหารจัดการพลังงานของโรงไฟฟ้าบางปะอินโคเจนเนอเรชั่น โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของหอหล่อเย็น (Cooling Tower Optimization) ช่วยหยุดพัดลมระบายความร้อนหอหล่อเย็นในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำสามารถประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.86 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีทำให้คว้ารางวัล Asian Power Awards ปี 2564 สาขาผู้พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานแห่งปี (Innovative Power Technology of the Year)
ทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้จัดทำโครงการลดปริมาณน้ำทิ้งด้วยการควบคุมความเข้มข้นคลอไรด์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยจากผลการดำเนินการเมื่อปี 2563 สามารถลดน้ำทิ้งและน้ำเติมได้ 80,000 ลูกบาศก์เมตรเทียบเท่ากับการใช้น้ำจำนวน 1,095 คนในระยะเวลา 1 ปีรวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า 3 ล้านบาทต่อปีและได้ดำเนินโครงการต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายการลดน้ำทิ้งที่ต้องเติมเข้าระบบปริมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้น้ำจำนวน 410 คน ในระยะเวลา 1 ปี (ที่มา : ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำของคนกรุงเทพฯ จากกระทรวงพลังงาน ปี 2563 โดยเฉลี่ยวันละ 200 ลิตร/วัน)
ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้สนับสนุนการสร้างห้องไอซียู ความดันลบ จุดบริการฉีดวัคซีน และช่วยเหลือชุมชนในเขตพื้นที่โรงไฟฟ้าด้วยการมอบเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย เครื่องอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้กับชุมชนในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 9 ชุมชน รวมทั้งชุมชนในพื้นที่ ต.โคกไทย อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ทั้งหมด 400 ครัวเรือน ซึ่งเป็นชุมชนในเขตพื้นที่โรงไฟฟ้าบางเขนชัยโซลาร์ (BKC)เพื่อให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ในช่วงที่ต้องกักตัวภายในเคหสถานและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามประกาศของภาครัฐ
สำหรับใน สปป.ลาว บริษัทได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนในเมืองไซยะบุรีที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจากพายุโคะงุมะ โดยได้จัดส่งรถบรรทุกน้ำและพนักงานจิตอาสาเพื่อเข้าไปช่วยทำความสะอาดถนน นอกจากนี้ยังจัดส่งสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพให้อีกด้วย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในเครือ CKPower
“CKPower มุ่งมั่นผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดโดยตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 พร้อมผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างผลตอบแทนแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่องในระยะยาว และขอร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมแห่งคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ไปด้วยกัน” นายธนวัฒน์ กล่าว