ชัชชาติ แจง 8 ข้อ หลังวิ่งพร้อมกับทีม พร้อมส่องปัญหาในพื้นที่ที่วิ่งผ่าน แนะกทม. ทบทวนการรื้อตู้กดน้ำฟรี 400 จุดทิ้ง เหตุยังมีคนใช้บริการเพียบ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
13 ก.พ. 2565 – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหนึ่งในว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ เผยถึง 8 ประเด็นที่น่าสนใจ ภายหลังวิ่งที่เขตบางคอแหลม กทม. และแวะดูสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองหลวง เมื่อวันที่ 12 ก.พ. โดยมีใจความดังนี้
1. สวนเฉลิมพระเกียรติใต้สะพานพระราม 9 อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสวนที่ทาง การทางพิเศษมอบให้ กทม.ดูแลเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ตอนนี้ต้นไม้โต ให้ร่มเงาเต็มทั้งสวน คุยกับพี่ที่มาสวนประจำเล่าว่าเมื่อสักห้าปีที่แล้ว การทางจะขอที่คืนเพื่อเอาไปทำที่ก่อสร้างสะพานเส้นใหม่ แต่ประชาชนรวมตัวกันต่อสู้ จนสุดท้ายสวนยังคงอยู่ ในอนาคต กทม.ต้องพยายามหาพื้นที่ว่างทั้งของทางราชการและเอกชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชน โดยเรามีเป้าหมาย กรุงเทพ 15 นาที คือ ต้องให้ทุกคนสามารถเดินถึงพื้นที่สีเขียวหรือลานกีฬา ได้ภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร
2. ทางเท้าริมถนนพระราม 3 ยังมีสภาพไม่เรียบ รวมทั้งมีการขุดทำถนนเพื่อเอาสายไฟฟ้าลงดินกลางถนนพระราม 3 ต้องมีการปรับปรุงความปลอดภัยทั้งบนทางเท้าและบนถนนให้อยู่ในสภาพที่ดีกว่านี้ ระหว่างทางทีมนักวิ่งได้มีโอกาสใส่บาตรพระที่บิณฑบาตอยู่ริมถนนด้วย
3. ผ่านตู้กดน้ำดื่มฟรี ที่ทาง กทม. กำลังจะรื้อทิ้งทั้ง 400 จุด คุยพี่แท็กซี่ บอกว่ายังใช้เป็นจุดกรอกน้ำไว้ดื่มทุกวัน มีประโยชน์มาก จริง ๆ แล้ว ถ้ามีโอกาสอยากให้ทบทวน ซึ่งจากที่เราลงพื้นที่ในหลายจุด ก็ยังเห็นคนมากดน้ำดื่มประทังความกระหายอยู่เสมอ
4. สวนสาธารณะใต้สะพานกรุงเทพ อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ไม่ได้รับการดูแล ทั้งที่ก็อยู่ในตำแหน่งที่ดี ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดินจากถนนเจริญกรุงไม่ไกล น่าจะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพได้ดีกว่านี้
5. ชุมชนสวนหลวง 1 ในซอยเจริญกรุง 103 เป็นชุมชนพี่น้องมุสลิม มีมัสยิดอัลอะติ๊กตั้งอยู่ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีขนาดใหญ่ เข้าออกด้วยซอยเล็กๆ เป็นทางเดินเท้าและมอเตอร์ไซค์ มีร้านอาหารที่น่าทานอยู่ตลอดทาง ขนานไปกับคลองสวนหลวง สามารถพัฒนาเป็นย่านอาหารฮาลาล ได้
6. ปัญหาที่พบในชุมชนบริเวณนี้ทั้งสวนหลวง 1 วัดพระยาไกรระยะ 3 คือ ทางเข้าออกชุมชนเป็นซอยเล็กๆ เข้าออกโดยการเดินและมอเตอร์ไซค์ การเข้าเก็บขยะมีปัญหา บางครั้งมีปัญหาขยะตกค้าง เรื่องนี้ต้องปรับปรุงขบวนการในการนำขยะออกมาจากชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะต้องพัฒนาวิธีการขนขยะจากที่ใช้รถเข็น เป็นใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขนาดเล็กลากพ่วงถังขยะออกมาสู่ถนนใหญ่ที่รถขยะเข้าถึง อาจจะทำให้การลากขยะออกมาทำได้รวดเร็ว และ ทั่วถึงมากขึ้น
7. วัดวรจรรยาวาส เดิมเคยมีท่าเรือสำหรับจอดเรือด่วนกรุงเทพ แต่ปัจจุบันท่าเรือชำรุด เสียหาย เรือไม่จอดรับส่งผู้โดยสารแล้ว คงต้องไปดูว่ายังมีความต้องการใช้งานหรือไม่ และเร่งประสานงานกับทางกรมเจ้าท่าในการปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป รวมทั้งทำการเชื่อมโยงเส้นทาง รถ ราง เรือ เดิน ให้สะดวกปลอดภัยด้วย
8. ศูนย์ฝึกอาชีพของ กทม. ที่วัดวรจรรยาวาส ที่มีการฝึกอาชีพในหลายๆด้าน เช่น นวด ทำกาแฟ แต่งหน้าเค้ก ทำอาหาร ตัดผม ทำผม ตัดเย็บ ทำ Pattern หลักสูตรยอดฮิตคือ ช่างตัดผม และช่างทำผม ผมคุยกับพี่เจ้าหน้าที่บอกว่าปี ๆ นึงมีคนมาเรียนประมาณ 15,000 คน หลายๆคนมีอาชีพอยู่แล้วแต่มาหาความรู้เพิ่มเติม ได้คุยกับน้องพยาบาลจากโรงพยาบาลกลาง ที่มาเรียนนวด เพราะช่วยทำให้ดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น ศูนย์ฝึกอาชีพหลักของ กทม.มีอยู่ทั้งหมด 15 แห่ง และโรงเรียนฝึกอาชีพอีก 10 แห่ง จะเป็นบริการที่มีประโยชน์มากต่อประชาชน โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่หลายๆคนต้องการหารายได้เสริมหรืองานใหม่ แต่ต้องมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และถ้าสามารถคุยกับทางภาคเอกชน เพื่อสอบถามความต้องการและจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น คนดูแลผู้สูงอายุ E-Commerce รวมทั้งหาตลาดงานให้หลังเรียนจบ ก็จะช่วยให้มีประโยชน์มากขึ้น