ชัชชาติ-ดร.ยุ้ย – ว่าที่ส.ก. ก้าวไกล สำรวจชุมชนแออัดซอยทองหล่อ ย้ำต้องดูแลผู้อาศัยเหมือนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ส่งเสริมโครงการบ้านมั่นคง-ระบบสาธารณสุข
29 พ.ค. 2565 – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่ากทม. ดร.ยุ้ย-นส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจเพื่อนชัชชาติ ลงพื้นที่เขตวัฒนาร่วมกับ นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ นายสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และ นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ว่าที่ ส.ก. เขตวัฒนา พรรคก้าวไกล เพื่อสำรวจชุมชนหลังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ (สน.ทองหล่อ) ชุมชนริมคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช พร้อมเยี่ยมหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยนายชัชชาติเดินทางจากบ้านพักส่วนตัวด้วยการปั่นจักรยาน ภายหลังเสร็จภารกิจวิ่งออกกำลังกายกับนักวิ่งเพื่อนชัชชาติที่สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ เมื่อช่วงเช้าตรู่ที่ผ่านมา
นายชัชชาติ กล่าวว่า ทองหล่อเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดในพื้นที่จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนหลังสน.ทองหล่อ ชุมชนคลองเป้ง และชุมชนลีลานุช มีประชากรประมาณ 400 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ตั้งที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ก่อนหน้านี้เคยมาเยี่ยมในช่วงโควิดระบาด ทราบว่าผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ทำงานในย่านทองหล่อ-เอกมัย และจำเป็นต้องอาศัยใกล้แหล่งงาน ถือเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง เช่นประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง กทม. สามารถมีบทบาทด้านการประสานงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมระบบการออมเงินในชุมชน ตลอดจนการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงย้ายที่อยู่อาศัยใหม่
“จะบอกว่าเขาทำผิดกฎหมายแล้วไม่ดูแลเลย ผมว่าทำไม่ได้ เราต้องช่วงหาทางขยับขยาย แนวคิดบ้านมั่นคงดี ให้มีการออมแล้วหาที่เช่าที่ถูกกฎหมาย แล้วขยับขยายไป ขณะเดียวกันช่วงย้ายที่อยู่อาศัยก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิต เพราะในบ้านมีทั้งเด็กและคนแก่อยู่ อย่าคิดว่าเป็นสุญญากาศ เราต้องมองเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน ที่มีความยากลำบาก ชีวิตแต่ละวันผ่านไปก็ไม่ง่าย ถ้าต้องมากังวลเรื่องที่อยู่ มันลำบาก แล้วหลายคนก็ทำงานบริเวณนี้แหละ ในทองหล่อ ในเอกมัย เป็นแม่บ้าน เป็นรปภ. เป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นเครื่องจักรของเมืองที่ทำให้เมืองเดินได้ เราต้องดูแลเขาด้วยความเป็นมนุษย์”นายชัชชาติ กล่าว
จากนั้นคณะของนายชัชชาติ ได้เยี่ยมชมหน่วยบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมกล่าวว่า การให้บริการสาธารณสุขของกทม. มีความซับซ้อน แบ่งเป็นระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ หน้าที่สำคัญที่สุดของกทม. คือ การให้บริการระดับปฐมภูมิซึ่งถือเป็นด่านแรกในการเผชิญปัญหา ปกติด่านแรกที่ให้บริการคือศูนย์บริการสาธารณสุข ปัจจุบันมีจำนวน 69 แห่งทั่ว กทม. ซึ่งยังพบปัญหาการกระจายศูนย์ไม่ทั่วถึง ห่างไกลบ้านเรือนชุมชน ตลอดจนจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงมีนโยบายให้บริการหน่วยสาธารณสุขถึงชุมชนโดยร่วมมือกับภาคเอกชน และ สปสช. นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดใช้เทคโนโลยี “เทเลเมด” รถตรวจสุขภาพเชิงรุกถึงชุมชน เพื่อลดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนเพิ่มจำนวนและส่งเสริมความเข้มแข็งของเครื่องอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในพื้นที่ กทม. อีกด้วย
“นี่คือตัวอย่างการบริการจัดการสาธารณสุขให้เข้มแข็งในระดับเส้นเลือดฝอย เชื่อว่าทำตรงนี้ให้เข้มแข็งแล้วมันจะเป็นด่านหน้าที่ปะทะ ไม่ต้องให้คนไปป่วยโรงพยาบาลใหญ่ ช่วยลดคิวและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการมากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
This website uses cookies.