“ชัชชาติ”โชว์วิสัยทัศน์แก้ทางเท้ากทม. – โพสต์ทูเดย์

วันที่ 11 ธ.ค. 2564 เวลา 18:41 น.

เปิดวิสัยทัศน์ ชัชชาติ ก่อนลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. แก้ปัญหาทางเท้าในเมืองหลวง เปิดทีมงานเมืองเดินได้ เมืองเดินดี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ดังนี้

เมืองเดินได้ เมืองเดินดี

ที่ผ่านมา กทม.ได้มีการปรับปรุงทางเท้าในกรุงเทพฯให้อยู่ในสภาพดีในถนนหลายสาย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพชั้นใน เช่น สุขุมวิท ต่อเนื่องพระราม 1 สีลม แต่ก็ยังมีทางเท้าในอีกหลายเส้นทาง ที่ยังไม่สะดวกในการเดิน โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือผู้ที่ต้องใช้รถเข็น คุณแม่ที่ต้องเข็นรถให้ลูก หรือเดินปกติก็อาจเจอกับดักกระเบื้อง เหยียบปุ๊บน้ำพุ่งปรี๊ด คนใส่รองเท้าส้นสูงก็อาจเจอส้นหัก ส้นติด ส้นพลิกได้เสมอๆ นับว่าเป็นปัญหาที่เจอกันเป็นปกติกับทางเท้ากรุงเทพ

สำหรับการเดินทางในเมืองนั้น ระบบเส้นเลือดฝอยที่สำคัญมาก คือ “การเดิน” การเดินนอกจากจะเป็นการเดินทางที่ต้นทุนต่ำที่สุดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดแล้ว ยังช่วยด้านสุขภาพ การเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ สร้างเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และนับว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมืองในระดับเดียวกับเรื่องสำคัญอื่น เช่น พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว อากาศสะอาด เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินในเมือง ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการและทีมงานเมืองเดินได้ เมืองเดินดี (สสส. ร่วมกับ UDDC) สรุปไว้ชัดเจนดีว่า พื้นฐานที่ทำให้เมืองน่าอยู่ คือ โครงข่ายการเดินเท้าที่ออกแบบอย่างกระชับ ทำให้คนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างมีคุณภาพ คำว่า ‘เมืองเดินดี’ ประกอบด้วย น่าเดิน มีกิจกรรมระหว่างทาง ร่มเงา ที่นั่งพัก สะอาด เดินสะดวกโดยความต่อเนื่องของโครงข่ายทางเดินเท้า ความกว้างของทางเท้าที่เหมาะสม มีความเรียบของทางเท้า มีกิจกรรมทางเท้าที่พลุกพล่านมีชีวิตชีวา มีทางข้ามที่ดี และมีแสงสว่างยามค่ำคืน รวมถึงมีความปลอดภัยตลอดเส้นทางเดิน

[[ ปัญหาทางเท้าบ้านเรา ]]

– ไม่เรียบ เป็นหลุมเป็นบ่อ สร้างอุปสรรคต่อคนทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม

– ขุดแล้ว ขุดอีก วางสายไฟ สายสื่อสาร ท่อประปา ต่างคนต่างทำ แล้วเวลาซ่อมกลับคืน ทำแบบลวกๆ เอายางมะตอยมาปะ

– สิ่งกีดขวางบนทางเดิน ไม่มีการจัดระเบียบ ป้ายโฆษณา หาบเร่ แผงลอยผิดกฎหมาย วินมอเตอร์ไซค์ มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า

– การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน แผ่นปูยุบ ฝาท่อชำรุด กระเบื้องกระเดิด

– ทางตัดผ่าน เปลี่ยนระดับ ไม่เสมอทางเท้า ไม่มีทางลาด คนพิการ ผู้สูงอายุ เดินทางลำบาก

– สิ่งปลูกสร้าง เบียดทางเท้า เช่น สะพานลอย ป้อมตำรวจ

– ทางม้าลายไม่ปลอดภัย ไม่ชัดเจน ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีสัญญานไฟ

– ขาดร่มเงา ฝนตก แดดร้อน เดินยาก

– ทางเดินมืด ไม่มีไฟส่องทาง อันตราย

[[ แนวทางที่จะต้องดำเนินการ ]]

ยกระดับและพัฒนาทางเท้า

1. ทางเท้าใหม่ ออกแบบให้ได้มาตรฐาน Universal Design ตั้งแต่ต้น

2. ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้าง เช่น การควบคุมมาตรฐานวัสดุที่ใช้ การออกแบบ การก่อสร้าง และตรวจรับงาน พร้อมกับนำข้อมูลโครงการ มาเปรียบเทียบและเปิดเผยให้กับประชาชนได้รับทราบ

3. ยกระดับมาตรฐานการซ่อมแซมทางเท้า ดำเนินการเชิงรุก ซ่อมได้รวดเร็ว ได้คุณภาพ มีบทลงโทษผู้รับเหมาที่ทำงานไม่ได้คุณภาพ

4. ออกแบบ พัฒนาทางตัดผ่านและทางเข้าออกให้เรียบเสมอทางเท้าและการเชื่อมต่อทางข้าม หรือสะพานให้ต่อเนื่องกัน

5. ปรับปรุงทางม้าลายเพิ่มไฟส่องสว่าง ติดตั้งกล้อง CCTV และในที่ที่คนพลุกพล่าน ติดสัญญานไฟ ปุ่มกดเพื่อข้ามถนน มีสัญญาณเสียงสำหรับผู้พิการเพื่อ

สร้างความปลอดภัยใหักับผู้สัญจร

6. ทดลองสร้างต้นแบบ Covered Walkway หลังคาเพื่อป้องกันแดดและฝนให้กับผู้สัญจร โดยให้มีความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับกันสาดของเอกชนโดยเฉพาะในเส้นทางที่มีปริมาณการใช้งานหนาแน่น

7. เชื่อมต่อทางเดิน ทางปั่นเลียบคลอง กับทางเดินเลียบคลองเดิมให้มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับทางเดินเลียบ

คลอง เช่น จุดจอดรถจักรยานยนต์ แหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร ห้องน้ำ

8. จัดลำดับความสำคัญในแต่ละเขต กำหนดแผนการพัฒนาทางเท้าและเป้าหมายสั้น กลาง ยาว ให้ชัดเจน ตามความสำคัญของการใช้งานและรายงานความ

ก้าวหน้าให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

กำจัดสิ่งกีดขวาง เพิ่มความปลอดภัย

1. จัดการทางเท้าให้เรียบ ไร้สิ่งกีดขวาง กำหนดความกว้างขั้นต่ำที่ทางเท้าควรมี พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค จัดการกันสาดที่รบกวนทางเดิน เช่น ท่อน้ำฝนลงมากลางทางเดิน ผ้าใบ กันสาดที่ขึงขวางทางเดิน

2. พัฒนาทางเดินสำหรับผู้พิการให้ครอบคลุม โดยหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายมนุษย์ล้อเพื่ออารยะสถาปัตย์ ของพี่อ๋อย กฤษณะ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการและทำแผนให้ชัดเจน

3. ลด รวบ ป้าย ยกเลิกป้ายโฆษณาที่กีดขวางทางเดินเท้าของประชาชน รวมทั้งรื้อถอนสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็นออกจากทางเท้า

4. นำสายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน รื้อถอนสายเก่าที่ไม่ได้ใช้งานพร้อมกับพัฒนาแนวทางการนำสายสื่อสารลงดินอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน โดยพิจารณาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ (เช่น ท่อร้อยสายเดิมของ NT)

5. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพจาก CCTV เพื่อเพิ่มความปลอดภัย กวดขันวินัยการจราจร และลงโทษผู้สัญจรด้วยจักรยานยนต์และรถยนต์บนทางเท้า

6. ดูแลไฟแสงสว่างให้เพียงพอ ปลอดภัย โดยทำหน้าที่เร่งรัดกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กฟน. ในการร่วมแก้ไขปัญหาไฟดับ แสงสว่างไม่พอ ทำความสะอาด

1. ทำความสะอาดทางเท้า เพิ่มจุดวางถังขยะและจุดทิ้งขยะให้มีความเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จัดการกับผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความสกปรกซ้ำซาก

2. จัดประกวดโครงการทางเท้า เดินได้ เดินดี โดยให้เอกชน ชุมชนมีส่วนร่วมกันในการดูแลรักษาทางเท้าหน้าบ้าน ในชุมชนตัวเอง

ปรับปรุงภูมิทัศน์และระบบนิเวศน์เมือง

1. จัดตั้งรุกขกรมืออาชีพประจำเขต ช่วยสำรวจจัดทำทะเบียนต้นไม้และช่วยกำหนดแนวทางในการดูแลรักษาต้นไม้ให้กับแต่ละเขต และปลูกต้นไม้ให้เหมาะสมกับสภาพทางเท้า

2. จัดให้มีที่นั่ง หรือ Street Furniture อื่นๆ ในจุดที่เหมาะสม ไม่กีดขวางทางเดิน เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเท้า ส่งเสริมการเดิน และกิจกรรมสาธารณะภายนอกอาคารการเดินเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมือง ไม่ต้องลงทุนเป็นหมื่นล้าน แต่ช่วยให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้นได้จริงในทุกๆวันครับ