Motor Sport Sponsored

จาก “แม่ค้า-วินมอ

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored


จะไม่พูดว่าทำไม่ได้!! เปิดใจ “แอน พรมศักดิ์” เกษตรกรเจ้าของแปลงผักเกษตรอินทรีย์แห่งทุ่งบางเขน กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเปลี่ยนผืนดินรกร้างให้กลายเป็นความอุดมสมบูรณ์ แถมบุกตลาดออนไลน์ทั้งที่ความรู้เป็นศูนย์ จนทุกวันนี้คอร์สสอนปลูกผักฮอตจนต้องจองคิวข้ามเดือน!!

เพราะปัญหาสุขภาพ จึงกลับสู่ธรรมชาติ

“พอคิดจะดูแลตัวเองก็มาศึกษาเรื่องอาหารการกิน ก็เข้าสู่วงการปลูกผัก พอเข้าไปลึกๆ เรื่อยๆ ไปเห็นต้นแบบหลายคนที่เขาปลูกผักแล้วมีความสุข เราก็เลยรู้สึกอยากปลูกผักกินเอง เพราะเราต้องการผักสดในการมาดูแลตัวเอง มากินน้ำผักปั่น กินอาหารที่ไม่ค่อยผัดๆ มันๆ มุ่งที่จะมาปลูกผักเลย

แรกๆ ปลูกในพื้นที่น้อยๆ เพราะเราอยู่แค่ทาวน์เฮาส์ ก็เลยทำได้แค่ปลูกผักกระถางและประเภทต้นอ่อน แต่ทีนี้เราอยากจะปลูกมากขึ้น มันก็เลยมีเรื่องราวมาจนถึงพื้นที่แห่งนี้ค่ะ”

“แอน พรมศักดิ์” เกษตรกรหญิงวัย 43 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live เธอคือเจ้าของ “เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน” ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3 งานครึ่ง ท้ายซอยพหลโยธิน 55 ที่แวดล้อมไปด้วยตึกน้อยใหญ่

เมื่อย่างเท้าเข้ามายังสวนผักแห่งนี้ ก็ให้ความรู้สึกราวกับอยู่ต่างจังหวัด เพราะรายล้อมไปด้วยความเขียวขจีของผักอินทรีย์ที่แข่งขันชูช่องอกงาม

ขณะเดียวกันพื้นที่นี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแอนและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการทำการเกษตรชื่อดัง ที่ปัจจุบันมีลูกศิษย์ผ่านมือแล้วกว่า 700 คน ตลอดจนมีผลผลิตขายในพื้นที่ใกล้เคียง

แต่กว่าที่เธอจะเป็นที่ยอมรับในวงการเกษตรอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น เธอเป็นชาวจังหวัดนครสวรรค์ ด้วยฐานะทางบ้านที่ยากจน ทำให้ต้องมาหางานทำ เริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองหลวงตั้งแต่อายุ 12 ปี

“ด้วยเราไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเหมือนเพื่อนๆ คนอื่น เพราะว่าบ้านเรายากจน ก็มาทำงานรับจ้างทั่วไป มาล้างจาน โตมาหน่อยก็มาเป็นสาวโรงงาน พอเป็นสาวโรงงานก็แต่งงาน

ก่อนที่จะมาปลูกผักก็เป็นผู้รับเหมา แล้วก็เป็นแม่ค้า เป็นร้านข้าวมันไก่กับร้านก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ก็ขายดี แล้วก็ขับวินมอเตอร์ไซค์ด้วย อยู่ในซอยที่เราอยู่นี่แหละค่ะ

ปัญหาสุขภาพก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่ การเป็นแม่ค้ามันทำให้เราไม่มีเวลาที่จะดูแลตัวเองที่แน่นอน เพราะตั้งแต่เปิดร้านจนถึงเก็บร้าน เราจะไม่ได้การกินอาหารเป็นเวลา กินอาหารแบบเร่งรีบ ก็กินอะไรที่มันง่ายๆ มันๆ กินให้มันอิ่มไป

สุดท้ายเป็นไขมันอุดตันในเลือดสูง มันไม่ได้เป็นปัญหาสุขภาพรุนแรงมากมายที่ต้องรักษาตัวเองเร่งด่วน เพียงแต่ว่าในการที่เปลี่ยน เนื่องด้วยเราเหนื่อย เบื่อ ล้าสะสมกับความเร่งรีบ กับการทำงานอาชีพเดิมๆ ของเรามากกว่า”

จากปัญหาสุขภาพและความเครียดสะสมจากงานที่ทำ ในเวลาต่อมาทำให้แอนต้องหันกลับมาทบทวนถึงเรื่องของการดูแลตัวเองอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการปลูกผักในกระถางไว้กินเอง โดยใช้พื้นที่บริเวณหน้าบ้านทาวน์เฮาส์

แต่เมื่อจากศึกษาการปลูกผักอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นและต้องการขยับขยายพื้นที่ ประจวบเหมาะกับการมาพบกับที่ดินว่างเปล่าท้ายซอย จึงกลายมาเป็นที่มาของ “เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน” อย่างในปัจจุบัน

“พอเราศึกษาเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ มันก็เลยทำให้ต้องเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก แล้วมีคนที่เขาเลี้ยงเลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ เลี้ยงควาย เลี้ยงม้าอยู่ท้ายซอย แต่ตอนนี้เขาย้ายไปแล้ว ตอนมาขอมูลสัตว์เพื่อไปทำปุ๋ยหมักก็เลยได้มาเห็นพื้นที่ค่ะ มันคือพื้นที่ว่างเปล่าที่รอการใช้ประโยชน์ของเจ้าของที่ ก็จะรกๆ หน่อย มีพวกป่ากระถิน ป่าโสน ป่าสะแก มันเป็นบริเวณท้ายซอยที่ตันแล้ว ไม่มีคนอื่นมาเข้าถึงวุ่นวายเยอะเหมือนในซอยที่มันพลุกพล่าน เหลือแต่เสียงเครื่องบิน

เราคิดว่าถ้าเราเช่าทาวน์เฮาส์อยู่ต่อเราก็ปลูกผักได้น้อย ค่าเช่าก็แพงกว่า เราอาจจะมาลงทุนเพิ่มอีกซักนิดหน่อย แต่เราได้อยู่ในแบบที่เราอยากจะอยู่ เงียบสงบ ปลูกบ้านหลังเล็กๆ เพื่อจะปลูกผักไว้กิน ไว้ดูแลตัวเอง ได้มีพื้นที่ในการปลูกผักเพิ่ม เลยมาขออนุญาตเช่าเขา พื้นที่เขาไม่แพง ก็ขออนุญาตเขาปลูกบ้าน ปลูกกระท่อม แล้วก็ขอจกสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ปลูกผัก

เขาก็อนุญาต ใจดีมาก เขาก็ติดตามเราอยู่ ซื้อผักด้วย เขาก็สนับสนุน อยากให้เราอยู่ได้ อยู่รอด เขาก็รู้ว่าเราลงทุนไปเยอะเหมือนกันในการมาเริ่มก่อร่างสร้างที่นี่ มันมีต้นทุน แต่เราก็มาทำให้พื้นที่ของเขามีประโยชน์ขึ้น แล้วเขาก็ได้ผักดีๆ กิน เขาไม่ได้มาขึ้นค่าเช่าหรืออะไร ก็แจ้งเขาทุกอย่าง โชคดีมากเลยที่ได้มาอยู่ตรงนี้ ย้ายมาตอนนี้ก็ 4 ปีนิดๆ แล้วค่ะ”

พลิกที่ดินรกร้าง ให้เป็น “สวนผักกลางเมือง”

หลังตัดสินใจเบนเข็มจากการเป็นแม่ค้ามาเป็นเกษตรกรเต็มตัว แปลงผักอินทรีย์ก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น พร้อมๆ กับการต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ ทั้งการปรับปรุงพื้นที่และการหาศึกษาความรู้ด้านการปลูกผัก

“ปีแรกเป็นแปลงติดพื้น ปีต่อมาเริ่มขยับยกขึ้น ใช้เป็นกระเบื้องเก่าที่เหลือใช้ เราแทบไม่ได้ซื้อ สิ่งที่ซื้อคือพวกพลาสติกคลุมหลังคาป้องกันฝน มีเหล็กมีเสาบางส่วน เราขยับขยายทีละเล็กละน้อย ไม่ได้มาแบบคนที่ลงทุนเพื่อต้องการมาปลูกผักขายจริงจัง แค่อยากมาอยู่เงียบๆ มาปลูกผักกินเอง เหลือก็ขายนิดหน่อย

พอเราได้เริ่มใช้ชีวิตจริง ตื่นเช้าแล้วมันรู้สึกสดชื่น มีความสุขกับการปลูก ก็คิดอยากปลูกผักขาย เลยศึกษาการปลูกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แรกๆ ก็เรียนรู้จากในยูทูป ในกูเกิล แล้วก็อ่านจากสื่อต่างๆ เข้ากลุ่มเกษตร ก็จะมีคนที่เขามีประสบการณ์การปลูกก่อนเราที่เขาใจดีสอนไว้ เราก็ไปตามอ่าน บางทีก็ไปดูงานที่ตามจังหวัดอื่นบ้าง

ไปดูพื้นที่คนอื่นมันก็ไม่เหมือนกับพื้นที่ของเรา ต่างจังหวัดเขาค่อนข้างโฟลว์ในเรื่องของอากาศ ดินที่ดีกว่า กรุงเทพฯค่อนข้างร้อนชื้น ดินก็เหนียว ที่ลุ่ม แถมมาเริ่มฤดูฝนด้วยมันเลยทำให้ยาก แรกๆ ไม่ได้ผลหรอกค่ะ ต้องปรับปรุงใหม่ทั้งหมด

[ แอนและตี๋ สามีผู้สนับสนุนทุกความฝัน ]
ถ้าเราท้อเราจะหยุดไปเลย แต่ด้วยพื้นฐานเราเคยทำงานหนักมาอยู่แล้ว มันก็เลยไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไรที่เราจะฝึกทำไปเรื่อยๆ หมักดิน ขุดดิน ปรับพื้นที่ โชคดีที่พี่ตี๋ (สามีของแอน) เป็นคนไม่ท้อ ขยัน แล้วก็อดทน เราอยากปลูกผัก เขายินดี

เราก็ศึกษาการปลูก เขาก็ช่วยหมักดิน ทำดิน อยากได้แปลงเขาก็ช่วยทำให้ เป็นคนดูแลให้ มันก็เลยทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น เราก็จะมีญาติพี่น้องมาช่วยบ้าง ถ้าต้องทำในเรื่องของโครงสร้างหลังคาแปลงหรือต้องต่อเติมอะไร”

ในส่วนของการบริหารจัดการพื้นที่ราว 3 งานครึ่ง เธอให้คำตอบว่า ไม่ได้ตระเตรียมไว้อย่างเป็นแบบแผน เพียงอาศัยความเหมาะสมเป็นหลัก

“พื้นที่ 3 งานครึ่ง การบริหารจัดการไม่ได้วางแผนอะไรที่สำเร็จเสร็จสรรพ ตอนแรกเราขุดบ่อรอบพื้นที่เพื่อไว้กักเก็บน้ำ พื้นที่เราเป็นพื้นที่น้ำท่วม เราจะต้องมีร่องน้ำไว้สูบน้ำออก แฟนก็ปรับไปเรื่อยๆ ตอนแรกมีแค่บ้านหลังเดียว ก็ปรับมาเพิ่มกระท่อม เพราะเราอยากมีกระท่อมเล็กๆ กลางสวน ตื่นเช้ามาจิบกาแฟ มองผักหน้ากระท่อม เป็นอารมณ์ที่สุขสงบ

ปรับไปเรื่อยๆ เพิ่มเติมทีละจุด ทีละโซน นิดๆ หน่อยๆ ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ไม่ได้มีการวางแผนอะไรที่เยอะแยะมากมาย ไม่มีการวาดแผนการปลูกหรือการทำพื้นที่เป็นรูปแบบการเขียนเลย ทุกอย่างแฟนเขาวาดในสมองเขา ตื่นเช้ามาเขาจะมองๆๆ จะทำอันนี้ๆ เขาคิดในหัวของเขา

เมื่อก่อนเป็นคนคิดอะไรไม่ออก มันเร้าไปหมด โลกภายนอกมันมีคน มีรถวิ่งผ่านไปมา ลูกค้าเข้า เรารีบเร่ง มันทำให้เราไม่มีโอกาสได้นิ่งเลย แต่พอเราอยู่ตรงนี้ นิ่งปุ๊บ มันทำให้เรากลายเป็นว่าทำงานได้ดี วางแผนดี อยู่ในหัวทั้งหมดเลย”

ส่วนเหตุผลที่แอนและครอบครัว เลือกที่จะเป็นเกษตรกรในเมืองหลวง แทนที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด ด้วยเพราะปัจจัยหลายๆ ด้านของกรุงเทพมหานคร เอื้อให้ใช้ชีวิตมากกว่า

“อย่างที่บอกตัวเองไม่ได้อยู่บ้านที่นครสวรรค์ตั้งแต่ออกจาก ป.6 แต่ว่าแม่อยู่ น้องชายอยู่ ตอนนี้แม่เสียไปแล้ว น้องชายมาอยู่กรุงเทพฯด้วยกัน บ้านอยู่ต่างจังหวัดก็จริง แต่ว่าไม่ได้เป็นต่างจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์เหมือนที่อื่น

พื้นฐานบ้านที่นครสวรรค์ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกอะไร ส่วนใหญ่ทุกคนจะทำเป็นพืชเชิงเดี่ยว เพราะว่ามันมีความแห้งแล้ง ก็จะมีไร่มัน ไร่อ้อย เป็นที่ไม่ค่อยมีน้ำ หาน้ำยาก ไม่มีแหล่งน้ำเลย อยู่ในที่โนน ที่สูง

ที่ตัดสินใจมาทำตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า มีตังค์แล้วทำตรงนี้ได้หรือต้องกลับบ้านไปทำไร่ ก็ยังคงต้องใช้ชีวิต ยังมีค่าใช้จ่าย ลูกเรียนที่นี่ ถ้ากลับไปเริ่มที่นครสวรรค์มันเยอะกว่านี้ มันยากกว่านี้หลายอย่าง ทั้งเรื่องน้ำ อากาศ มันแห้งแล้ง ระบบที่บ้านมันกันดาล ถนนหนทาง เราชินกับการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยรู้สึกว่าเราก็ยังต้องใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯค่ะ”

เติมเต็มชีวิต แปลงเกษตร “เติมสุข-เติมฝัน”

หลังจากที่ได้มาลองใช้ชีวิตด้วยความเงียบสงบ ก็ทำให้ครอบครัวนี้พบกับหนทางที่ใช่และเริ่มมาสนใจการปลูกผักเพื่อเป็นอาชีพอย่างจริงจัง พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนอาหารการกินที่มีประโยชน์มากขึ้น

“ช่วงแรกปลูกเพื่อกินเองก่อนค่ะ แล้วก็แบ่งคนในซอย พอเรารู้สึกจับตัวเองได้ว่าเราชอบ แฟนเราชอบ เขารู้สึกมีความสุขสงบที่ไม่ต้องออกไปดิ้นรน ก็เลยอยากขายผักให้มันจริงจัง

พอเริ่มอยากขายผักให้จริงจังก็มาคุยกันว่าทำแบบอินทรีย์ขายคนที่เขาอยากกินผักปลอดภัยจากสารเคมีเหมือนเรา ก็เลยปลูกเรื่อยๆ เพิ่มแปลง แล้วก็ถ่ายทอดลงเฟซบุ๊ก แล้วเราก็เริ่มปลูกงามขึ้น พอเราเริ่มปลูกงามขึ้นคนก็สนใจ ถามซื้อ ถามการปลูก ก็ทำให้ขายได้มาเรื่อยๆ

[ มื้อง่ายๆ จากผักสวนครัว ]
อาหารการกินเปลี่ยนหมดเลยค่ะ จากเมื่อก่อนที่เราเร่งรีบกินอะไรรีบๆ พอเราเริ่มคิดอยากจะดูแลตัวเองก็มาน้ำผักปั่น แรกๆ เราไปซื้อผักมาปั่น พอเรามีผักที่เราปลูกเองมาปั่นกินทุกวัน มันเป็นอะไรที่ดีมาก รู้สึกสบายใจ กินน้ำผักปั่นทุกวันตอนเช้า

พอเรามาศึกษาเรื่องสุขภาพ เราได้เก็บผักในสวนของเรามากินเอง เป็นผักง่ายๆ ตอนแรกมีถั่ว มีผักบุ้ง มีมะเขือ ทำน้ำพริก ผักต้ม ทำอาหารง่ายๆ เราก็ยังคงกินกับข้าวสไตล์เดิมที่เราเคยชอบ เพียงแต่ว่าเราจะไม่ค่อยเน้นเนื้อสัตว์แล้ว จากที่เมื่อก่อนเรากินข้าวมันไก่ กินอาหารตามสั่งมันๆ ทุกวัน”

ทั้งนี้ “เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน”ได้ถูกแบ่งเป็น 2 โซนหลักๆ คือ “โซนเติมสุข”สำหรับพืชผักสวนครัวต่างๆ ไว้บริโภคในครัวเรือน และ “โซนเติมฝัน” จะเป็นในส่วนผักสลัดที่ไว้สำหรับปลูกขาย

“เรื่องพืชผักแอนต้องคิดว่าปลูกอะไร ถ้าตัวเราเองก่อนจะปลูกเป็นผักสวนครัว ที่นี่จะแบ่งเป็น 2 โซน “โซนเติมสุข” จะมีแปลงผักเล็กๆ ปลูกผสมผสาน ต้นหอม ผักชี กวางตุ้ง ผักบุ้ง เราก็ปลูกพวกผักสวนครัวต่างๆ ไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน

“โซนเติมฝัน” มีแปลงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้เต็มพื้นที่ประมาณเกือบ 30 แปลงค่ะ แต่ละแปลงจะมีความสั้นยาวไม่เท่ากัน มีทุกรูปแบบทั้งการขวางตะวัน ตามตะวัน ข้างบ้าน ติดกำแพง ตรงไหนที่ปลูกได้เราทำแปลงปลูกผักหมดเลย

[ เริ่มต้นวันด้วย “น้ำผักปั่น” ]
เมื่อเราอยากที่จะอยู่ให้ได้กับพื้นที่แห่งนี้ ก็เลยคิดที่จะปลูกผักขาย เราอยากกินผักสด ผักปั่น ลูกค้าก็อยากกินกับเราด้วย ก็จะเป็นพวกเคล ผักสลัด ผักสลัดใช้ได้หลายประเภท คนนิยมเอาไปกินสลัด ไปแต่งจาน อยู่ในจานอาหารสุขภาพเยอะ

แรกๆ ไม่กล้าปลูก เหมือนมันปลูกยาก พื้นที่มันไม่ได้เอื้อหรอกแต่เราพยายามให้ปลูกเขาได้ ศึกษานิสัยของเขา สลัดเป็นพื้นเมืองหนาว แต่เขาก็สามารถปลูกได้ในทุกฤดู โดยเฉพาะการที่เราเอามาปลูกในฤดูร้อน หรือในพื้นที่กรุงเทพฯที่แทบจะไม่มีฤดูหนาว มันก็ทำให้ผลผลิตของเราค่อนข้างที่จะยากกว่าคนอื่นเขา แต่เราดูแลจัดการเรื่องการให้น้ำ การมีดินที่ดี เราก็สามารถปลูกได้ในทุกฤดูค่ะพอปลูกแล้วรู้สึกว่าเขาสวยมาก แล้วก็ชอบ อร่อย ก็เลยเน้นการปลูกผักสลัดขายเพื่ออาชีพ

จริงๆ ลูกค้าไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องเป็นผักนั้นผักนี้ แค่เราปลูกสลัดอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอแล้วค่ะ เขามองว่าผักอะไรก็ได้ที่แอนปลูก แรกๆ เราปลูกถั่ว ปลูกมะเขือ ปลูกอะไรก็ขายได้หมด ปลูกสลัดก็มีคนซื้อตลอด แล้วชอบปลูกสลัดด้วยค่ะ ด้วยพื้นที่เราน้อย ราคามันจะดีกว่าการปลูกผักสวนครัวอื่นๆ แล้วผักสลัดมันได้ในกลุ่มลูกค้าหลายกลุ่ม ก็เลยเน้นเป็นสลัดไปเลย มันจะได้บริหารจัดการได้ในเรื่องของการวางแผนการปลูกได้”

ในส่วนของอุปสรรคที่เคยเจอระหว่างทางการปลูกผักอินทรีย์ แน่นอนว่าต้องมาพร้อมกับโรคและแมลงศัตรูพืช แต่ด้วยพื้นที่ที่ไม่มากเกินการดูแล ทำให้สามารถควบคุมได้อย่างทั่วถึงก่อนที่จะลุกลาม

“การทำอินทรีย์หมายความว่า เราใช้วัสดุปลูกที่มาจากธรรมชาติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมูลสัตว์ แกลบ ขุยมะพร้าว น้ำหมักที่เราทำเองจากสิ่งที่เรากินได้ เราไม่ใช้เคมีทุกกระบวนการปลูก เรากันไม่ให้น้ำของคนอื่นเข้าพื้นที่อยู่แล้ว

ปัญหาอุปสรรค 1-2 ปีแรกที่เราเจอ คือเรื่องของการเตรียมดิน พอเราทำดินได้ ต่อมาคือการเจอกับโรคและแมลงต่างๆ ผักไม่ได้รสชาติ ไม่ได้ทรงที่ต้องการ โรคแมลงจะเยอะมาก ผักอินทรีย์ หัวใจสำคัญของการปลูกที่ยาก คือเราต้องมีเวลาให้กับเขา มีเวลาในการตรวจแปลง

ข้อดีคือเรามีเวลาดูแลเขาทั้งวัน เราจะไม่ปล่อยให้ลุกลาม เน้นการป้องกันมากกว่าที่จะรอแก้ไขเยอะๆ พอเรามีประสบการณ์ปลูกที่ครบทุกฤดูแล้ว มันทำให้เราเข้าใจในการปลูกในสภาพพื้นที่เรามากขึ้น สิ่งที่เราต้องเตรียมตั้งรับ รับมือกับสภาพอากาศกับโรคและแมลงมากกว่าค่ะ เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่พอเราปลูกไปนานๆ เราจะเข้าใจ

มันเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้มากเกินไป เพราะเราต้องการมาอยู่แบบครอบครัวค่ะ ไม่ได้จ้างใครหรือมาทำให้มันเยอะเกินตัว การที่เรามีแปลงผักรอบๆ บ้าน มันอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง เดินดูแปลงได้ทุกวัน แค่นี้เพียงพอแล้วสำหรับการปลูกผักอินทรีย์ เพื่อกินเองและเพื่อขาย เพราะถ้าเราทำเยอะมากเกินนี้ สุดท้ายเราจะมีเวลาดูแลไม่ทั่วถึง คุณภาพมันจะไม่ได้ค่ะ”

คอร์สปลูกผัก Online – Onsite ตอบโจทย์เกษตรกรยุคใหม่

ด้วยความนิยมในการใช้สื่อโซเชียลมีเดียของผู้คนในยุคนี้ ทำให้เกษตรกรวัย 43 ปี ต้องปรับตัวให้ทันยุคทันสมัย จากเดิมที่ขายผักให้กับลูกค้าบริเวณใกล้เคียง ก็ขยับมาบุกตลาดออนไลน์ เพื่อที่จะให้สินค้าของตน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายขึ้น

“หลังจากที่เราปลูกได้งามขึ้น ก่อนที่โควิดจะมา เราก็ถ่ายทอดลงเพจเฟซบุ๊ก มีคนสนใจ แรกๆ การทำยูทูปเป็นอะไรที่ยากมาก ต้องทำเอง ถ่ายเอง ตัดต่อเอง เป็นอะไรที่อยากสำหรับเรา แต่ก็พยายามศึกษามัน ไปเข้ากลุ่มเรียนรู้ต่างๆ

พอยิ่งโควิดมา ก็ทำให้คนยิ่งสนใจมาปลูกผักกินเองกันเยอะ ที่เขา work from home คนอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร พอมาเล่นเฟซบุ๊กมาเจอแอน ปลูกผักงามแถมอยู่ในกรุงเทพฯอีก

มันทำให้เราได้คนที่เขาติดตาม มาซื้อผัก มาเรียน เขาก็เลยขอเข้ามาดูงาน มาเรียนรู้ จากการที่เราถ่ายทอดการทำเพจ ทำยูทูป ก็เลยทำให้เรามีความสุขกับพื้นที่นี้มากขึ้นไปเรื่อยๆ”

[ “คอร์สปลูกผักแบบมาลงมือทำ” ]
เมื่อบ่มเพาะองค์ความรู้จนเต็มเปี่ยม ก็นำมาสู่การเปิดคอร์สสอนการปลูกผักโดย “ครูแอน”อย่างเต็มตัว ทั้งคอร์สสอนปลูกผักแบบตัวต่อตัวและคอร์สออนไลน์

“เริ่มสอนแบบจริงจัง มีการสอนก่อนโควิดอยู่ซักไม่กี่รุ่น พอโควิดมาก็ต้องหยุดไป แล้วกลายมาเป็นคอร์สออนไลน์แทน เราต้องงดการเจอกัน คอร์สออนไลน์อยู่ที่ราคา 950 บาท ในนั้นจะมีสูตรการสอนทุกอย่างเลย กระบวนการปลูกที่เข้าใจได้ง่าย ใน 30 กว่าวิดีโอ ไม่รวมเทคนิคเพิ่มเติม แล้วก็คอนแทคแหล่งที่ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ

พอทำคอร์สออนไลน์เสร็จ ก็จริงจังมาเรื่อยๆ ก็เป็นคอร์สแบบมาลงมือทำที่สวน แต่จำกัดคนและมีการตรวจ ATK ค่ะ สอนแบบจับมือทำเลย รับรอบละ 13 คน ชื่อ “คอร์สปลูกผักแบบมาลงมือทำ”(1,800 บาท)

คอร์สมาลงมือทำที่สวน เรามาเจอกัน ลงมือทำจริง มาเป็นเกษตรกรสุขกลางกรุง 1 วัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น รอบเช้ามีการปรุงดิน ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมักต่างๆ รอบบ่ายเป็นเรื่องการเรียนรู้ เรื่องของเมล็ดพันธุ์ ชีวะพันธุ์ ได้เข้ากรุ๊ปคอร์สออนไลน์ด้วย ตอนนี้รันไปถึงรุ่นที่ 41 แล้วค่ะ นักเรียนแอนตอนนี้ 700-800 คนแล้วค่ะ รวมทั้งคอร์สออนไลน์และคอร์สออฟไลน์

คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ทั่วไปเลยค่ะ เป็นพนักงานออฟฟิศเยอะ รู้สึกว่าหลายๆ คนพอเขาเห็นเราเขาอยากใช้ชีวิตแบบนี้ คิดว่าน่าจะเกิดจากการที่สะสมเรื่องความเครียด ความไม่เป็นอิสระอะไรบางอย่างในสิ่งที่เขาคุมไม่ได้ มีเวลาที่จำกัดเร่งรีบ

บางคนอยากจะมาเรียนอยากเคลียร์ตัวเองเพื่อมาใช้ชีวิตบั้นปลายแบบนี้ บางคนก็อยากเริ่มเลยเพราะเหนื่อยกับงานที่ทำอยู่ เจอคนหลากหลายอาชีพมาก แต่โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่อยากออกจากสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เดิมๆ”

ทั้งนี้ คอร์สสอนปลูกผักของเธอก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จนคิวจองคอร์สเรียนยาวไปหลายเดือน!!

“จริงๆ แอนก็เน้นการสอนแบบคุณภาพ ไม่ได้อยากให้คนมาเป็นเชิงอบรม ไม่อยากให้มายืนฟังแอนพูด อยากให้ทุกคนช่วยกันลงมือทำ เป็นกรุ๊ปเล็กๆ 10 กว่าคน เราอยากให้ทุกคนที่เข้ามาได้เข้าถึง กินข้าวร่วมกัน สนุกกัน เป็นกลุ่มเพื่อนกัน จอยกัน ก็เลยทำให้มันเต็มเร็ว เพราะเราไม่ได้รับเยอะ

คนเขาก็ชอบสเกลนี้ มันทำให้เข้ารู้สึกเข้าถึงได้จริง หลังจากเรียนเสร็จแล้วแอนก็ดูแลเขาจริง กลายเป็นกลุ่มครอบครัวพี่น้องที่มีไว้ปรึกษากัน หารือกัน เป็นสังคมของคนปลูกผักที่น่ารัก โดยมีแอนเป็นศูนย์กลาง

คอร์สคนจองค่อนข้างเยอะค่ะ ตอนนี้คิวจะยาวล่วงหน้าไปประมาณ 2-3 เดือนด้วยว่าแอนเปิดแค่เดือนละ 2-3 รอบ เน้นว่าเราต้องมีเวลาดูแลตัวเองด้วย เพราะถ้าแอนเปิดบ่อยก็กลายเป็นว่าเหนื่อยเกินไป แล้วสุดท้ายไม่มีเวลาดูแลตัวเองอีก

การที่เราสอนมันไม่ได้จบแค่วันเดียว หลังจากที่เราสอนเสร็จเราต้องดูแลเขาต้อง เรามีการถาม-ตอบ มีการส่งงาน นักเรียนแอนเยอะมาก แอนจะต้องให้เวลาในการมาให้คำปรึกษาเขา เวลาเขาเจอปัญหาเรื่องการปลูก นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ถ้าเรารับไม่ยั้ง สุดท้ายเราจะดูแลทุกคนไม่ทั่วถึง ไม่มีเวลาให้ ต้องแบ่งเวลาให้นักเรียน เวลาให้ลูกค้า ลูกเพจ เวลาของตัวเองด้วย”

ปัจจุบัน เพจเฟซบุ๊ก “เกษตรสุขกลางกรุง ณ.ทุ่งบางเขน” มีผู้ติดตามเพจกว่า 63,400 คน ในส่วนของช่องยูทูป “เกษตรสุข กลางกรุง”ก็มีผู้ติดตามถึง 52,2000 บัญชี

ผู้สัมภาษณ์จึงถามต่อว่า อะไรเป็นเหตุผลทำให้คนที่ไม่เคยปลูกผักและไม่สนใจสื่อโซเชียลฯ ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ แอนได้ให้คำตอบว่า ต้องปรับตัวให้ทันโลก และที่สำคัญจะไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้” หลุดออกมาจากปากเธอแน่นอน

“มันอยู่ที่เราอยากจะรู้ อยากจะเรียนรึเปล่าในแต่ละเรื่อง ตอนที่ยังไม่มีความรู้เรื่องข้าวมันไก่เราก็พยายามที่จะรู้มัน ไปกินร้านนู้นร้านนี้ เราก็อยากทำให้อร่อย เพราะฉะนั้นเวลาเรามาปลูกผัก เราปลูกผักไม่งามเราก็อยากจะปลูกผักให้งาม ต้องไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์จากการลงมือทำในพื้นที่เรานี่แหละ

ทีนี้เราอยากขายผัก จะให้คนรู้จักผักเราได้ยังไง เราเห็นผักคนอื่นจากทางไหน มันเป็นสิ่งที่เราต้องหัดศึกษา หัดสังเกตว่า ณ ปัจจุบันเราสื่อสารกันทางไหน ก็จากทางโทรศัพท์ จากทางยูทูป ทางเพจ แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำบ้าง เขามีสื่อกลางให้เราอยู่แล้ว เราก็แค่ไปศึกษา ก็เริ่มเอาตัวเองเข้าไปถาม ทำยูทูปทำยังไง สร้างเพจทำยังไง สร้างคอร์สออนไลน์ทำยังไง

เหมือนยูทูปช่วงแรกๆ ทำก็กะโหลกกะลา หลังๆ เราก็เริ่มเก่งขึ้น มือนิ่งขึ้น สวยขึ้น พูดดีขึ้น เป็นเรื่องปกติ อย่างในวงการเกษตรเราก็มีต้นแบบนะ คนที่เขาทำยูทูป เขาอายุเยอะกว่าเขาก็ทำได้ ก็เลยมองคนที่เขาทำได้

เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อน อย่ามัวไปถามคนอื่นว่าเขาทำยังไง ให้ถามตัวเองว่าจะเริ่มยังไง แล้วเอาตัวเองไปเรียนรู้ ไม่มีอะไรที่เราจะไม่รู้ ถ้าเราพยายาม ‘ทำไม่ได้ ทำยาก’ คนจะชอบพูด แต่แอนไม่พูดกับตัวเอง ต้องบอกกับตัวเอง ‘เราจะดีขึ้น เราทำได้’ แต่จะทำออกมาได้ดีหรือเปล่าเท่านั้นเอง ขอให้เริ่มก่อน ฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ชำนาญ”

กายใจแข็งแรง เพราะธรรมชาติเยียวยา

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ที่ตัดสินใจเดินในเส้นทางการเป็นเกษตรกร ก็ทำให้ชีวิตของแอนเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ที่สำคัญสุขภาพที่เคยเป็นปัญหา บัดนี้เธอแข็งแรงและหายจากอาการเหล่านั้นเป็นปลิดทิ้ง

“โรคพวกนี้พอเรามาศึกษามันมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่า อาหารเป็นสาเหตุของทุกโรคและอาหารบำบัดได้ทุกโรค เราทำกับตัวเรายังไง ผลลัพธ์เราจะได้อย่างนั้น

ซึ่งมันก็จริง เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยดูแลตัวเอง กินเร่งๆ รีบๆ มันๆ ทอดๆ ผัดๆ อะไรก็ได้ที่ให้แค่มันอิ่มๆ ไป ไขมันในเส้นเลือด 250-300 มันก็ควรจะต้องกินยาแล้วคุณหมอบอก แต่พื้นฐานเป็นคนไม่ชอบกินยา ด้วยเราเคยเป็นทอนซิลอักเสบมันมีต่อมที่คอ เวลากินยามันชอบติดคอ เรามาเปลี่ยนแปลงการกินอาหารดีกว่า

ถ้าเรายอมเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ มาใส่ใจเรื่องอาหารมากขึ้น ร่างกายมันได้รับอะไรใหม่ๆ อาหารดี ไม่มัน แน่นอนมันต้องดีขึ้น ต้องต่างจากเดิมอยู่แล้วค่ะ อยู่มา 4 ปีไม่เคยกินยาเลย แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเจ็บป่วยอะไร ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพเลย ดีขึ้นแบบชัดเจน ร่างกายรู้สึกดีขึ้น ไม่เวียนหัว ปวดหัวไม่รู้สาเหตุ เพลีย หาแต่วันพักผ่อนเหมือนแต่ก่อน”

นอกจากสุขภาพกายที่ดีขึ้นแล้ว การได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติกันร่มรื่น ก็ส่งให้สุขภาพใจก็ได้รับอานิสงค์ไปเช่นกัน

“หลังจากนั้นเราก็มาศึกษาเรื่องของการฟื้นฟูจิตใจ สมาธิ มันมาควบคู่กันนะคะ วิถีคนปลูกผักก็จะเป็นอย่างนี้ เราจะมาใส่ใจเรื่องของจิตใจมากขึ้นด้วย มันไม่ได้ซ่อมแค่ร่างเรา มันซ่อมในเรื่องของจิตใจ ตื่นเช้ามาเราได้มาดูผัก ดูแลผัก ได้มาเห็นการเติบโตของผัก จิตใจของเรามันรู้สึกสงบร่มเย็นจากธรรมชาติที่เขาให้เรา ก็เลยทำให้มันดีไปหมดทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

การเคลื่อนไหวร่างกาย เราเคลื่อนไหวมาตลอดทั้งชีวิต ตั้งแต่สมัยที่เราขายของ ตอนเป็นผู้รับเหมายิ่งเคลื่อนไหวหนักมาก การเคลื่อนไหวแบบเก่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เร่งรีบ จิตใจเร่าร้อน มันเคลื่อนไหวด้วยกิเลสที่เราอยากจะได้เงิน

แต่การมาปลูกผักเราได้อยู่กับธรรมชาติ มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ช้าลง มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ได้รับพลังงานที่ต่างกัน เราอยากได้ชีวิตที่ช้าลง สุขสงบ มันก็เลยแข็งแรงขึ้น ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

ส่วนสัตว์เลี้ยงเลี้ยงเองไว้เพื่อดูแลกันและกัน เราก็ดูแลเขา เขาก็เป็นเพื่อนเล่นให้เรา ครอบครัวเราเป็นคนรักสัตว์กันหมด ส่วนเป็ดเอามาเลี้ยงเพราะมีเพื่อนเกษตรที่เขาเลี้ยง เราก็ได้กินไข่นิดหน่อย เขามาช่วยกินผักที่มันเสียหาย”

และสิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดแรงกายและแรงใจจากครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นสามีที่ให้การสนับสนุนกับทุกความฝันของแอนมาเสมอ

“นี่เป็นปัญหานะสำหรับหลายคนที่คิดมาทำ แต่เขาขาดในเรื่องของแรงสนับสนุน คนรอบข้างเขาก็มองว่าทำทำไม จะคุ้มค่าเหรอ ไม่คุ้มเหนื่อยหรอก บางคนแฟนชอบ ลูกชอบ พ่อแม่ไม่ชอบ พ่อแม่ชอบลูกไม่สนับสนุน อะไรอย่างนี้

เป็นความโชคดีของแอนนะเรื่องการสนับสนุนจากครอบครัว เรามีแฟนที่เขาชอบไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ต้องได้รับแรงกดดันจากใคร ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร แฟนเป็นคนสนับสนุนเราตลอด ทุกอย่างเกิดจากน้ำมือ แรงกาย แรงใจของเขา ที่สนับสนุนความคิดที่เราอยากจะให้เกิดเป็นแบบนี้ อันนี้สำคัญเลย ถ้าไม่ได้เขา ทุกอย่างไม่เป็นอย่างนี้ในสวนเกษตรสุข

แต่ก็อยากให้ทุกคนมองว่า ไม่ใช่เห็นแอนกับพี่ตี๋ทำได้ออกมาดี แล้วกลับไปเครียด ตัวเองทำไมแฟนไม่ทำให้อย่างนี้นะ แม้ว่าคุณจะไม่ได้รับแรงสนับสนุนที่ดีอย่างแอน แต่ถ้าคุณเริ่มได้ด้วยตัวเอง ทำได้เท่าที่พอกำลังที่ตัวเองทำได้ ทำเท่าที่เราภูมิใจ ไม่ต้องเครียด วันนึงประสบความสำเร็จ มีผลผลิตมาทำกิน เดี๋ยวเขาก็เห็นคุณค่าเอง”

เกษตรกรเจ้าของสวนเกษตรกลางเมืองผู้นี้ ทิ้งท้ายกับผู้สัมภาษณ์ไว้ว่า ชีวิตทุกวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายในทุกด้าน

“เรื่องของความสำเร็จ ที่ว่าทุกวันนี้ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง เกินความคาดหมายที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องของสุขที่เราอยากได้ เวลาที่เราอยากได้

ที่มากเกินกว่าก็คือความสุขที่เราได้แบ่งปัน ถ่ายทอดเรื่องการปลูก มีคนมาติดตามเยอะ มีคนรักและศรัทธา ชื่นชอบในสิ่งที่เราทำ เป็นความรู้สึกที่สบายใจ ไม่ต้องเร่งรีบมากมาย คอยพูดคุยกับคนที่เขาอยากคุยกับเราจริงๆ จากที่ไม่เคยมีความรู้สึกแบบนี้มาก่อน มันเป็นความรู้สึกที่มันมากกว่าการมีเงินทองเยอะๆ แอนถือว่ามีความสุขสำเร็จมากที่สุดแล้ว”

ส่วนอนาคตต่อจากนี้ ก็หวังจะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเช่นนี้ต่อไป พร้อมกับการดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อบั้นปลายที่แข็งแรง และมีความสุขท่ามกลางธรรมชาติเช่นนี้ต่อไป

“คิดว่าจะอยู่ที่นี่ไปให้นานที่สุด ถ้าเขาไม่ยกเลิกสัญญาเช่า ข้อดีคือเราเป็นคนที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรากลัว ก็ไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ก็เลยบอกกับพี่ตี๋ว่า เราจะทำที่นี่ให้ทุกอย่างเต็มร้อย ยิ่งมีคนมาสอบถามเรื่องการปลูก เราต้องให้เขาให้มากที่สุด

เราเตรียมใจเสมอไว้อยู่แล้วว่าเราอยู่ในพื้นที่เช่า แต่ตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา เราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เก็บเกี่ยวความรู้ติดตัว ติดสมองเราไป เก็บเกี่ยวลูกค้าไว้ให้อยู่ในมือ เมื่อไหร่ที่มูฟเราจะไม่กลัวเลยกับการเริ่มต้นใหม่ เราจะไปแบบคนที่เก่งกว่าเดิม พร้อมเริ่มใหม่ได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน เราไม่ได้ยึดติด ก็ต้องดูว่าอนาคตจะไปอยู่ที่ไหนแค่นั้นเอง ทุกอย่างเป็นเรื่องของโอกาส เวลา อยู่ตรงไหนก็ได้ แต่เราก็ต้องดูแลตัวเองควบคู่กันไป ระหว่างนี้มีความสุขแล้วค่ะ

อนาคตก็คิดว่ายังคงจะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายต่อไป ก็ยังคงปลูกผักไปเรื่อยๆ แบ่งปันการปลูกผักไปเรื่อยๆ ณ ปัจจุบันก็พยายามทำมันอยู่ การวางแผนอีกอย่างที่จะทำให้เราใช้ชีวิตยังไงในบั้นปลายเกษียณตัวเองได้ดี คือการวางแผนเรื่องสุขภาพมากกว่า ไม่ได้มาคิดว่าเราจะต้องสร้างแบรนด์ที่ฟู่ฟ่าใหญ่โตให้เป็นที่รู้จักหรือร่ำรวยอะไร เราคิดว่ายังอยากพักผ่อน ใช้ชีวิตพอมีเงินเก็บบ้าง ไว้แบ่งปันบ้าง แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ”

สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : กัมพล เสนสอน
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เพจเฟซบุ๊ก “เกษตรสุขกลางกรุง ณ.ทุ่งบางเขน”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.