
แต่ไม่ใช่กับเกษตรกรสองสามีภรรยาคู่นี้ แค่ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันที่เคยชินนิดหน่อย เคียงข้างมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างคู่ใจสำหรับขนของ ไม่ต้องพึ่งรถใหญ่ เท่านี้ก็เป็นแม่ค้าเองได้แล้ว นับเป็นอีกแบบฝึกหัดที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้น โดยเฉพาะ ณ สถานการณ์เยี่ยงนี้


“เดิมทำนาเป็นอาชีพหลัก ช่วงหลังหันมาใช้พื้นที่ว่างปลูกผักสวนครัวกินในครัวเรือน เหลือก็ขาย แต่พอเกิดโควิด-19 รอบแรก ตลาดถูกสั่งปิดทั้งหมด แม้จะมีกิน แต่ก็ไม่มีรายได้เพราะไม่มีใครมาซื้อ ช่วงอยู่กับบ้านไม่มีอะไรทำ เลยเพิ่มพื้นที่ทดลองปลูกผักหลากหลายชนิดที่ตลาดละแวกนี้ต้องการ อย่าง ผักชีลาว ขึ้นฉ่าย ใบแมงลัก ผักสลัด เพราะใช้เวลาปลูกไม่นาน และซื้อง่ายขายคล่อง ต่อเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นตลาดเริ่มเปิด เห็นว่าของเยอะขึ้นน่าจะขายเองจะได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า เลยไปติดต่อตลาดสดใกล้บ้าน เช่าตั้งแผงขายมาจนปัจจุบัน”
บุญมี สวัสดี เกษตรกรบ้านหินโคน ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เล่าถึงชีวิตการเป็นเกษตรกรและแม่ค้าไปในคราเดียวกัน…เมื่อเราอยากได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องรอให้พ่อค้าแม่ขายมารับซื้อเหมือนเก่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ วิ่งเข้าไปตลาดสดลำปลายมาศเพื่อขอเช่าพื้นที่ ได้แผงเช่าในช่วงตลาดเช้า 03.00-09.00 น. เป็นช่วงเวลาต้องขายพืชผักในราคาส่ง เพราะลูกค้าเกือบทั้งหมดเป็นผู้ค้ารายย่อยที่ซื้อไปขายต่อ หรือไม่ก็รถพุ่มพวง

เมื่อกลุ่มลูกค้าเป็นเช่นนี้ ทำให้ต้องมานั่งคิดกับแฟนปรับแผนกันใหม่ เพราะเดิมจะขายผักเป็นกำใหญ่ หรือขายเป็น กก. จำต้องเปลี่ยนมาเป็นผักสวนครัวราคาไม่แพง เช่น กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ใบแมงลัก และอื่นๆ ต้องนำมาทำให้เป็นกำเล็กขายราคาถูก 3 กำ 10 บาท 7 กำ 20 บาท ส่วนผักอื่นที่ราคาแพงขึ้นมาหน่อยก็ขายกำละ 10 บาท คนซื้อไปขายต่อสามารถนำไปแบ่งขายเอากำไรต่อได้ โดยผลจากการลงตลาดวันแรกปรากฏว่าของแทบเกลี้ยงแผง
บุญมี เล่าต่อไปอีกว่า ขายไปได้สักพักของที่ปลูกไว้เริ่มไม่พอ บวกกับลูกค้าถามถึงพืชผักหลายชนิดที่เราไม่ได้ปลูก เลยมองว่าจำเป็นต้องรับซื้อพืชผักของเพื่อนเกษตรกรเข้ามาขาย เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า จากนั้นนำมาแบ่งเป็นกำเล็ก หรือห่อเล็ก ให้เหมาะสมกับที่ลูกค้าจะซื้อไปขายต่อ เท่านี้ก็สามารถการันตีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 บาท ไม่รวมข้าวที่ปลูกเป็นอาชีพอยู่แล้ว ไม้ผลตามฤดูกาล เช่น กล้วย ข้าวโพด มะม่วง

“ตอนแรกเราก็คิดว่าต้องลำบากแน่ เพราะรถกระบะขนของก็ไม่มีเหมือนคนอื่น มีแค่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง แต่ก็คิดว่าแค่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างก็น่าจะเอาอยู่ ไม่ได้ขนของอะไรมากนัก ที่สำคัญถ้าไม่เริ่มตอนนี้จะเริ่มตอนไหน อีกทั้งต้องปรับผังชีวิตเปลี่ยนมาเป็นนอนตอนเย็น ตื่นตีสองเตรียมข้าวของ กลับถึงบ้านสายๆ ดูแลพืชผักในสวน แล้วตระเวนรับซื้อพืชผักบางส่วนจากเพื่อนบ้าน แม้รายได้จากส่วนนี้จะไม่มากนัก แต่ก็ได้ความสุขกายสุขใจ เพราะบ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ แถมมีเวลาให้ครอบครัว”
ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สู้ชีวิต ยอมรับความเปลี่ยนแปลงแล้วจัดตารางชีวิตใหม่ สมดังคำโบราณท่านว่า “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา”.
กรวัฒน์ วีนิล