สิ่งแรกที่คุณเห็นเมื่อเดินทางไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติคาบูลก็คือเจ้าหน้าที่หญิงในชุดคลุมสีดำและผ้าคลุมศีรษะสีน้ำตาล
เมื่อ 1 ปีก่อน สนามบินต้องตกอยู่ท่ามกลางความโกลาหลของคลื่นผู้คนที่พยายามหลบหนีออกนอกประเทศ
ทว่าในตอนนี้บรรยากาศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง สนามบินอยู่ในความเงียบสงบ มีการประดับธงสีขาวของตาลีบัน และป้ายประกาศที่เคยเป็นภาพใบหน้าผู้มีชื่อเสียงช่วงก่อนที่ตาลีบันจะขึ้นสู่อำนาจก็ถูกถอดออกไป
ลิซ ดูเซต หัวหน้าทีมผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศบีบีซี ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวอัฟกันถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา หลังจากกลุ่มตาลีบันเข้ากุมอำนาจและปกครองอัฟกานิสถานมาแล้ว 1 ปี
คาบูล – ผู้หญิงถูกสั่งให้ยกงานให้ผู้ชายทำ
“พวกเขาต้องการให้ฉันยกงานที่ทำอยู่ให้น้องชายฉันทำแทน” หญิงคนหนึ่งเขียนระบายในโลกออนไลน์
“พวกเราได้ตำแหน่งนี้มาเพราะประสบการณ์และการศึกษา…ถ้าเรายอมรับเรื่องนี้ก็เท่ากับเราทรยศตัวเอง” หญิงอีกคนแสดงความเห็น
บุคคลที่นำข้อความเหล่านี้ให้บีบีซีดูคือกลุ่มข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการคลังของอัฟกานิสถาน
พวกเธอเป็นสมาชิกกลุ่มผู้หญิงกว่า 60 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสรรพากร ที่รวมกลุ่มกันหลังจากตาลีบันออกคำสั่งให้พวกเธอหยุดงานแล้วกลับไปอยู่ที่บ้านในเดือน ส.ค. ปีก่อน
พวกเธอเล่าว่าเจ้าหน้าที่ของกลุ่มตาลีบันสั่งให้พวกเธอส่งเอกสารประวัติการทำงานของญาติพี่น้องผู้ชายของพวกเธอเพื่อให้เขาสมัครทำงานในตำแหน่งของพวกเธอ
“นี่คืองานของฉัน” ผู้หญิงคนหนึ่งยืนกราน เธอเป็นเหมือนกับผู้หญิงทุกคนในกลุ่มนี้ ที่กลัวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะพรากตัวตนของเธอไป
“ฉันทุ่มเททำงานมาอย่างยากลำบากกว่า 17 ปีเพื่อให้ได้งานนี้ และเรียนจบปริญญาโทไปด้วย ตอนนี้ฉันต้องกลับไปอยู่จุดเริ่มต้น”
ในวงสนทนานี้ยังมีสายที่โทรมาร่วมพูดคุยจากต่างประเทศ เธอคือ อามีนา อาห์มาดี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสรรพากรอัฟกานิสถาน
แม้เธอจะหลบหนีออกนอกประเทศไปได้ หลังจากตาลีบันกลับเข้าปกครองประเทศ แต่ก็ชี้ว่านี่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
“พวกเราสูญเสียตัวตน…ที่เดียวที่เราจะรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ได้ก็คือในประเทศของเรา”
กลุ่มสนทนาทางออนไลน์นี้มีชื่อว่า “ผู้นำหญิงแห่งอัฟกานิสถาน” (Women Leaders of Afghanistan) ซึ่งเป็นชื่อที่ให้ความเข้มแข็งแก่พวกเธอ ซึ่งต่างต้องการทวงคืนงานของตัวเอง
พวกเธอคือผู้หญิงที่ใช้โอกาสในช่วง 2 ทศวรรษที่ชาติตะวันตกขับไล่ตาลีบันลงจากอำนาจ ในการแสวงหาโอกาสด้านการศึกษาและการทำงาน
แม้ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ตาลีบันจะระบุว่าผู้หญิงยังคงทำงานได้ โดยส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในภาคการศึกษา การแพทย์ และความมั่นคง เช่นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตามสนามบิน
ตาลีบันระบุว่าผู้หญิงเหล่านี้ยังคงได้รับค่าจ้าง ทว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเงินเดือนที่พวกเธอเคยได้รับมา
หวั่นเกิดทุพภิกขภัยที่กอร์
ที่จังหวัดกอร์ในเขตที่ราบสูงอันห่างไกลทางภาคกลางของอัฟกานิสถานเป็นพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชที่สำคัญ ทว่าผลผลิตในปีนี้ได้สร้างความหนักใจให้คนท้องถิ่น
นูร์ โมฮัมหมัด วัย 18 ปี และฮาห์หมัด วัย 25 ปี ใช้เคียวเก็บเกี่ยวผลผลิตจากทุ่งข้าวแห่งนี้
“ภัยแล้งทำให้ปีนี้มีผลผลิตข้าวสาลีน้อยกว่าปีก่อนมาก” นูร์เล่า พร้อมเหงื่อที่ชุ่มโชกบนใบหน้า “แต่มันเป็นงานเดียวที่ผมหาได้”
ชายหนุ่มทั้งสองต้องทำงานหลังขดหลังแข็ง แลกกับค่าแรงเพียงวันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 70 บาท)
“ผมเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า แต่ต้องเลิกเรียน เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว” นูร์เล่า พร้อมกับสีหน้าที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง
เรื่องราวของฮาห์หมัดก็เศร้าไม่แพ้กัน “ผมขายรถมอเตอร์ไซค์เพื่อไปอิหร่าน แต่กลับหางานทำไม่ได้เลย” เขาเล่า
งานที่มีตามฤดูกาลในอิหร่านเคยเป็นช่องทางหารายได้ของชาวอัฟกันจากจังหวัดที่ยากจน แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าตลาดงานที่นั่นจะซบเซาไม่แพ้กัน
“เรายินดีต้อนรับพี่น้องตาลีบัน แต่รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องให้โอกาสกับพวกเราด้วย” นูร์บอก
ก่อนหน้านี้ ทีมข่าวบีบีซีได้เข้าพูดคุยกับฝ่ายบริหารจังหวัดกอร์ โดยมี อาห์หมัด ชาห์ ดิน ดอสต์ ผู้ว่าราชการที่เป็นสมาชิกกลุ่มตาลีบันร่วมวงสนทนาด้วย
เขาบอกว่ารู้สึกเศร้าใจกับความล้าหลังของจังหวัดนี้ ทั้งเรื่องความยากจน ถนนหนทางที่ไม่ดี ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสถานพยาบาล และโรงเรียนต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำการได้ตามปกติ
แต่เขาชี้ว่า หลังสงครามสิ้นสุดลง ตอนนี้องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเริ่มลงทำงานในพื้นที่ได้แล้ว โดยเมื่อช่วงต้นปีนี้มีการตรวจพบภาวะขาดแคลนอาหารในเขตที่อยู่ห่างไกลที่สุด 2 เขตของจังหวัด
แต่สงครามดูเหมือนจะไม่ยุติสำหรับผู้ว่าดิน ดอสต์ เขาเล่าว่าเคยถูกทหารอเมริกันจองจำและทรมาน “อย่าสร้างความเจ็บปวดให้พวกเราอีก…เราไม่ต้องการความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก” เขาบอก
“ทำไมชาติตะวันตกถึงชอบเข้าแทรกแซงประเทศอื่น…พวกเรายังไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าพวกคุณปฏิบัติกับหญิงหรือชายอย่างไร”
เด็กหัวกะทิถูกตัดโอกาสการศึกษา
ที่เมืองเฮรัต เมืองโบราณทางภาคตะวันตกของประเทศ โซไฮลา วัยรุ่นหญิงวัย 18 ปีพาทีมข่าวบีบีซีไปดูตลาดชั้นใต้ดินสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ
ตลาดแห่งนี้เพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้ง หลังจากถูกตาลีบันสั่งปิดเมื่อปีก่อน และต้องปิดลงในปีก่อนหน้านั้นเพราะการระบาดของโควิด -19
เธอเล่าให้ฟังว่าพี่สาวของเธอเปิดร้านเสื้อผ้าที่นี่เมื่อ 10 ปีก่อน แม้ตลาดชั้นใต้ดินที่นี่จะมีแสงทึม ๆ แต่มันก็เป็นเหมือนแสงสว่างที่ช่วยชูใจให้ผู้หญิงจำนวนมากที่มักต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน
นับแต่ตาลีบันกลับเข้าปกครองประเทศ ก็ได้สั่งปิดโรงเรียน และสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งโซไฮลาเป็นหนึ่งในเด็กหญิงชาวอัฟกันจำนวนมากที่อนาคตทางการศึกษาต้องหยุดชะงักลง
“ตาลีบันสั่งปิดโรงเรียนมัธยม” โซไฮลาเล่าถึงสิ่งที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของเด็กวัยรุ่นอย่างเธอ
“หนูเรียนอยู่ชั้นปีที่ 12 ถ้าหนูเรียนไม่จบ ก็จะอดเข้ามหาวิทยาลัย”
ตลอดหนึ่งปีที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับเด็กเรียนอย่างโซไฮลา “มันไม่ใช่เรื่องยากแค่สำหรับหนู แต่สำหรับเด็กหญิงในอัฟกานิสถานทุกคน” เธอพูดอย่างปลงตก
“มันเป็นความทรงจำที่เลวร้าย…”
เสียงพูดของโซไฮลาค่อย ๆ เบาลงในขณะที่เธอเริ่มร้องไห้ออกมา
“หนูเคยเป็นนักเรียนตัวท็อปของห้อง”