จัดแข่งรถในสวนสาธารณะ เท่ากับเสียชีวิต [เจาะเกาะติด]

ประเด็นเด็ด 7 สี – เหตุการณ์รถแข่งหลุดโค้ง พุ่งชนประชาชนบริเวณขอบสนามเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ถูกกฎหมาย เพราะได้รับการอนุญาตจากทางการแล้ว แต่ในแง่ความปลอดภัยนักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ถนนในเมืองไม่เหมาะในการนำมาแข่งรถ ไปติดตามกับรายงาน

ทันทีที่นักแข่งรถจักรยานยนต์รุ่น 150 ซีซี หลุดโค้งจากการขับเบียดกันในงาน “กะพังโรดเรซซิ่ง 65” จัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2565 ชิงเงินรางวัลกว่า 400,000 บาท ทั้งหมด 14 รุ่น จุดที่รถหลุดโค้งนอกจากตัวคนขับจะหลุดจากรถแล้ว แต่รถที่มาด้วยความเร็วพุ่งทะยานไปข้างหน้า และฟาดใส่ประชาชนที่มายืนดูบริเวณหัวโค้งที่เต็มไปด้วยบ้านเรือนประชาชน ด้วยภูมิประเทศเป็นถนนเลียบสวนสาธารณะ การจะชมการแข่งขันก็คือการยืนดูหน้าบ้านบนริมฟุตบาธ ที่ปราศจากเครื่องป้องกัน

อุบัติเหตุรุนแรงทันทีเมื่อเกิดความสูญเสีย เพราะมีผู้เสียชีวิต เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี และผู้บาดเจ็บอีก 8 คน โดยเฉพาะนักแข่งรถที่ขนาดว่ามีเครื่องป้องกันอาการยังสาหัส และรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล แต่ในจำนวนนี้นอกจากผู้เสียชีวิต ยังมีเด็กอายุ 2 ขวบ ที่สมองร้าวรวมอยู่ด้วย ซึ่งประชาชนบางส่วนเริ่มไม่เห็นด้วยที่จะมาจัดการแข่งรถที่นี่ เพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวย และสร้างมลภาวะทางเสียง รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่ความโศกเศร้านี้เกิดขึ้น โดยผู้เป็นแม่ต้องสูญเสียลูกชายคนเดียวจากทั้งหมด 3 คน ซึ่งเธอยอมรับว่า ไม่รู้ว่ามาตรฐานการจัดแข่งขันรถต้องเป็นอย่างไร แต่เหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญเธอบอกว่า เธอได้รับข่าวร้ายหลังลูกเดินจากไปไม่ถึง 30 นาที

ขณะที่นักวิชาการด้านวิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย บอกว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอันตรายมาก ทั้งในแง่ความปลอดภัยและความเหมาะสม เพราะตามหลักความปลอดภัยควรแยกคนดูออกจากสนามแข่ง มีบังเกอร์ มีอัฒจันทร์ ที่สำคัญการอ้างว่าเป็นประเพณีทำกันมานาน ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะถนนหลวงไม่ได้เหมาะกับการใช้ความเร็ว ตามหลักวิศวกรรม ควรย้ายสถานที่ที่ปลอดภัยมากกว่านี้

เมื่อถามหาผู้รับผิดชอบยังก้ำกึ่งระหว่างรัฐบาลอย่างเทศบาลกับเอกชนผู้จัด เพราะการแข่งขันได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องจากเทศบาลนครตรัง แต่ประธานชุมชนกะพังสุรินทร์ เทศบาลนครตรังเป็นผู้จัดการแข่งขัน ซึ่งงานจัดแข่งขันรถแบบนี้มีมาตั้งแต่ปี 2522 แต่มีการเว้นวรรคประมาณ 11 ปี ซึ่งก่อนการจัดการแข่งขันได้มีการทำประชาคมสอบถามชาวบ้านบริเวณสระกะพังสุรินทร์แล้ว ชาวบ้านเห็นชอบให้จัด เพราะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้

บทเรียนราคาแพงนี้ คงต้องตะโกนดัง ๆ ไปให้ถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ว่าอย่าสักแต่ประชาสัมพันธ์จัดงานใหญ่โต หากไม่คำนึงถึงความปลอดภัยให้มากกว่านี้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่คำชื่นชม แต่กลายเป็นคำสาปแช่ง และเสียงก่นด่า