ภาพปกจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถานการณ์การติดตามนักกิจกรรมในพื้นที่ภาคเหนือตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังได้รับแจ้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา เนื่องจากหวั่นทำกิจกรรมที่อาจกระทบต่อขบวนเสด็จ
วันที่ 18 ก.พ. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานสถานการณ์การติดตามนักกิจกรรมในพื้นที่ภาคเหนือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 14 – 17 ก.พ. ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา มีกำหนดการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อมอบปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตที่จบการศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งสถานการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา แม้ว่านักกิจกรรมหลายคนจะไม่ได้จัดกิจกรรมใดๆ ก็ตาม หรือยิ่งไปกว่านั้นมีการติดตามนักกิจกรรมบางรายที่เข้ารับปริญญาในฐานะบัณฑิตอีกด้วย
สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ ช่างตัดแว่นและนักกิจกรรมกลุ่มราษฎรเชียงราย สังเกตเห็นว่าช่วงเย็นของวันที่ 13 ก.พ. 2565 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาวนเวียนบริเวณร้านตัดแว่นของตน แต่ไม่มีการเข้ามาพูดคุยหรือสอบถามใดๆ โดยสราวุทธิ์เข้าใจว่าการเข้ามาติดตามเฝ้าดูของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เหตุจากในวันที่ 14 ก.พ. จะมีพิธีรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทางเจ้าหน้าที่จึงเข้ามาติดตามนักกิจกรรมในพื้นที่ แม้ว่ายังไม่ได้มีการจัดกิจกรรมใดๆ ก็ตาม
ต่อมาวันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 12.00 น. สราวุทธิ์กับเพื่อนในกลุ่ม “ราษฎรเชียงราย” ได้ไปยืนอยู่ข้างถนนบริเวณสนามบินเก่าในเมืองเชียงรายซึ่งเป็นเส้นทางที่จะมีการเสด็จผ่าน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 10 นาย เข้ามาพูดคุยกับสราวุทธิ์พยายามสอบถามว่ากลุ่มมายืนทำอะไรบริเวณดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่เห็นว่าได้มีการจัดเตรียมป้ายข้อความมาด้วย จึงขอตรวจดูป้าย พร้อมกับระบุว่าทางตำรวจกำลังปฏิบัติหน้าที่และแจ้งเตือนว่าการกระทำอาจเป็นความผิดตามกฎหมายได้ หลังจากนั้นมีการขอตรวจสอบชื่อและที่อยู่ของกลุ่มราษฎรเชียงราย
จนกระทั่งใกล้เวลาที่จะมีการเสด็จผ่านบริเวณที่กลุ่มราษฎรเชียงรายยืนรอขบวนเสด็จกันอยู่ ได้มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอีกราว 20 นาย เข้ามาเสริมบริเวณดังกล่าว พร้อมกับมีการวางแผงกั้นระหว่างกลุ่มราษฎรเชียงรายกับถนน เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถเข้าใกล้ถนนได้ อีกทั้งมีการขอความร่วมมือไม่ให้ทำการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กที่เห็นบริเวณถนนซึ่งจะเสด็จผ่านด้วย จนกระทั่งขบวนเสด็จได้ผ่านไปและกลุ่มราษฎรเชียงรายจึงได้เดินทางกลับ
ต่อมาในวันที่ 16 ก.พ. 2565 แม้ไม่มีการเสด็จในจังหวัดเชียงรายแล้ว ระหว่างที่สราวุทธิ์และเพื่อนได้ใช้รถมอเตอร์ไซค์เดินทางไปท่องเที่ยว ได้มีรถยนต์ขับตามกลุ่มของเขาอยู่ห่างๆ เป็นระยะ และน่าจะมีการถ่ายรูปพวกเขาไว้โดยตลอด เมื่อถึงจุดที่มีการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร กลุ่มของสราวุทธิ์จะถูกเรียกให้หยุดตรวจค้นอย่างละเอียดเกือบทุกครั้ง และทางตำรวจหรือทหารในด่านตรวจดังกล่าวจะพยายามสอบถามถึงจุดหมายปลายทางของกลุ่ม ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ไปเพื่ออะไร แต่สราวุทธิ์เห็นว่าไม่จำเป็นต้องตอบคำถามดังกล่าว เนื่องจากไม่ใช้หน้าที่ของเจ้าหน้าที่
ข้อสังเกตอีกประการคือ ระหว่างการท่องเที่ยวของสราวุทธิ์และเพื่อนมีการจอดรถพักตามจุดชมวิวเพื่อทำการถ่ายรูป ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งประจำการอยู่ใกล้กับบริเวณดังกล่าว ขับรถมอเตอร์ไซค์เข้ามาสอบถามว่าพวกเขาจะเดินทางไปที่ใด พร้อมกับถ่ายรูปในระหว่างการพูดคุยไว้ด้วย ระบุว่าเพียงแค่มารักษาความปลอดภัยและจะได้แจ้งกับด่านต่อๆ ไปให้ทราบเผื่อว่าเกิดกรณีรถเสียหรืออื่นๆ ขึ้น
วันที่ 15 ก.พ. 2565 ชินภัทร วงค์คม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวในจังหวัดพะเยา ได้ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 3 นาย เข้ามาติดตามถึงบ้านพัก เพื่อสอบถามว่าในช่วงที่จะมีการเสด็จมามอบปริญญาของกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่จังหวัดพะเยา ชินภัทรจะทำกิจกรรมใดๆ หรือไม่ ชินภัทรแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่ว่าตนเองไม่ได้มีการจัดกิจกรรมใดๆ เพียงแต่จะเข้ารับปริญญาในฐานะบัณฑิตคนหนึ่งเท่านั้น ทางเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบระบุว่าได้รับคำสั่งให้มาติดตามเนื่องจากเกรงจะมีกิจกรรมใดๆ ที่อาจกระทบกับการเสด็จได้ ก่อนที่จะขอถ่ายรูปกับชินภัทร เพื่อรายงาน “นาย” ให้ทราบต่อไป
เมื่อชินภัทรได้เดินทางไปเข้าร่วมการซ้อมรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยพะเยา เขาสังเกตเห็นว่าได้มีรถยนต์คันหนึ่งติดตามเขาตลอดการเดินทาง จากนั้นเมื่อทำการซ้อมรับปริญญาเสร็จสิ้นแล้ว เขาได้เดินทางออกมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับครอบครัวและเพื่อนๆ ก็ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนำดอกไม้มามอบให้เพื่อแสดงความยินดีและขอถ่ายถาพร่วมกับชินภัทรเพื่อรายงาน “นาย” อ้างว่าทางผู้ใหญ่ไม่เชื่อว่าชินภัทรจะไม่มีการทำกิจกรรมใดๆ โดยทางเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบระบุว่าได้รับคำสั่งให้เข้ามาติดตามเขาตลอดวันพรุ่งนี้อีกด้วย
จากนั้นในวันที่ 16 ก.พ. 2565 ในงานมอบปริญญาของมหาวิทยาลัยพะเยา ชินภัทรก็ได้เข้าร่วมพิธีตามปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยเดินติดตามไปทุกที่ๆ ภายในมหาวิทยาลัยพะเยา จนกระทั่งกรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จกลับแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงได้แยกตัวกลับไป
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 “พี” นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 19 ปี พบว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบแวะเวียนมาที่หอพักของตนทุกวันตั้งแต่ “พิม ทะลุฟ้า” มาขอพักอาศัยด้วยชั่วคราว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาครั้งละ 3–4 นาย และขณะที่ตนเดินลงจากห้องพัก ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 2 นาย เดินเข้ามาสอบถามข้อมูลของตน และยังทราบจากเจ้าของหอพักได้ว่าเมื่อวานนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่หอพัก แต่ตำรวจที่มาระบุว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน. เดียวกัน
นอกจากนี้เจ้าของหอพักยังได้แจ้งกับพีว่าเมื่อเดือนที่แล้ว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรหาตนเอง เพื่อขอเข้าตรวจค้นหอพัก แต่เนื่องจากขณะนั้นตนอยู่ต่างจังหวัดจึงไม่สะดวกให้เข้าค้น โดยพีระบุว่า ช่วงเวลาที่ตำรวจโทรหาเจ้าของหอพักเมื่อเดือนที่แล้ว “พิม ทะลุฟ้า” ก็ได้มาพักกับตนเองที่เชียงใหม่เช่นกัน เจ้าของหอพักซึ่งเดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดก็ได้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสอบถามเรื่องการตรวจค้นหอพัก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธ ไม่ขอตรวจค้นหอพักดังกล่าวแล้ว
วันนี้หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกลับไปแล้ว เจ้าหอพักแจ้งกับพีว่าตนเองมีความหวาดกลัวที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาที่หอเป็นประจำเช่นนี้ เจ้าของหอจึงได้ขอเชิญให้พีออกจากหอพักภายในสิ้นเดือนนี้ โดยอ้างว่าพีทำผิดกฎระเบียบของหอพักที่พาผู้อื่นมาพักด้วยโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
ขณะนี้พีกำลังหาหอพักใหม่ เนื่องจากถูกให้ออกจากหอพักกะทันหัน
นอกจากนั้นแล้ว “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม “พรรควิฬาร์” ก็ตั้งข้อสังเกตว่าช่วงวันที่ 17 ก.พ. 2565 ได้มีรถยนต์ผิดสังเกตจำนวน 3 คัน เข้ามาจอดใกล้กับบริเวณบ้านของเขา อีกทั้งเมื่อฮ่องเต้เดินทางออกมาจากบ้านก็ได้ถูกหนึ่งในรถผิดสังเกตดังกล่าวติดตามเขาออกมา โดยไม่ทราบสาเหตุการติดตามและฮ่องเต้เองก็ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมใดๆ ในช่วงดังกล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/40543
This website uses cookies.