การประกาศนโยบายเพื่อเรียกคะแนนเสียง สำหรับการเลือกตั้งในปีหน้า กำลังดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ เปิดฉากด้วยพรรคเพื่อไทยกับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายใน 4 ปี ก่อนที่พรรคก้าวไกล เกทับต่อด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีปีแรก 450 บาท และจะขึ้นทุกปี
นโยบายประชานิยมเช่นนี้ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายครั้งในสังคมไทย โดยเฉพาะการเมืองยุคหลัง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าว รถคันแรก บ้านหลังแรก คนละครึ่ง และอื่น ๆ ซึ่งในภาควิชาการทั้งในไทยและต่างประเทศ มองว่า นโยบายประชานิยมมีประโยชน์หากใช้เป็น “ครั้งคราว” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
สำหรับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำนั้น “อาจดูเป็นการเมืองที่ดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดี” มอร์ลีย์ กุนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ ศูนย์ความสัมพันธ์ทางอุตสาหกรรมและทรัพยากรบุคคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งโทรอนโต ในแคนาดา ระบุในงานวิจัย “ค่าแรงขั้นต่ำ: การเมืองดี แต่เศรษฐกิจแย่ ?”
คนไทยให้ความสนใจค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้น นับแต่กลายเป็นนโยบายหลักของพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งครั้งก่อน ที่ให้คำมั่นว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาท แต่ 4 ปีผ่านมา มีการขึ้นค่าแรงเพียง 1 ครั้ง คือเมื่อเดือน ก.ย. 2565 ปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัด โดยเริ่มบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา
ผศ. นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยให้สัมภาษณ์เชิงวิเคราะห์กับเอเอฟพีว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันยากจะเยียวยาแล้ว” ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ไม่เป็นผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐเลย ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในต้นปีหน้า เพราะผู้ลงคะแนนเสียงไม่เคยลืมสิ่งที่ พปชร. ให้คำมั่นไว้ แล้วทำไม่ได้
“เพราะเมื่อพรรคขึ้นมามีอำนาจแล้ว ก็ทำตามสัญญาไม่ได้”
หนัง (นโยบาย) ม้วนเก่า ในพรรคขั้วใหม่
ตอนนี้ การประกาศคำมั่นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง แต่เปลี่ยนเป็นฟากฝั่งของพรรคฝ่ายค้าน เริ่มจากพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2565 โดย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทภายในปี 2570 และนักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรี รับประกันเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท
ต่อมา วันที่ 11 ธ.ค. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (กก.) ขึ้นเวทีประกาศ “นโยบายก้าวไกล เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงาน” ว่า ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันทีเป็น 450 บาท โดยคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี
“พรรคก้าวไกลเสนอว่าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นทันที 450 บาทในปี 2566 ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็ได้เสนอตัวเลขและระยะเวลาเป้าหมายที่ต่างออกไป ผมคิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าต้องเพิ่มรายได้ของผู้ใช้แรงงานให้สูงขึ้น ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน” นายพิธา กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น พรรคก้าวไกลยังจะเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแรงงาน อาทิ ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ถ้าทำงานเกินเวลา จะต้องมีค่าล่วงเวลา พร้อมคูปองเสริมทักษะให้ประชาชนทุกปี พร้อม “แถม” ด้วยนโยบายเงินช่วยเหลือเด็กเล็ก 1,200 บาททุกเดือน และเงินช่วยเหลือผู้สูงวัย 3,000 บาททุกเดือน
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงนโยบายของเพื่อไทย-ก้าวไกล เตือนว่า “ทุกพรรคอย่าเอานโยบายขึ้นค่าแรง มาใช้ในการหาเสียง เพราะอันตรายมาก”
เขาตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองที่ไม่ขอระบุชื่อว่า 1. เคยสัมผัสเรื่องแรงงานจริงจังหรือไม่ และ 2. ทราบรายละเอียดกลุ่มแรงงาน และประเภทแรงงานของไทย ลึกซึ้งแค่ไหน
“ขึ้นค่าแรงทุกจังหวัดเท่ากันไม่ได้… ถ้าปรับเท่ากันทั้งประเทศ เดือดร้อนทันที” และเสนอว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ ควร “สร้างการกินดีอยู่ดีให้กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เสริมสร้างสวัสดิการให้มากขึ้น และปรับค่าแรงให้เหมาะสมตามภาวะแข่งขัน” มากกว่า
“พรรคการเมืองชอบเอาเรื่องค่าแรงมาเล่นกัน… แต่เขาไม่เข้าใจหัวอกแรงงานเลย”
พรรคได้เสียง เศรษฐกิจย่ำแย่ ?
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายประเภทประชานิยม ถือว่าเป็นนโยบายที่พรรคการเมืองนิยมใช้ ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลก ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ให้นักการเมืองดึงดูดเสียงสนับสนุน ในช่วงใกล้การเลือกตั้ง
กุนเดอร์สัน อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.โทรอนโต ในแคนาดา เล่าย้อนในงานวิจัยของเขาที่ตีพิมพ์เมื่อไม่กี่ปีก่อนว่า นโยบายค่าแรงขั้นค่ำ คือ “เครื่องมือขจัดความจน” ในมุมมองของภาคการเมืองและสังคม
ตัวอย่างทีเห็นได้ชัดและเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ อาทิ ปี 2541 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ “จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตแรงงานอเมริกัน 12 ล้านคน” และในปี 2551 บารัก โอบามา ลงชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะ “ประชาชนที่มีงานประจำ ไม่ควรต้องมีชีวิตที่ยากจน”
ภาพจำที่ใช้รณรงค์หาเสียงด้วยค่าแรงขั้นต่ำ อาทิ ภาพคนจนทำงานประจำ เพื่อค่าแรงขั้นต่ำ แต่กลับต้องมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจนของประเทศนั้น ๆ ถือ “ภาพลักษณ์” ที่เรียกคะแนนสนับสนุนจากสังคมได้ดี เพราะมองว่า ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะแก้ปัญหาได้
แต่ด้านลบของนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลับไม่เด่นชัด และมีความสลับซับซ้อนกว่า การออกกราฟิกตัวเลขตามนโยบายของแต่ละพรรค โดยกุนเดอร์สัน ชี้ว่า ผลกระทบอาจรวมถึง ภาวะแข่งขันที่ลดลง เพราะจำนวนการทำงานลดลง แต่นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น รวมไปถึงภาวะว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งล้วนเป็นประชาชนที่ใกล้เคียงกับการรับค่าแรงขั้นต่ำ ในช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ไม่เพียงเท่านั้น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่คำนึงถึงเสียงตอบรับของนายจ้าง อาจทำให้นายจ้างร้องขอให้ลูกจ้าง ลดสวัสดิการบางอย่างของลูกจ้างลง อาทิ งดให้อาหารกลางวัน ลดเวลาพัก หรือให้ทำงานตามกะโดยไม่ผ่อนผัน เพื่อชดเชยกับค่าแรงที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น
กุนเดอร์สัน ยังชี้อีกว่า “ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น อาจผลักให้เยาวชนดรอปการเรียนออกมาใช้แรงงานมากขึ้น” ไม่นับ ราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้น
ประชานิยมแบบไทย ใครได้ใครเสีย
ประเทศไทยไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี และมีการขึ้นค่าแรงตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักสิบ โดยในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา มีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดสูงสุดในยุคของรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นจาก 215 บาท ต่อวัน ไปเป็น 300 บาทต่อวัน
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดในปี 2565 ก็เป็นการขึ้นค่าแรงในรอบ 2 ปีนับจากปี 2563 โดยปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาท
สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย และนักวิชาการอิสระด้านการเงิน ระบุใน บทความเผยแพร่โดย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank-101 PUB) ถึงแนวคิด “ประชานิยม” โดยอ้างหลักคิดของ ยอห์น-เวอร์เนอร์ มุลเลอร์ นักรัฐศาสตร์ ม.พรินซ์ตัน ว่า นักการเมืองสายประชานิยมมักอ้างตนว่า พวกเขาเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของประชาชน และรู้ดีว่าประชาชนต้องการอะไร และสร้างความชอบธรรมเชิงนโยบายจากการเป็น “ตัวแทนเชิงศีลธรรม”
สำหรับ มุลเลอร์นั้น ประชานิยม คือ “นโยบายโง่ ๆ หรือนโยบายพื้น ๆ” ที่สนองตอบความต้องการของพลเมืองเฉพาะกลุ่ม
“พูดอีกอย่างก็คือ ไม่มีทางเกิดประชานิยมได้ ถ้าหากไม่มีใครสักคนอ้างว่าพูดแทนประชาชนทั้งมวลได้… นี่คือข้ออ้างหลักของประชานิยม คือ มีประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่เป็น ‘ประชาชน’ อย่างแท้จริง”
และประเทศไทยก็คุ้นเคย กับนโยบายประชานิยมมาพักใหญ่แล้ว โดยตามการวิเคราะห์ของ ผศ.ดร. ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในบทความตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อหลายปีก่อน มองว่า นโยบายประชานิยม มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคของผู้คนในระยะสั้น แต่ “ไม่ให้ความสำคัญกับผลกระทบในระยะถัดไป”
“ไม่ได้สนับสนุนให้แรงงานหรือผู้ประกอบการชาวไทยมีความสามารถที่ดีขึ้นหรือมีศักยภาพในการ แข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มจะสร้างภาระทางการคลังให้กับประเทศในระยะยาวอีกด้วย”
นโยบายประชานิยมในยุคสมัยต่าง ๆ
อ. ยุทธศาสตร์ หน่อแก้ว อาจารย์สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฎเชียงราย ได้นำเสนอนโยบายประชานิยม ในการเมืองไทยช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในบทความ “แนวทางประชานิยม: ภาพสะท้อนแนวคิดทางการเมืองเชิงโครงสร้างชนชั้นในสังคมไทย” ตีพิมพ์ ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2564 ดังนี้
- ยุคสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (9 ก.พ. 2544 – 19 ก.ย. 2549) – โครงการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อย โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โครงการธนาคารประชาชน และโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น
- ยุคสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (29 ม.ค. 2551 – 9 ก.ย. 2551) – งดการขึ้นภาษีอากร การพักชาระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อย และธนาคารประชาชน เป็นต้น
- ยุคสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (17 ธ.ค. 2551 – 5 ส.ค. 2554) – โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ 2,000 บาท (เช็คช่วยชาติ) โครงการชุมชนพอเพียง และโครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น
- ยุคสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (5 ส.ค. 2554 – 7 พ.ค. 2557) – โครงการรับจำนำข้าว โครงการรถยนต์คันแรก นโยบายปรับค่าแรงรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท และโครงการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการเป็น 15,000 บาท เป็นต้น
- ยุคสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (24 ส.ค. 2557 – ปัจจุบัน) – โครงการประชารัฐ แต่รัฐบาลอ้างว่า ไม่ใช่ “นโยบายประชานิยม” แต่เมื่อพิจารณา แนวทางการการดำเนินงานโครงการ ก็ยังคงเป็นนโยบายที่เน้นการให้สวัสดิการแบบให้เปล่าแก่ประชาชน แบบนโยบายประชานิยมอยู่ดี อันได้แก่ โครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรคนจน) มาตรการกระต้นเศรษฐกิจรอบใหม่ มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า มาตรการคนละครึ่ง และอื่น ๆ
แล้วไม่ต้องมีค่าแรงขั้นต่ำได้ไหม
บทความของหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า เดนมาร์ก เป็นประเทศที่ไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ แต่กลับมีค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในโลก อยู่ที่ราว 700 บาทต่อชั่วโมง พร้อมสวัสดิการที่เพียบพร้อม และหยุดพักร้อนปีละ 6 สัปดาห์
เดนมาร์ก ทำเช่นนี้ได้เพราะใช้ระบบค่าแรงที่เรียกว่า “เฟล็กซีเคียวริตี” หรือความมั่นคงที่ยืดหยุ่น โดยให้นายจ้างและลูกจ้างพูดคุยกัน และตกลงค่าแรงกัน โดยภาครัฐไม่เข้าไปแทรกแซง ซึ่งทำให้เวลาไล่พนักงานออก นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย แต่เป็นรัฐที่จะมีประกันการว่างงานนาน 2 ปี และรับหน้าที่ดูแลด้านการศึกษา ฝึกทักษะวิชาชีพ และให้คำปรึกษาให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเร็ว เรียกว่าเป็น “ระบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง” อย่างหนึ่ง
ปัจจัย สู่ความสำเร็จดังกล่าว คือ บทบาทของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง โดยพบว่า ลูกจ้างในเดนมาร์ก 67% ล้วนเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และกว่าจะมาถึงจุดนี้ สมาคมนายจ้างและสหภาพลูกจ้างก็มีการพูดคุยถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปทั้งในเรื่องค่าแรงและสภาพแวดล้อมในการทำงานยาวนานนับ 10 ปี จนเกิดเป็นข้อตกลงที่ผ่านการต่อรองร่วมกันซึ่งทุกฝ่ายได้ประโยชน์คือนายจ้างได้พนักงานที่ทำงานอย่างเต็มใจ ในขณะที่ลูกจ้างก็มีคุณภาพชีวิตที่ดี
แล้วลูกจ้างในเดนมาร์กได้อะไรบ้างจากระบบ “ไร้ค่าแรงขั้นต่ำ” นั่นคือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า วันลาพักร้อน 6 สัปดาห์โดยยังมีรายได้อยู่ ประกันคุ้มครองแรงงาน 2 ปีหากว่างงาน ทำให้ชาวเดนมาร์กส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องทำงานหลายงาน เพื่อหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะหากตนเองมีงานประจำ
ไม่เพียงเท่านั้น เดนมาร์กยังเป็นประเทศที่มีอัตราจ้างงานสูง โดยประชากรวัยทำงาน 74% ล้วนมีงานทำ