คุยกับ 'หมอสอง' กับ 25 วันแห่งความทรมานและบทเรียนชีวิตฉบับเข้มข้น – a day BULLETIN

        นาทีนี้ ไม่มีใครไม่พูดถึง ‘หมอสอง’ – นายแพทย์ นพรัตน์ รัตนวราห เจ้าของ Nopparat Cosmetic Clinic ผู้ที่เพิ่งผ่านประสบการณ์ถูกลักพาตัวในประเทศมาลี ยาวนานถึง 25 วัน

         แม้จะผ่านช่วงเวลาเดินสายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนมาหลายรายการ แต่น้อยคนที่จะรู้เรื่องราวลึกๆ และที่มาที่ไปแบบหมดเปลือก เปลือยหัวใจ เท่าบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่หมอสองเดินทางกลับถึงบ้านเกิดเมืองนอนได้ 3 วัน

        ทิ้งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิตไว้เบื้องหลัง คงเหลือแต่ประสบการณ์สอนชีวิตที่ไม่อาจลืมเลือน

        การพูดคุยเกือบชั่วโมงครึ่งครั้งนี้ เกิดจากความตั้งใจของหมอสอง ที่อยากนั่งลงพูดคุยยาวๆ ใช้เวลาคิด ตรึกตรอง และขุดคุ้ยสิ่งที่อยู่ในใจมาตลอด 25 วันแห่งความทรมาน

        เป็น 25 วันที่เขาย้ำกับเราตลอดเวลาว่า

        “อยู่กับความไม่แน่นอน และไม่รู้ว่าชีวิตจะจบลงแบบไหน”

        หลังผ่านการเดินทางมามากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ผ่านประสบการณ์มาหมดแล้วทุกรูปแบบ ทั้งประเทศที่สวยงามติดอันดับท็อปลิสต์ของใครหลายคน ไปจนถึงประเทศที่แม้แต่ชื่อยังไม่คุ้นหู หรือแทบไม่เคยรู้ว่าอยู่บนแผนที่โลกตรงส่วนไหน

        ใครจะคาดคิดว่า นักท่องโลกผู้โชกโชนกับการเดินทาง ยอมจ่ายเงินหลักหลายแสนให้กับทัวร์ที่ไว้ใจได้ และเลือกทำทุกอย่างแบบปลอดภัยกับชีวิตที่สุด จะลงเอยด้วยการเกือบเอาชีวิตไปทิ้งที่ประเทศมาลี ประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ ที่มีระยะทางห่างจากประเทศไทย 10,990 กิโลเมตร และหากเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็อยู่ที่ 6,842 ไมล์

        เหตุผลเดียวที่เขาไปก็เพื่อเติมเต็มความฝันที่จะเดินทางให้ครบทุกประเทศในโลก

        “ตอนนี้ผมเหลืออีกแค่ 10 ประเทศ จริงๆ ถ้าทริปนี้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นก่อน ผมจะเก็บทุกประเทศในทวีปแอฟริกาได้ครบทั้งหมด 54 ประเทศ พอเจอเรื่องนี้เลยเหลืออีก 2 ประเทศที่ยังไม่ได้ไป”

        แต่ด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาเกือบเอาชีวิตไปทิ้งไว้ที่นั่น ก็สุดที่ใครจะรู้ได้ ชะตากรรม? ก็อาจจะใช่ แต่ความประมาท ก็อาจมีส่วน และเรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็คือสิ่งที่เขาอยากจะบอกเล่า ทั้งเพื่อเตือนนักท่องเที่ยวด้วยกัน และเตือนตัวเองว่า

        “อะไรก็เกิดขึ้นได้”

        ที่สำคัญ นี่คือบทเรียนสำคัญของชีวิต ที่เขาพาชีวิตตัวเองไปแขวนอยู่บนเส้นด้ายบางๆ ที่จะขาดร่วงเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้

        “อิสรภาพคือสิ่งที่มีค่ามากที่สุด เมื่อมีคนมาพรากมันไป” หมอสองย้ำ ด้วยแววตาที่เราเชื่อว่า…เขามองโลกและชีวิตเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง…

        “มันเป็นความผิดพลาดของผมเองด้วย”

        “ก่อนอื่น ผมต้องบอกว่า ทริปครั้งนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ผมซื้อทัวร์ผิดกฎหมาย หรือใช้ไกด์เถื่อน จริงๆ แล้วผมซื้อทัวร์กับบริษัททัวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นบริษัทที่ผมไว้ใจมาก เพราะเที่ยวกับเขามาหลายทริปแล้ว ที่ผ่านมาทุกอย่างก็โอเคมาโดยตลอด แต่ท้ายสุดมันก็เป็นความผิดพลาดของผมเองด้วยที่ผมไม่เช็ครายละเอียดก่อน เพราะยุ่ง ไม่มีเวลามานั่งศึกษาว่าแต่ละประเทศที่เราไป เป็นแบบไหน มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ยอมรับว่าใช้เงินแก้ปัญหาอย่างเดียว

        “แต่บอกเลยว่าผมเน้นย้ำกับไกด์เสมอเวลาไปเที่ยวประเทศในทวีปแอฟริกา ผมจะเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย ตรงไหนที่ไม่ปลอดภัย ผมจะไม่ไป ให้ตัดออกจากโปรแกรมผมได้เลย แม้กระทั่งตอนบรีฟโปรแกรมว่าจากประเทศเบอร์กินาฟาโซไปประเทศมาลี จะเป็นช่วงที่ยาวนะ มันปลอดภัยหรือเปล่า? ผมยังถามเลย แต่พอไกด์บอกว่าปลอดภัยครับ เราไปเฉพาะจุดที่ปลอดภัย ผมก็เลยไว้ใจและไม่ได้คิดว่าจะเกิดปัญหา

        “ทริปนี้เป็นไพรเวททริป เพราะปกติก็ไม่ค่อยมีคนอยากไปอยู่แล้ว เพราะมันไปลำบาก และค่าใช้จ่ายสูงมาก เดิมทีผมแพลนไว้ว่าจะไป 3 สัปดาห์ และจะไปประมาณ 7 ประเทศ แต่ในที่นี้จะมีอยู่ 6 ประเทศใหม่ที่ผมไม่เคยไปเลย ไม่รวมประเทศเก่าที่ผมไปซ้ำ เพราะต้องไปเปลี่ยนเครื่อง เช่นปากีสถาน เพื่อเข้าอัฟกานิสถาน แล้วจากนั้นก็เดินทางไปชาด ไนเจอร์ เบอร์กินาฟาโซ มาลี อิควอทอเรียล กินี เซาท์โทเม่ ตามลำดับ”

        คณะทัวร์ที่ไปด้วยกัน ประกอบไปด้วย หมอสอง ไกด์ท้องถิ่น และคนขับรถ เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น และเหตุการณ์ระทึกขวัญที่สุดในชีวิต ก็เกิดขึ้น ณ รอยต่อระหว่างประเทศเบอร์กินาฟาโซต่อเข้าสู่ประเทศมาลี

        “ตอนนั้นเราขับรถอยู่บนทางหลวง ผมนั่งหลับอยู่ แต่หลับไปได้ระยะหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงปืนปังๆๆ ผมก็ตกใจตื่นมา บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นไม่รู้ว่าเสียงอะไร แต่อธิษฐานว่าขอให้ไม่ใช่เสียงปืนนะ แต่จริงๆ มันใช่ แล้วพบว่ามีคนยิงรถเรา แต่รถมันยังผ่านไปต่ออีกนิดนึง แต่เครื่องเริ่มเร่งไม่ขึ้น คนขับเลยชะลอรถ เพราะกลัวว่าไปต่อจะโดนยิงอีก

        “แล้วทีนี้ก็มีคนสองคนถือปืนเดินมาจากพุ่มไม้ พร้อมกับมีวิทยุสื่อสาร เดินมาบอกว่าให้วนรถกลับไปจุดที่เจอด่าน ตอนนั้นผมก็ยังเบลอๆ ไม่รู้เกิดอะไรขึ้น พอรถไปถึงด่านแรกที่เขาให้วนไป ก็มีคนวิ่งกรูกันเข้ามาเต็มเลย ใส่ชุดพื้นเมืองสีน้ำตาลๆ แล้วก็มีอาวุธครบมือ เขาวิ่งมาขู่เราเป็นภาษาถิ่น ที่เราฟังไม่ออก แต่ไกด์บอกว่า เขาให้อยู่นิ่งๆ คุกเข่าลง เอามือประสานท้ายทอย บรรยากาศตอนนั้นมันเหมือนฝันไป ผมยังคิดเลยว่านี่คือความจริงหรือเปล่า เราฝันมั้ง ตื่นเถอะ ตื่นๆ บอกตัวเองอยู่แค่นี้ เพราะคิดว่านี่คือฝันร้ายที่สุดของเราแล้ว”

        หมอสองบอกว่า นาทีนั้นเขาภาวนาให้เป็นแค่การปล้น เพราะถ้าเป็นแค่การเอาเงินทองของนอกกายไปก็จะจบ ทุกคนแยกย้าย และยังสามารถขับรถกลับกันได้ อย่างเดียวที่เขาขอไม่ให้เกิดขึ้นก็คือ การลักพาตัว

         แต่แล้ว นั่นกลับเป็นจุดเริ่มต้นของการลักพาตัวจริงๆ

        “พอทุกคนกรูกันเข้ามาได้ เขาก็มาเน้นที่ตัวผมเลย อาจจะเห็นว่าเป็นคนต่างชาติ เขาเลยเข้ามา ผูกผ้าปิดตา ให้ทุกคนเอามือไขว้หลัง ผูกข้อมือไว้จนแน่น แล้วดันตัวพวกเราขึ้นรถ ตอนนั้นจำได้ว่ามีคนมานั่งประกบผมทั้งสองข้าง เข้าใจว่าเป็นไกด์กับคนขับรถของผม จากนั้นก็เหมือนมีคนขึ้นมาอีก แล้วก็พาเราขับรถออกไป ทีนี้ผมก็ไม่รู้ทิศทางแล้ว แต่ใจเต้นตึกๆ คิดว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ขอให้เป็นฝันเถอะ คิดวนๆ อยู่แบบนั้น

        “พอรถขับไปถึงจุดหนึ่ง เขาก็ค่อยๆ เปิดตาผม แกะข้อมือ ตอนนั้นผมก็ถามผ่านไกด์ว่าพวกเขาต้องการอะไร เลยได้รู้ว่า เขาต้องการเช็คดูเฉยๆ ว่าผมเป็นคนที่พวกเขาตามหาหรือเปล่า เดี๋ยวต้องรอหัวหน้าใหญ่มาดู ถ้าไม่ใช่ก็จะปล่อย เขาบอกไม่ต้องกลัว ไม่ทำร้าย ไม่ฆ่า จำได้ว่าตอนนั้นก็นั่งอยู่ด้วยกันตั้งแต่สายๆ จนถึงค่ำเลย เขาเอาชามานั่งกินชิลๆ แล้วก็นั่งรอไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

        ขณะเดียวกัน หมอสองก็สังเกตว่า ในกลุ่มที่พาพวกเขาไปโดยไม่รู้จุดหมายปลายทางนั้น เตรียมรถมอเตอร์ไซค์กันอยู่ มีกระเป๋ามาผูกไว้อย่างดี ดูแล้วมีลักษณะเหมือนการเตรียมตัวเดินทางไกลและน่าจะเป็นการไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานๆ

        “ระหว่างนั้นผมคิดเลยว่า ถ้ามีจังหวะหนีได้ ผมจะหนี เพราะไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไร จะพาเราไปฆ่าหรือเปล่า พวกเราถูกพาขึ้นมอเตอร์ไซค์ แล้วขับลุยกันไปตอนกลางคืน มองไม่เห็นเลยว่าไปไหน บางจุดลัดเลาะไปตามป่า บางจุดเหมือนอยู่แถวไร่ข้าวโพด มีหมู่บ้านห่างๆ กัน เป็นบ้านดิน แล้วเปิดไฟริบหรี่ๆ บางจุดเป็นถนนลูกรัง มีน้ำท่วมด้วย จำได้ว่านั่งมอเตอร์ไซค์ประมาณ 8 ชั่วโมงได้ โดยเขาบอกแค่ว่า ห้ามหนี อย่าคิดหนี แต่เราคิดเลยแหละว่าถ้าหนีได้เราจะหนี เพราะกลัวมาก แต่พอรถพาลึกเข้าไปเรื่อยๆ ก็เริ่มถอดใจ เพราะมันไกลมาก มีบางช่วงพาข้ามเรือไปด้วย จนนั่งมอเตอร์ไซค์พาไปจุดที่เขาจะใช้กักขัง”

        25 วันแห่งความหวาดหวั่น “ไม่มีอะไรแน่นอน ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

        สถานที่ใช้กักขังคณะของหมอสอง อยู่ในป่า มีเพียงเต็นท์เล็กๆ หลังหนึ่ง ที่เขาต้องอยู่ร่วมกับไกด์และคนขับรถ โดยมีคนเฝ้าอยู่รอบนอก พร้อมกับคำสั่งที่ย้ำว่า ให้รอหัวหน้าใหญ่มาตรวจสอบ ถ้าตรวจแล้ว ไม่ใช่คนที่ตามหา ก็จะปล่อย แต่ห้ามหนี

        แต่แล้วตอนเช้ามืดของวันต่อมา เขาก็ตัดสินเด็ดขาดที่จะหนี…

        “ผมไม่คุยกับใครเลยแม้แต่ไกด์ พอสบโอกาสช่วงเช้ามืดก็หนีออกมา คิดว่าจะไปให้ไกลที่สุด แล้วค่อยไปขอความช่วยเหลือเอาข้างหน้า จริงๆ ผมหนีไปได้เกือบเต็มวันเลยนะ แต่ระหว่างนั้นต้องเดินลุยน้ำ ขึ้นบก ลุยไปแบบนั้นเรื่อยๆ ประมาณ 8-9 กิโล จนไปเจอบ้านคนแถวนั้นแล้วไปถามทาง สรุปก็เพิ่งมารู้ว่าเขาเป็นพวกเดียวกันหมด เขาเลยโทรเรียกคน ให้มาตามจับผม ซึ่งผมก็กังวลว่า ดีไม่ดี เขาต้องทำร้ายแน่นอน แต่ก็ไม่มีการทำร้าย แค่ล็อคตัวไว้ แล้วเอาข้าวเอาน้ำให้กิน พากลับไปที่เต็นท์ในป่าเหมือนเดิม”

        ความหวังที่จะหนีดับวูบไปเพียงชั่วข้ามคืน พร้อมกับอิสรภาพก็ถูกจำกัดไปด้วยอย่างสิ้นเชิง เพราะหลังจากนี้ หมอสอง ก็ถูกสวมกุญแจมือ และผูกตรวนที่ข้อเท้า เพื่อจำกัดการเดิน และมีเขาเพียงคนเดียวที่ถูกทำเช่นนั้น เพราะเป็นคนเดียวที่คิดหนี ส่วนไกด์กับคนขับรถ ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ

        “คืนนั้นทั้งคืนที่เขาจับผมกลับมา ผมต้องนอนโดยมีกุญแจมือผูกพร้อมตรวนที่ข้อเท้า นอนลำบากมาก ทรมานมาก แล้วหลังจากนั้นอีกวัน เขาก็ถอดกุญแจมือ เหลือแต่ตรวนไว้ ก็พอจะสะดวกในการใช้ชีวิตบ้าง เพราะต้องกินข้าว ต้องอาบน้ำ ถัดมาอีกวัน เขาให้ผมนอนเต็นท์คนเดียว อีกสองคนในทีมให้ไปนอนในมุ้งข้างนอก

        “ตอนนั้นอาหารที่เขาให้เรากิน ก็เป็นอาหารที่ดีนะครับ ถ้าเทียบกับคนพื้นเมืองในแถบนั้น แต่เขาจะให้ผมกินในถาดสีฟ้าๆ มีข้าว มีกับข้าวมาโปะ อาจจะมีปลา ไก่ หรือเนื้อบ้าง ส่วนไกด์กับคนขับรถ จะกินในถังน้ำมันที่ผ่าซีกแล้ว แบะออกมาเป็นภาชนะสองชิ้น แบ่งกันกิน ตอนนั้นผมบอกตัวเองเลยว่า จะน่ากินไม่น่ากินก็ต้องกินให้มากที่สุด ต้องกินเพื่อความอยู่รอด ผมคิดแค่ว่าเราต้องกินเพื่อสร้างพลังงานสะสมไว้ ไม่อย่างนั้นเราจะผอมแห้ง ไม่มีแรง แล้วถ้าเกิดเจ็บป่วยอะไรขึ้นมา มันจะอันตราย ถ้าวันใดวันหนึ่งไม่มีแรง เราจะหนีไม่ได้อีก ผมเลยเน้นกิน บางวันกินข้าวเปล่าท้ังวันก็ต้องกิน

        “ส่วนความเป็นอยู่อื่นๆ ก็ไม่ได้ดีมาก ถึงจะมีน้ำอาบ ก็ไม่ได้อาบทุกวัน แล้วเขาจะตักน้ำมาวางไว้ให้เราไปอาบตรงพุ่มไม้ ตัวเรานี่คือสกปรกมาก ศอก แขน มือ ด้านไปหมด ยุงกัดเต็มแขน แล้วนอนก็นอนบนเสื่อที่ปูอยู่บนพื้นดินแข็งๆ ก็จะเจ็บหลังอีก ผมต้องไปเอาใบไม้มาเรียงบนพื้น เอาแผ่นพลาสติกไปทับอีกชั้น ถึงจะพอนอนได้”

        หมอสองยอมรับว่า ทุกวันที่ผ่านไป เต็มไปด้วยความสับสน ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังรับมือกับอะไรอยู่ เพราะไม่มีการบอกกล่าวความคืบหน้า มีแต่การพูดว่า เดี๋ยวจะมีคนมา แต่วันแล้ววันเล่าผ่านไป คำพูดนั้นก็แค่คำพูดที่หายไปกับสายลม

        “ตอนนั้นผมแทบไม่อยากคิดว่าคนข้างนอก แม่เราและครอบครัว รวมถึงแฟนคือ คุณเฟรนช์ฟราย จะรู้สึกยังไงที่เราหายไป เพราะเขาต้องเครียดไม่น้อยกว่าเราแน่นอน เนื่องจากเราขาดการติดต่อและหายไปหลายวันแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดียังไง การที่เราอยู่ตรงนั้น นอกจากทรมานกับการถูกกักขัง ยังเครียดเพราะห่วงคนข้างนอกที่รักเราตอนนั้นผมทำได้แค่หาวิธีควบคุมความเครียดของเราให้ได้ รวมทั้งต้องมีสติสัมปะชัญญะให้มาก ต้องให้กำลังใจตัวเอง และคนที่คุยได้คนเดียวคือไกด์ เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษได้ พูดฝรั่งเศสและพื้นเมืองได้ ส่วนคนขับรถ พูดฝรั่งเศส กับ พื้นเมืองได้ ส่วนที่จับพวกเรามา พูดได้แต่ภาษาพื้นเมือง การสื่อสารในนั้นเลยยากมาก ผมพูดแล้วไกด์ต้องแปลให้คนพวกนั้นฟังอีกที แล้วบางทีนั่งกัน 6 คน ก็ต้องแปลต่อๆกันไป ไม่รู้เข้าใจกันถูกมั้ย

        “ตอนน้ันผมกับไกด์ก็ให้กำลังใจกันตลอด บางที ผมเห็นเขานอนอยู่เฉยๆ แล้วเขาน้ำตาไหล เราก็ไปปลอบ บางทีเราเครียด เขาก็มาบอกให้พยายามทานข้าว พวกเราพยายามคิดบวกกันให้มากที่สุด ไกด์บอกผมว่า เขาไม่คิดว่าเขาจะมาตายที่นี่ เขาคิดว่าต้องได้ออกไปแน่ๆ แต่มันจะช้าหรือเร็วเท่านั้น เขาอยู่ด้วยความหวัง ผมก็เช่นกัน พวกเราเชื่อว่าสักวันต้องปล่อยตัว เขาไม่น่าจะฆ่าเรา แม้ว่าตอนนั้นมันมีโอกาสจะออกหัว ออกก้อย ออกกลางได้หมด มีโอกาสจะเป็นไปได้หลายอย่าง แต่ผมก็ต้องปรับความคิดให้ไปในทางบวกที่สุด”

        หมอสองยอมรับว่า ในช่วงแรกๆ เขายังคิดจะหนีอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าน่าจะยังมีโอกาสรอด แต่ท้ายที่สุด เมื่อเวลาผ่านไป และชั่งน้ำหนักแล้วว่า การหนีไป อาจจะเสี่ยงกับการหลงป่า และเอาชีวิตไปทิ้งเปล่าๆ เขาเลยตัดสินใจไม่หนี ปล่อยให้ตัวเองถูกคุมขังในพื้นที่จำกัด รวมทั้งถูกขังอยู่กับจิตใจและความรู้สึกของตัวเองที่ผันผวนปรวนแปรตลอดเวลา

        “อารมณ์ผมขึ้นๆ ลงๆ แปรปรวนมาก วันนี้คิดแบบนี้ ตอนบ่ายคิดอีกอย่าง ระหว่างนั้นผมก็พยายามโฟกัสกับการคิดบวก พยายามที่จะมีความเชื่อและความหวังตลอดเวลา เพราะมันมีแค่นั้นที่ผมทำได้ คือ believe and hope ต้องเชื่อว่าเราจะไม่เป็นไร และมีหวังว่าเราจะได้ออกไป ตอนนั้นก็สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ เพื่อให้ตัวเองสงบ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ตามประสาชาวพุทธ แผ่เมตตาให้ทุกคน ทั้งคุณแม่และครอบครัวที่เป็นห่วงเรา ขอให้อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจ ขอให้สบายใจที่สุด ขอให้ตัวเองมีโอกาสรอดกลับไปให้เร็วที่สุด ผมทำทุกวันจริงๆ เพื่อให้มันผ่านไปในแต่ละวันได้

         “เรียกว่าตอนนั้นใช้กลไกป้องกันตัวเองทุกอย่างในแง่ของความคิด เช่น ถ้าเครียดเกินไป ก็ใช้วิธีจินตนาการเล่นๆ ว่ามันน่าจะมีรถสักคันพาเราเหาะหนีไปได้นะ หรือบางทีก็พยายามนอนหลับให้เยอะ เพราะมันจะทำให้ระยะเวลาการรอคอยมันน้อยลง การนอนหลับฝันดีมันก็ทำให้จิตใจเราผ่อนคลายได้

        “ฝันดีได้ด้วยหรือตอนนั้น?” เราถาม

        “คือแบบนี้ครับ (ยิ้ม) การฝันทุกอย่างของผม ถือว่าเป็นการฝันดีหมด เพราะความเป็นจริงมันเลวร้ายกว่าฝันมาก ตอนฝัน มันคือฝันที่เราได้ใช้ชีวิตปกติ นั่นถือว่าเป็นฝันดีแล้วนะ ต่อให้แค่ฝันว่าเดินไปกินข้าว เดินไปไหนมาไหน นั่นก็ดีมากแล้ว เพราะมันเป็นความฝันที่ตัวเราไม่ได้ถูกพันธนาการไว้ การที่ตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองถูกล่ามไว้ และยังอยู่ที่เดิม ถือว่าเป็นฝันร้ายของผมมากกว่า”

        เขายอมรับตรงๆ ว่าวันแรกๆ ของการถูกคุมขัง เขานิ่งตลอด ไม่เคยเสียน้ำตากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระทั่งเวลาผ่านไปหลายวัน ความกดดันเริ่มเพิ่มระดับขึ้น จนเกินกว่าจะแบกรับไหว และเมื่อความเศร้าท่วมทับจนถึงจุดหนึ่ง น้ำตาก็ไหลออกมาได้ไม่อายใครเช่นกัน

        “ร้องไห้เหมือนกันครับ เพราะมันเครียดมาก ตอนนั้นผมใช้กลไกการป้องกันตัวทุกอย่างเพื่อคุมสติ ไม่ว่าจะนอนหลับฝัน จินตนาการไปเรื่อยเปื่อย หรือแม้กระทั่งไม่คิดถึงอะไรเลย ไม่คิดถึงคนข้างนอก อยู่กับปัจจุบันให้ได้ มีความสุขกับวันนี้ เพราะตอนนั้นเราไม่มีทางเลือกอะไรเลย หนีก็ไม่ได้ ต้องรออย่างเดียว มันไม่มีอะไรอยู่ในปัจจัยที่เราจะควบคุมได้ ถ้าเราคิดถึงคนข้างนอกมากๆ มันจะยิ่งเอาภาระความเครียดมากดดันใส่ตัวเอง แล้วเราอาจจะเจ็บป่วยหรือเครียดโดยไม่จำเป็น เราต้องรักษาสุขภาพ ระวังยุงกัด กินอาหารให้เยอะๆ เพื่อให้ไม่ป่วย เพราะถ้าป่วยขึ้นมา ไม่มีใครพาส่งโรงพยาบาลนะ ฉุกเฉินก็ไม่มีใครช่วยได้ เราถึงต้องพยายามประคับประคองตัวเองให้อยู่ให้ได้ ตั้งสติ อยู่กับจุดนี้ให้ดีที่สุด

        “ระหว่างที่อยู่ที่นั่น ผมปลอดภัยดี ไม่มีใครมาทำร้ายร่างกาย ทุกคนพูดจาดี บางทีเขาก็สงสารเรา มีมาคุย มานั่งเป็นเพื่อน บางวันก็หัวเราะกัน ผมพยายามสร้างบรรยากาศให้มันดี บอกเขาว่าเราเป็นหมอธรรมดาๆ อยู่ในประเทศไทย ประเทศเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร เพื่อให้เขารู้สึกว่าเราไม่มีพิษมีภัยกับเขา”

        ระหว่างนั้น แม้จะมีคนเข้ามาหาเขาบ้างประปราย และบอกให้รอฟังข่าวดีอยู่หลายครั้งหลายครา แต่ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือทุกคนมาแล้วก็ไป ความหวังที่เป็นแสงสว่างตรงปลายเทียน ถูกสายลมแห่งความไม่แน่นอนพัดจนดับวูบไปไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง กระทั่งวันที่สำคัญที่สุดก็มาถึง

        “มีคนมาหาผมสามคน แล้วเรียกผมไปคุยอีกครั้ง คราวนี้แหละที่เขาถามผมว่า จะแลกอิสรภาพของผมกับอะไรได้บ้าง นั่นแปลว่าเขาเริ่มเจรจาต่อรองผลประโยชน์แล้ว เราก็เริ่มเครียด เพราะถ้าเขาบอกตั้งแต่แรกๆ เราคงเริ่มดำเนินการอะไรได้บ้าง แต่เพราะบอกว่าไม่มีเรื่องเงิน เราเลยไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย แล้วยิ่งมาเริ่มคุยช่วงสัปดาห์ที่สามที่อยู่ที่นั่น ผมรู้เลยว่า การเจรจาต่อรองมันไม่เร็วหรอก มันต้องอีกหลายขั้นตอนเลย แล้วสุดท้าย ต่อให้ทำทุกอย่างแล้ว ก็ไม่รู้จะมีอะไรเกิดขึ้นอีก จะปล่อยมั้ย หรือจะเรียกอะไรเพิ่มมั้ย แต่เราสังเกตสีหน้าท่าทาง แล้วคิดว่า เขาน่าจะจริงใจมากพอ แม้จะไม่ได้เชื่อเต็มร้อย เพราะก่อนหน้านี้เราถูกหลอก ถูกให้ความหวังมาเยอะ เราจะไม่มั่นใจมากเกินไป จนกว่าเราจะได้ออกไปจริงๆ

        “สรุปคือก็เจรจากันนานมาก และตกลงกันได้ในจำนวนที่เขาขอมา เราดีใจนะ เหมือนเขาเปิดโอกาสละ เพราะกว่าโอกาสจะมามันยากมากๆ แล้วตอนนั้นเครียดมาก เรายอมแลกทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้อิสรภาพกลับมาเมืองไทยให้ได้ ตอนนั้นอิสรภาพสำคัญที่สุดสำหรับผม ถ้าใครไปอยู่ตรงนั้นจะรู้เลยว่า การที่เรามีโซ่ล่ามอยู่ที่ขา แล้วอยู่ในป่าลึกที่ไม่มีใครมาช่วยได้ อยู่กับความไม่แน่นอนในทุกวัน มันเป็นความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก ใครไม่เคยถูกจำกัดอิสรภาพจะนึกไม่ออกเลย

        “สุดท้าย พอเขาเริ่มเจรจา ก็มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เกิดขึ้น ตอนนั้นผมขอโทรคุยกับแม่ เพื่อที่จะขอเบอร์แฟน ให้แฟนดำเนินการตามที่เขาต้องการ เขาเลยตัดสินใจว่า เย็นวันนั้นเราต้องไปนอนที่อื่น เพราะตรงนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต จากนั้นก็พาเรากับไกด์เดินทางต่อไปอีก กระทั่งเขาเริ่มเช็คว่ามีสัญญาณมือถือแล้ว ไกลจากจุดที่เราเคยอยู่มาก นั่นแหละคือวันแรกที่ผมได้โทรหาแม่ เพราะผมจำเบอร์แม่ได้ ตอนนั้นผมอยากปลดล็อคความรู้สึกตัวเอง ให้แม่รู้ว่าผมยังอยู่ แม่จะได้ไม่ห่วง จริงๆ ตอนโทรไปแม่จำเสียงผมไม่ได้นะ เขาไม่เชื่อว่าเป็นผม แต่พอคุยกันแล้ว ความรู้สึกมันตื้นตันสุดๆ มันเหมือนปลดล็อค แล้วหลังจากวันนั้นมา เราเบาไปมาก อย่างน้อยเราได้บอกแล้วว่าเราปลอดภัย ให้เขาไม่ต้องกังวลเยอะ ก็อธิบายว่ามีความเข้าใจผิดกันนิดหน่อย จากนั้นเราก็โทรหาแฟน ให้เขาดำเนินการตามส่ิงที่ทางนี้ขอ ซึ่งเราต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าเราต้องการอะไร ยังไง ให้แฟนช่วยประสาน ไปหาคนนั้นคนนี้ โดยตลอดเวลา ฝั่งที่จับเราเขาก็จะย้ำตลอดเวลาว่า ถ้าหากเกิดปัญหาอะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลง ขั้นตอนทุกอย่างที่กำลังจะปล่อยตัว จะเป็นอันยกเลิก

        “เราก็ยิ่งกังวล กลัวว่าจะพลาด ถ้าพลาดแล้วโอกาสแบบนี้จะมาอีกเมื่อไหร่ เราเลยยิ่งต้องพยายามทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ที่สุด ดังนั้น เฟรนช์ฟราย แฟนผม จึงเป็นตัวแทนที่สำคัญมากๆ เป็น keyman ในเรื่องนี้เลย จากนั้นแฟนผมก็ประสานกับทุกคน พี่ชาย น้องชาย เพื่อเริ่มติดต่อผู้ใหญ่ในการดำเนินการต่างๆ กระทั่งมันสำเร็จอย่างที่ฝ่ายเรียกร้องเขาต้องการ ตอนนั้นผมติดต่อผ่านแฟนอย่างเดียว ต้องอัดเสียง เพื่อให้เขานำข้อความไปบอกต่อคนอื่นๆ ว่าผมต้องการความช่วยเหลือยังไง ไม่อย่างนั้นจะไม่มีใครเข้าใจเลยว่าเกิดเหตุร้ายจริงๆ”

        รวบรัดตัดความแบบไม่สามารถลงรายละเอียดตรงนี้ได้ก็คือ ในที่สุดเขาก็สามารถรวบรวมเงินในจำนวนที่อีกฝ่ายเรียกร้องได้สำเร็จ เพราะการยอมจ่ายเงิน คือทางรอดเดียวที่เขามี บนเงื่อนไขว่า ห้ามผิดพลาดแม้แต่ขั้นตอนเดียวอย่างที่บอก

        ซึ่งเมื่อทุกอย่างผ่านพ้น และได้รับการยืนยันว่าจะปล่อยตัวในอีกวันต่อมา เขาปรึกษากับแฟนสาวว่า จะเดินทางผ่านประเทศเบอร์กินาฟาโซ เพราะเป็นระยะทางที่สั้นกว่า และมีความปลอดภัยมากกว่า

        เมื่อวันเดินทางมาถึง เขาและคณะถูกพาขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ขับออกจากที่คุมขัง แต่ครั้งนี้เป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากเดิม เพราะนี่คือการเดินทางที่รู้จุดหมายปลายทางอย่างแท้จริง นั่นคือการเดินทางเพื่อกลับบ้านเกิดเมืองนอน

         “ตลอดสี่ชั่วโมงที่นั่งมอเตอร์ไซค์กลับมา ผมสบายใจขึ้นเยอะ จนกระทั่งในที่สุดเขาก็พาเราไปจอดรอรถที่เราขับมานั่นแหละ เขาขับมาคืนให้ พร้อมมีมอเตอร์ไซค์ขับตามประกบอีก 3-4 คัน ผมเลยเข้าใจว่า คืนแรกที่เขายังไม่ปล่อยตัวทันที เพราะมันมีกระบวนการหลายขั้นตอนมาก มีทีมงานเปลี่ยนหลายชุด พอได้รถแล้ว ก็ยังต้องรออีก ยังไปไม่ได้เพราะมืด ถ้าออกไปอาจจะโดนตำรวจยิง เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร หรือจะไปเจอกลุ่มไหน ตอนนั้นผมเลยขอเข้าไปนอนเบาะหลังรถ ซึ่งปกติมันนอนไม่สบายหรอก แต่ตอนนั้นมันรู้สึกดีมากๆ เพราะมันนุ่มกว่าเยอะ เมื่อเทียบกับการนอนเต็นท์

        “สักพัก เราก็ได้ออกไปด้วยสภาพรถที่ไม่ค่อยเต็มร้อย แต่ก็พากันไปเรื่อยๆ คอยถามทางคนไปตลอดทาง จนกระทั่งฟ้าเริ่มสาง เราก็ไปถึงถนนเมนจนได้ ตอนนั้นเริ่มอารมณ์ดี เริ่มมั่นใจ ผมก็เอาซิมผมไปใส่มือถือของไกด์เพื่อเช็คสัญญาณ ซึ่งก่อนหน้านี้น้องชายเอาไปทำโรมมิ่งไว้ให้แบบฉุกเฉิน พอมีสัญญาณปั๊บ ตอนนั้นเริ่มสว่าง แฟนผมก็โทรเข้ามาพอดี บอกว่ามีคนมารอรับช่วยพาข้ามด่านแล้ว ให้ไปตรงนั้นตรงนี้ จากนั้นก็ประสานกันได้ต่อเนื่อง จนกระทั่งผ่านยาวเพื่อไปจอดพัก ตอนนั้นเอง ที่ไกด์สามารถเดินไปซื้ออาหารมื้อแรกมาให้พวกเรากินได้ เพราะเขาคืนเงินมาให้ไกด์คนเดียวเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างทาง ส่วนเงินผมที่เป็นเงินยูเอส ยูโร โดนเอาไปหมดเลย

        “จำได้เลยว่า อาหารมื้อแรกที่กินเช้าวันนั้นคือ แซนด์วิชไข่กับชา ผมรู้สึกว่า อาหารธรรมดาๆ แค่นี้ ทำไมมันอร่อยขนาดนี้ จิตใจมันพองโตว่าเราเป็นอิสรภาพแล้ว”

        จากนั้นคณะของเขาก็ขับรถไปถึง check point ที่ประสานกันมาแล้วว่าจะมีคนมารับ เมื่อตรวจเช็คเอกสารเรียบร้อย ก็มีทีมทหารมาคอยอารักขา พาขับไปเมืองหลวง เพื่อพาเขาบินกลับมาเมืองไทย และในที่สุดก็ได้กลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวที่มารอรับกันพร้อมหน้า เป็นความเป็นจริงที่สัมผัสได้ เป็นฝันดีที่เกิดในยามลืมตาตื่นอย่างแท้จริง

        “ผมจำได้ว่าทุกคนในที่นั้นร้องไห้กันหมด มันสุดจริงๆ”

        หมอสองบอกว่า หลังจากนี้ เขาจะหาเวลาไปปรึกษาจิตแพทย์อีกครั้ง เพราะไม่แน่ใจว่าความเครียดที่แบกรับกว่า 25 วันแห่งความมืดมนนั้น จะส่งผลอะไรในระยะยาวหรือไม่ โดยเฉพาะด้านอารมณ์และความรู้สึก แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์นี้ ฝากบทเรียนสำคัญให้เขาจดจำไปชั่วชีวิต

         “อย่างแรก มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่า การท่องเที่ยวมันมีความเสี่ยงเสมอ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผมย้ำว่าผมไม่ได้ต้องการเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยง ผมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงมาตลอดชีวิต เลือกบริษัททัวร์ที่ถูกกฎหมาย มีมาตรฐานแล้ว แล้วค่าทัวร์นี่ไม่ได้ถูกนะครับ แพงมากๆ แพงกว่าเที่ยวอเมริกาหรือยุโรปเป็นสิบเท่า แต่หลังจากนี้ ผมไม่อาจจะเชื่อใครได้แล้ว ผมต้องหาข้อมูลเองด้วย แต่ผมไม่ได้เข็ดกับการท่องเที่ยว เพราะเป้าหมายของผมคือ เที่ยวให้ครบทุกประเทศในโลกคือราวๆ 197-198 ประเทศ ตอนนี้ผมเหลืออีกแค่ 10 ประเทศ จริงๆ ถ้าทริปนี้ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นก่อน ผมจะเก็บทุกประเทศในทวีปแอฟริกาได้ครบทั้งหมด 54 ประเทศ พอเจอเรื่องนี้เลยเหลืออีก 2 ประเทศที่ยังไม่ได้ไป แต่พักก่อนนะ (หัวเราะ) ขอให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อนแล้ววันหนึ่งจะไป เพราะเช็คแล้วว่ามันเป็นเกาะ ไม่มีปัญหาเรื่องกลุ่มติดอาวุธอะไรแบบนี้

         “บทเรียนสำคัญแรกๆ ของเรื่องนี้คือ ไม่ว่าจะมั่นใจในบริษัททัวร์แค่ไหน ก็ต้องหาข้อมูลเอง และต้องระวังตัวตลอดเวลา เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพื่อนผมนี่โดนต่อย โดนปล้นในประเทศที่ดูเจริญแล้วกันมาทั้งนั้น ต่อให้เป็นประเทศที่เจริญก็ไม่มีอะไรปลอดภัย มันมีอะไรเกิดขึ้นได้เสมอโดยที่เราไม่คาดคิด ดังนั้นการไปท่องเที่ยว อย่าไปดูแต่ว่าเราจะไปเที่ยวอะไร ให้ดูเรื่องความปลอดภัยด้วย

         “บทเรียนต่อมา ผมมองว่า ประสบการณ์ที่ผมเจอ มันคล้ายๆ กับคนที่เขาป่วย ใกล้ตาย โคม่า หรือคนที่ถูกคุมขังไว้แบบไม่มีจุดหมาย เพราะมันทำให้รู้สึกว่า ทุกลมหายใจมันมีค่ามาก ทุกวันนี้เรานั่งทำงาน เราอาจจะเผลอคิดว่า เบื่อจังเลยชีวิตนี้ เดี๋ยวก็เจอรถติดอีกแล้ว แต่ประสบการณ์ที่ผมเจอ มันทำให้รู้ทันทีว่า ต่อให้นั่งรถติดอยู่บนถนน มันก็มีความสุขกว่า เมื่อเทียบกับการถูกขังไว้ 25 วัน ดังนั้นผมเลยคิดว่า เราควรใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุข อย่าคิดเล็กคิดน้อย และเราต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนที่เรารัก เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ผมเจอ จะรู้สึกว่าตอนนั้นอยากทำเพื่อใครมากแค่ไหน มันก็ทำไม่ได้ จะมีโอกาสได้ทำเพื่อคนที่เรารักอีกมั้ยยังไม่รู้เลย ดังนั้น ไม่ต้องรอให้เกิดสถานการณ์ใกล้ตาย เฉียดตาย แล้วถึงจะคิดได้ แต่เริ่มทำตั้งแต่นาทีนี้เลย เสพความสุขทุกนาทีให้ดีที่สุด ทำส่ิงดีๆ ให้มากที่สุด สะสมความดีไว้ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้แหละที่มันจะทำให้เรามีความสุข

         “ผมคิดเลยว่า ถ้าได้ออกมาเจอครอบครัวอีกครั้ง ต่อไปนี้ ผมจะเป็นคนดีมากกว่าเดิม ทำดีกับคนที่เรารักมากกว่าเดิม และสุดท้ายแล้ว ผมว่าคนเรานะ อิสรภาพสำคัญที่สุด อิสรภาพเป็นสิ่งที่ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร เพราะเรามีอยู่กับตัวไง แต่เมื่อไหร่ที่ขาดมันไปนี่แหละ ที่จะรู้ว่ามันมีค่ามากขนาดไหน แค่การเดินไปไหนก็ได้ไป อยากซื้ออะไรกินก็ได้กิน สำหรับผมนี่คือความสุขที่สุดแล้วนะ ถ้าไม่มีอิสรภาพซะอย่างแล้ว เราจะโหยหามันมากๆโดยเฉพาะอิสรภาพที่ไม่รู้ว่าจะได้คืนมาเมื่อไหร่

        “ถ้าเทียบกับคนที่เขาติดคุก เขายังดีกว่าผมตรงที่เขายังรู้กำหนดว่าจะอยู่นานแค่ไหน พ้นโทษก็ได้ออกมา แต่ของผมคือไม่รู้เลยว่าจะได้อิสรภาพคืนมาเมื่อไหร่ ไม่มีอะไรรับประกันได้เลย ผมทำได้แค่รออย่างเดียว แล้วคนติดคุก นี่เรายังรู้ว่าเขามีความผิดอะไร ถูกลงโทษยังไง แต่ผมไม่ได้ทำความผิดอะไรเลย เป็นแค่นักท่องเที่ยว ที่โดนจำกัดอิสรภาพแบบไม่มีกำหนดเวลาปล่อย”

        ทั้งหมดที่เล่ามา คุณคิดว่าเรื่องที่โชคดีที่สุดคืออะไร? หมอสอบตอบคำถามนี้ของเราโดยแทบไม่ต้องหยุดคิด

        “คือการได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง จากวันที่ไม่รู้ชีวิตตัวเองจะจบตรงนั้นหรือเปล่า เหมือนได้รับโอกาสให้ใช้ชีวิตอีกครั้ง ทำให้เรามีโอกาสได้แก้ตัวในสิ่งที่เราทำผิดพลาด หรือไม่เคยทำ เราก็จะทำให้มันดีขึ้น ผมว่ามันเหมือนตายแล้วเกิดใหม่

         “25 วันที่ถูกขัง มันคือความเครียดระดับชีวิต เทียบไม่ได้เลยกับความเครียดที่มีมาทั้งชีวิต เพราะเทียบกับ 25 วันนั้น ทุกอย่างเป็นเรื่องเบาไปเลย”

        แม้จะผ่านพ้นความเครียดระดับชีวิตมาได้โดยสวัสดิภาพ แต่หมอสองบอกว่า หลังจากนี้เขาก็ยังจะเดินทางตามความฝันต่อไป ความฝันที่จะไปให้ครบทุกประเทศถือเป็นทั้ง passion และ mission ส่วนตัวของเขาที่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้

        ว่าแต่ การได้ไปเที่ยวรอบโลก ได้เห็นทุกประเทศ มันสำคัญอะไรถึงขนาดนั้น?

        “มันภูมิใจนะ ที่คนๆ หนึ่งสามารถทำสิ่งนี้ได้ ได้ไปหมดทุกประเทศ เพราะการจะทำแบบนั้นได้ มันต้องมีองค์ประกอบทั้งสามอย่าง คือแพสชั่น ต้องมีเป็นอันดับแรก เพราะเราต้องชัดเจนว่าอยากทำอย่างนั้นจริงมั้ย ข้อสองคือ เวลา เพราะไปทีนึง 3 อาทิตย์ จะต้องหายไปยาวเลย และสาม ต้องมีเงิน ทุกวันนี้ผมทำงานมาเพื่อหาเงินไปเที่ยวนะ เพราะค่าใช้จ่ายมันสูงมากในแต่ละทริป

        “ผมเชื่อว่า คนเราแต่ละคนมีแพสชั่นต่างกัน บางคนอยากไปปีนเอเวอร์เรสต์ แต่ผมรู้สภาพว่าผมไปไม่ไหว ผมก็ไม่ไป ผมไม่ชอบความเสี่ยงขนาดนั้น ผมต้องชัวร์เท่านั้น ผมไม่ใช่นักท่องเที่ยวสายเอ็กซ์ตรีม ไม่ชอบกีฬาท้าความเร็วแบบเสี่ยงชีวิต ผมเที่ยวเพลย์เซฟมาก แค่อยากไปให้ครบทุกประเทศเท่านั้น ซึ่งถ้าถามจริงๆ ผมว่าที่ผ่านมาน่าจะหมดไปหลายสิบล้านแล้ว

        “แพสชั่นการไปให้ครบทุกประเทศ มันมาเกิดขึ้นตอนเที่ยวไปได้สักประมาณ 100 กว่าประเทศ ผมไปเจอทัวร์กลุ่มหนึ่ง ที่เขาเที่ยวเยอะมาก พอไปนั่งคุยกัน ทุกคนก็ไปมาหลายประเทศมากๆ แล้วเขาก็บอกผมว่า “ยินดีต้อนรับสู่การท่องเที่ยวแบบนับประเทศ” หลังจากนั้นผมก็เลือกไปประเทศที่ยังไม่เคยไปเท่านั้น เพราะเราอยากจะเห็นทุกประเทศในโลกเลย ผมว่าแต่ละที่มันมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนกัน แล้วประเทศที่ยิ่งไปยากๆ ราคาก็สูงมาก คนก็ไม่ค่อยอยากไป แล้วมันก็ไปลำบากมากๆ ผมก็เลยมักจะไปคนเดียว

        “จริงๆ ผมว่าในโลกนี้มีไม่กี่คนนะที่จะสามารถเดินทางได้ครบทุกประเทศจริงๆ ซึ่งพอครบทุกประเทศแล้ว ผมก็สบายใจละ ไม่ติดค้างในชาตินี้ หลังจากนี้ก็ไปประเทศที่เราชอบ อยากไปซ้ำ หรือไปจุดที่ยังไม่เคยไป เช่น เห็นแสงเหนือมาเยอะแล้ว ต่อไปอยากเห็นแสงใต้ตรงขั้วโลกใต้บ้าง เพราะมันเห็นยากมาก หรือไม่ก็ไป space travel ทัวร์อวกาศออกไปนอกโลกราวๆ 100 กิโลเมตร ที่พอเรามองลงมาแล้วจะเห็นโลกกลมๆ ทั้งใบ”

        เวลาล่วงผ่านกันมาเกือบครบครึ่งชั่วโมง เรานั่งคุยกับหมอสองถึงของที่ระลึกที่เขาซื้อหามาวางให้ชมกันที่คลินิกส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น ซากฟอสซิลแมงกระพรุนโบราณ อายุกว่า 400 ปีจากประเทศโมร็อกโก ซากปลาปิรันย่า จากแม่น้ำแอมะซอน ประเทศบราซิล หรือภาชนะใส่นม ที่เก่าแก่กว่า 150 ปีจากประเทศเอธิโอเปีย เขาเล่าด้วยแววตาเป็นสุขเมื่อนึกถึงตอนที่ได้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น นั่นคือความสุขตามประสานักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

        ว่าแต่ ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่เพิ่งผ่านเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิตมา ความสุขของเขาคืออะไร?

        “คือการใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความสุขแบบเป็นปกติ ซึ่งสำหรับผมมันคือการตื่นมาทำงาน เจอคนไข้ ผ่าตัด เจอแม่ นั่งคุยกับแม่ ไปตีแบด ไปออกกำลัง ไปปั่นจักรยาน มีความสุขกับครอบครัว นี่คือชีวิตปกติของผม ที่ย้ำแบบนี้เพราะรู้เลยว่า เวลาที่ชีวิตมันไม่เป็นปกติอย่าง 25 วันกลางป่า มันทำให้รู้ว่า ความเป็นปกตินี่แหละที่เป็นความสุขที่สุดแล้ว แค่นั้นเลย เมื่อก่อนความสำเร็จของผมคือการดูแลตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ ไม่เป็นหนี้ ไม่ต้องรวยเป็นพันล้านหมื่นล้าน ก็ถือเป็นความสำเร็จแล้ว แต่สำหรับวันนี้ ขอให้มีความสุขทุกวัน ใช้ชีวิตเป็นปกติได้ทุกวัน นี่คือความสำเร็จของผม

        “ที่สำคัญ เราต้องเห็นคุณค่าของคนที่เรารัก เห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ เห็นคุณค่าของทุกลมหายใจ เห็นคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่าง และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง จิตใจเราเอง เพราะสิ่งของต่างๆ ที่เรามี เมื่อเราตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต ของพวกนั้นมันไม่มีคุณค่าอะไรเลย ถ้าเราไม่มีอิสรภาพ ไม่มีความปลอดภัยในชีวิต หรือแม้กระทั่งไม่มีชีวิตอยู่ ทุกอย่างที่เราสร้างมาก็ไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเป็นศูนย์ และวันหนึ่ง ถ้ามีลูก ผมก็จะสอนแบบนี้ ผมจะสอนว่า ผมผ่านอะไรมา…”

เรื่อง : วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม | ภาพ : สันติพงษ์ จูเจริญ


a day BULLETIN ขอขอบคุณ คุณนัชญ์ ประสพสิน สำหรับการช่วยติดต่อและประสานงานในการสัมภาษณ์ครั้งนี้