คอลัมน์การเมือง – ‘ช้อปดีมีคืน’ ถูกใจขาช้อปรับปีใหม่

รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นของขวัญปีใหม่ 2023 มากมายหลายมาตรการ

น่าคิดว่า มาตรการใดถูกใจเอกชน และน่าจะเกิดผลบวกแก่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุด?


Krungthai XSpring มืออาชีพภาคเอกชนด้านการวิเคราะห์เศรษฐกิจ วิเคราะห์หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจมาก

โดยมองว่า มาตรการที่มีผลกระทบเชิงบวกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากที่สุด ได้แก่ นโยบายช้อปดีมีคืน 2023

มาตรการนี้ ทางภาครัฐคาดว่าจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบ เศรษฐกิจ 56,000 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2%

Krungthai XSpring มองว่า ระยะเวลาในการนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2023 จะส่งผลให้บวกต่อกำไรในไตรมาสหนึ่ง ปี 2023 ของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจบัตรเครดิต จากการใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

1. แน่นอนว่า ทุกนโยบาย ทุกมาตรการ ย่อมจะมีผู้ได้รับผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากน้อย กว้างลึก ต่างกันไป

แต่ทุกนโยบายก็อาจจะมีผลกระทบต่อส่วนรวม ต่อคนกลุ่มอื่น ต่อการเงินการคลังแผ่นดิน มากน้อยต่างกันไปเช่นกัน

2. ในภาพรวม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีหน้า ยังมีความสำคัญ เพื่อรักษาแรงส่งทางเศรษฐกิจ

แม้การท่องเที่ยวจะโตก้าวกระโดด นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้าไทยทะลุเป้า

แต่การส่งออกเดือนที่ผ่านมาอ่อนแรงลง และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังมีปัญหาอยู่ในหลายภูมิภาค เพราะฉะนั้น มาตรการเพื่อรักษาระดับกำลังซื้อ และกระตุ้นการบริโภคสำหรับผู้มีกำลังซื้อในประเทศ จึงยังมีความสำคัญ เป็นเรื่องที่มีเหตุผล เข้าใจได้

3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2023 ที่ ครม.เห็นชอบไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมหลายกระทรวง

เอาเฉพาะมาตรการของกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ก็น่าสนใจหลายมาตรการ อาทิ

1) มาตรการ “ช้อปดีมีคืน 2023”

เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2023 โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือบริการตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท แบ่งเป็น 1.1) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ จำนวน 30,000 บาทแรก ออกใบกำกับภาษีแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ และ 1.2) ค่าซื้อสินค้า หรือบริการ อีกจำนวน 10,000 บาท ออกใบกำกับภาษีรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับสินค้าที่เข้าร่วมมาตรการ “ช้อปดีมีคืน 2023” เช่น ค่าซื้อสินค้าและค่าบริการทุกประเภท ที่ซื้อจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงค่าสินค้า OTOP

แต่ไม่รวมถึงสินค้าและบริการ 10 ประการ ดังนี้ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ค่าซื้อยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเตอร์เนต

ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ โรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เนต ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 
1 ม.ค. 2023 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 2023 และค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

กระทรวงการคลัง เผยว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน 2023” จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มูลค่าประมาณ 56,000 ล้านบาทผลิตภัณฑ์มวลรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.16 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์

2) มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2566

วัตถุประสงค์เพื่อลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีที่ดินฯ) ให้แก่ผู้เสียภาษี เนื่องจาก 1) สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) สิ้นสุดระยะเวลาการยกเว้นภาษีให้แก่เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมและการบรรเทาภาษีกรณีผู้เสียภาษีที่ดินฯ ที่มีภาระภาษีที่ดินฯ มากกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ในปี 2562 ในช่วง 3 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ (2563-2565) และ 3) มีการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปี 2566 ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีที่ดินฯ

จะให้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ของปีภาษี พ.ศ. 2566 ยกตัวอย่างเช่น

กรณีมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 1 ล้านบาท ใช้ประกอบกิจการ เช่น ร้านขายของชำ ร้านตัดผม ร้านขายอาหารตามสั่ง โรงงาน อาคารสำนักงาน เป็นต้น ปกติจะมีภาระภาษี 3,000 บาท แต่จะได้รับการลดภาษีจากมาตรการลดภาษีที่ดินฯ 450 บาท คงเหลือภาษีที่ต้องชำระ 2,550 บาท

และตัวอย่างกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับลดภาษีในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้อยู่แล้ว เช่น โรงผลิตไฟฟ้า เขื่อน เป็นต้น จะได้รับการลดภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้หลังจากได้รับการลดภาษีร้อยละ 50 แล้ว

3) มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2566

วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและลดภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจรวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

จะให้ลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1 และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด (ทั้งบ้านมือ 1 และมือ 2) เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน

ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

4) มาตรการ/โครงการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

เพื่อเสริมสภาพคล่อง ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ประกอบด้วย มาตรการคืนเงินหรือลดอัตราดอกเบี้ย สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ รางวัลพิเศษของสลากออมสิน การลดค่างวดการผ่อนชำระ และการยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 15 โครงการ

ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน จำนวน 2 โครงการ

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 4 โครงการ

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 1 โครงการ

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 3 โครงการ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) จำนวน 1 โครงการ

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จำนวน 2 มาตรการ

5) มาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ดังนี้

(1) ขยายระยะเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 รวมระยะเวลา 6 เดือน

(2) ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันที่ผิดนัดชำระหนี้ ประจำปี 2563 ปี 2564 และปี 2565 จากเดิมภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566 เป็นภายในวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เว้นแต่คดีที่จะขาดอายุความ

(3) ชะลอการบังคับคดีสำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เว้นแต่คดีที่ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการบังคับคดี

(4) งดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และผู้ค้ำประกันที่กองทุนได้ยึดทรัพย์ไว้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมกับกองทุนของดการขายทอดตลาดต่อกรมบังคับคดี

(5) มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนกลุ่มก่อนฟ้องคดี ที่มีสถานะปัจจุบันไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมร้อยละ 1 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.5 ต่อปี เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566

4. นี่เป็นเพียงชุดมาตรการที่เป็นเหมือนของขวัญปีใหม่

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ มาตรการที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยเหลือคนรายเล็กรายน้อยให้เข้าถึงแหล่ง “ทุน” ทั้งที่เป็นเงินและความรู้

นั่นคือโจทย์ใหญ่ของประเทศหลังปีใหม่

สารส้ม