ความไม่พอใจ ในการบริหารงานของรัฐบาลเกิดขึ้นทั่วไป ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เป็นเพราะเรื่องของ วัคซีนที่ล่าช้า และ นโยบายที่ไม่ชัดเจนหลายเรื่อง กรณีวัคซีนนั้น รัฐบาลมีเป้าหมายจะต้องฉีดให้ได้ 50 ล้านคน ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งอัตราการฉีดของเราอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 5 แสนเข็ม และขณะนี้ยังเพิ่งมีผู้รับเข็มแรกไปได้ราว 27 ล้านคน จำเป็นต้องเร่งฉีดเข็มแรกให้ครบถ้วนก่อนจะเพิ่มภูมิด้วยเข็มสอง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ทีนี้ก็มีปัญหาอีกว่า ตกลงเราใช้ไกด์ไลน์อะไร? เพราะมีข้อเสนอว่าให้ฉีด ซิโนแวค 2 เข็ม แล้วเพิ่มภูมิด้วย แอสตราเซเนกาอีกเข็ม เท่ากับว่าต้องฉีดสามเข็มหรือไม่? ปัญหาของแอสตราเซเนกาคือ บริษัทผลิตส่งมอบให้รัฐบาลได้ไม่ทันกับความต้องการ พอจะเอาที่มีของคือซิโนแวค ประชาชนก็ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ ทำให้ต้องมีการสั่ง วัคซีน mRNA มาเป็นทางเลือกเพิ่มเติมซึ่งต้องให้ได้เร็วที่สุดในช่วงเดือน ต.ค.นี้ เพื่อเป้าหมายเปิดประเทศให้ได้ก่อนสิ้นปี
ขณะที่ปิดเมืองอยู่ตอนนี้ ประชาชนจำนวนมากก็ทำงานไม่ได้ เยาวชนไม่ได้ไปเรียน ค่าเยียวยารายได้รอบใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะจ่ายกี่เดือนกว่าจะเปิดเมือง (จากที่เมื่อปี 63 จ่ายคนละ 5,000 บาท 3 เดือน) มันกลายเป็น ภาวะความเครียดสะสม ในสังคม ที่ต้องยอมรับว่า ทำให้กระแสไม่พอใจรัฐบาลรุนแรงมากขึ้นจนเกิดการระบายอารมณ์ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือมี การชุมนุมบ่อยครั้ง ในรูปแบบ ม็อบที่ไม่ปักหลัก แฟลชม็อบ คาร์ม็อบ เดินขบวนประท้วง ก็ว่ากันไป
การชุมนุมจุดที่น่าเป็นห่วงคือ จุดสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้มีการนัดแนะกันทุกเย็น เบื้องต้นมีการคาดว่าจะเป็นการรวมตัวแสดงสัญลักษณ์ที่หน้า ร.1 พัน 1 รอ ซึ่งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมอยู่ในนั้น ทำนอง เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เจ้าหน้าที่ก็ตรึงกำลังเข้มข้นโดยการวาง ตู้คอนเทเนอร์ บริเวณข้างโรงพยาบาลทหารผ่านศึก และมี การจัดชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าดูแล
แต่ก็เกิดการปะทะขึ้นทุกวัน จนคนแถวละแวกดินแดง ประชาสงเคราะห์ครวญว่า อยู่กันแทบจะไม่ได้แล้ว ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะดูๆ ไปเหมือนจะไม่ใช่ การชุมนุมที่ยึดหลักสงบ สันติ สักเท่าไร มีการเผาทรัพย์สินของราชการ เช่น กรวยจราจร ป้อมตำรวจ ข้างเจ้าหน้าที่ก็ตอบโต้ด้วย กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ผู้ชุมนุมก็ยิงลูกหิน ลูกแก้ว ปาระเบิดปิงปอง ไปป์บอมบ์ตอบโต้ ยิงพลุไฟใส่กันเสียง ดังยังกะสมรภูมิรบ แล้วก็จบลงที่การจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมได้บางส่วน พอตรวจค้นก็เจออาวุธ ก็ยึดรถมอเตอร์ไซด์ ทยอยส่งฟ้องศาลไป กรณีพบอาวุธก็เอามาแจกแจงว่าเจอกระทั่งระเบิดแสวงเครื่อง
ดูเหมือนกลุ่มผู้ชุมนุมย่านดินแดง ก็ไม่ฟังใคร เมื่ออาทิตย์ก่อนหน้านี้ที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง และ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มสมบัติทัวร์ จัดกิจกรรมคาร์ม็อบทั่วกรุง เมื่อแสดงสัญลักษณ์แล้วกลุ่มเหล่านี้ก็แยกย้ายกันกลับ แต่กลายเป็นว่า นายณัฐวุฒิต้องเดินทางมาที่ดินแดง เพื่อขอร้องว่าม็อบอย่าใช้ความรุนแรง เพราะยิ่งจะเป็นตัวยั่วยุให้รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามได้ง่าย ปรากฏว่าก็ไม่ได้ผล
ขณะที่ทางกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวทั้ง กลุ่มราษฎร ทะลุฟ้า ธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุม รีเด็ม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่เชื่อมโยงกัน ก็มีการจัดกิจกรรมเรื่อยๆ และ ได้แสดงออกสัญลักษณ์อย่างเต็มที่ อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มทะลุฟ้ารวมตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสองครั้ง ทำสัญลักษณ์เอาศพแขวนอนุสาวรีย์ และ จัดกิจกรรมกีฬาสี ถึงเวลาแยกย้ายกลับก่อนเคอร์ฟิว ก็ไม่ปรากฏความรุนแรง แต่ทางกลุ่มเคลื่อนไหวที่ดินแดง เหมือนจะไม่ยึดแนวทางเดียวกัน พูดง่ายๆ ภาษาวัยรุ่นคือ “พร้อมไฝว้กับตำรวจ” ซึ่งไม่รู้ว่ากลุ่มชุมนุมอื่นๆ สื่อสารกับกลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง
ล่าสุด คงเพื่อไม่ให้ชื่อของกลุ่มอื่นเสียไปด้วย หรือเป็น การจงใจแยกตัวจากขบวนการเคลื่อนไหวหลัก ทางกลุ่มเคลื่อนไหวดินแดงจึงตั้งชื่อกลุ่มตัวเองว่า “ทะลุแก๊ส” ระบุว่า เป็นการตั้งชื่อตามสิ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่กระทำ คือยิงแก๊สน้ำตาใส่ และโพสต์ในเพจของกลุ่มตัวเองทำนองว่า ไม่ต้องห่วงเราเอาตัวรอดได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นซึ่งเป็นชุมชนกลางเมือง สามเหลี่ยมดินแดงเป็นจุดตัดการจราจรสำคัญของเส้นทางหลายเส้น
คนอาศัยแฟลตดินแดงมีเป็นจำนวนมาก ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมทุกวัน ซึ่งตอนนี้การใช้ชีวิตเขาก็ยากลำบากพออยู่แล้ว พอมีม็อบก็ยิ่งจะอยู่ไม่ได้ใหญ่ ชาวแฟลตดินแดงมองว่าที่ม็อบเลือกปักหลักจุดนี้เพราะเป็นพื้นที่ชุมชน มีตรอกซอกซอยจำนวนมาก ที่เวลาม็อบโดน คฝ.ไล่ตาม ก็สามารถขับรถหนีทะลุเข้าซอยโน้นออกซอยนี้ได้ง่าย แล้วพอเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังกระชับพื้นที่ก็ออกมารวมตัวสู้กับเจ้าหน้าที่ใหม่อีกรอบ
ความรุนแรงเกิดขึ้นไม่ใช่แค่กับผู้ชุมนุม ผู้อาศัยย่านที่มีการชุมนุม แต่ ผู้ที่ต้องใช้ทางสัญจรผ่านไปมาก็โดนลูกหลง อย่างที่มีคลิปตำรวจยิงรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านไป ระยะเผาขน หรือมี การยิงเข้าไปในพื้นที่แฟลตดินแดงที่ม็อบวิ่งเข้าไปหลบ.. การทำผิดของเจ้าหน้าที่ ทางผู้บังคับบัญชาก็จัดการ ซึ่งเรื่องนี้ทางตำรวจ บช.น. โดย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ยืนยันมีการตั้งกรรมการ สอบการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุ มีข้อมูลของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวแล้ว สำหรับตำรวจ ถ้าทำอะไรเกินกว่าเหตุ ผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิดและนำข้อมูลการดำเนินการมาเปิดเผยด้วย
ส่วนกรณีที่มี เยาวชนถูกยิงกระสุนฝังเข้าก้านสมองอาการยังโคม่า ทางตำรวจยืนยันว่า กำลังพิสูจน์ทราบตัวบุคคลก่อเหตุ ซึ่งพอจะทราบแล้วและเตรียมขอศาลออกหมายจับข้อหาพยายามฆ่าเร็วๆ นี้ กรณีเยาวชนรายนี้น่าห่วงเพราะเมื่อมีสถานการณ์ระดับนี้เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือมักจะเกิดกรณี “จับมือใครดมไม่ได้” ถ้าไม่มีกล้องวงจรปิด (ซึ่งมีรายงานข่าวว่า มีคนไปหาอะไรปิดหรือทำลายกล้องวงจรปิดส่วนหนึ่ง) ก็โทษ “มือที่สาม” ซึ่งไม่รู้ว่าฝ่ายไหน มันขึ้นอยู่กับชุด ความเชื่อของกองเชียร์ ถ้าเข้าข้างม็อบ ก็จะมองว่า ตำรวจเป็นฝ่ายเปิดเกมก่อน ใช้ความรุนแรง แต่ถ้าไม่เข้าข้าง ก็จะมองว่า ม็อบนั่นแหละใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างสถานการณ์โยนขี้ให้ตำรวจ เพราะ คนไปม็อบก็พกอาวุธไป
ล่าสุด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ก็จัดยุทธวิธีในการจัดการม็อบใหม่เมื่อวันที่ 21 ส.ค.โดยให้รื้อคอนเทเนอร์ออก “เผื่อว่า” ม็อบต้องการไปแสดงสัญลักษณ์บริเวณ ร.1 พัน 1 รอ แล้วก็กลับ แต่ก็กลายเป็นว่าไม่ได้ช่วยอะไร เพราะยังคงเคลื่อนไหวกันอยู่แถวสามเหลี่ยมดินแดงนั่นแหละ ตำรวจ คฝ.ก็ยังมีความจำเป็นต้องตรึงกำลังอยู่แถวซอยพหลโยธินซอย 2 ข้างโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เพราะไม่รู้กันแล้วว่า “ม็อบนี้ต้องการอะไร” ถ้าปล่อยให้เคลื่อนไหวโดย ไม่มีการควบคุมมัน จะไม่ใช่แค่การแสดงสัญลักษณ์หรือไม่ แต่จะลามไปทำลายทรัพย์สินราชการหรือประชาชน
เมื่อไปสำรวจคนที่มาชุมนุม มีรายงานข่าวว่า เป็นเยาวชนเสียส่วนใหญ่ และจำนวนมากไม่ได้อยู่ในละแวกนั้น มาจากจังหวัดปริมณฑลหรือย่านฝั่งธนบุรี ส่วนมาชุมนุมทำไมทุกวันนั้น เพราะไม่มีแกนนำที่ชัดเจนจึงตอบไม่ได้ อารมณ์แบบชวนกันมา แต่ผลคือการป่วนเมืองรายวัน ..ถ้ามองอย่าง romanticize คือพยายามเข้าใจอารมณ์ ก็คงจะมองได้ว่า เยาวชนพวกนี้มาชุมนุมกันเพราะอึดอัดใจกับการที่ไม่เห็นอนาคตของตัวเอง เรียนก็ไม่ได้เรียน วัคซีนก็ไม่ได้ฉีด
แต่สิ่งที่เราต่างรู้กันคือ “ตลาดล่าง” หรือพวกป่วนเมืองแบบไร้เหตุผลในกรุงเทพฯ นี้ก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย แบบเด็กเดินยา เด็กแว้น ที่ไม่มีสถานการณ์อะไรก็สร้างความวุ่นวายไปเรื่อย เด็กช่างที่ตีกันแย่งหัวเข็มขัดสถาบันแบบไร้สาระ เผลอๆ การชุมนุมแล้วได้ปะทะตำรวจรายวันอาจเป็นการ ตอบสนองอารมณ์ดิบๆ ประเภทนี่แหละเวลาเดียวที่ กูได้ไฝว้กับตำรวจ อาศัยจังหวะที่มีม็อบเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกมาทำทีเป็นผสมโรงด้วย พวกนี้ทำอาวุธแบบระเบิดไทยประดิษฐ์เป็น หรือ หาซื้อพลุไฟตะไลเพลิงอะไรตามอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่ง ผบ.ตร.สั่งให้ตรวจสอบจับกุมกลุ่มผู้ค้าแล้ว
ย้อนกลับไปที่ว่า ถ้าปล่อยให้เคลื่อนไหวโดยไม่ควบคุม แล้วเกิดเหตุกลุ่มนี้ทำลาย เผาทรัพย์สินราชการ ทรัพย์สินเอกชน ขยายขอบเขตพื้นที่ก่อความไม่สงบ จะมีใครออกมารับผิดชอบหรือไม่ เพราะเป็นม็อบที่ไม่ระบุแกนนำ ..อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รู้สึกผิดหวังคือ การที่กลุ่มผู้ชุมนุมอื่นๆ ที่เป็นเยาวชนเสียส่วนมากด้วยซ้ำ กลับไม่แสดงท่าทีต่อการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ (เห็นแต่เต้น ณัฐวุฒิ ที่ออกมาปราม) ทั้งที่กลุ่มชุมนุมประกาศยึดสันติวิธีและการแสดงสัญลักษณ์
ระวังจะมีคนตั้งคำถามว่า “ปากว่าตาขยิบหรือเปล่า?” คือรู้ว่ามีหน่วยฮาร์ดคอร์อยู่ และปล่อยให้ป่วนบอกแค่ ว่า “เคารพในสิทธิของการเคลื่อนไหว” แล้วถ้าอะไรมันเลยเถิดไปก็บอกแค่ว่า “ไม่ใช่สันติวิธีไม่ใช่พวกเรา” แล้วเรื่องนี้จะกลายเป็น น้ำผึ้งหยอดเดียวที่ทำลายกระบวนการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ไปด้วย
การชุมนุมเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่การป่วนเมืองรายวันไม่ใช่ประชาธิปไตยแน่ๆ มันคือการจลาจล ถ้าห่วงว่า คนด่าการชุมนุมนี้เยอะ จะเป็นการให้ “ใบอนุญาตฆ่า”กับตำรวจ ทางเยาวชนซึ่งเป็นเครือข่ายที่รู้จักกันก็น่าจะมีความเคลื่อนไหวในเชิงไม่สนับสนุน เมื่อคนกลุ่มนี้ไม่มีแนวร่วมที่เห็นชอบด้วยก็มีโอกาสที่จะหยุด ..ใครที่ต้องการแสดงความเห็น ระบายปัญหา ด่ารัฐบาล ก็ไปร่วมกับการชุมนุมสันติวิธีที่เขาจัดกันบ่อยๆ อย่างของทะลุฟ้า ซึ่งมันมีพื้นที่ให้พูด
และที่สำคัญคือ ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมยึดมั่นในเรื่องการต่อต้านอำนาจนอกระบบ ..ถึงจะเหมือนโลกสวยที่พูด แต่ก็ ต้องเชื่อมั่นในการใช้ระบบ ที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น การใช้กลไก กรรมาธิการในสภา การใช้ กลไกกระบวนการยุติธรรม ใน การร้องเรียนหากรัฐลิดรอนสิทธิเกินกว่าเหตุ อย่างกรณี การยกเลิกประกาศ ศบค.ที่ให้อำนาจ กสทช.แบนไอพีแอดเดรสประชาชน ก็ใช้กระบวนการศาลแพ่งต่อสู้จนคำสั่งนี้ถูกยกเลิก
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็รอพึ่งกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสียงโหวตในสภาอาจไม่ทำให้นายกฯ ลาออกได้ (หรือไม่แน่ว่าจะมีงูเห่าเหมือนตอนพลังธรรมไม่โหวตไว้วางใจคดี ส.ป.ก.4-01 หรือไม่) แต่เนื้อหาที่ถูกนำมาอภิปราย ก็สามารถนำมาแชร์ต่อเนื่อง เพื่อชี้ให้เห็น ปัญหาของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่ การเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในการเลือกตั้งได้ (ซึ่งโอกาสในการยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มี) เยาวชนใช้สงครามข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์ต่อสู้ได้อีกทาง ไปจนถึงรณรงค์ให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนให้ได้
แต่การป่วนเมืองรายวัน ไม่ใช่สันติวิธี ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และระวังจะห้ามกระแสต่อต้านการชุมนุมไม่ได้ ถ้าม็อบยกระดับการใช้ความรุนแรง ตอนนี้ก็คงจะต้องทำแบบที่ตำรวจพูดในช่วงเริ่มการชุมนุมว่า “อยากให้กลับบ้านกัน ถือว่าพี่ขอ” ดีกว่าปล่อยให้บ้านเมืองบอบช้ำอีกเรื่องด้วยความรุนแรงที่ไร้ทิศทาง.
…………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
As part of their spo…
This website uses cookies.