ครป.จัดเวทีชำแหละจัดงบประมาณ 65 แบบเย็นชา เอาราชการเป็นศูนย์กลาง ทำงานเหมือนเรือพายช้ากว่าโควิดเรือหางยาว ชี้วัคซีนคืออาวุธไม่ใช้ยุทโธปกรณ์ ให้ กมธ.งบประมาณแปรญัตติแก้ปัญหา จี้นายกลาออก ให้สภาเลือกนายกคนใหม่
5 มิ.ย. 2564 ในเวที ครป. ชำแหละงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 และการบริหารเศรษฐกิจการเมืองที่ล้มเหลวของรัฐบาล ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาวานนี้ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า 7 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เราเห็นปัญหามากขึ้น แต่ไม่เห็นหนทางที่รัฐบาลจะฝ่าวิกฤตไปได้ ล่าสุด การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ วิสัยทัศน์สับสน ยุทธศาสตร๋อ่อนแอ ขาดพลังในการแก้ไขและบริหารจัดการโควิด
การจัดการสถานการณ์โควิดของรัฐบาลไร้สมรรถนะอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นม้าตีนต้น แต่อ่อนแอตอนปลาย จนประเทศไทยหล่นไปติดลำดับ 80 ของโลกในแง่การแพร่ระบาดไปแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีจินตนาการในการใช้วัคซีนเพื่อแก้ไขโรคโควิด การบริหารจัดการความซับซ้อนจึงต่ำมาก การจัดการวัคซีนช้ากว่าเป้าหมายที่กำหนดมาก ไม่พอและตามการแพร่ระบาดไม่ทัน ซึ่งโควิดเหมือนเรือหางยาว พล.อ.ประยุทธ์ เหมือนเรือพาย เหมือนไฟไหม้ไปทั้งเมืองแล้ว แต่ว่ารถดับเพลงหรือวัคซีนมีแค่ 2 คัน คือ ซิโนแวค และแอสต้าฯ คันหนึ่งไปฉีดที่ไฟกำลังไหม้ อีกคันไม่รู้ไปฉีดที่ไหน
ผลที่ตามมาคือความไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนจึงถูกเททั้งประเทศ โรงพยาบาลประกาศเลื่อนกันจ้าละหวั่น เพราะวัคซีนได้รับการจัดสรรไม่พอ รัฐบาลทำผิดสัญญาประชาคมกับประชาชน หลอกลวงประชาชนทั่งประเทศ วันที่ 7 มิ.ย. อาจมีการจัดฉากการฉีดวัคซีนตามสัญญา แต่หลังจากนั้น จะถูกเลื่อนออกไป
รัฐบาลเปลี่ยนยุทธศาสตร์กลางคันแต่ไม่จัดหาวัคซีนมาให้พอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานตามยุทธศาสตร์ใหม่ พอเปลี่ยนยิ่งไม่พอยิ่งเกิดความโกลาหล และรัฐบาลแทนที่จะยินดีที่มีคนช่วยจัดหาวัคซีน ยังไปขัดขวางเขาอ้างระเบียบต่างๆ ควรรับข้อเสนอของ อบจ.มา และแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค ถ้าห่วงประชาชนเองอย่างที่พูด ใครอาสามาช่วยก็ควรรีบดึงมาร่วมมือ มาบูรณาการร่วมกัน ไม่ใช่ทำเป็นจรเข้ขวางคลอง หรือหมาหวงก้าง เพราะแก้ปัญหาโควิดไม่ได้ วิธีการง่ายๆ ใช้สมองสักหน่อย กำหนดเป้าหมาย 70% ของแต่ละจังหวัด หรือกลัว อบจ.จะแย่งคะแนนนิยมหรือเปล่า กลัวว่าท้องถิ่นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และกลัวกระแสการกระจายอำนาจ ที่จะสั่นคลอนระบอบประยุทธ์นั่นเอง
สำหรับเรื่องงบประมาณ 65 ประธาน ครป. กล่าวว่า ได้ข้อสรุปว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดงบประมาณด้วยจิตวิญญาณที่เย็นชามาก ไม่ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ใช้หน่วยงานราชการเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองกลุ่มอภิสิทธิ์ชนมากกว่าความต้องการของประชาชน ลดงบประมาณด้านสาธารณสุข ไปเพิ่มงบประมาณกลาโหม เป็นเรื่องที่คนไทยขำไม่ออก หมายความว่า กลาโหมกำลัฝจะขยายกำลังพลและบุคลากรหรือ ซึ่งล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ต้องปรับวิธีการเขียนงบประมาณใหม่
“ถ้าหากว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะบริหารบ้านเมืองต่อไปยิ่งจะย่ำแย่ต่อไป การสร้างอนาคตประเทศแทบมองไม่เห็น มีแต่ความมืดมนลงทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นอกเห็นใจคนไทยจริงๆ ควรลาออกเพื่อสร้างคุณูประการให้ประเทศไทย พ้นคราวเคราะห์ไป” รศ.ดร.พิชาย กล่าว
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่าท่ามกลางกระแสความขัดแย้ง และความล้มเหลว 2 ปีที่สืบทอดอำนาจมา นโยบายที่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลหาเสียงไว้ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมสักอย่าง จนคณะประชาชนสามัคคีประเทศไทย และประชาชนมากมาย เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะหาคนใหม่มาทำหน้าที่แทนในสถานการณ์วิกฤต เพราะ 7 ปีที่ผ่านมาหมดเวลาที่จะแสดงวิสัยทัศน์และจิตสำนึกใหม่แล้ว ครป. ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกอย่างเป็นทางการ เพื่อเสียสละรับผิดชอบแก่ชาติบ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนคนไทยทั้งชาติ เสียสละอำนาจเพื่อประชาชน
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ไร้จิตสำนึก ไม่ลาออก คนที่จะกดดันเขาได้ ก็มีเพียง พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้นที่จะกดดันให้ลาออกโดยใช้รัฐสภาเป็นเดิมพัน ไม่เช่นนั้น ประเทศไทยไปไม่รอด เพราะมีผู้นำบ้าน้ำลายหลงตนเองอยู่แบบนี้ ท่านใช้งบประมาณมากมายของแผ่นดินเพื่อค้ำบัลลังก์อำนาจให้ตนเอง ผ่านการกระจายงบแบบล้างผลาญแผ่นดิน ไม่สนใจว่าคนไทยจะต้องรับกรรมใช้หนี้ในอนาคตแทนท่านผู้ใช้เงินอีกนานเท่าไหร่
นอกจากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านจะต้องแสดงศักยภาพมากกว่านี้ หากว่าสภาไม่สามารถหาทางออกให้แก่บ้านเมืองได้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้ายก็ช่วยลาออกจากสมาชิกรัฐสภาไปเลย เพื่อร่วมกันกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีหนทางไปต่อ เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ได้ ทุกวันนี้ประเทศไทยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอุปสรรคปัญหาแค่คนๆ เดียว และเลวร้ายกว่าโควิด-19 เสียอีก ดังที่ คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จะเดินทางไปยื่นหนังสือพรรคร่วมฝ่ายค้านในวันพุธนี้ ที่รัฐสภา
ทางออกของชาติบ้านเมืองวันนี้ เพื่อรักษาประเทศไทยไว้ไม่ให้แตกหักพังทลายไปมากกว่านี้ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วยเสียงข้างมาก ตามเจตจำนงค์ที่ประชาชนเลือกมาในครั้งแรก ตามประเพณีและครรลองประชาธิปไตย โดยสมาชิกวุฒิสภาที่ได้อำนาจมาตามบทเฉพาะกาล ให้โหวตเลือกตามมติของสภาผู้แทนราษฎรที่แถลงออกมาก่อนการเสนอชื่อและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา ไม่เช่นนั้น ประเทศจะไปต่อไม่ได้ และหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีที่รับช่วงต่อ 2 ปี หากไม่โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจจนต้องยุบสภาเสียก่อน จะต้องรับฉันทามติของประชาชน แก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดร้ายแรง ปัญหาเศรษฐกิจผูกชาดและความเหลื่อมล้ำ และจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและประชามติเพื่อกติกาใหม่ที่เป็นธรรมก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ที่บริสุทธ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง และปลดล็อกผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาด้วยอำนาจโดยมิชอบ มาสร้างประชาธิปไตยในระบบรัฐสภากันใหม่ ในยุคศิวิไลย์ที่แท้จริง
พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ประเทศย้อนหลังไป 24 ปี ไปถึงจุดเริ่มต้นรัฐธรรมนูญ 40 ที่จะมีกระบวนการเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งไม่ต่างไปจากเดิม แถมยังพยายามปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและออกกฎหมายควบคุมประชาชนและองค์กรประชาสังคมอีกด้วย สวนทางการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรัฐบาลธรรมาภิบาลต้องเปิดการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน ตรวจสอบได้ ดังนั้นจะต้องยกเลิกกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม และร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับใหม่โดยทันที
ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ และพวก จะขโมยเงินในกระเป๋าคนไทยไปมากกว่านี้ และให้คนไทยใช้หนี้ในอนาคตด้วย ดูแผนงบประมาณของคณะรัฐมนตรีแล้วได้แต่ส่ายหัว รัฐบาลควรทบทวนแผนการใช้งบประมาณใหม่ทั้งหมดให้สอดคล้องกับกับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงเรื่องของการฟื้นฟูประเทศในด้านเศรษฐกิจสังคมที่เราเสียโอกาสไป
งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรถึง 203,282 ล้านบาท ถูกนำไปใช้ในโครงการเสริมสร้างจัดหายุทโธปกรณ์ แทนที่จะจัดหาวัคซีนซึ่งเป็นอาวุธที่แท้จริงในยุคสมัยใหม่ และส่งเสริมงบประมาณให้กระบวนการด้านสาธารณสุข ซึ่งความมั่นคงมนุษย์คือยุทธศาสตร์ที่แท้จริง ซึ่งต้องเน้นงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มากขึ้น
ผมขอทวงถามแทนประชาชนว่า งบประมาณปี 65 ได้มีการจัดสรรงบประมาณโดยสอดคล้องกับนโยบายสวัสดิการสังคมที่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่หาเสียงและให้สัญญาประชาคมไว้หรือไม่ 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฏการดำเนินนโยบาย โครงการสวัสดิการสังคมใดๆ ที่สอดคล้องกับสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดได้หาเสียงไว้กับประชาชนเลย เช่น สวัสดิการประชาชนแบบถ้วนหน้า นโยบายโครงการมารดาประชารัฐ แม้กระทั่งค่าจ้างขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีที่หาเสียงไว้
โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรง โควิด-19 ดูเหมือนรัฐบาลตั้งใจล้มเหลวในการสื่อสารในภาวะวิกฤตเพื่อให้ประชาชนสับสน จนโดนตั้งข้อกล่าวหาว่าท่านหากินกับความตายของประชาชนหรือไม่ ถ้ารัฐบาลจริงจังกับปัญหาคอร์รัปชัน ทำไมไม่เปิดให้สรรหา ป.ป.ช.ชุดใหม่ องค์กรอิสระชุดใหม่ทั้งหมด ที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร ทำไมไม่ยกเลิกองค์คณะชุดเก่าที่แต่งตั้งกันตั้งแต่สมัย คสช.
หากมีความจริงใจหยุดคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ทำไมไม่แสดงความจริงใจให้สังคมเห็น โดยเฉพาะการยกเลิกการส่งทหารเข้าไปเป็นประธานและกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ทั้ง 45 รัฐวิสาหกิจ ทั้งๆ ที่ไม่มีความสามารถเชี่ยวชาญเกี่ยวข้องเฉพาะ หรือการให้ข้าราชการระดับสูง นอกจากตามกฎหมาย ป.ป.ช. แล้วให้นายทหารในระดับผู้บังคับบัญชา ตำรวจในระดับผู้กำกับสถานีตำรวจทุกสถานี ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยดีหรือไม่ หรือท่านประกาศวาระแห่งชาติเพื่อตั้งใจหลอกลวงใครหรือไม่ ท่านบอกว่ารัฐบาลผมไม่เคยคอร์รัปชัน แค่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ท่านต้องรับผิดแล้ว ไม่ใช่ใช้ปัญญาแบบศรีธนญชัยบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบแบบนี้
รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เราจะอยู่ในหลุมดำ 7 ปีนี้ต่อไปหรือไม่ การที่แก้เศรษฐกิจผิด ไม่รู้จักคิด คือจุดจบพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งๆ ที่ตอนรัฐประหาร 7 ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเต็มมือ แต่ไม่แก้ปัญหาใดๆ เลย
ผมอยากสรุปว่า เขาได้สร้างเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดอภิสิทธิ์ชนอย่างเข้มแข็งมากในยุค คสช. 5 ปีก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 คนจำนวน 1% มีทรัพย์สินถึง 67% ของประเทศ นี่คือความสำเร็จของระบอบ คสช. ที่ชัดเจนที่สุด ที่เอื้อเจ้าสัวไม่กี่ตระกูล แต่ปล่อยให้ชนชั้นล่างยากจนมากขึ้น เป็นผลงานที่สำคัญของพล.อ.ประยุทธ์
วันนี้ โควิดระบาดรอบ 3 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ แก้ปัญหาโควิดไม่ได้เลย หากฉีดได้ถึง 50% ในไตรมาส 3 ได้จะดีมาก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมไทย แต่พล.อ.ประยุทธ์ คือสิ่งที่ล้มเหลวมากที่สุด เราต้องสร้างฉากทัศน์ใหม่ของประเทศ เรียงลำดับความสำคัญ ไม่ใช้แบบเหมารวม ไม่จำแนกแยกแยะ เป็นการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่ฉลาดในทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ผิดพลาด ล้มเหลว เกาไม่ถูกที่คัน พูดภาษาชาวบ้านคือ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานไม่เป็น
รัฐบาลจะแจกเงินได้นานเท่าไหร่ ประชาชนอยากทำงานหากินด้วยความสุจริตมากกว่าหากเศรษฐกิจดี วันนี้ผมขอยกธุรกิจร้านอาหาร พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้บริบทความเป็นจริง ทำร้านอาหารเจ๊งไปหมด แรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 500,000 คน แต่รัฐบาลไม่เข้าช่วยเหลือ นายกสมาคมภัตตาคารออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต้องมีมาตรการจำแนกแยกแยะ แต่นายกไม่เข้าใจบริบทของธุรกิจอาหาร ยังมีกิจกรรมลูกโซ่ในระบบวงจรอาหารมากมาย ทั้งตลาดสด เกษตรกร คนส่งน้ำแข็ง ตลาดสดวันนี้ก็เงียบเหงาไปด้วย นี่คือผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ คุณประยุทธ์จึงขาดภาวะผู้นำที่ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ
บริษัทท่องเที่ยวเหลืออยู่ 11,000 รายจากที่มีอยู่ และกำลังจะอันตธานหายไป วันนี้รัฐบาลต้องสนใจกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ คนงานรับจ้าง แท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนเข็นของขาย รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจโควิดผิดพลาด ยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจภาคประชาชนผิดพลาดด้วย ถือว่าสอบตก เราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต หลังจากนี้จะเจอภาวะการว่างงาน โดยเฉพาะเด็กจบใหม่อีก 4-5 แสนคน
พล.อ.ประยุทธ์ โตมาแบบทหาร แต่ท่านต้องบริหารแบบพลเรือนถึงจะแก้ปัญหาได้ ที่ผ่านมาจึงผิดพลาดมาทั้งระบบ นักบริหารที่ดีจะต้องจับเข่าคุยทุกฝ่าย กลั่นกรองเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ทำแบบนั้น จนมาเจอวิกฤตการคลังอย่างหนักในปัจจุบัน รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศขาดดุลย์อย่างหนัก จนประเทศไทยสิ้นมนต์ขลังทางการเงินแล้ว การสะสมสร้างหนี้มาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งสร้างหนี้ชดเชย ยิ่งเจอปัญหาหนี้สาธารณะ และถ้าเกิน 60% ของ GDP ถือว่าผิดกฎหมายและผิดวินัยการคลัง
งบประมาณรายจ่ายปี 65 รัฐบาลเพิ่มงบการซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นมากมาย เท่ากับจัดเรียงความสำคัญไม่ถูกต้อง เรื่องสุขภาพของประชาชนคือเรื่องที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ เป็นเรื่องความมั่นคงของสังคม งบประมาณ 65 จึงดูแปลกประหลาดอย่างมาก การจัดสรรงบด้านสาธารณสุขและด้านสังคม ลดลงเป็นจำนวนมาก
สรุปคือ วิกฤตการคลังของประเทศไทยรออยู่ข้างหน้า ข้อมูลของรัฐบาลเรื่องธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อย ค่อนข้างแย่ จึงทำนโยบายสาธารณะที่ดีไม่ได้ และเวลาเกิดวิกฤตจึงแก้ไขปัญหาไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย จะไหวไหมนี่?
นอกจากนี้ ความสับสนเรื่องวัคซีนมาจากการกระทำของนายกรัฐมนตรีเอง ที่จงใจจัดซื้อเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีให้เลือกเยอะแยะ การลงทุนหลายตัวมันลดความเสี่ยง ไม่รู้ไปมัดตัวเองทำไมทำให้วุ่นวายถึงทุกวันนี้ มีความสับสนอลหม่านมากในการจัดการประเทศนี้ ทำไมในสหภาพยุโรปไม่มีความสับสนเหมือนประเทศไทย
ดร.พงษ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี รองเลขาธิการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ผู้แทนภาคแรงงาน กล่าวสรุปประเด็นแรงงานว่า คนงานอยากเห็นรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาแรงงาน แต่ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา คนงานไม่เห็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานในประเทศไทยให้ดีขึ้นเลย ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพลเอกประยุทธ์ เป็นนายรัฐมนตรี สิ่งที่เป็นเชิงประจักษ์คือรัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่ให้แก่ประชาชนในช่วงหาเสียง เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาแรงงาน ปล่อยให้การจ้างงานมีความเหลือมล่ำกันมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในขณะที่รัฐบาลใส่ใจการแก้ปัญหาของนายจ้าง และกลับละเลยไม่สนใจปัญหาปากท้องของคนงาน สิ่งที่คนงานต้องการคือการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมที่ได้จากการขายสินค้าและบริการของนายจ้างที่คนงานมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิต แต่รัฐบาลไม่สามารถทำให้กับคนงานได้
ปัญหาของคนงานสรุปได้ 7 ข้อ ดังนี้
1. รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในตอนหาเสียงในเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อพรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่ยอมนำนโยบายที่หาเสียงไว้กับคนงานมาทำให้เป็นจริง รัฐบาลเริ่มต้นด้วยการหลอกลวง จึงไม่มีอะไรที่จะสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในใจคนงานได้กับรัฐบาลชุดนี้
2. รัฐบาลใช้แนวคิดทุนนิยมเสรีในการส่งเสริมระบบทุน จนละเลยคุณภาพชีวิตของคนงาน สิ่งที่เกิดกับคนงานคือเงื่อนไขการจ้างแบบไม่มีคุณค่า (Decent Work) ที่นำมาใช้งานกับคนงาน คนงานมีสัญญาจ้างปีต่อปี ทำงานไปแต่ไม่เคยได้รับการขึ้นเงินเดือน เมื่อออกจากงานก็ไม่ได้รับเงินชดเชยตามระยะเวลาที่ทำงานตั้งแต่แรก เพราะถูเงื่อนไขของสัญญาจ้างปีต่อปีเท่านั้น ในรัฐวิสาหกิจมีการจ้างแรงงานแบบ outsource มากขึ้น ที่ทำให้คนงานมีคุณภาพชีวิตต่ำ ลูกจ้างในกระทรวงสาธารณะสุขที่ทำงานในโรงพยาบาล สถานีอนามัยคต่างๆ ก็กลายเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ที่เงินเดือนค่าจ้างก็ไม่มีการตั้งงบประมาณเบิกจ่าย แต่ใช้เงินบริจาคหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาลเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงแรงงานเริ่มพิจารณาออกกฎระเบียบการจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อมาใช้งาน ทำให้สภาพการจ้างจะยิ่งเลวร้ายไปจนหาความมั่นคงในการทำงานไม่ได้
3. รัฐบาลละเลยไม่ใส่ใจการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชน ส่งผลทำให้เกิดการทำลายล้างสหาพแรงงาน ทั้งในภาครัฐวิสาหกิจและเอกชน สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือของคนงานที่จะใช้ในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างในการปรับปรุงสภาพการจ้างให้ดีขึ้น แต่กลับถูกทำลายล้างโดยระบบการจ้างงานในประเทศไทย ส่งผลทำให้จำนวนสหภาพแรงงานในประเทศไทยมีการจัดตั้งในอัตราที่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของการจ้างงานทั้งหมด
4. การแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อความเดือดร้อนของคนงานที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการหรือเลิกกิจการ นายจ้างหลายแห่งบังคับให้ลูดจ้างยื่นเอกสารใบลาออก เพื่อแลกกับการจ่ายเงินจำนวนเล็กน้อยๆ ที่ๆ ที่หากนายจ้างเลิกจ้าง ต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานไม่เคยทำงานเชิงรุกเพื่อตักเตือนนายจ้างไม่ให้กระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือออกประกาศให้คนงานทราบข้อควรปฏิบัติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีการเลิกจ้าง
5. รัฐไม่สามารถรักษางานไว้ให้คนงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้นายจ้างเลือกออกแบบการทำงานในโรงงานเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติที่ใช้แรงงานคนทำงานน้อยลง และปลดคนงานออก รัฐส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้นายจ้างอยู่รอดในธุรกิจ มีการส่งเสริมด้วยนโยบาย BOI หรือนโยบายลดภาษี แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะคุ้มครองรักษางานให้คงอยู่เพื่อให้คนงานมีงานทำ ที่ผ่านมามีการเลิกจ้างคนงานไปจำนวนมาก คนงานเดือดร้อนมาก
6. ระบบเศรษฐกิจของประเทศทำให้เกิดความเหลี่อมล่ำมาก โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างนายจ้างและคนงาน คนงานยังคงเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ถูกกดขี่เงินเดือนค่าจ้าง ยิ่งไปกว่านั้นนายจ้างพัฒนารูปแบบการจ้างงานแบใหม่ๆ เช่น การจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานรายชั่วโมง และกระทรวงแรงงานก็ยังรับลูกด้วยการออกกฎเกณฑ์มาบังคับใช้กับคนงานด้วย ที่จะทำให้การจ้างงานไม่มีความมั่นคงในการทำงานเลย
7. รัฐบาลพูดถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล มีการกำหนดนโยบาย Thailand4.0 เพื่อหวังผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นกับดักชนชั้นกลางที่ทำให้ประเทศไม่สามารถพัฒนาให้เป็นประเทศที่พัฒาได้ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด คนงานถูกเลิกจ้างเยอะ เราไม่เห็นการใช้ช่วงเวลานี้พัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนงานได้เรียนรู้และฝึกทักษะ เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานในระบบแบบ formal workers ได้ เดิมแรงงานเป็นอย่างไร ก็เป็นอยู่เหมือนเดิม ไม่มีโครงการพัฒนาให้คนงานสามารถ upskill/reskill ทักษะของคนงานเลย
การบริหารจัดการในรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลังเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หลายรัฐวิสาหกิจ ก็ปล่อยให้บอร์ดว่างเว้นไม่มีการแต่งตั้งคนเข้ามากำกับดูแล ที่มีการแต่งตั้งก็พบว่า เป็นข้าราชการ เป็นทหาร หรือพ่อค้า แต่ทั้งหมดไม่มีใครที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของรัฐวิสาหกิจนั้นที่ใช้ประกอบกิจการ บอร์ดบางท่านเข้ามาตัดแบ่งงานของรัฐวิสาหกิจเอาไปให้เอกชนดำเนินการ ทำทำให้ประสิทธิภาพของคนรัฐวิสาหกิจน้อยลง มี ผลิตภาพน้อยลง เพราะจำนวนคนเท่าเดิม แต่ลดงานลงเพื่อแบ่งไปให้เอกชนดำเนินการแทน เมื่อเอกชนดำเนินการแทน ก็มีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ในระยะยาว เมื่อการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจแย่ลง จนเป็นเหตุให้อ้างการยุบเลิกหรือขายกิจการให้เอกชน พร้อมทั้งสังคมประณามว่า คนรัฐวิสาหกิจทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจเป็นผลจากการกำกับกิจการที่ล้มเหลวของกระทรวงการคลัง รวมทั้งบอร์ดที่ส่งเข้ามาดูแลรัฐวิสาหกิจ ก็เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการบินไทย ที่เสียหายทุกวันนี้ ก็ด้วยการทุจริตเชิงนโยบายของบอร์ด/รัฐบาลที่บริหารงานผิดพลาด แบ่งเนื้องานไปให้เอกชนทำเช่นการขายตั๋ว จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตมโหฬาร เป็นต้น
ทั้งหมดคือสรุปประเด็นความล้มเหลวในการบริหารจัดการประเด็นแรงงาน ที่ล้มเหลวมาโดยตลอด ไม่สามารถทำให้คุณภาพชิวติขงคนงานดีขึ้นได้เลย ยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยิ่งทำให้คนงานตกงานมากขึ้น แรงงานนอกระบบการหาเงินยากขึ้นในแต่ละวัน
As part of their spo…
This website uses cookies.