ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – รมช.มหาดไทยเปิดการประชุมมอบนโยบาย “ความปลอดภัยทางถนน” เพื่อยกสงขลาเป็นเมืองต้นแบบ ชวนท้องถิ่นร่วมทำบุญช่วยชีวิต ชี้ท้องถิ่นคือกลไกหลักขับเคลื่อนงาน ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุเหลือ 12 คน/แสนประชากร ในปี 2570
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ห้องประชุมศรีเกียรติพัฒน์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานประชุมมอบนโยบายตามโครงการความปลอดภัยทางถนน “สงขลาเมืองต้นแบบ” พัฒนากลไกจัดการความปลอดภัยทางถนนจากจังหวัดสู่อำเภอและตำบล โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน
นายนิพนธ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกในปี 2559 พบสถิติคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนกว่า 22,400 ราย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสงคราม หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 6,000 กว่าราย แต่อุบัติเหตุการเสียชีวิตบนท้องถนนแค่ปีเดียวกลับมียอดสูงถึง 20,000 กว่าราย ฉะนั้น ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนจึงถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย
“จากข้อมูล 3 ฐาน ในปี 2564 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวน 13,00 กว่าราย ส่วนอุบัติเหตุสะสมของประเทศไทย ปี 2565 มีผู้เสียชีวิตสะสม 3,467 ราย ผู้บาดเจ็บสะสม 205,343 ราย สำหรับข้อมูลรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2565 มีผู้เสียชีวิต 42 ราย บาดเจ็บ 2,084 ราย สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นหลัก” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกขณะนี้ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงให้เป้าหมายด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี พ.ศ.2573 โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2573 ดังนั้น การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนจึงเป็นวาระมีความสำคัญระดับโลก รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนนขององค์การอนามัยโลกมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรในประเทศไทยปี พ.ศ.2561 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 32.70 (มากกว่า 22,000 คนต่อปี)
นายนิพนธ์ กล่าวว่า สถิติตั้งแต่ปี 2561-2564 อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีแนวโน้มลดลง 1,000 กว่าราย/ปี จากความพยายามในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง แต่แม้ว่าจะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทยยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของประเทศ ในปี พ.ศ.2564 รัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำหนดประเด็นเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงานและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อลดความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายตนอยากให้มีการประชุมถกเถียงข้อมูลกันเป็นประจำทุกเดือน ในพื้นที่ควรมีการตั้งด่าน จุดตรวจต่างๆ การแก้ไขวินัยจราจร ควรเริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆ ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียนควรปลูกฝังเด็กเล็กตั้งแต่เด็กที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็ก มาจนถึงระดับท้องที่ ท้องถิ่น สู่ระดับประเทศต่อไป สร้างด่านครอบครัว ด่านชุมชน ด่านโรงเรียน ให้ความรู้เรื่องวินัยจราจร เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนนให้ได้มากที่สุดทุกทางที่จะดำเนินการได้ ตนมองว่าท้องถิ่นเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าว โดยควรบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งงบประมาณไว้สำหรับการบริหารจัดการตามแผนงาน/โครงการต่อไป
“สำหรับการประชุมในวันนี้นอกจากจะได้ติดตามและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่แล้วนั้น ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพของพื้นที่ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอและท้องถิ่นบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง จะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย 100%” ได้ต่อไป” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ขอชวนท้องถิ่นร่วมทำบุญช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ลดการเสียชีวิตบนท้องถนน ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบูรณาการการทำงานร่วมกันในครั้งนี้จะช่วยลดความสูญเสียและผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างแท้จริง และการแก้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป
As part of their spo…
This website uses cookies.