เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
รู้หรือไม่ ? จากข้อมูลรวบรวมโดยกระทรวงสาธารณสุขย้อนหลัง 10 ปีพบตัวเลขการเสียชีวิตของคนเดินเท้าเฉลี่ยสูงถึง 1,000 รายต่อปี โดยเกือบครึ่งเป็นการก่อเหตุจากรถจักรยานยนต์ และ 1 ใน 3 เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ
ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์กรณีการเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ถูกรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ชน ขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างกระแสความตื่นตัวให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการหยุดรถ เมื่อเห็นคนรอข้ามทางม้าลาย
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน ทางคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน ได้จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย” ขึ้น
โดยภายในงานยังมีการทดสอบระบบสัญญาณไฟคนข้ามถนน ที่บริเวณทางม้าลายหน้าอาคารรัฐสภา พร้อมแจกสติ๊กเกอร์สำหรับติดรถให้กับผู้ที่ใช้รถใช้ถนน ข้อความว่า “ขอบคุณที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” เพื่อเป็นสิ่งย้ำเตือน ขอให้เคารพกฎจราจร และมีน้ำใจให้กับผู้ใช้ถนน โดยเฉพาะบริเวณทางม้าลาย
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา บอกว่า การไม่ยอมหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายจนเป็นเหตุให้ชนคนบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิต นับเป็นปัญหาที่สะสมอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งข่าวการจากไปของหมอกระต่ายก็ทำให้ผู้คนในสังคม หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หันมาให้ความสำคัญและร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น
นายสุรชัย บอกย้ำว่า เรื่องเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของเราหรือคนที่เรารัก ไม่วันใดวันหนึ่งก็เป็นได้ ดังนั้น การมีจิตสำนึกหยุดรถให้คนข้ามถนน เป็นสิ่งที่ทุกคนช่วยกันรณรงค์ป้องกันได้ โดยเริ่มจากที่ตัวเราเอง ขณะที่หน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ก็ต้องตื่นตัวเพื่อดูแลประชาชนให้มีความปลอดภัย ส่วนผู้ใช้รถใช้ถนนก็ต้องให้ร่วมมือเคารพกฎจราจร
“การช่วยกันรักษากฎแห่งความปลอดภัยง่ายๆ ถือเป็นความดีที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณถ้าเรามีความรับผิดชอบร่วมกัน และช่วยกันดูแลสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความปลอดภัยในเรื่องของการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะการใช้ทางม้าลายข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย” ประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าว
“เหตุการณ์การเสียชีวิตของคุณหมอกระต่าย ได้สร้างความสะเทือนใจให้คนทั้งประเทศ ยิ่งถ้าได้เห็นสถิติตัวเลขแล้ว จะพบว่ายังมีอีกหลายร้อยคนที่เสียชีวิตบนทางม้าลาย ทั้ง ๆ ที่ทางม้าลายควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคนข้ามถนน” เป็นมุมมองของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า หลายคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสูญเสียนี้หลีกเลี่ยงและป้องกันได้ ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะมีเรื่องปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เรื่องกฎจราจร เรื่องจิตสำนึกในการขับขี่ยานพาหนะ รวมไปถึงเรื่องทางกายภาพของท้องถนน
“การบังคับใช้กฎหมายช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกให้อยู่ในใจผู้คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องทำงานควบคู่ไปด้วยกัน ขณะที่การรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของทางม้าลาย ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะสะพานลอยสร้างยาก ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ดังนั้น ทางม้าลายจะต้องมีเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มนั้นจะไม่มีความหมายเลย ตราบใดที่ผู้ขับขี่ยังไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
ดร.สุปรีดา ได้เสนอแนะถึงแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนว่า
1. รณรงค์ให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกขับขี่ปลอดภัย โดยควรหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ส่วนคนที่ข้ามก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการข้ามถนนทุกครั้ง
2. อย่าขับรถเร็ว โดยเฉพาะการลดความเร็วในเขตชุมชน ไม่ควรเกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนบริเวณหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล และตลาด ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะหากเกิดการชนคนเดินเท้า จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ถึง 90%
3. ดื่มไม่ขับ ซึ่งมักเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ ขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมความปลอดภัย
5. ปรับปรุงสภาพถนนให้เอื้อกับความปลอดภัย เช่น แก้ไขจุดเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เราต้องให้ความสำคัญ ให้ความสนใจกับสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะสิทธิของคนที่เดิน เช่น การข้ามทางม้าลาย อย่างไรก็ตาม การข้ามถนนก็จำเป็นจะต้องมีวินัยเช่นเดียวกัน ต้องข้ามในจุดที่เป็นทางข้าม ไม่ว่าจะเป็นสะพานลอย หรือทางม้าลาย ต้องดูความปลอดภัย จังหวะเวลาที่เหมาะสม และกฎจราจร
“ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกัน แต่ฝ่ายที่สำคัญมากๆ คือฝั่งผู้ใช้รถ เพราะเรามาด้วยความเร็ว และมียานพาหนะเป็นเกราะป้องกันตัวเราอยู่ แต่ผู้ที่ข้ามถนน เขาไม่มีอะไรที่จะป้องกันตัวเลย และไม่ใช่ว่าไม่มีตำรวจ ไม่มีการถูกจับ เราก็ไม่กลัว เพระกฎกติกานั้น มีไว้สำหรับให้เราปฏิบัติ เราจะต้องฝึกความมีวินัย และความมีสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย” นพ.อำพล กล่าว
สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน ตั้งแต่ปี 2546 ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญที่มีผู้คนเดินทางจำนวนมาก เช่น วันปีใหม่ และวันสงกรานต์ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้มากที่สุด
หัวใจสำคัญของการลดอุบัติเหตุ คือ การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เป็นเรื่องปกติที่ปฏิบัติกันในชีวิตประจำวัน การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนทำได้เลย ขอเพียงไม่ประมาท มีสติในการขับขี่ยานพาหนะ เคารพกฎจราจร ใช้รถใช้ถนนอย่างเอื้อเฟื้อ และมีน้ำใจให้กับผู้ใช้ทางม้าลาย สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัย ห่างไกลจากอุบัติเหตุ ขอบคุณทุกคนที่ร่วมสร้างความปลอดภัยทางถนน ขอบคุณทุกคนที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย