Motor Sport Sponsored

กว่าจะเป็นวันนี้…..เส้นทางสู่ชุมชนเข้มแข็งที่ป่าคลอก จ.ภูเก็ต

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

ป่าชายเลนที่บางโรง  ต.ป่าคลอก  จ.ภูเก็ต   กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูดูแล (ภาพจาก www.hotels.com)

ตำบลป่าคลอก  อ.ถลาง  จ.ภูเก็ต แม้จะไม่มีชายหาดสวยงามหรือมีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ดึงดูดเงินตราจากนักท่องเที่ยว   แต่ป่าคลอกก็มีป่าชายเลน  มีทรัพยากรธรรมชาติ  มีอาหารจากทะเลอุดมสมบูรณ์  หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาเนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน 

แต่กว่าจะเป็นวันนี้….ชาวป่าคลอกต้องเผชิญกับปัญหาการบุกรุกทำลายล้างแหล่งอาหารและอาชีพ…แต่พวกเขาก็ได้ร่วมกันต่อสู้และฟื้นฟูจนความสมบูรณ์กลับคืนมา !!

ยุคสัมปทานป่าชายเลน

ตำบลป่าคลอก  อ.ถลาง  (ปัจจุบันมีฐานะเป็นเทศบาลตำบล)  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ต  มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 38 ตารางกิโลเมตร  มี 9 หมู่บ้าน  ประชากรราว 18,000 คน  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพเกษตรกรรม  ประมงพื้นบ้าน  ปลูกยางพารา  สวนผลไม้  เลี้ยงแพะ  ค้าขาย  ฯลฯ 

มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ  เช่น  เกาะนาคาน้อยซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงหอยมุก  มีท่าเรือบางโรงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลในอ่าวพังงา  เช่น  เกาะยาวน้อย  เกาะยาวใหญ่ 

ย้อนกลับไปในปี  2513  รัฐให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนในจังหวัดภูเก็ตหลายโครงการ  รวมทั้งที่ตำบลป่าคลอก  รวมเนื้อที่สัมปทานทั้งหมดเกือบ  20,000  ไร่  ผู้รับสัมปทานจะตัดไม้โกงกางเพื่อนำไปเผาถ่าน  มีราคาแพงกว่าถ่านไม้ทั่วไป  เพราะให้ความร้อนสูงและติดไฟนาน  ส่งไปจำหน่ายในภาคใต้  ปีนัง  และสิงคโปร์   

นอกจากนี้ยังมีการลักลอบตัดไม้ในป่า  เพื่อนำไปทำเสารางแร่ในเหมืองดีบุก  ทำให้ไม้ในป่าชายเลนและไม้เนื้อแข็งในป่าถูกทำลายเป็นจำนวนมาก

ป่าโกงกางที่อ่าวบางโรง  เมื่อเกิดสึนามิในปี 2547 ป่าโกงกางที่นี่เป็นเกราะป้องกันคลื่นยักษ์จากอันดามัน  ทำให้ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน

ป่าคลอกยุคฟื้นฟู

การสัมปทานป่าชายเลนโดยไม่มีการปลูกทดแทน  ทำให้บ้านของสัตว์น้ำวัยอ่อน  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  ถูกทำลาย  แหล่งอาหารของชาวบ้านลดน้อยลง  และมีผู้คนจากที่ต่างๆ เข้ามาทำงานในพื้นที่สัมปทาน  นำวัฒนธรรมต่างถิ่นและอบายมุขต่างๆ  เข้ามาสั่นคลอนชุมชนมุสลิมที่ป่าคลอก

ราวปี 2516-2518  ‘โต๊ะอิหม่ามหยีหมัน  ปานดำ’  ผู้นำทางศาสนาที่บ้านบางโรง  ตำบลป่าคลอก  มองเห็นหายนะที่คืบคลานเข้ามา  จึงเริ่มใช้หลักศาสนาสร้างเกราะป้องกันชุมชน  โดยมีมัสยิดบ้านบางโรงเป็นศูนย์กลาง   เริ่มจากกลุ่มเยาวชน  ซึ่งมีอยู่ราว 30 คน  อบรมเรื่องการใช้ชีวิต  การปฏิบัติตามหลักศาสนา  การดูแลทรัพยากรป่าไม้ในชุมชน   ใช้ช่วงเวลาละหมาดทุกวันศุกร์หลังเที่ยงวัน 

หลายปีต่อมา  เมื่อกลุ่มเยาวชนเหล่านี้เติบโตได้กลายเป็นแกนนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนในตำบลป่าคลอก  บางคนเป็นกรรมการชุมชน  บางคนเป็นกรรมการมัสยิด  เช่น  จีระศักดิ์  ท่อทิพย์ (ปัจจุบันเสียชีวิต  เคยเป็นคณะกรรมการอิสลามจังหวัดภูเก็ต)  สำราญ  คงนาม,  เสบ  เกิดทรัพย์  ฯลฯ 

เสบ  เกิดทรัพย์  หรือ ‘บังเสบ’  ผู้นำชุมชน  อายุ 60 ปี  บอกว่า  ตนเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนบ้านบางโรงที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากโต๊ะอิหม่ามหยีหมันในครั้งนั้น   ทำให้เยาวชนตื่นตัวลุกขึ้นมาฟื้นฟูทรัพยากรในตำบลป่าคลอก  เพราะนอกจากปัญหาป่าชายเลนถูกทำลายแล้ว  ประมาณปี 2522  ยังมีปัญหาเรืออวนรุนเข้ามาทำประมงในเขตหากินของชาวบ้าน   ลากเอาสัตว์เล็กสัตว์น้อยในทะเลติดอวนขึ้นไป  ทำให้คนป่าคลอกรวมตัวกันต่อต้าน  ปกป้องท้องทะเล 

เรืออวนรุนจะมีอวนอยู่บริเวณหัวเรือ  รุนเอาสัตว์ต่างๆ  เข้าไปในอวน (ภาพจาก Thai Fishing Ship Knowledge Center)

“นอกจากนี้ยังมีปัญหานายทุนบุกรุกป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้ง  และรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงปี 2537  เพราะนายทุนเอาป่าชายเลนไปออกโฉนดได้  แต่ชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้   พวกเราจึงร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ป่าชายเลน  ใช้เวลานานพอดู  แต่ก็ได้พื้นที่กลับคืนมาประมาณ  500  ไร่  รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทานทำไม้โกงกาง  จนถึงปี 2539  รัฐบาลจึงประกาศปิดสัมปทานป่าชายเลนทั่วประเทศ”  บังเสบบอก 

ทั้งนี้ข้อมูลจากสถานีวิจัยป่าชายเลนที่ 1 ภูเก็ต  ระบุว่า  เดิมจังหวัดภูเก็ตมีป่าชายเลนทั้งหมดประมาณ 28,000 ไร่  แต่เมื่อมีสัมปทานทำไม้โกงกางตั้งแต่ปี 2513  พอถึงปี 2539  ป่าชายเลนเหลืออยู่ประมาณ  9,500 ไร่  เฉพาะพื้นที่ป่าชายเลนตำบลป่าคลอก  มีประมาณ 4,500 ไร่ ถูกทำลายเกือบครึ่ง !!

หลังปิดสัมปทานทำถ่านไม้โกงกาง  เตาเผาถ่านในภูเก็ตและภาคใต้เกือบทั้งหมดถูกทิ้งทำลาย  ที่จังหวัดตรัง โดย อบจ.ตรัง  สร้างพิพิธภัณฑ์เตาถ่านขึ้นมา  เปิดให้ชมตั้งแต่ปี 2554 (ภาพจาก https://www.museumthailand.com)

ศรัทธาและอัล-อามานะห์

นอกจากปัญหาเรื่องทรัพยากรถูกทำลายแล้ว  การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งเป็นเสมือนหม้อข้าวของชาวป่าคลอกในช่วงสัมปทานป่าชายเลน  นำไปสู่การเป็นหนี้สิน  เพราะกุ้ง  หอย  ปู  ปลา  ลดน้อยลง  ทำให้การทำมาหากินฝีด เคือง  หลายครอบครัวต้องเอาที่ดินไปจำนองนายทุนเงินกู้  เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว  เมื่อไม่มีเงินชำระคืน  ที่ดินจึงถูกยึด 

ราวปี  2538  ผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนาที่บ้านบางโรง  ได้ริเริ่มก่อตั้ง ‘กองทุนปลดเปลื้องหนี้สิน’ ขึ้นมา ใช้วิธีการระดมเงินจากกลุ่มผู้นำ  ใครมีมากก็ให้มาก  เพื่อนำมาช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน  หรือชำระหนี้  ในลักษณะให้กู้ยืม   สูงสุดไม่เกิน 1 หมื่นบาท  ไม่มีดอกเบี้ย  เพราะขัดกับหลักศาสนาอิสลาม  มีเงินกองทุนประมาณ 3 แสนบาท  รวมทั้งนำเงินกองทุนนี้มาเป็นค่าใช้จ่ายให้ตัวแทนชุมชนเดินทางไปประชุม  ศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชน  ฟื้นฟูสัตว์น้ำและป่าชายเลน 

มัสยิดบ้านบางโรง  ตำบลป่าคลอก

ต่อมาในปี 2540  กองทุนปลดเปลื้องหนี้สินได้พัฒนามาเป็นกลุ่มออมทรัพย์  เพื่อเปิดรับสมาชิกทั่วไปในตำบลป่าคลอก  และเพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือกัน  ใช้ชื่อ  ‘กลุ่มออมทรัพย์อัล-อามานะห์’  (บ้านบางโรง)  เป็นภาษาอาหรับ   มีความหมายว่า “การไว้วางใจ”  

บังเสบ  บอกว่า  กลุ่มมีสมาชิกเริ่มแรก 33 คน  โดยให้สมาชิกนำเงินมาลงหุ้นๆ ละ 50 บาท  อย่างน้อยคนล2 หุ้น  และออมเงินร่วมกันทุกเดือนอย่างน้อยคนละ 100 บาท  ในช่วงแรกมีเงินออมรวมกันประมาณ 27,000 บาท มีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม 9 คน  ส่วนใหญ่เป็นผู้นำชุมชน  ผู้นำศาสนา  ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ  ไว้วางใจ 

“กลุ่มออมทรัพย์ของเราต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อถือศรัทธา  ไว้วางใจว่า  เมื่อเอาเงินมาฝากแล้ว  เงินของเขาจะไม่สูญหาย  เมื่อเดือดร้อน  ต้องใช้เงิน  กลุ่มสามารถช่วยได้  เมื่อกลุ่มออมทรัพย์เป็นที่ไว้วางใจของสมาชิก  กลุ่มก็เติบโต   มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อกลุ่มโตขึ้น  มีเงินมากขึ้น  เราก็นำเงินมาลงทุน”  ยังเสบบอก

เสบ  เกิดทรัพย์

เขาอธิบายว่า  กลุ่มออมทรัพย์จะไม่เน้นให้สมาชิกกู้ยืมเงิน  ยกเว้นยามเจ็บป่วย  หรือต้องใช้เงินฉุกเฉิน  รายหนึ่งไม่เกิน 5,000 บาท  ไม่มีดอกเบี้ย  แต่กลุ่มมีรายได้จากการซื้อสินค้าหรือเครื่องมือประกอบอาชีพให้สมาชิก  เช่น  ซื้อเรือประมงพื้นบ้าน  เครื่องยนต์  รถมอเตอร์ไซค์  รถกระบะ  รถตู้รับนักท่องเที่ยว  ซื้อบ้านหรือที่ดิน  ไถ่ที่ดิน  ปลดหนี้นอกระบบ  หรือลงทุนประกอบอาชีพ (วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท)

โดยกลุ่มออมทรัพย์จะออกเงินซื้อสินค้าให้สมาชิกก่อน  แล้วให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน  สมาชิกจะต้องมีเงินหุ้น-เงินฝากค้ำประกัน  หรือหลักทรัพย์อื่น  (ไม่ต่ำกว่า  80 % ของราคาสินค้า) ส่วนกลุ่มจะมีรายได้จากธุรกรรมต่างๆ นี้  จำนวน 10 %  เพื่อนำมาบริหารจัดการ  นำไปลงทุนเพิ่ม  และนำผลกำไรกลับมาช่วยเหลือสมาชิก  ผู้ด้อยโอกาส  บำรุงศาสนา  พัฒนาชุมชน  ฯลฯ

ในปี 2545  นำเงินจากการระดมทุนและกลุ่มออมทรัพย์ไปซื้อที่ดิน 4 แปลงในตำบล  เนื้อที่รวมประมาณ 40 ไร่   นำมาจัดสรร  แบ่งเป็นแปลง  สร้างเป็นห้องแถว  มูลค่ารวมประมาณ 40 ล้านบาท  ปัจจุบันขายหมดแล้ว  ได้กำไรกว่า 10  ล้านบาท         

นำผลกำไรส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มออมทรัพย์และช่วยเหลือสมาชิก  เช่น  คลอดบุตร  ช่วยเหลือรายละ 1,300 บาท  เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล  ช่วยเหลือคืนละ 300 บาท  (ช่วยปีละ 3-21 คืน  ตามอายุการเป็นสมาชิก)  เสียชีวิตช่วย 6,000-12,000 บาท   นอกจากนี้ยังนำผลกำไรมาจ้างครูสอนศาสนาที่มัสยิด  ปีหนึ่งประมาณ  50,000 บาท   ฯลฯ

กลุ่มออมทรัพย์ซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ให้สมาชิก  ผลกำไรนำกลับมาช่วยสวัสดิการสมาชิก

นักวิจัย ป. 4

นอกจากจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้ว   แกนนำในตำบลและชาวบ้านได้ร่วมกันฟื้นฟูดูแลป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง  มีกฎและกติกาต่างๆ  เช่น  ห้ามตัดไม้ป่าชายเลน  ห้ามบุกรุก  ห้ามทำประมงผิดกฎหมาย  ช่วยกันปลูกต้นโกงกาง  สร้างบ้านปลา  ทำธนาคารปู   ทำให้ป่าชายเลนฟื้นตัว  สัตว์น้ำต่างๆ มีแหล่งอาศัย

จัดตั้งกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง  เพื่อสร้างงาน  สร้างรายได้ให้ชุมชน  มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวพายเรือแคนนูชมป่าชายเลน  มีร้านอาหารชุมชน ‘ครัวบางโรง’ ขายอาหารพื้นบ้าน-ซีฟู้ด  โดยให้กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มเยาวชนประมาณ 12  คนช่วยกันบริหาร   ซื้อกุ้ง  หอย  ปู  ปลา จากประมงพื้นบ้านมาทำอาหาร  รายได้ส่วนหนึ่งเข้ากลุ่มออมทรัพย์  และนำไปใช้ดูแลป่าชายเลน 

นอกจากนี้ บังเสบ  บอกว่า  ตนเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่สนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น  จึงรวบรวมเรื่องราวสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลน  ทั้งสัตว์น้ำ  สัตว์บก  พันธุ์ไม้ต่างๆ  บริเวณป่าชายเลนบ้านบางโรง  รวมกว่า 100 ชนิด  นำมาบันทึกไว้เป็นชุดความรู้  มีภาพประกอบ 

เช่น  ปะการัง  ร่องรอยการเข้ามากินหญ้าทะเลในอ่าวบางโรงของพะยูน  สัตว์น้ำต่างๆ  ปูทองหลาง  ปูดำ  ปลิงทะเล  หอยแครง  ปลากระบอก  ปลากะเบน   ฯลฯ

พันธุ์ไม้น้ำ   มีหญ้าทะเลใบข้าว  หญ้าคาทะเล  พันธุ์ไม้ชายเลน  โกงกางหูช้าง  จาก  ตะบูน  ขลู่  กาหยีทะเล  (มะม่วงหิมพานต์)  สัตว์บก  มีลิงแสม   และนกชนิดต่างๆ  

“ป่าชายเลนนับเป็นด่านแรก  เพราะเป็นแหล่งเพาะฟักไข่ของสัตว์ทุกชนิด  ไข่จะถูกซ่อนเอาไว้ในป่าชายเลนเพื่อรอการเจริญเติบโต  อีกทั้งยังเป็นที่หลบภัยของสัตว์วัยอ่อน  จนสามารถเติบโตขยายพันธุ์ต่อไปได้…เราจึงจำเป็นต้องดูแลป่าชายเลน  หญ้าทะเล  ปะการัง  และสัตว์น้ำต่างๆ  เพื่อจะได้เป็นแหล่งอาหารของเราและลูกหลานให้มีกินมีใช้ตลอดชีวิต”  นี่คือข้อความตอนหนึ่งที่บังเสบ  นักวิจัย  ป. 4  บันทึกเอาไว้ในสมุดบันทึกความรู้

เมื่อทรัพยากรธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์  นักท่องเที่ยวก็มา

วันนี้ที่ป่าคลอก…

ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์อัล-อามานะห์  บ้านบางโรง  มีสมาชิกกว่า 1,200 คน  มีเงินหมุนเวียนประมาณ   15 ล้านบาท (รวมทรัพย์สิน-ที่ดินทั้งหมดราว  50 ล้านบาท)  มีผลกำไรในปี 2564  ที่ผ่านมา  ประมาณ  6 แสนบาท  โดยมีเสบ  เกิดทรัพย์  เป็นผู้จัดการกลุ่มออมทรัพย์  มีเจ้าหน้าที่ประจำ 5 คน  (เป็นคนรุ่นใหม่  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี)  ดูแลด้านการเงิน  การบัญชี  เปิดทำการวันจันทร์ – ศุกร์  เวลา 9.30-16.30 น.

นอกจากนี้ยังมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลป่าคลอก (จัดตั้งปี 2549)  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ให้การสนับสนุน  ปัจจุบันมีสมาชิก 1,633 คน  โดยให้สมาชิกสมทบเงินปีละ 365 บาท  แล้วนำเงินมาช่วยสวัสดิการสมาชิกและผู้ด้อยโอกาส 

เช่น  ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติ  ผู้พิการ  ด้อยโอกาส  ไม่เกินรายละ 3 ,000 บาท  เสียชีวิตช่วย 2,500-10,000 บาท ฯลฯ   ปัจจุบันมีเงินกองทุนประมาณ 9 ล้านบาทเศษ

“ตอนนี้กลุ่มออมทรัพย์ยังมีที่ดินอีก 13 แปลงที่ซื้อเอาไว้  แปลงละ 2-3 ไร่  เรามีแผนจะเอามาลงทุน  เช่น ทำบ้านจัดสรรขาย  ผลกำไรจะเอามาเข้ากลุ่มออมทรัพย์  เพื่อให้กลุ่มเติบโต  เป็นแหล่งทุนเอาไว้ช่วยเหลือดูแลกันในยามเดือดร้อนจำเป็น  ส่วนเรื่องป่าชายเลน  เรื่องการอนุรักษ์  ตอนนี้เราไม่เหนื่อยเหมือนเมื่อก่อนแล้ว  เพราะป่าชายเลนฟื้นตัว  และมีกลุ่มเยาวชนช่วยกันดูแล”  บังเสบบอกและว่า

“วันนี้ป่าคลอกกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  แม้จะไม่เหมือนก่อน  แต่ก็มีกุ้ง  หอย  ปู  ปลา  หมึก  ให้ชาวบ้านเอามาเป็นอาหารและขาย   บางคนจับหมึกสายมีรายได้วันละ 3-4 พันบาท  เลี้ยงดูครอบครัวได้สบาย   หรือหาหอยกะพง  หอยแครง  ปูดำ  ปูม้า  กุ้งกุลา  กุ้งขาว  ปลากะพงแดง  อย่างต่ำๆ ต้องได้วันละ 5-8 ร้อยบาท ”

ครัวบางโรงขายอาหารพื้นบ้านและอาหารทะเลสดๆ

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.