กลุ่ม ปตท.เตรียมขยายพอร์ตธุรกิจ รุกลงทุนยานยนต์แห่งอนาคต รับเทรนด์พลังงานสะอาด ล่าสุด นำร่องเปิดโรงงานแบตเตอรี่ แฟสแรก 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง ป้อนความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมลุ้มศึกษาตั้งโรงงานรับจ้างผลิตรถอีวี
ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกทางด้านพลังงาน ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ เป็นต้น ตามเทรนด์ของหลายประเทศทั่วโลกที่วางเป้าหมายนำพาประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ในอนาคต
กลุ่ม บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานของไทย ที่เดิมคุ้นชินกันการในธุรกิจค้าปลีกน้ำ ภายใต้แบรนด์ พีทีที สเตชั่น และธุรกิจจัดหาก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการเป็นยักษ์ใหญ่ที่ร่วมบุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการกลั่นในภาคตะวันออกของประเทศไทย ทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจไทยมูลค่ามหาศาล
แต่อนาคตภาพพอร์ตธุรกิจของกลุ่ม ปตท.กำลังจะเปลี่ยนไป แม้ว่าจะยังคงดำเนินธุรกิจขับเคลื่อนความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นหลัก แต่ก็จะเห็นการก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์แห่งอนาคต
ล่าสุด เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัทเรือธง (Flagship) ของกลุ่ม ปตท.ที่ขับเคลื่อนธุรกิจไฟฟ้า ได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า หลังจากบริษัทเข้าไปลงทุนในบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐ เมื่อ 7 ปีก่อน ทำให้ได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่
โดยบริษัทฯ จะเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะสมกับแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในช่วงต่อไป คาดว่าในปีหน้าจะสามารถสรุปพื้นที่ตั้งโรงงานได้ เบื้องต้นก็มองพื้นที่EEC เพราะโรงงานแบตเตอรี่ควรอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตรถอีวี เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด
บริษัทฯ ยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิตเป็นเป็น 5 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ใน 5 ปีข้างหน้า ก่อนขยายสู่กำลังการผลิต 10 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ใน 10 ปี คาดว่า จะใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท
“ในระยะแรก เป็นการผลิตป้อนความต้องการใช้รถอีวีในประเทศ เช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กต๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Stationary Application) ขณะที่ระยะต่อไปมองเป้าหมายที่จะส่งออก”
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า โรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้ ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียฯ กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง(MW) ด้วยทุน 1,100 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายขึ้นเป็น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง(GWh) ต่อปี ตามเป้าหมายของ GPSC ที่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ตามนโยบายของบริษัทแม่ คือ ปตท.
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ ปตท.จะต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยจะมุ่งไปใน 2 เทรนด์หลัก คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC
ขณะที่ประเทศไทย ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมาย จะมีการผลิตรถอีวี ที่เป็นรถ 4 ล้อ ในปี 2568 อยู่ที่ 225,000 คัน และปี 2573 อยู่ที่ 725,000 คัน รถ 2 ล้อ ปี2573 จะผลิต 675,000 คัน และรถบัส ปี 2573 จะผลิต 34,000 คัน คิดเป็น 50% ของจำนวนรถบัสที่ผลิตออกมา
โดยในส่วนของไฟฟ้า กลุ่ม ปตท.พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตในมืออย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573
อีกทั้ง เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า จะมีบทบาทสูงขึ้นในอนาคต ซึ่ง ปตท.ให้ความสนใจและจะเดินไปใน 4 ทิศทาง ได้แก่ เรื่องของแบตเตอรี่ โดยทางบริษัทลูก คือ GPSC ได้เปิดตัวแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทยแล้ว
รวมถึง GPSC ได้จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อดำเนินการเข้าลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (“AXXIVA”) ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยี 24M มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท มีเป้าหมายกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565 เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน
นอกจากนี้ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ของ ปตท. ก็มีการวิจัยแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำต้นแบบการผลิต
“กลุ่ม ปตท.เราจะมองให้ครบ Chain EV ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่องที่เตรียมจะเข้าไปลงทุน”
ส่วนเรื่องของระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) ทาง GPSC ก็ได้จัดทำโครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System) ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) นำร่องติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อรองรับ EV Station พร้อมโซลูชั่นจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานี
อรรถพล กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆนี้ ปตท.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) จากประเทศไต้หวัน เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิต และเสริมศักยภาพระบบนิเวศ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตลอดห่วงโซ่คุณค่ายานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้รับผลิตสินค้า (Original Equipment Manufacturers: OEMs) ในประเทศไทย
โดยหากศึกษาแผนร่วมทุนกันสำเร็จ ปตท.จะพยายามดึงให้เกิดการจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เบื้องต้นมองเป้าหมายกำลังการผลิตรถยนต์ 4 ล้อ เฟส 1 อยู่ที่ 1 แสนคันต่อปี คาดว่า หลังจาก MOUภายใน 90 วัน จะรู้ผลว่าจะตัดสินใจอย่างไร หากการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จก็จะนำไปสู่การร่วมทุน JV ระหว่างปตท.กับ ฟ็อกซ์คอนน์ และจะเห็นโรงงานรับจ้างผลิตรถเกิดขึ้นภายใน 2 ปี
อีกทั้ง ปตท. กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการให้บริการที่ครอบคลุมเครือข่ายอีวีทั้งหมด จะเป็นลักษณะของแอพพลิเคชั่นที่ออกมารองรับการใช้งาน คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 2 เดือนนี้
ส่วนรถ 2 ล้อเบื้องต้น ได้จัดทำธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ล่าสุด บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ได้นำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้ามาแล้ว จำนวน 40 คัน และมีการตั้งจุดทดลองให้สามารถ Swap หรือการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบการสลับแบตเตอรี่ ด้วยการถอดเอาแบตเตอรี่ออก แล้วใส่แบตเตอรี่ลูกใหม่เปลี่ยนพร้อมใช้งานทันที โดยไม่ต้องจอดรอชาร์จไฟฟ้า คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 2-3 เดือนนี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในส่วนที่จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน ทาง OR ได้จัดตั้งแล้ว 30 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในสิ้นปีนี้ ส่วนการจัดตั้งนอกปั๊มน้ำมัน จะดำเนินการโดยบริษัท ออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (“On-I on Solutions”) ซึ่งมีเป้าหมายจะติดตั้ง 100 แห่งในสิ้นปีนี้ ดังนั้น สิ้นปีนี้ ในส่วนของกลุ่ม ปตท.จะมีปั๊มชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 200 แห่ง
ปตท.มองว่า การจะสนับสนุนการผลิตรถอีวีเพื่อให้ไทยไม่เสียเปรียบการแข่งขันกับเพื่อนบ้านนั้น ภาครัฐควรมีการออกโปรแกรมสนับสนุนเช่น ด้านต้นทุนแบตเตอรี่ เป็นต้น เพราะย้อนไปในอดีตที่ไทยเคยสนับสนุนการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน หรือที่เคยเรียกว่า อุตสาหกรรมเฒ่าทารก (Infant Industry) พอเวลาผ่านไปก็กลายเป็นเครื่องจักรสำคัญผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
ฉะนั้น คงไม่ใช่เรื่องผิดถ้ารัฐบาลจะมีการดูแลอุตสาหกรรมเฒ่าทารกอีกครั้ง ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมรถอีวี เพื่อที่ในอนาคตถ้าอุตสาหกรรมนี้เติบโตก็จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจได้เช่นกัน และอุตสาหกรรมอีวี ก็จะเป็น new s- curve ให้กับระเทศ