การแข่งขันในตลาดรถยนต์ช่วงปลายปีระอุขึ้นอีกครั้งในงาน มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 39 หรือ Thailand International Motor Expo 2022 (มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2022) กับเงินสะพัดภายในงานกว่า 5 หมื่นล้านบาท ด้วยยอดจองภายในงาน รวมทั้งสิ้น 42,768 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 36,679 คัน และ รถจักรยานยนต์ 6,089 คัน เติบโตขึ้นจากปีก่อนกว่า 20% โดยในปี 2021 ภายในงานมียอดจองอยู่ที่ 34,836 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 31,583 คัน และ รถจักรยานยนต์ 3,253 คัน
รวมไฮไลต์รถเด่นห้ามพลาด! ในงาน Thailand International Motor Expo 2022
สะพัด 5.1 หมื่นล้าน !! Motor Expo 2022 ยอดจองรวมทะลุ 4.2 หมื่นคัน
ทั้งนี้ PPTV Online รวบรวมยอดจองย้อนหลัง 5 ปี ของ งาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป ดังนี้
- 2021 : ยอดจองรวม 34,836 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 31,583 คัน และ รถจักรยานยนต์ 3,253 คัน
- 2020 : ยอดจองรวม 38,699 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 33,753 คัน และ รถจักรยานยนต์ 4,946 คัน
- 2019 : ยอดจองรวม 44,740 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 37,489 คัน และ รถจักรยานยนต์ 7,251 คัน
- 2018 : ยอดจองรวม 53,358 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 44,189 คัน และ รถจักรยานยนต์ 9,169 คัน
- 2017 : ยอดจองรวม 47,543 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 39,832 คัน และ รถจักรยานยนต์ 7,711 คัน
ภายในงานปีนี้ การแข่งขันด้านการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ค่อนข้างมีความหลากหลายโดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นกระแสความนิยมของผู้บริโภคชาวไทย ไล่เรียงตั้งแต่แบรนด์ จีน, ญี่ปุ่น, ฝรั่ง มากันเพียบ ส่งผลให้ผู้บริโภคที่เดินเลือกซื้อรถยนต์สามารถตัดสินใจได้ภายในงาน
สำหรับอันดับยอดขายภายในงานที่น่าสนใจในปีนี้คือ แบรนด์รถยนต์สัญชาติจีน อย่าง BYD ที่แม้ว่าจะเริ่มต้นทำการตลาดเพียงระยะเวลาไม่กี่เดือนในประเทศไทย และเข้าร่วมงาน มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2022 เป็นครั้งแรก แต่สามารถมียอดจองอยู่ที่อันดับ 3 จากการเปิดจองรถยนต์เพียง 1 รุ่นเท่านั้นของเจ้า BYD ATTO 3 รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% แซงหน้าแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งอย่าง ISUZU ที่รั้งอันดับ 4 ไว้ในกลุ่มหัวตาราง ส่วนเบอร์ 1 ที่ครองแชมป์ยอดจองสูงสุดคือ โตโยต้า และ รองลงมาคือ ฮอนด้า ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่กระตุ้นตลาดทำให้สามารถสร้างยอดจองได้พอสมควร
ด้านแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในงานปีนี้ อย่าง MG ที่ส่ง MG 4 Electric ลงตลาดสามารถกวาดยอดจองรองลงมาในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าทียอดจองไปทั้งสิ้น 2,443 คัน ส่วน GWM ที่มียอดจองอยู่ที่ 1,995 คัน ถือได้ว่าได้รับความร้อนแรงในระดับรองลงมากับหน้าตาน่ารักของเจ้า ORA Good Cat ส่วน NETA ที่มียอดจองในงานเพียง 827 คัน ยังเหมือนจะยังไม่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคชาวไทย แม้ว่าเทคโนโลยีภายในของเขานั้นจะดีเพียงไร แต่ก็ยังแพ้ใจให้กับรูปร่างหน้าตาและสมรรถนะของ BYD ส่งให้ยอดจองของ BYD พุ่งทะยานเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าด้วยยอดจอง 2,714 คัน
ส่วนแบรนด์กลางตารางขับเคี่ยวกันอย่างหนัก ระหว่าง Nissan ที่มีตัวแบกทีมอย่าง Nissan Kicks รถยนต์พลังงานไฮบริด ส่งผลให้ยอดจองในงานมีอยู่ที่ 2,478 คัน กับ Suzuki ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่ม MPV อย่าง Suzuki Ertiga Smart Hybrid และตัวชูโรงยังคงเป็น Suzuki Swift ซึ่งมียอดจองรวมอยู่ที่ 2,464 คัน โดยในกลุ่มนี้เบียดกันเพียงหลักสิบคันเท่านั้น
ขณะเดียวกัน แบรนด์ระดับพรีเมี่ยมลักชัวรี่ ระหว่าง Mercedes-Benz กับ BMW ที่ต่างมีผลิตภัณฑ์ใหม่เปิดตัวลงสู่ตลาดในงานครั้งนี้ มีกระแสตอบรับที่ดีเช่นกัน โดย Mercedes-Benz มียอดจองอยู่ที่ 1,597 คัน และ BMW มียอดจองอยู่ที่ 1,234 คัน และในกลุ่มนี้อย่าง Audi สามารถทำยอดจองได้ 182 คัน และ Volvo มียอดจองอยู่ที่ 330 คัน
จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงกระแสการตอบรับของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง ไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด และ พลังงานไฟฟ้า 100% จากผู้บริโภคด้วยราคาเฉลี่ยรถยนต์ในงาน และ การแนะนำผลิตภัณฑ์ของแบรนด์รถยนต์ที่มีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าไม่ว่าจะรูปแบบใด ภายในงานดังกล่าวปีนี้ ถือได้ว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันตลาดรถยนต์ให้ไปถึงเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ที่ราว 8.8 แสนคันในปีนี้