เมื่องาน Worldwide Developers Conference 2020 ของ Apple เริ่มต้นในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ ในรูปแบบใหม่ผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริง เหล่านักพัฒนาแอพทั่วโลกกว่า 23 ล้านคนจะมีโอกาสเข้าร่วมงานนี้จากบ้านของตัวเองผ่านทางแอพและเว็บไซต์ Apple Developer งานนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 31 แล้วโดยใช้ชื่อว่า WWDC20 ซึ่งเป็นการนำเหล่านักคิดและนักลงทุนมาเจอกันเพื่อติดต่อ แชร์ความคิด และสร้างสรรค์ร่วมกัน
ในบรรดาผู้เข้าร่วมงานก็จะมีผู้ชนะการแข่ง Swift Student Challenge จำนวน 350 คนจาก 41 ประเทศ/ภูมิภาค นักเรียนเหล่านี้ได้รับเลือกจากผลงาน Swift Playgrounds ของตัวเองที่ส่งเข้ามา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำหรับนักเรียนในงาน WWDC ประจำปีของ Apple ที่มีขึ้นเพื่อเชิดชูความสามารถและเฉลิมฉลองให้กับนักเขียนโค้ดและครีเอเตอร์รุ่นใหม่
Sofia Ongele, Palash Taneja และ Devin Green ก็อยู่ในกลุ่มนั้น เด็กเหล่านี้มีเป้าหมายชีวิตคล้ายกันอย่างที่ Ongele กล่าวสรุปไว้ นั่นคือ “การสร้างเทคโนโลยีและทำสิ่งดีๆ ไปพร้อมกัน” ทั้งสามคนมองว่าปัญหาในโลกนี้เป็นเหมือนโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ทุกปัญหาคือเสียงเรียกร้องให้เราลงมือทำอะไรสักอย่าง และพวกเขาก็ได้ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องนั้นแล้วอย่างกึกก้องและชัดเจน
สำหรับ Sofia Ongele วัย 19 ปีที่เพิ่งเรียนจบชั้นปี 2 ที่ Fordham University ในนิวยอร์ก ความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงของเธออยู่ในส่วนที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเทคโนโลยีและความยุติธรรมทางสังคม ReDawn ซึ่งเป็นแอพ iOS ตัวแรกของเธอนับเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อนคนหนึ่งของเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศตอนปี 1 หลังจากนั้น Ongele จึงสร้างแอพ ReDawn ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ตกเป็นเหยื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย และเป็นความลับ
“ฉันอยากสร้างอะไรที่ทำให้ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการนี้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว” Ongele ได้รับการทาบทามจากองค์กรต่างๆ ว่าอยากเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมพัฒนาแอพนี้กับเธอ แต่ความคิดเห็นสำคัญที่สุดที่เธอได้รับนั้นมาจากเพื่อนที่ถูกล่วงละเมิด “เพื่อนบอกว่าแอพนี้น่าจะสร้างความแตกต่างให้กับผู้คนได้จริง ซึ่งนั่นสำคัญกับฉันที่สุด”
Ongele เริ่มเขียนโค้ดในปี 2016 ตอนที่เธอเข้าค่าย Kode With Klossy ซึ่งเป็นคอร์สเรียนเขียนโค้ดฟรีสำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 13 ถึง 18 ปี Ongele บอกว่าการเรียนเขียนโค้ดนั้นเปลี่ยนโลกของเธอไปเลย
“เหมือนความคิดของฉันหมุนเปลี่ยนแบบ 180 องศา ฉันรู้เลยว่านี่แหละคือสิ่งที่ฉันอยากจะทำ” Ongele กล่าว ซึ่งเธอได้กลายมาเป็นผู้สอนของโปรแกรมนี้ต่อด้วย “ฉันอยากจะส่งต่อความรู้ให้กับผู้หญิงจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสี พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกว่างานสาขานี้เป็นอะไรที่ไกลเกินเอื้อม”
Ongele ยกให้ตุลาการศาลสูงสุด Sandra Day O’Connor และ Ruth Bader Ginsburg รวมทั้งสมาชิกสภา Alexandria Ocasio-Cortez เป็นเหมือนฮีโร่ของเธอ และเธอยังชั่งใจอยู่ว่าจะเรียนต่อด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ หรือทั้งคู่ดี ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน เธอก็รู้ว่าทักษะการเขียนโค้ดของเธอจะเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางนั้น: “ในทุกๆ วัน ฉันแค่อยากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งดีๆ ในสังคม”
Palash Taneja อายุ 19 ปีเติบโตมาในเมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อ 4 ปีก่อน เขาป่วยเป็นไข้เลือดออก ไวรัสตัวร้ายที่ติดต่อจากยุง ซึ่งอาการรุนแรงมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล
“ผมทรมานอยู่ตั้ง 2-3 เดือน และคิดว่านั่นแหละเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเรียนเขียนโปรแกรมและใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา” Taneja กล่าว ตอนนี้เขาเพิ่งจบปี 1 ที่ University of Texas ในเมืองออสติน
เขาต่อยอดโดยการสร้างเครื่องมือบนเว็บที่ใช้การเรียนรู้ของระบบเพื่อทำนายว่า โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะอย่างไข้เลือดออกนั้นมีการแพร่เชื้ออย่างไร และสำหรับผลงานที่ส่งเข้าร่วมการแข่ง Swift Student Challenge ในปีนี้นั้น เขาได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดย Taneja ได้ออกแบบ Swift Playgrounds ที่สอนการเขียนโค้ดขณะที่จำลองการแพร่ระบาดในหมู่ประชากร โดยแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการป้องกันอย่างการเว้นระยะห่างทางสังคมและหน้ากากอนามัยนั้นช่วยชะลออัตราการติดเชื้อได้แค่ไหน เขาสร้างผลงานนี้เพื่อให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ หลังจากที่เห็นคนบางกลุ่มยังไม่ระวังตัวเท่าที่ควร
นอกจากนี้ Taneja ยังใส่ใจเรื่องการศึกษาด้วย ในอินเดียสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น เขาอาสาสอนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ในโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ก่อนจะจากบ้านเกิดมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ เขาสร้างโปรแกรมที่แปลวิดีโอการศึกษาออนไลน์ยอดนิยมเป็นภาษาอื่นๆ ร่วม 40 ภาษา เพื่อให้เด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีสามารถเรียนรู้ผ่านเว็บได้
“ผมชอบทำงานกับเด็กๆ และคิดว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในหลายสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตคนได้” Taneja กล่าว “โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา”
Devin Green ชอบที่จะแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีและหาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว หลังจากจบการเรียนมัธยมปลายที่บ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เขาใช้ห้องนอนที่บ้านในแคสโตรแวลลีย์ แคลิฟอร์เนียเป็นห้องทดลอง
หนุ่มวัย 18 ปีที่จะเริ่มชีวิตเด็กปี 1 ที่มหาวิทยาลัย Stanford ในปีนี้ กำลังมีปัญหาในการตื่นตอนเช้า เขาจึงออกแบบโปรแกรมที่ใช้กับแผ่นวัดแรงกดที่วางไว้ใต้เตียง ถ้าโปรแกรมตรวจพบว่ายังมีน้ำหนักกดทับในเวลาเขาที่สมควรจะลุกจากเตียง นาฬิกาปลุกจะส่งเสียงดังไม่หยุดจนกว่าจะใช้มือถือสแกนคิวอาร์โค้ด
“มีคิวอาร์โค้ด 12 แบบติดไว้ทั่วบ้าน และโปรแกรมจะสุ่มให้สแกนแบบที่แตกต่างกันไปทุกเช้า” Green บอก “ดังนั้นผมจึงไม่มีทางรู้แน่นอนได้เลยว่าจะต้องไปปิดเสียงปลุกที่ไหน”
ความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกันนี้ได้แทรกซึมอยู่ในผลงานทุกชิ้นที่ Green สร้าง ผลงานที่ชนะการแข่ง Swift Student Challenge ของเขาคือหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ชื่อ Stanny ซึ่งสามารถรู้จำและโต้ตอบความคิดเห็นและคำถามต่างๆ ได้ถึง 63 รูปแบบ
นอกจากนี้ Green ยังมีแอพ 2 ตัวใน App Store โดยแอพตัวแรกสร้างตั้งแต่อายุ 13 ปี แอพตัวที่สองชื่อ Slight Work เป็นแอพทำการบ้านที่อาศัยเทคนิคบริหารเวลา Pomodoro Technique เพื่อเพิ่มเวลาทำงานโดยใช้การพักเบรกอย่างมีระบบ เขากับเพื่อนเคยใช้ตอนเรียนมัธยมปลายปีสุดท้าย และใช้เรื่อยมาจนถึงมหาวิทยาลัย
เมื่อพูดถึงเรื่องอนาคต Green หวังว่าจะใช้ทักษะในการแก้ปัญหาที่เขามีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้น
“ผมอยากมีส่วนช่วยในเรื่องความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง” Green กล่าว “การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่จำเป็นในการรู้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันในสังคม หรือเข้าถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งหรือสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญกับผมมาก”
Apple ภูมิใจที่ได้สนับสนุนและหล่อหลอมนักพัฒนาแอพรุ่นใหม่ผ่านทางโปรแกรมสำหรับนักเรียนประจำปีอย่าง WWDC และนั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายวิธีที่ WWDC20 แสดงการเชิดชูความสามารถและเฉลิมฉลองให้กับเหล่านักเขียนโค้ดและผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่หรือมีพื้นฐานด้านไหนก็ตาม เป็นครั้งแรกที่จะมีกิจกรรมพิเศษที่คัดสรรมาเพื่อนักเขียนโค้ดและนักออกแบบโปรแกรมรุ่นเยาว์โดยเฉพาะ รวมทั้งภารกิจ Swift Playgrounds ประจำวันที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมและมาสนุกกันได้
This website uses cookies.