ใครที่มีโอกาสไปเยือนตัวเมืองเชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้ อาจสังเกตเห็นจุดจอดจักรยานสีเขียวสดใสในชื่อ Anywheel กระจายตัวอยู่ตามย่านนิมมานฯ และคูเมืองเก่า จักรยานดังกล่าวเป็นผลงานของสตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ที่หยิบยก ‘นวัตกรรม’ มาใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกการสัญจรให้กับผู้คนในพื้นที่ และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งสำหรับเมืองที่ประสบปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษเป็นประจำทุกปี ภารกิจดังกล่าวดูจะเป็นความท้าทายอยู่ไม่น้อย เราจึงเดินทางไปยังเชียงใหม่เพื่อพูดคุยกับคุณซีท เรีย เจีย ผู้จัดการทั่วไปวัย 29 ปีแห่ง Anywheel สิงคโปร์ และทีมงานชาวไทยอีก 5 คน เกี่ยวกับเส้นทางธุรกิจและความตั้งใจในการช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่ให้เป็นสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริง
บริษัท Anywheel นั้นก่อตั้งโดยคุณเต อ่อง ซีอีโอ และปัจจุบันเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 3 ปี โดยให้บริการใน 3 ประเทศ คือสิงคโปร์ มาเลเชีย และไทย ทางบริษัทต้องการเพิ่มทางเลือกด้านการขนส่งสาธารณะที่สนุก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงง่ายให้กับคนในพื้นที่ ผ่าน ’นวัตกรรม‘ จักรยานที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้ และแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่าย บริษัท Anywheel ให้การสนับสนุนชุมชนใกล้เคียง โดยเปิดให้พื้นที่ที่ต้องการเข้าร่วมเป็นจุดจอดจักรยาน สามารถทำได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง โดยบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาจักรยานที่มีความทนทานและปลอดภัยมาให้บริการ
ทาง Anywheel ตัดสินใจเลือกเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางแห่งแรกของประเทศไทย เพราะเล็งเห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก อีกทั้งผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับบริการ bike sharing อยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ในช่วงแรก บริษัทได้นำร่องให้บริการในพื้นที่ตัวเมือง โดยปัจจุบันมีจุดจอดจักรยานมากกว่า 150 จุดรอบตัวเมืองเชียงใหม่ และสามารถรองรับผู้ใช้งานได้มากกว่า 6,000 คน ต่อวัน นอกจากนี้ ทาง Anywheel ยังมุ่งเน้นให้บริการในพื้นที่สถาบันการศึกษา โดยได้ติดตั้งจุดจอดจักรยานมากกว่า 150 จุด ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังมีแผนจะขยายไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมอีกด้วย
“เรามุ่งเน้นไปที่พื้นที่มหาวิทยาลัย เพราะเชื่อว่าการสร้างนิสัยรักษ์โลกนั้นควรเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย” คุณซีทกล่าว ก่อนจะเสริมว่าอย่างไรก็ดี Anywheel มีเป้าหมายที่จะทำให้คนไทยทุกช่วงวัยรู้จักและหันมาใช้บริการจักรยานสาธารณะกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ชาวเมืองเชียงใหม่เท่านั้น
ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนจำนวนมากหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะและพื้นที่แออัด ส่งผลให้การปั่นจักรยานกลับมาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิด รวมทั้งเป็นอีกทางเลือกการออกกำลังกายในช่วงโควิด-19 โดยในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีนนั้น มีการใช้งานระบบจักรยานสาธารณะเพิ่มขึ้นกว่า 150 เปอร์เซ็นต์ (จากรายงานของสำนักข่าว BBC) ขณะที่ในกรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย จำนวนผู้ใช้จักรยานนั้นเติบโตขึ้นกว่า 500 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ (จากรายงานของ Institute for Transportation and Development Policy) สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้น ยอดผู้ใช้งานจักรยานสาธารณะของ Anywheel นั้นเติบโตกว่า 19 เปอร์เซ็นต์ และมียอดใช้งานรายวันเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ครั้งต่อวัน เป็น 4 ครั้งต่อวัน ต่อจักรยานหนึ่งคัน นับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สะท้อนถึงพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในยุคหลังโควิด ชาวเชียงใหม่ รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาในอนาคต จะยังสนุกกับการขี่จักรยาน และเพลิดเพลินกับบรรยากาศในช่วงเดือนที่เชียงใหม่อากาศดี เราทราบดีว่าเชียงใหม่นั้นประสบกับปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี และเราก็หวังว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว” เขากล่าว
เมืองเชียงใหม่ได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะขึ้นในปี 2562 อันสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันเรื่องการเกษตรอัจฉริยะ การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น การใช้พลังงานสะอาด ไปจนถึงการขับเคลื่อนเครือข่ายการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility) และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งเมืองเชียงใหม่นั้นพยายามผลักดันให้มีการใช้จักรยานเพื่อลดมลภาวะ โดยได้มีการลงทุนทั้งในส่วนของเลนจักรยาน การจัดกิจกรรม Car-Free Day ไปจนถึงเมืองคาร์บอนต่ำ ซึ่งผู้ให้บริการจักรยานสาธารณะอย่าง Anywheel จะเข้ามาช่วยเติมเต็มวิสัยทัศน์ดังกล่าว
“ผู้ใช้งานสามารถดูจุดจอดจักรยานได้จากแอปพลิเคชัน ว่าสถานีที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างออกไปกี่เมตร กี่นาที โดยเราคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 10 บาทเท่านั้น ผมเชื่อว่าผู้บริโภคไม่ควรต้องจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” คุณซีทกล่าว
ในยุคแห่ง Internet of Things (IoT) นั้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลถึงกันบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยอุปกรณ์เหล่านี้อาจเป็นได้ตั้งแต่อุปกรณ์ในชีวิตประจำวันอย่างสมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไปจนถึงยานพาหนะและระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่าภายในปี 2573 ทั่วโลกจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตประมาณหนึ่งแสนล้านชิ้น หรือเฉลี่ยกว่า 15 ชิ้นต่อคน ซึ่งนอกจากการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว เทคโนโลยี IoT ยังทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างผู้คน กระบวนการและเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อดังกล่าวเพื่อยกระดับประสบการณ์ผู้บริโภค และมอบบริการที่ตรงจุดยิ่งขึ้น
ในกรณีของ Anywheel นั้น การใช้ IoT SIM ของดีแทคธุรกิจช่วยให้การบริหารจัดการเครือข่ายยานพาหนะเป็นไปอย่างแม่นยำ โดยทีมงานของ Anywheel สามารถตรวจสอบตำแหน่งของจักรยานแบบเรียลไทม์ เก็บสถิติการใช้งานตามพื้นที่และช่วงเวลา ไปจนถึงการคำนวณกิโลเมตรที่ปั่น อันจะเอื้อต่อการพัฒนาเครือข่ายการขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ และนำพาเมืองเชียงใหม่ไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างแท้จริงในที่สุด
“ดีแทคธุรกิจช่วยให้คำแนะนำเราเกี่ยวกับโซลูชันโทรคมนาคมในประเทศ รวมทั้งการออกแบบแพ็กเกจที่ตอบกับความต้องการของเราในราคาที่เหมาะสม โดยทางทีมดีแทคเข้ามาดูแลเรานับตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาต้นแบบ การทดลองระบบ ไปจนกระทั่งการส่งมอบ IoT SIM ชุดแรก จำนวน 1,000 ชิ้น เพื่อนำไปติดตั้งที่ฐานการผลิต ทำให้เรามั่นใจว่าดีแทคธุรกิจจะเป็นที่ปรึกษาที่ดีและเติบโตไปพร้อมกับเรา” คุณซีทกล่าว
ในอนาคต บริษัทจะเดินหน้าพัฒนาแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์กับชีวิตในเมืองยิ่งขึ้น และมีแผนจะต่อยอดไปสู่การให้บริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการแล้วในสิงคโปร์และมาเลเชีย เพื่อรองรับการเดินทางในระยะที่ไกลขึ้นสำหรับคนไทย
“เป้าหมายของเราคือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่สุด จริงอยู่ที่เรามีเป้าหมายจะขยายจำนวนจักรยานที่เราให้บริการ แต่เราไม่ต้องการเพิ่มจำนวนรถคราวละมากๆ หรือเน้นไปที่ยอดดาวน์โหลดอย่างเดียว เราต้องการให้เกิดการใช้งานจริง ผมอยากให้ Anywheel กลายเป็นแบรนด์ติดหูของคนเชียงใหม่ และในอนาคต เราอยากขยายบริการไปยังเมืองที่ใหญ่ขึ้นอีก เมืองที่ต้องการแก้ปัญหาการขนส่ง” คุณซีททิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา
As part of their spo…
This website uses cookies.