สถิติ 3 ปีของกรมการขนส่งทางบก ระหว่าง 2561-2563 ตรวจรถควันดำเพื่อป้องกัน PM2.5 จำนวน 631,813 คันทั่วประเทศ มีรถถูกพ่นห้ามใช้งานต้องเสียค่าปรับ 8,157 คัน ชี้รถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลก่อมลพิษปล่อยควันดำมากกว่ารถบรรทุก สาเหตุรถเก่า ไม่บำรุงเครื่องยนต์
วันนี้ (9 ธ.ค.2563) นายชัยรัตน์ พรสวัสดิ์ ผอ.สำนักการขนส่งผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า มาตรการในการลดมลพิษ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มาจากการใช้รถยนต์ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสภาพรถภายในสำนักงาน และยังได้ออกตรวจจับรถที่มีควันดำตามที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)กำหนด โดยเฉพาะรถใช้น้ำมันดีเซลจนถึงเดือนต.ค.นี้ ตรวจไปแล้ว 47,000 คัน และมีการพ่นห้ามใช้ไปแล้ว 312 คัน
รถที่มีค่ามลพิษควันดำเกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่จะพ่นห้ามใช้ เจ้าของรถจะต้องไปปรับปรุงเครื่องยนต์ และนำมาตรวจสภาพรถแล้วถึงจะผ่าน โดยรถทุกคันที่พ่นว่าห้ามใช้ ต้องเสียค่าปรับรายละ 5,000 บาท
นายชัยรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้พบว่ารถยนต์ที่เป็นรถกระบะขนาดเล็ก มีส่วนก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 มากกว่ารถบรรทุกขนาดใหญ่เพราะในท้องถนนมีรถกระบะจำนวนมาก และการตั้งจุดตรวจรถควันดำจะเจอว่ารถกระบะค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน สาเหตุเพราะเป็นรถเก่าและไม่มีการดูแลเครื่องยนต์ เพราะต้องหมายถึงมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
ผอ.สำนักการขนส่งผู้โดยสาร กล่าวว่า ถึงแม้จะตรวจจับรถควันดำ เพื่อลดมลพิษจากฝุ่น แต่ปัญหาที่พบมาก็คือว่าในช่วงปกติปัญหาก็จะลดลงไป แต่ช่วงเดือน ธ.ค.-ก.พ.ปัญหาฝุ่นจะเกิดภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในเขตกทม.บางจุด สาเหตุจากสภาวะอากาศ หรือช่วงของกระแสลม ก็มีส่วนที่ทำให้มลพิษที่เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงวิกฤต กรมการขนส่งทางบก ได้เพิ่มมาตรการเข้มข้นขึ้น ออกตรวจทุกวันจำนวนจุดหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันอยู่ประมาณ 20 จุด และมีเจ้าหน้าที่ตรวจการ 16 คน
โดยเฉพาะเส้นทางรถที่เข้าสู่ กทม.ทุกเส้นทาง เช่น สุวินทวงศ์ พหลโยธิน และเส้นทางสู่ทางภาคใต้ โดยจุดที่จะเข้ากทม.จะมีจุดตรวจเพิ่มความถี่มากขึ้น ส่วนในต่างจังหวัด ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ เพิ่มความถี่ในการออกตรวจจับควันดำ อย่างน้อยต้องไม่น้อยกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์
จากข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระหว่างปีงบ 2562-2564 มีการตรวจรถยนต์ควันดำทั่วประเทศ พบว่าในช่วงปีงบ 2561-2562 มีรถควันดำที่ถูกพ่นห้ามใช้งานรวมกัน 8,157 คันจากรถที่เรียกตรวจ 631,813 คัน
นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงสาเหตุที่ืทำให้ควันรถยนต์ดีเซล และรถเบนซินมีความแตกต่างกันมี เนื่องจากน้ำมันที่ใช้ และลักษณะการทำงานของเครื่องยนต์ต่างกัน โดยน้ำมันดีเซล จะระเหยยากกว่า เพราะจุดระเหยอุณหภูมิต้องสูง ส่วนน้ำมันเบนซินจะเป็นน้ำมันที่ระเหยได้ง่ายทั้งที่น้ำมัน 2 ชนิด มีกำมะถันไม่เกิน 50 ส่วนในล้านส่วน
นอกจากนี้เครื่องยนต์ดีเซล และเบนซิน มีลักษณะการจ่ายน้ำมันเข้าไปในเครื่องยนต์ต่างกัน เครื่องยนด์ดีเซลจะจ่ายน้ำมันผ่านหัวฉีด และฉีดพ่นน้ำมันออกไป แต่เพราะระเหยยากจึงอยู่ในลักษณะของการเป็นฝอยละอองน้ำมันที่จะเข้าในกระบอกสูบ ทำให้เกิดการสันดาบขึ้นโดยไม่มีหัวเทียนมาจุดประกาย
ลักษณะนี้เวลาการเผาไหม้น้ำมันดีเซล จะเริ่มเผาจากผิวด้านนอกละอองน้ำมัน และถ้าเกิดการเผาที่ไม่สมบูรณ์ จะหลงเหลือแกนกลางที่เป็นธาตุคาร์บอนตรงกลางและเคลือบสารไว้ ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลเกิดฝุ่นควันดำ
นายสุพัฒน์ กล่าวว่า ต่างกับเครื่องเบนซิน การจ่ายน้ำมันจะผ่านหัวฉีด แต่เพราะระเหยได้เร็ว เมื่อฉีดพ่นจากหัวฉีดเป็นละอองฝอยเล็กๆ จุดระเบิดหัวเทียนทำให้เกิดการสันดาบขึ้น จะอยู่ในรูปของไอน้ำมัน โอกาสทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็กจากการสันดาบที่ไม่สมบูรณ์จะมีน้อยกว่ารถดีเซล จึงเกิดควันดำ
ขณะที่รถเครื่องยนต์ดีเซล แต่หากไม่ดูแลรักษาเครื่องยนต์หลวมจะเกิดเป็นควันขาว ซึ่งเป็นละอองของน้ำมันเครื่องเพราะเครื่องยนต์หลวม จึงถูกปล่อยออกมาจากท่อไปเสีย
As part of their spo…
This website uses cookies.