10 ข่าวเด่นอุตสาหกรรมรถยนต์โลก



ปี 2022 อาจจะต่างจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ กิจกรรมและอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มกลับมาสู่สภาพปกติ คล้ายกับช่วงที่ โควิด-19 มีการแพร่ระบาด การมีวัคซีนและความรุนแรงของ โควิด-19 ต่อร่างกายลดลง ทำให้หลายประเทศนำนโยบายการอยู่ร่วมกันกับโรคนี้มาใช้ และทำให้งานอีเวนท์ออนกราวน์ทั้งหลายสามารถกลับมาจัดใหม่ได้อีกครั้ง และขณะเดียวกันบรรดาไลน์ผลิตรถยนต์ทั้งหลายที่เคยหยุดชะงัก หรือต้องปิดไปชั่วคราว ก็สามารถกลับมาเริ่มทำงานได้อีกครั้ง

เรามาดูกันว่า ตลอดช่วงปี 2022 อุตสาหกรรมรถยนต์มีข่าวเด่นๆ ในรอบปีอะไรบ้างที่น่าสนใจ



1.งานมอเตอร์โชว์ระดับโลกกลับมาจัดอีกครั้ง : หลังจากที่โดนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เล่นงานจนทำให้หลายงานต้องหยุดการจัดงาน ในที่สุดเราก็ได้เห็นมอเตอร์โชว์ระดับโลกหลายรายการกลับมาจัดกันอีกครั้งหนึ่ง

จริงๆ แล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ซึ่งเราได้เห็นงานอย่าง IAA Mobility หรือ Frankfurt Motorshow เดิมสามารถจัดงานได้ ส่วนในปี 2022 ทุกอย่างเหมือนกับถูกปลดล็อกออกจากทั้งกฎข้อบังคับของภาครัฐที่ควบคุมในการแพร่ระบาดของโรค ทำให้งานที่เป็นประจำปีอย่าง Detroit Motoshow หรือ NAIAS กลับมาจัดอีกครั้งและเป็นการจัดงานตามกำหนดเวลาใหม่ จากเดิมอยู่ที่เดือนมกราคมมาเป็นช่วงเดือนกันยายนแทน เช่นเดียวกับ L.A. Autoshow ก็มีจึดขึ้นในช่วงปลายปี ส่วน Paris Motorshow ที่จัดเป็นประจำทุก 2 ปีในปีค.ศ.ที่ลงท้ายด้วยเลขคู่ก็กลับมาจัดด้วยเช่นกัน จะมีที่หายไปคือ Geneva Motorshow ซึ่งในปี 2022 ไม่ได้มีการจัดงาน และจะมีในปี 2023 แทนพร้อมกันย้ายกำหนดการเดิมที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีไปเป็น 5-14 ตุลาคม 2023 แทน



2.การประกาศรุกตลาดรถยนต์ของ Xiaomi : การที่โลกเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุครถยนต์พลังไฟฟ้าหรือ BEV นั้น ทำให้ตลาดรถยนต์มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะบรรดาบริษัทที่เคยมุ่งเน้นอยู่ที่เรื่องของการผลิตเทคโนโลยี หรือ gadget โดยล่าสุด Xiaomi กลายเป็นผู้เล่นล่าสุดที่ประกาศในการกระโดดเข้าสู่ตลาดรถยนต์ BEV สำหรับในกรณีของ Xiaomi นั้นต้องบอกว่าไม่ใช่เพิ่งมีข่าว แต่มีกระแสข่าวหลุดออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เริ่มจากการประกาศเข้าสู่ตลาดในเดือนมีนาคม จากนั้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางแบรนด์ประกาศโปรเจ็กต์ในการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ BEV ออกสู่ตลาด โดยวางเป้าหมายว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วมาก และมีการยืนยันว่าโปรเจ็กต์นี้ถูกคิดมานานแล้ว เพียงแต่เพิ่งจะเปิดเผยออกมาสู่สาธารณชนเพียงไม่นานมานี้

ตอนนั้นมีการประกาศเปิดตัวบริษัทใหม่ชื่อว่า Xiaomi EV มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 10,000 ล้านหยวน มีพนักงานมากถึง 300 คน และยังนำทีมโดยผู้บริหารคนเดิมอย่าง Lei Jun ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Xiaomi

นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือ Xiaomi ยังได้ควบรวมกิจการ Deepmotion ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาการขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ Autonomous Driving ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 77.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้นักวิเคราะห์มองว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ Xiaomi จะพัฒนาขึ้นนั้น อาจมาพร้อมเทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติเลเวล 4 แสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมที่ถูกวางแผนเอาไว้นานแล้ว



3.Audi ประกาศเข้าร่วมการแข่งขัน F1 : Audi ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน อย่างเป็นทางการ โดยจะเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2026 หรือ อีก 4 ปีข้างหน้า โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Audi เข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าว มาจากทิศทางการพัฒนาของรถที่ใช้ในการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ซึ่งยืนยันว่าจะใช้เครื่องยนต์ไฮบริดแบบ V6 ที่ใช้ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึง DNA ความเป็นสปอร์ตของ Audi สอดคล้องกับการแข่งขันรถยนต์ที่ได้ชื่อว่า ได้รับความนิยมสูงที่สุด สำหรับรายละเอียดต่างๆ เช่น การเข้ามาแทนทีมใด จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยที่ผ่านมา นอกจากการแข่งขัน DTM แล้ว ทาง Audi ยังเข้าร่วมการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตหลากหลายรายการ โดยเฉพาะการแข่งขัน Le Mans ที่พวกเขาประสบความสำเร็จใจการคว้าแชมป์หลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1990-2000



4.Toyota กับการประกาศชัดเรื่องนโยบายการใช้ไฮโดรเจน : ขณะที่ภาพรวมของตลาดรถยนต์ในอนาคตกำลังเดินหน้าไปสู่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าแบบ BEV กันอย่างชัดเจน แต่ทาง Toyota เองกลับไม่เดิมพันเต็มตัวในตลาดแห่งนี้ และมีความชัดเจนในการนำไฮโดรเจนมาใช้ในการเป็นเชื้อเพลิงหลักทั้งกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน และการใช้ในรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell Vehicle

ไฮโดรเจน เป็นก๊าซที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก เบากว่าอากาศรอบตัวถึง 14 เท่า สามารถกลายสภาพเป็นของเหลวได้เมื่ออุณหภูมิลดลงถึง -253 องศาเซลเซียส สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้โดยการทำปฏิกิริยาระหว่างไฮโดรเจนและออกซิเจน โดยขณะใช้พลังงานจะปล่อยน้ำออกมาแทนคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเห็นผล อีกทั้งพลังงานไฮโดรเจนยังสามารถผลิตได้จากทรัพยากรต่างๆ บนโลก และยังง่ายต่อการจัดเก็บและขนส่งอีกด้วย

ไฮโดรเจนนอกจากจะสามารถนำไปใช้กับรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงอย่าง Toyota Mirai รวมถึงรถยนต์พลังงานสันดาปไฮโดรเจนอย่าง Toyota GR Yaris H2 แล้วนั้น ยังสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานตามบ้านเรือนผ่านเซลล์เชื้อเพลิงที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับครัวเรือน และในอนาคตก็มีการตั้งเป้าหมายว่าพลังงานไฮโดรเจนจะถูกนำมาใช้เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยไร้กังวล โดยทั้งหมดถูกทดลองอยู่ที่หลายๆ เมืองในจังหวัดฟุกุชิมะ ที่เคยประสบภัยพิบัติสึนามิจนทำให้โรงงานพลังงานนิวเคลียร์เกิดการรั่วไหล

นอกจากนั้น เพื่อให้เห็นว่าข้อจำกัดในการนำไฮโดรเจนมาใช้ได้รับการแก้ไขแล้ว เช่น การขนส่ง หรือการเติมในรถยนต์ที่เคยใช้เวลานาน ทาง Toyota ได้นำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการแข่งรถหลายต่อหลายรายการตลอดปี 2022 อีกด้วย



5. อินโดนีเซียจะเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ในอาเซียน : สิ่งนี้ถูกตั้งคำถามมากมาย แต่ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือ ความร่ำรวยในแร่ธาตุ โดยเฉพาะนิกเกิลที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะ Tesla เท่านั้นที่สนใจเข้ามาตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย แต่ยังรวมถึง LG และ Samsung จากเกาหลีก็เล็งเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในตอนนี้เองทาง LG ซึ่งดำเนินการผ่านทาง LG Energy Solution ได้ประกาศโครงการมูลค่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับการร่วมทุนของรัฐบาลอินโดนีเซียผ่านทางบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาอย่าง IBC หรือ Indonesia Bettery Coporation หลังจากที่มีการเจรจากันมาตั้งแต่ปลายปี 2021 นอกจากนั้นทาง Hyundai Motors เองก็เล็งประเทศนี้ให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองด้วยเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ อินโดนีเซียมีการประกาศนโยบายออกมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นปี 2021 แล้ว พร้อมกับปวารณาตัวเองเป็น Integrated electric vehicle (EV) supply chain and become an EV battery producer and exporter พูดง่ายๆ คือ กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และด้วยความที่เป็นเจ้าแห่งทรัพยากรต้นทางที่สามารถนำไปสู่การผลิตแบตเตอรี่ได้ ทำให้พวกเขาสามารถต่อรองและมีเหตุผลที่ดีพอในการดึงดูดความสามารถใจของบรรดาผู้ผลิตทั้งหลาย เช่นเดียวกับความพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมในประเทศเกิดเป็น Supply Chain ที่เอื้อและสนับสนุนการผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้า หรือ EV

ความเอาจริงเอาจังและการวางเป้าหมายที่ต้องการเดินหน้าไปถึงนั้นเป็นสิ่งที่อินโดนีเซียสามารถทำได้อย่างชัดเจน เมื่อบวกกับข้อได้เปรียบในเรื่องของทรัพยากรอย่างที่บอกข้างต้น ทำให้อินโดนีเซียถูกจับตามองทั้งในฐานะของต้นน้ำยันปลายน้ำในกระบวนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกระบวนการสร้างโรงงานเพื่อกระบวนการแปรรูปนิกเกิลสำหรับใช้ในแบตเตอรี่เริ่มต้นขึ้นในปี 2021 โดยในปี 2024 โรงงานผลิตแบตเตอรี่จากการลงทุนของเกาหลีใต้จะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ เช่นเดียวกับโรงงานผลิตรถยนต์พลังไฟฟ้าแห่งแรกในอินโดนีเซียก็จะเริ่มทำงาน ซึ่งในส่วนของโรงงานผลิตแบตเตอรี่นั้น มีการวางเป้าหมายในการผลิตแบตเตอรี่ต่อปีออกมารวมกันให้ได้ 140 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นตัวเลขมวลรวมของแบตเตอรี่ที่ถูกผลิตจากฐานทั่วโลกในปี 2020



6.ความผันผวนของราคาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ BEV : ความนิยมในรถยนต์พลังไฟฟ้า BEV เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อแร่อย่างลิเธียมที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักมีการถีบตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ในปี 2022 ตลาดทั่วโลกยังมีความต้องการในด้านของรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าต้นทุนเฉลี่ยของเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 160 เหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้จากเดิมที่มีราคาอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐฯ ในปีที่แล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การคว่ำบาตรโลหะที่มาจากรัสเซีย และการเก็งกำไรของนักลงทุน

สิ่งที่แสดงให้ถึงต้นทุนที่สูงของแบตเตอรี่ที่มีผลต่อราคาของตัวรถ คือ ต้นทุนที่กินเข้าไปมากในระดับ 30% ของราคาป้าย ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์พลังไฟฟ้าที่มียอดขายสูงสุดของโลกอย่าง Hongguang Mini ตัวรถยนต์มีราคาขายอยู่ที่ 4,500 เหรียญสหรัฐฯ แต่ต้นทุนของแบตเตอรี่สูงถึง 1,500 เหรียญสหรัฐฯ แน่นอนว่าอัตราส่วนของราคาแบตเตอรี่ต่อราคาป้ายนั้นแปรผันไปตามขนาดของตัวรถยนต์ด้วย เพราะยิ่งรถยนต์ใหญ่ แบตเตอรี่ก็ต้องใหญ่ขึ้น และมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนน้ำมันเบนซินและดีเซลสำหรับรถยนต์สันดาปภายในก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน และผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่าความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมยังผลักดันให้ผู้ซื้อจำนวนมากขึ้นเลือกซื้อรถยนต์พลังไฟฟ้ากันมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะผันผวน



7. Citroen เผยโลโก้ใหม่ต้อนรับตลาดพลังไฟฟ้า : การเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ดังนั้น หลายแบรนด์นอกจากจะมีแผนการในการทำตลาดแล้ว ในแง่ของการสะท้อนภาพลักษณ์ของตัวเองออกมาผ่านทางโลโก้ก็มีความจำเป็น และ Citroen คือ หนึ่งในนั้นที่จัดการเปลี่ยนแปลงโลโก้ของตัวเองใหม่เพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างเต็มตัว

จะว่าไปแล้วมันคือเอาของเก่ามาเล่าใหม่ แต่ทุกอย่างต้องมีเรื่องราว เพราะแม้ว่าโลโก้ที่เห็นอยู่นี้จะเป็นโลโก้ดั้งเดิมที่เปิดตัวและใช้ในปี 1919 แต่ก็มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยใหม่ โดยแบรนด์รถยนต์ที่มีอายุ 103 ปีรายนี้ได้เปลี่ยนสีของสัญลักษณ์มาเป็นโทนสีที่เรียกว่า Monte Carlo Blue เพื่อสื่อถึงความเกี่ยวพันของแบรนด์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม



8.สหรัฐฯ อนุมัติแผนตั้งแท่นชาร์จสาธารณะใน 50 รัฐทั่วประเทศ : ปัญหาหนึ่งที่ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่สามารถขยับขยายยอดขายของรถยนต์พลังไฟฟ้าในบ้านตัวเองได้เหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุโรปคือ การรองรับการใช้งานของรถยนต์พลังไฟฟ้าโดยเฉพาะแท่นชาร์จสาธารณะยังไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของประชากร ดังนั้น ทางรัฐสภาของเมืองลุงแซมจึงอนุมัติแผนการเพิ่มและขยายจำนวนแท่นชาร์จสาธารณะใน 50 รัฐทั่วประเทศแล้ว เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเดินทางของคนในยุคหน้า

USDOT หรือหน่วยงานที่ดูแลในด้านระบบขนส่งในสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า แผนการที่นำเสนอไปในการเพิ่มจำนวนแท่นชาร์จสาธารณะบนไฮเวย์ตั้งแต่รัฐ Washington ไปจนถึง Puerto Rico รวมระยะทางมากกว่า 75,000 ไมล์ หรือ 120,700 กิโลเมตร เพื่อครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ

การลงทุนครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนงบประมาณที่เรียกว่า November 2021 ที่มีการใช้เงินลงทุนจำนวน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกับการขยายตัวของการใช้งานรถยนต์พลังไฟฟ้าทั้งในภาคประชาชนและภาคขนส่งของประเทศ โดยตามแผนการนี้ จะมีการแบ่งเงินจำนวน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ออกมาสร้างแท่นชาร์จสาธารณะเพื่อติดตั้งตามรัฐฯ ต่างๆ โดยเน้นไปที่เส้นทางไฮเวย์ข้ามรัฐฯ เป็นหลัก และจะใช้การก่อสร้างทั้งหมด 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการปฏิบัตินั้น ทาง USDOT ยืนยันว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของแต่ละรัฐ โดยจะมอบหมายให้แต่ละรัฐเป็นผู้ลงมือทำภายใต้เงื่อนไขที่สอดคล้องกับตัวแผนการที่วางเอาไว้ โดยเฉพาะในแง่ของหลักการที่จะต้องสอดคล้องกับการใช้งาน เช่น รัฐจะต้องจัดเตรียมเรื่องของความพร้อมในการก่อสร้างแท่นชาร์จสาธารณะแบบ DC Quick Charge รวมถึงระยะห่างของแท่นชาร์จสาธารณะแต่ละจุดที่จะต้องห่างกันไม่เกิน 50 ไมล์ หรือ 80.5 กิโลเมตร และจะต้องติดตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากเส้นทางหลักของไฮเวย์ไม่เกิน 1 ไมล์

ตามการประกาศของประธานาธิบดี Joe Biden นั้น ภายในปี 2030 จำนวน 50% ของรถยนต์ใหม่ที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์แบบไฮบริดเสียบปลั๊ก-PHEV และจะต้องมีแท่นชาร์จสาธารณะทั่วประเทศมากกว่า 500,000 แห่ง นอกจากนั้นทาง Air Resource Board ของมลรัฐ California เองยังได้ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าสนมาว่า ภายในปี 2035 รถยนต์ใหม่ที่ขายในตลาดแห่งนี้จะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์แบบไฮบริดเสียบปลั๊ก-PHEV เท่านั้น



9.Nissan-Renault เตรียมปรับโครงสร้างใหม่หลังตลาดรถยนต์เปลี่ยนไป : เมื่อเข้าสู่ปี 2020 ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น และทั้งภาครัฐและบริษัทรถยนต์ก็เร่งเดินหน้าในการนำโลกแห่งการขับเคลื่อนไปสู่รถยนต์ประเภทนี้กันมากขึ้น และแม้ว่าทาง Nissan จะมีรถยนต์ไฟฟ้าทำตลาดในเชิงพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2009 ด้วยรุ่น LEAF และมาเพิ่มอีกรุ่นในปี 2019 กับ Ariya แต่ทว่าทาง Renault ยังไม่มีแผนการรุกตลาดประเภทนี้อย่างจริงจังเท่าไร นั่นจึงนำไปสู่การเตรียมการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมในการจัดการเกี่ยวกับอนาคตของความร่วมมือ

สิ่งที่น่าสนใจและถูกมองว่ามีนัยสำคัญคือ ความสำคัญของการประชุมที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของ Renault-Nissan Alliance นับจากปี 2018 ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการบริหารอันเนื่องมาจากการถูกจับกุมของ Ghosn เลยทีเดียว เพราะอาจจะมีแนวโน้มว่าทั้งคู่อาจจะไม่ได้ไปต่อ เพราะทาง Renault เองก็ต้องการแยกส่วนกิจการของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาเป็นบริษัทต่างหาก ซึ่งหมายความว่าจะไม่ได้ข้องเกี่ยวกับเครืออีกต่อไป ขณะที่ Renault เองก็ต้องการขายหุ้นของ Nissan ออกไป ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีการระบุจำนวน แต่เชื่อว่าก็อาจจะทั้งหมดที่ถืออยู่ซึ่งมีจำนวนเพิ่มจาก 15% มาเป็น 43% ในเวลาต่อมา

โครงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของ Renault หรือที่รู้จักกันในชื่อ Ampere ถูกมองว่าเป็นอนาคตของทาง Renault และเชื่อว่าแบรนด์ดังของฝรั่งเศสอาจจะเลือกเดินเส้นทางของตัวเองโดยที่ไม่มี Nissan อยู่เคียงข้างเหมือนกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อความคล่องตัวในการทำงานที่มีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในและบรรดานักวิเคราะห์ในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์อีกฝั่งเชื่อว่า ความคิดที่จะแยกตัวออกมาจัดตั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์พลังไฟฟ้าของ Renault นั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในแง่ของการเป็นพันธมิตรจนถึงขนาดเลิกจับมือกันเหมือนกับที่บางส่วนวิเคราะห์กันเอาไว้ เพราะเชื่อว่าทาง Renault เองอาจจะยังต้องพึ่งพา Nissan ในบางเรื่องโดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อขายในเชิงพาณิชย์ ที่ Nissan มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 10 ปี

ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำหรับ Nissan อาจจะมีนัยสำคัญที่ต้องจัดการ 2 เรื่องคือ การปรับปรุงโครงสร้างบริหารของบริษัทใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของผู้บริหารระดับสูงที่ Nissan มองว่ายังไม่ลงตัว ขณะที่อีกเรื่องคือ การเตรียมระดมทุนเพื่อซื้อหุ้นที่ทาง Renault เตรียมเทขายออกไปเพื่อไปลงทุนก่อตั้งกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังไฟฟ้าโดยตรง

แน่นอนว่าตรงนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญคือ แล้ว Nissan จะกลับมาประสบปัญหาทางการเงินอีกรอบเหมือนกับยุคทศวรรษที่ 1990 ไหม หากพวกเขาต้องระดมทุนซื้อหุ้นกลับคืนมา ทางด้าน Seiji Sigiura นักวิเคราะห์อาวุโสที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นเชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ เพราะสถานการณ์โดยรวมของ Nissan ในตอนนี้ยังค่อนข้างดี และเชื่อว่าทาง Renault อาจจะไม่ได้ปล่อยหุ้นทั้งหมดจำนวน 43% ออกมา อาจจะแค่ส่วนหนึ่งก็ได้



10.ชิปขาดแคลน ยังเป็นปัญหาในการผลิตรถยนต์ : การขาดแคลนชิพและเซมิคอมดักเตอร์อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2020 นั้นยังถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปัญหานี้ไม่น่าจะจบลงภายในปีนี้ แต่อาจจะถูกลากยาวต่อเนื่องจนไปถึงปี 2023 เป็นอย่างเร็วที่สุด หรืออาจจะทะลุไปจนถึงปี 2024

จากปัญหานี้ ทาง S&P Global เผยว่าบรรดาแบรนด์ต่างๆ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และวิเคราะห์พร้อมประเมินว่ามีแนวโน้มที่การผลิตรถยนต์อาจจะหายไปถึง 5.7 ล้านคันจากตัวเลขการผลิตที่คาดการณ์กันเอาไว้

นอกจากเรื่องของชิพแล้ว ยังมีอีก 2 ปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นผลกระทบและทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการผลิตชิ้นส่วน นั่นคือ การที่ตลาดรถยนต์อยู่ในสภาวะ BEV กำลังฮ็อต ทำให้ซัพพลายเออร์หลายรายวางแผนในการปรับรูปแบบการผลิตเพื่อรองรับกับการเติบโตของตลาด BEV ในอนาคต

จากสาเหตุเดียวกันนี้ ทำให้แร่ธาตุบางชนิดที่มีความเกี่ยวพันกับการผลิตรถยนต์ปกติในปัจจุบันแต่สามารถนำไปใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ของรถยนต์ BEV เช่น อะลูมิเนียม พัลลาเดียม ฯลฯ ก็มีราคาสูงขึ้น เช่นเดียวกับการขาดแคลนเพราะถูกโยนไปให้กับการผลิตแบตเตอรี่เป็นหลัก

แน่นอนว่าหลายฝ่ายคิดว่าภายในปี 2023 ปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิพในอุตสาหกรรมรถยนต์น่าจะจบสิ้นลงหลังจากที่โรงงานผลิตชิพบางแห่งได้รับการก่อสร้างเสร็จสิ้นและพร้อมเปิดดำเนินการ แต่ทางด้าน Volkswagen กลับไม่เชื่อเช่นนั้น และคิดว่าปัญหานี้น่าจะถูกลากยาวออกไปอีกจนถึงปี 2024 เพราะทั้งหมดคือเรื่องของโครงสร้างการผลิตและความต้องการของหลายฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แก้กันง่ายๆ

‘จริงอยู่ที่โรงงานผลิตบางแห่งของผู้ผลิตชิพก่อสร้างเสร็จ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ ภายในข้ามคืน เพราะเกี่ยวพันกันโครงสร้างการผลิตที่ยังไม่ลงตัว และความต้องการที่มีมากมายรออยู่ และตลอดทั้งปี 2023 เราน่าจะต้องเจอปัญหาเรื่องการขาดแคลนกันต่อไป เพียงแต่อาจจะไม่รุนแรงหรือหนักมากเท่ากับปี 2021 และ 2020’ Murat Aksel ผู้บริหารระดับสูงของ Volkswagen กล่าว