Motor Sport Sponsored

10วันชี้ชะตา! เข็มทิศ’โอลิมปิกเกมส์’ – หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Motor Sport Sponsored
Motor Sport Sponsored

วันอาทิตย์ ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.

จับตาโค้งสุดท้ายจริงๆ กับคำว่า “โอลิมปิกเกมส์” ครั้งประวัติศาสตร์จะไปต่อในทิศทางใด……

ปฏิทินจอดแช่ในเดือนมีนาคม 2021 จะตัดสินว่า “อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”!!!

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และจากนี้อีก 10 วัน ทุกคนมีหน้าที่ “จับตา” และ “จับจ้อง” ถึงสถานการณ์การเป็นเจ้าภาพของ ญี่ปุ่น ที่ตอนนี้แทบจะมีข่าวออกมาเป็นรายวัน

มีทั้ง “ภาพเบลอ” และมีทั้ง “ภาพที่เริ่มชัด” เริ่มจะบอกเล่าได้ว่า “โตเกียวเกมส์ 2020” ที่ย้ายมาแข่งขันในปีนี้ ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2021 จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร

เน้นย้ำว่า จัดแน่…แต่จะออกมาในรูปแบบไหนอันนี้คือสำคัญ

เพื่อไม่ให้ต้องบอบช้ำไปกว่านี้!!!

l กระแสไม่เคยจบ!‘เลื่อน’หรือว่าจะ‘เลิก’

เมื่อ 24 มีนาคม 2020 ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเวลานั้น ได้บรรลุข้อตกลงกับ โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ในเลื่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นเวลาประมาณ 1 ปี เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทางเดียวที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของพิษไวรัสโควิด-19โดยให้ความสำคัญต่อด้านสุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬาเป็นหลัก นับเป็นครั้งแรกที่ อาเบะ ได้แถลงต่อสภาเกี่ยวกับการคิดเลื่อนจัดการแข่งขัน

เวลานั้นทั่วโลกติดเชื้ออยู่ที่ตัวเลขแตะที่ 400,000 ราย

อีก 6 วันต่อมา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล(IOC),คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC), คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020, รัฐบาลกรุงโตเกียว และรัฐบาลแห่งประเทศญี่ปุ่น แถลงวันแข่งขันใหม่

โอลิมปิกเกมส์ จะแข่งขัน 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2021และพาราลิมปิกเกมส์ วันที่ 24 สิงหาคม-5 กันยายน 2021 เหตุผลสำคัญคือ 3 ประการ

1.ปกป้องสุขภาพของนักกีฬาและทุกคนที่มีส่วนร่วม และเพื่อสนับสนุนการยับยั้งการระบาดของโรค

2.คุ้มครองผลประโยชน์ของนักกีฬาและกีฬาโอลิมปิก

3.เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินการจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ

จากนั้นข่าวคราวสร้างความสับสนมาพร้อมกับการระบาดของไวรัส ไม่ใช่แค่เพิ่งเกิด แต่มันต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา

3 มีนาคม 2021 นางเซโกะ ฮาชิโมโตะ รัฐมนตรีญี่ปุ่นที่ดูแลการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ตอบข้อถามสมาชิกรัฐสภาว่า ข้อตกลงกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูร้อน โตเกียว 2020 ได้จนถึงสิ้นปีนี้ หากการฉีดวัคซีนยังไม่สัมฤทธิผล ในการยับยั้งการระบาด

l สมัยต่อไปของ‘บาค’ท้าทายยิ่งนัก

องค์กรสำคัญอย่าง ไอโอซี มีการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 137 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และประเด็นใหญ่คือ โธมัส บาค วัย 67 ปี ชาวเยอรมัน ได้รับความไว้วางใจจากไอโอซีเมมเบอร์ ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น

จากการลงคะแนนที่จัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ เมื่อ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง บาค ได้รับคะแนนทั้งหมด 93 เสียง และ ไม่โหวต 1 เสียง

สมัยแรกที่ได้รับการชูมือนั้น บาค ได้รับตำแหน่งที่บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา เมื่อปี 2013 และดำรงตำแหน่งวาระ 8 ปี แต่สมัยที่ 2 นี้ จะดำรงตำแหน่งต่ออีก 4 ปี จนถึงปี 2025

สิ่งสำคัญและท้าทายอย่างมากก็คือ การเดินหน้าจัดแข่งขัน โอลิมปิก โตเกียว 2020 และ โอลิมปิก ฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 ที่เป็นสถานการณ์ที่จะ “แสดงออก” ในฐานะของการเป็น “ผู้นำ” เพราะนี่คือวิกฤติที่คนยุคนี้ไม่เคยเผชิญ

ไอโอซี คู่มือสำหรับการแข่งขัน(เพลย์บุ๊ค) ขึ้นมา และได้คำแนะนำทางเทคนิค จากผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เพื่อต้องการให้นักกีฬา และผู้เข้าร่วมงานปลอดภัยที่สุด

บาค ที่ยืนยันมาตลอดว่า “โตเกียวพร้อม” ยืนยันมาตลอดว่า “โตเกียวจัดได้” ยังให้ความเชื่อมั่นถึง ไซโกะ ว่าจะทำให้การแข่งขันออกมาสมบูรณ์ที่สุดและเป็นไปในทิศทางการ ไอโอซี วางไว้

โดยเฉพาะเรื่องความเสมอภาคทางเพศ

นั่นมาจากเคสที่ นายโยชิโระ โมริ ประธานคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกเกมส์ ได้ประกาศลาออก หลังจากให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้หญิงด้วยถ้อยคำที่ไม่สมควร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาและทำให้ “หญิงเหล็กไซโกะ” ขึ้นมาทำงานแทน

น่าสนใจก็คือ บาค ยืนยันว่า “จัดได้” แต่ ญี่ปุ่น เองก็เหมือนกับว่า “ยังไงดี” อยู่บ่อยครั้ง เพราะ ไซโกะ เพิ่งกล่าวไปว่า สัญญาที่ทำไว้ระบุว่า เอกสารสัญญาสามารถที่จะ “เลื่อนได้” ไปจนถึงสิ้นปีนี้

l ร่วมพลังเดินหน้าฝ่าวิกฤติโควิด-19

หนทางสว่างตอนนี้ก็คือ “วัคซีน” เริ่มที่จะใช้ได้ และสัญญาณการออกฤทธิ์เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างขาใหญ่อย่าง อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัย

ในหลายๆ ประเทศมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชากรของตนเอง ซึ่ง ไอโอซี ยืนยันว่า พร้อมที่จะทำทุกทาง เพื่อให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่จากทุกๆ ชาติ ได้รับวัคซีนก่อนเดินทาง

น่าสนใจก็คือ ทางการของจีน ได้แจ้งว่า พร้อมที่จะผลิตวัคซีนสำหรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าร่วมทั้งหมด ซึ่งจีนสามารถสนับสนุนเรื่องวัคซีนนี้ ผ่านไปยังองค์กรระหว่างประเทศ หรือกับประเทศนั้นๆ ได้โดยตรง ในเรื่องนี้ ไอโอซี พร้อมที่จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้กับนักกีฬาโอลิมปิก รวมถึงพาราลิมปิก ที่ต้องการจะรับวัคซีนในส่วนนี้

การขานรับเรื่องการฉีดวัคซีน คลอบคลุมไปถึง องค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาดา) ให้คำมั่นว่า การได้รับวัคซีนจะไม่ส่งผลต่อการตรวจสารกระตุ้นแต่อย่างใด และจะมีการจัดเก็บตัวอย่างในระยะยาว ซึ่งสามารถเก็บได้นานถึง 10 ปี เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์ซ้ำในอนาคตได้

…………….ถึงตรงนี้ก็ต้องมาลุ้นกันว่า สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไรกับเส้นทางของการแข่งขัน ที่จะมีการตัดสินกันก่อนที่“การวิ่งคบเพลิง” จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 25 มีนาคม หรืออีก 10 วัน นับจากนี้

ญี่ปุ่น ระบุเอาไว้ว่า การตัดสินใจเรื่องต่างๆ จะเกิดขึ้นในคราเดียวกันนี้ และจะเกิดขึ้นก่อนเกมจะเริ่ม 4 เดือน

มาถึงขั้นนี้เชื่อว่า “น่าจะ” ไม่มีการเลื่อน จะจัดแข่งในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ค่อนข้างแน่

เพียงแต่จะอยู่ในข้อจำกัดขนาดไหน โดยเฉพาะเม็ดเงินที่อาจจะต้อง “หั่นเนื้อเพื่อเนื้อ” เรื่องแฟนกีฬาชาวต่างชาติ จะไม่สามารถเดินทางมาชมการแข่งขัน

เรื่องนี้กำลังถูกพิจารณาอย่างละเอียด และรอบคอบ สำคัญที่สุดก็คือ สถานการณ์รอบด้าน สถานการณ์ปัจจุบันสำคัญยิ่ง เพราะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

กรณีที่ว่า “ไม่ให้ผู้ชมจากต่างประเทศ” เข้าไปร่วม แล้วนำเฉพาะ “ผู้ชมที่อยู่ในประเทศ” เท่านั้น เพื่อป้องกันการระบาด หรือการกลายพันธุ์

หรือยกตัวอย่างที่ชัดที่สุดก็คือ “ผู้สื่อข่าวจากต่างประเทศ” ที่มี “โควตาจำกัด” อยู่แล้ว จะสามารถเดินทางไปได้หรือไม่

หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการฯ, ผู้บริหารที่ไม่ใช่จากสมาคมกีฬานั้นๆ แต่เป็นบอร์ดจะสามารถเข้าได้หรือเปล่า

“ถ้าไม่ได้” เชื่อว่า นาทีนี้ก็ “ไม่ใช่ปัญหา” แต่ “ถ้าได้” ล่ะจะต้องไปกันแบบไหน จะต้องกักตัวหน้า-หลัง 14 วัน คูณ 2 เข้าไป หรือไม่อย่างไร

ไปอยู่แล้วต้องควบคุมแบบ “บับเบิ้ล” จำกัดเฉพาะเขต “โอลิมปิกโซน” หรือเปล่า อันนี้ยิ่งเป็นรายละเอียดปลีกย่อยเข้าไปอีก เรื่องแบบนี้เชื่อว่า ญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่า “เอาไว้ทีหลัง” แน่นอน แต่จะต้องมีการพิจารณาแบบถ้วนถี่ และน่าจะได้คำตอบพร้อมๆ กันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

คิดแล้วน่าปวดศีรษะแทนจริงๆ การเป็นเจ้าภาพแต่ละครั้งของญี่ปุ่น ไม่เคยง่ายเลย

……เมื่อปี 1940 ญี่ปุ่น กำลังจะเป็น “ชาติแรก” ของทวีปเอเชีย ที่ได้สิทธิ์เป็น “เจ้าภาพ” จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน (Summer Olympics) และกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว (WinterOlympics)ในปฏิทินเดียวกัน

แต่แล้วโอลิมปิกทั้งร้อนและหนาวของญี่ปุ่น ก็ไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากพวกเขาตัดสินใจถอนตัวในปี 1938 เพื่อเข้าสู่สงครามโลก ครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว

……ญี่ปุ่น ในฐานะขุนศึกผู้พ่ายแพ้ ฟื้นฟูตัวเองกว่าทศวรรษ และสุดท้ายได้รับเอกราช เมื่อปลดแอกจากปฏิบัติการบัญชีดำที่สิ้นสุดลงในปี 1951 ด้วย “สนธิสัญญาซานฟรานซิสโก” พวกเขาก็ก้าวสู่การเติมฝันในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ ในปี 1964

เป็นมหกรรมกีฬาที่เปลี่ยนแปลงพวกเขาไปตลอดกาล…ด้วยการใช้กีฬาในการรีแบรนด์ประเทศ

จับตาเช่นกันในครั้งนี้ ที่ท้าทายทุกด้านของชีวิต

กับวิกฤติสาหัสที่สุดในรอบ 100 ปี ที่มนุษย์ต้องเจอ………

บี แหลมสิงห์

Motor Sport Sponsored
แข่งรถ รถแข่ง

การแข่งรถ (หรือเรียกว่าแข่งรถยนต์ หรือ รถแข่ง) เป็นมอเตอร์สปอร์ตที่เกี่ยวข้องกับการแข่งโดยใช้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ รถจักรยาน สำหรับการแข่งขัน

This website uses cookies.