“ไม้กฤษณา” ปลูกได้เองไม่ต้องลักลอบตัดจากป่า ขายน้ำมันและแก่นได้ราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดยุโรป-ตะวันออกกลาง แต่ติดปัญหาภาษีศุลกากรสูง ทำให้แข่งกับประเทศอื่นยาก
การลักลอบตัดไม้กฤษณาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานับสิบปี
แต่มีแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลด การลักลอบตัดไม้กฤษณาในป่าอนุรักษ์ได้ก็ คือ “การปลูกเชิงพาณิชย์” ที่ทำให้สามารถปลูกได้ เก็บผลิตได้ และขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายเฉลิมชัย สมมุ่ง ประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย ประธานกรรม-การบริหาร บริษัท อะการ์วูดแพล้นส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท อะการ์วูด ลิสซิ่ง จำกัด ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า
ไม้กฤษณาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เนื่องจากสามารถทำประโยชน์ได้ทั้งต้น น้ำมัน และแก่นไม้ ที่ค่อนข้างมีมูลค่าสูงมาก เมื่อนำไปสกัดและแปรรูป ซึ่งสามารถส่งออกไปได้ในตลาดทั่วโลก
ผู้ที่เคยทำไม้จากป่า ก็ได้ชักชวนให้มาทำให้ถูกต้อง เพราะการเพาะปลูกถูกกฎหมาย ไม่ต้องเสี่ยงอันตราย ทั้งจากการถูกสัตว์ทำร้าย ป่วยเป็นไข้ป่า และผิดกฎหมาย เสี่ยงติดคุก และการหาไม้ในป่าก็ไม่ใช่ว่าจะเจอแก่นไม้ได้ง่าย ๆ เพราะไม่ได้มีทุกต้น
นายเฉลิมชัย อธิบายถึงการปลูกไม้กฤษณาว่า กฤษณาเป็นพันธุ์พืชอนุรักษ์บัญชี 2 (เช่นเดียวกับกล้วยไม้) จึงต้องขึ้นทะเบียนแปลงปลูกกับไซเตส กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
และในการส่งออกจะต้องขอหนังสืออนุญาตส่งออก (CITES export permit) จากกรมวิชาการเกษตร จึงจะส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้กฤษณาออกไปขายต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม การปลูกไม้กฤษณาให้ได้คุณภาพดี ในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญคือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคเหนือบางส่วน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การปลูกกฤษณาจะต้องมีน้ำที่เพียงพอ ไม่มีน้ำขัง หรือปลูกเป็นไม้แซมในสวนยางพาราก็ได้
การปลูกจะต้องใช้ความรู้และทักษะ และเวลาค่อนข้างนาน จึงจะให้ผลผลิตดี โดยเฉพาะการเกิดแก่นไม้ ซึ่งต้องใช้วิธีการเจาะไม้ จึงจะเกิดแก่นได้ รวมถึงห้ามใช้สารเคมี เพราะน้ำมันจะถูกนำไปใช้ในการผลิตยา
ไม้กฤษณามีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง แต่การปลูกเพื่อให้เกิดแก่น นั้นมีเทคนิกและขั้นตอนที่ค่อนข้างยาก
ดังนั้นในช่วงแรกที่มีการส่งเสริมการปลูกกันมาก และไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ เนื่องจากผู้ปลูกขาดความรู้และทักษะ ดังนั้นการที่จะปลูกจะต้องมีการอบรมในขั้นตอนต่างๆ ให้ชำนาญ ก่อนที่จะตัดสินใจปลูก
สำหรับการส่งออกไม้กฤษณาจากไทยไปต่างประเทศ โดยตลาดหลักจะอยู่ที่ตะวันออกกลางและยุโรป สัดส่วน น้ำมันร้อยละ 50 ชิ้นส่วนไม้ และแก่นไม้กฤษณา ร้อยละ 50
ไทยถือเป็นผู้ส่งออกไม้กฤษณาเป็นอันดับ 1 ของโลก อันดับ 2 สิงคโปร์ และอันดับ 3 อินเดีย ซึ่งขณะนี้มีผู้ปลูกรวมกว่า 2 แสนคน เนื้อที่รวมประมาณ 10 ล้านไร่
ก่อนหน้านี้ ในช่วงก่อนที่จะมีสถานการณ์ COVID-19 ลูกค้าบางส่วนที่เดินทางมายังสำนักงานขาย สามารถเลือกซื้อได้ในรูปแบบของการนำขึ้นเครื่องบิน ได้คนละไม่เกิน 2 กิโลกรัม ซึ่งสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สนใจได้
ขณะที่การส่งออกน้ำมัน มีราคาที่ค่อนข้างสูงตามเกรดหรือคุณภาพ เช่น เกรด A ราคาอยู่ที่ 6,000 บาท ต่อโตรา (12 ซีซี) เกรด AA ราคาอยู่ที่ 9,500 บาท ต่อโตรา (12 ซีซี)
เกรด AAA ราคาอยู่ที่ 12,500 บาท ต่อโตรา (12 ซีซี) เกรด Super ราคาอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อโตรา (12 ซีซี) และเกรด DBS ราคาอยู่ที่ 35,000 บาท ต่อโตรา (12 ซีซี)
ส่วนของน้ำมันจะส่งไปขายทางยุโรป หรือ ประเทศเยอรมนี ในการผลิตยารักษามะเร็ง ขณะที่แก่นไม้จะส่งออกไปทางตะวันออกกลาง ซึ่งนิยมในการจุดให้ความหอม ขณะประกอบพิธีทางศาสนา
ขณะที่ในไทยขณะนี้มีความนิยมในการจุดเพื่อผ่อนคลาย อโรมาเธอราพี โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการหรือผู้บริหารระดับสูง ร้อยละ 85 พระร้อยละ 15 และ ประชาชนทั่วไปร้อยละ 5
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้ไม้ยืนต้น 58 ชนิด เป็นหลักค้ำประกันหลักทรัพย์ได้ ไม้กฤษณาก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์เพื่อขอสินเชื่อได้ด้วย
เบื้องต้นหากจะขอสินเชื่อกับบริษัทของตน จะให้มูลค่าสูงสุด ที่ร้อยละ 80 ของต้นไม้ (ไม้กฤษณา) โดยคิดเฉพาะมูลค่าของต้นไม้ ไม่คิดมูลค่าของที่ดิน เนื่องจากต้องการให้ผู้ขอสินเชื่อ ได้เก็บที่ดินไว้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ จะมีหลักในการคำนวณราคาของต้นไม้กฤษณาคือ “ความโต” ต้นที่สูงจากพื้นดินมาถึง 130 เซนติเมตร และวัดเส้นรอบวงต้นไม้
“ความสูง” วัดจากพื้นดินไปจนถึง 4 ใน 5 ส่วนของต้นไม้ หรือวัดถึงเรือนยอดของต้นไม้ ลบออก 20 % เรียกว่า “ความสูง”
จากนั้นจะประเมินราคาของต้นไม้กฤษณา เช่น ไม้กฤษณา อายุ 7-10 ปี ที่ยังไม่ได้กระตุ้นให้เกิดน้ำมันกฤษณา, ไม้แก่นกฤษณา ราคาประเมิน ลูกบาศก์เมตรละ 10,000 บาท และต้นไม้กฤษณา
หลังจากกระตุ้นให้เกิดน้ำมันเกิดแก่น ราคาประเมิน ลูกบาศก์เมตรละ 30,000-35,000 บาท ตามระยะเวลาของการกระตุ้น
ขณะที่ราคาประเมินจะสูงสุดคือ ไม้กฤษณา อายุ 36-40 ปี ที่ยังไม่ได้กระตุ้นให้เกิดน้ำมันเกิดแก่น ราคาประเมิน ลบ.เมตรละ35,000 บาท หลังจากกระตุ้นให้เกิดน้ำมันเกิดแก่น ราคาประเมิน ลบ.เมตรละ105,000-110,000 บาท ถ้ามีการกระตุ้น ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ราคาประเมิน ลบ.เมตรละ 175,000– 195,000 บาท
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ COVID-19 กระทบกับผู้ที่ต้องการปลูกไม้กฤษณาเชิงพาณิชย์ เนื่องจากการปลูกและดูแลรักษาที่ค่อนข้างยาก และหากจะให้มีความชำนาญ จะต้องอบรมก่อนเริ่มปลูก แต่มาตรการห้ามรวมกลุ่ม หรือจัดสัมมนา ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้ไม้กฤษณามีปัญหาในการส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากกรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มาจากไม้กฤษณา อยู่ในประเภท 5 ภาค 3 แห่งพระราชกำหนดพิกัดศุลกากร พ.ศ. 2530
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เรียกเก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 40 % ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 จึงทำให้เป็นอุปสรรคอย่างมากในการส่งออก
ขณะที่ไม้กฤษณาที่อนุญาตให้ส่งออกได้นั้น มีการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรตามอนุสัญญาไซเตส (CITES) ซึ่งไม่ใช่มาจากป่าหวงห้ามเนื่องจากปลูกในแปลงปลูกของเกษตรกร
รวมถึงมีการบันทึกข้อมูลตั้งแต่เพาะปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวที่สามารถอธิบายหรืออ้างอิงแหล่งที่มาได้ ดังนั้นจึงต้องการให้ลดภาษีการส่งออกให้อยู่ที่ 0 % เช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจอื่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
2 วันติด! จับไทย-กัมพูชาลอบตัด “ไม้กฤษณา” บนเขาใหญ่
ทำไม “กฤษณา” ไม้หอมยังมีราคาแพง และไม่เสื่อมความนิยม
As part of their spo…
This website uses cookies.