ตลาดจักรยานคึกคัก ผู้ผลิต-ผู้นำเข้ามั่นใจดีมานด์จักรยานไฟฟ้ามาแรง ชี้ตลาดโตเร็ว-รายใหม่โดดร่วมวงเพียบ แบรนด์ดัง “แอลเอ” หวังปลุกตลาด ปั้นสินค้าเมดอินไทยแลนด์ ชูคุณภาพ-บริการหลังการขาย หวังปลุกตลาด ส่วน “ไลฟส์ มูฟวิ่ง” เร่งเพิ่มไลน์อัพสินค้ารับลูกค้าครัวเรือน-คนวัยทำงาน-องค์กรธุรกิจ ชูคุณภาพบริการหลังการขาย รับประกันอเตอร์-แบตเตอรี่ยาวสู้คลื่นสินค้าจีนทะลัก พร้อมระดมแคมเปญลดราคา ผ่อน 0% 10 เดือนกระตุ้นการตัดสินใจ
นายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจักรยานรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของตลาดจักรยานขณะนี้กลับมามีดีมานด์ที่สูงขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 และทำให้ผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่บางรายผลิตสินค้าไม่ทัน เช่น ชิมาโน่ (Shimano) ที่ประกาศหยุดรับออร์เดอร์ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และเลื่อนการส่งสินค้ายาวไปถึงปีหน้า โดยนอกจากปัจจัยของโควิด-19 แล้ว ผู้ผลิตและส่งออกจักรยานของไทยยังได้อานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่ทำให้หลายประเทศหันมานำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น
เช่นเดียวกับตลาดจักรยานไฟฟ้าที่ดีมานด์สูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศตะวันตกซึ่งผู้บริโภคมีกำลังซื้อและตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลาดนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต นอกจากอเมริกาและยุโรปที่เป็นตลาดหลัก ขณะนี้ญี่ปุ่นเริ่มหันมาสนใจจักรยานไฟฟ้ามากขึ้น
นายสุรสิทธิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับในประเทศไทยขณะนี้แม้ว่าจักรยานไฟฟ้าจะยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนในอเมริกาหรือยุโรป ด้วยปัจจัยในเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูง หรือมีระดับราคาประมาณ 20,000 บาทใกล้เคียงราคามอเตอร์ไซค์ จากภาษีนำเข้าแบตเตอรี่ลิเทียมที่สูงถึง 35-40% รวมถึงขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านกฎหมายซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าต้องมีใบอนุญาตขับขี่หรือไม่ จึงเสี่ยงอาจถูกตำรวจจับได้ ต่างจากในยุโรป-อเมริกาที่มี กม.ระบุชัดเจนว่าต้องมีหรือไม่
แต่โดยส่วนตัวมั่นใจว่าดีมานด์จักรยานไฟฟ้าจะค่อย ๆ มีมากขึ้น และเพื่อรองรับเทรนด์นี้บริษัทเตรียมจะเปิดตัวจักรยานไฟฟ้ารุ่นใหม่ โดยชูจุดขายในเรื่องของการเป็นจักรยานไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศเกือบ 100% โดยบริษัทเป็นผู้ออกแบบเองทุกชิ้นส่วน ยกเว้นแบตเตอรี่และมอเตอร์ โดยวางโพซิชั่นเจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางด้วยราคาประมาณ 30,000 บาท พร้อมบริการหลังการขายซึ่งสินค้าจากจีนไม่มี
“ที่ผ่านมาบริษัทมีจักรยานไฟฟ้าจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว แต่ถูกผลกระทบจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่ามากจึงต้องชะลอการทำตลาดลง แต่ยังมีสินค้ารุ่นท็อปอยู่ ราคาประมาณ 90,000 บาท มีจุดเด่นด้านระยะทางและความเร็ว”
นายธานัท ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟส์ มูฟวิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจักรยานไฟฟ้ายี่ห้อ “อีเอ็ม” (EM-electric bike) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ตลาดรถจักรยานและรถจักรยานไฟฟ้าเริ่มกลับมาได้รับความนิยมมากขึ้นอีกครั้ง โดยในส่วนของจักรยานไฟฟ้านั้นส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคทั้งภาคครัวเรือน และวัยทำงาน สะท้อนจากฟีดแบ็กของพนักงานขายที่ประจำในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งระบุว่าการขายง่ายขึ้น ไม่ต้องแนะนำสินค้ามากเหมือนก่อนหน้านี้
รวมถึงผู้ประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกหลาย ๆ รายที่หันมาให้ความสนใจและต้องการจะนำรถจักรยานไฟฟ้ามาใช้สำหรับการส่งสินค้าหรือบริการในระยะใกล้ ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของน้ำมัน เช่น ที่ผ่านมาร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นได้สั่งซื้อรถจักรยานไฟฟ้าไปจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้สำหรับบริการดีลิเวอรี่ในบริเวณใกล้ ๆ สาขา
สำหรับในภาพรวมของบริษัทตอนนี้ยอดขายเติบโตขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และเร็ว ๆ นี้มีแผนจะขยายไลน์อัพสินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้รับกับการขยายตัวของตลาด รวมถึงอัพเกรดรุ่นเดิมให้เป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนทั้งหมด โดยยังคงราคาเดิมเพื่อสร้างความแตกต่างจากสินค้าจีนที่ยังเป็นแบตฯแบบตะกั่วกรด จากแนวทางดังกล่าวมั่นใจว่าปีนี้บริษัทจะมียอดขาย 5,000 คันตามเป้าที่วางไว้ จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ประมาณ 2,000 คัน
“ตอนนี้ตลาดจักรยานไฟฟ้ามีการเติบโตขึ้นค่อนข้างเร็ว หากสังเกตจะเห็นว่ามีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นหลายราย และมีการแข่งขันสูงขึ้น โดยเฉพาะจักรยานจากจีนเข้ามาตีตลาด ผ่านช่องทางออนไลน์ ราคาเริ่มต้นเพียง 7,000-8,000 บาท แต่ยังมีปัญหาด้านคุณภาพและความทนทาน ไม่มีบริการหลังการขาย บริษัทจึงเน้นย้ำความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพสินค้าและบริการหลังการขาย โดยมีการรับประกันตัวถัง 5 ปี, มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ปี, แบตเตอรี่-ระบบไฟฟ้า 1 ปี รวมถึงมีสินค้าและอะไหล่พร้อม โดยจะเน้นการสร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์และอีเวนต์
นายธานัทให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันที่บริษัทมีศูนย์บริการในกรุงเทพฯและจังหวัดหัวเมือง นอกจากร้านของบริษัทที่มี 4 แห่ง ยังมีร้านในห้างค้าปลีกพันธมิตร อาทิ โฮมโปร 50 สาขา และอื่น ๆ รวม 80 สาขา มีแผนจะขยายบริการหลังการขายให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
นางสาวเสาวลักษณ์ เยี่ยงกมลสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนวาแพค จำกัด ผู้นำเข้าและบริหารร้านจัดจำหน่ายจักรยานไฟฟ้า “อีไบค์เกอร์” (ebikr) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาจักรยานไฟฟ้าของไทยได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีน และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อลดลง ทำให้ตลาดชะลอตัวมาระยะหนึ่ง และตอนนี้โดยส่วนตัวมองว่าตลาดยังอยู่ในภาวะที่ทรง ๆ ตัว
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนจะปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์และการแข่งขันที่เกิดขึ้น โดยจะหันมาจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตจักรยานไฟฟ้าในประเทศไทยแทนการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้สามารถทำราคาได้ดีขึ้น เป็น 1-1.5 หมื่นบาท จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 1-2 หมื่นบาท และจะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่าไลน์สินค้าจากผู้ผลิตในประเทศไทยจะสามารถเปิดตัวได้ในช่วงโค้งท้ายของปีนี้ พร้อมกับการชูจุดขายในเรื่องของคุณภาพและมีการรับประกันสินค้ามากกว่าประเด็นราคา เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นการใช้งานจักรยานไฟฟ้าให้กับลูกค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจพบว่าขณะนี้บริษัทผู้จำหน่ายจักรยานไฟฟ้าหลาย ๆ รายได้มีการจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาดเป็นระยะ ๆ อาทิ บริษัท MAKEiO ผู้นำเข้ายานพาหนะไฟฟ้าแบรนด์ “โมโนวีล” เดินหน้าทำตลาดจักรยานไฟฟ้าแบรนด์ DYU ราคาตั้งแต่ 1.79-2.59 หมื่นบาท ด้วยการจัดโปรโมชั่นช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาให้ส่วนลด 1,000 บาทในรุ่นที่ร่วมรายการ และเพิ่มระยะเวลารับประกันสินค้าอีก 3 เดือน จากปกติรับประกันมอเตอร์ 1 ปี แบตเตอรี่ 6 เดือน เป็นต้น
เช่นเดียวกับบริษัท ไลฟส์ มูฟวิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายจักรยานไฟฟ้ายี่ห้อ “อีเอ็ม” ที่มีระดับราคาตั้งแต่ 1.8-1.9 หมื่นบาทไปจนถึง 3 หมื่นบาท มีการจัดโปรโมชั่นราคา เช่น ร่วมกับช้อปปี้จัดแคมเปญ 9 เดือน 9 ให้แคชแบ็กสูงสุด 30% จากก่อนหน้านี้ที่ร่วมกับลาซาด้า ให้ส่วนลดสูงสุด 8,000 บาท จากปกติที่เน้นการขายด้วยระบบเงินผ่อน 0% นาน 10 เดือน พร้อมเดินหน้าขยายความครอบคลุมของบริการหลังการขายให้กว้างยิ่งขึ้น
This website uses cookies.