เยอรมนี ยันไม่ขวางชาติตะวันตกส่ง Leopard 2 หนุนยูเครน

ตอนนี้ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือ เรื่องการให้ใบอนุญาตส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ที่ทางการเยอรมนีเป็นผู้ถือสิทธิ์

แม้จะถูกกดดันอย่างหนักจากทั้งสาธารณชนและประเทศพันธมิตรตะวันตกด้วยกัน แต่ผลจากการประชุมที่ฐานทัพอากาศแรมสไตน์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการเยอรมนีก็ยังไม่ยินยอมส่งรถถังให้แก่ยูเครนและไม่พูดถึงเรื่องการให้ใบส่งมอบอย่างตรงไปตรงมา

นี่ทำให้หลายชาติออกมาวิจารณ์เยอรมนีว่ากำลังถ่วงเวลาให้รัสเซีย และทำให้ยูเครนไม่มีโอกาสเอาชนะรัสเซียได้ในปีนี้

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการเยอรมนีได้ออกมาระบุว่าจะไม่ขวางทาง หากชาติอื่นต้องการส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้ยูเครน

รถถัง “Leopard 2” กับการเดิมพันอนาคตของสงครามยูเครน

เลขาฯนาโต ยืนยัน ชาติตะวันตกต้องส่งรถถังให้ยูเครน

วานนี้ 22 ม.ค. แอนนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีระบุเกี่ยวกับเรื่องการส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ว่า หากโปแลนด์ยื่นใบคำร้องส่งออกรถถังเพื่อช่วยเหลือยูเครนมาให้ ทางเยอรมนีก็พร้อมที่จะออกใบอนุญาตส่งออกรถถังดังกล่าวทันที

การออกมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ของแบร์บ็อค เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ถือใบอนุญาตส่งมอบรถถังถูกตั้งคำถามและถูกกดดันอย่างหนัก หลังจากไม่ยอมส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้ยูเครน

เมื่อคืนที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีโปแลนด์ซึ่งเป็นชาติที่แข็งขันกับเรื่องนี้มากที่สุดถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า หากเยอรมนีไม่ยอมส่งเลพเพิร์ด 2 ให้ยูเครน โปแลนด์ก็จะรวบรวมพันธมิตรที่มีรถถังรุ่นนี้และส่งไปเองโดยไม่สนใจว่าเยอรมนีจะอนุญาตหรือไม่ เพราะไม่สามารถอยู่เฉยๆในขณะที่ยูเครนต้องหลั่งเลือด

โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยูเครนต้องการรถถังรุ่นเลพเพิร์ด 2 เนื่องจากมีรายงานว่ายูเครนเตรียมตั้งกองกำลังพิเศษใหม่ เพื่อต่อสู้กับฝั่งรัสเซียในช่วง 1-2 เดือนหลังจากนี้

พลโทเซอร์ฮีย์ นาอีเยฟ ผู้บัญชาการกองกำลังยูเครนในเมืองปริเปียต ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระบุว่า ตอนนี้อาวุธของชาติตะวันตกมีความสำคัญอย่างมากกับกองทัพยูเครน เนื่องจากยูเครนกำลังฝึกทหารสำหรับตั้งกองกำลังใหม่

คาดว่ากองกำลังใหม่ของยูเครนนี้ จะเป็นกองกำลังที่ฝึกและใช้อาวุธของชาติตะวันเป็นหลัก การฝึกถูกออกแบบมาเพื่อรุกคืบและรับมือกับกองทัพรัสเซียกว่า 150,00 นาย ที่เตรียมบุกยูเครนรอบใหม่ในอีก 1-2 เดือนหลังจากนี้

พลโทเซอร์ฮีย์กล่าวเสริมถึงการต่อสู้ในเฟสต่อไปว่า จะเป็นการประลองกำลังกันด้วยรถถัง และรถถังดังกล่าวต้องเป็นของชาติตะวันตก ไม่ใช่รถถังยุคโซเวียต อย่างรุ่น T-72 ที่ยูเครนใช้อยู่ตอนนี้

โดยในช่วงต้นของการรุกราน ยูเครนมีรถถังประมาณ 900 คัน เกือบทั้งหมดเป็นรถถังรุ่นเก่าของสหภาพโซเวียต เช่น รถถังรุ่น T-72 ในขณะที่ฝั่งรัสเซียก็มีรถถังอย่างต่ำ 3,000 คัน ไม่รวมกับที่อยู่ในคลังอาวุธ

อย่างไรก็ดี รถถังยูเครนเกือบทั้งหมดถูกใช้งานมานานกว่า 30 ปี และเสื่อมสภาพเพราะขาดการบำรุงรักษาที่ดี

หลังจากที่สงครามดำเนินไประยะหนึ่ง ยูเครนได้รับรถถังเพิ่มเติมจากพันธมิตร แต่ก็เป็นรถถังรุ่นเก่าของสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกัน เช่น รุ่น T-72 โดยได้มา 200 คันจากโปแลนด์ สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก

แม้ว่าจะมีจำนวนมาก แต่ประสิทธิภาพของรถถังดังกล่าวยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในวันที่ยูเครนทำยุทธศาสตร์การรบใหม่เพื่อรุกกลับอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะขับรัสเซียออกไปจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยูเครนออกมาประกาศกับชาติพันธมิตรตะวันตกเป็นระยะ ๆ ว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้รถถังรุ่นใหม่

โดยที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเป็นชาติแรกที่เสนอให้รถถังรุ่นที่ใหม่กว่าให้กับยูเครน คือ ชาเลนเจอร์ 2 (Challenger 2) จำนวน 14 คัน ซึ่งเป็นรถถังหลักของกองทัพสหราชอาณาจักร

ชาเลนเจอร์ 2 รถถังที่มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่รถถังรุ่นนี้ต้องการกระสุนเฉพาะตัวที่ผลิตโดยประเทศต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นกระสุนเจาะเกราะขนาดเล็ก กระสุนระเบิดแรงสูง หรือกระสุนระเบิดเกราะส่องวิถี ซึ่งจะเป็นคนละชนิดกับกระสุนของรถถังอื่นที่ชาติสมาชิกนาโตใช้

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รถถังชาเลนเจอร์ 2 ไม่เหมาะกับการรบในสงครามยาว เนื่องจากยูเครนอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนกระสุนในอนาคต

ส่วนเอ็มวัน เอบรามส์ (M1 Abrams) ของสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับกองทัพยูเครนเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นรถถังที่ดีที่สุดในโลกเวลานี้ เนื่องจากประสิทธิภาพที่สูง ต้องแลกมาด้วยความซับซ้อนของทั้งเครื่องยนต์และการควบคุม

โดยโคลิน คาห์ล ที่ปรึกษาด้านนโยบายระดับสูงของเพนตากอน เคยออกมาพูดถึงเรื่องรถถังเอ็มวัน เอบรามส์ว่า รถถังรุ่นนี้มีราคาแพงและใช้เครื่องยนต์ที่ของเครื่องบินเจ็ท ทำให้ผู้ควบคุมต้องมีประสบการณ์ รวมถึงการฝึกเฉพาะในการควบคุมที่สูงมาก

นี่ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หากยูเครนต้องการรถถังที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในสนามรบ ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดคือ รถถังเลพเพิร์ด 2 จากเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติเรื่องจำนวนหรือความต้องการเฉพาะตัวของรถถัง

ในด้านจำนวน รถถังเลพเพิร์ด 2 เป็นหนึ่งในรถถังที่มีการประจำการในหลายประเทศ โดยมีราว 2,000 คันใน 13 ประเทศยุโรป

แผนภูมิแสดงจำนวนรถถังเลพเพิร์ดที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปมี ทั้งที่ถูกนำมาประจำการและถูกเก็บไว้ในคลังอาวุธ จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีรถถังเลพเพิร์ด 2 อยู่ในครอบครองมากที่สุดคือ เยอรมนี ซึ่งมีถึง 521 คัน โดยแบ่งเป็นรถถังที่ประจำการ 321 คัน และอยู่ในคลัง 200 คัน

ประเทศที่มีรถถังนี้รองลงมาคือ กรีซ สเปน ตุรกี โปแลนด์ และฟินแลนด์ ซึ่งมีมากกว่า 200 คันต่อประเทศ

อย่างไรก็ดี เยอรมนียังไม่แสดงจุดยืนว่าจะส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ที่มีให้แก่ยูเครนหรือไม่ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ยูเครนอาจมีรถถังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งคาดว่าต้องใช้ราว 300-400 คัน หากต้องการผลักกองทัพรัสเซียออกจากพื้นที่ต่าง ๆ

หลายฝ่ายพยายามประเมินความเป็นไปได้ของการส่งรถถังรุ่นดังกล่าวโดยไม่มีเยอรมนีเข้าร่วม ผลการประเมินพบว่าหากประเทศอื่น ๆ ที่มีรถถังร่วมกันส่งมอบรถถังให้ยูเครนประมาณ 30 คันต่อประเทศ จะสามารถเติมเต็มความต้องการของยูเครนได้ และลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงได้หลายล้านยูโร

ส่วนในด้านความต้องการเฉพาะของตัวรถถัง แจ็ค วัตลิง นักวิจัยอาวุโสด้านสงครามภาคพื้นดินจาก Royal United Services Institute ระบุว่า รถถังเลพเพิร์ด 2 เป็นรถถังหลักต่อสู้ที่ทันสมัยและมีระบบป้องกันที่ดี

นอกจากนี้ ยังมีความง่ายต่อการฝึกและการดูแล เนื่องจากถูกออกแบบมาให้ทหารเกณฑ์ดูแล รวมถึงยังมีสายพานการผลิตอะไหล่อยู่ และที่สำคัญคือ ปืนใหญ่ของรถถังเลพเพิร์ด 2 ใช้กระสุนมาตรฐานของนาโต

นี่หมายความว่ากองทัพยูเครนจะไม่มีปัญหาทั้งเรื่องกระสุนหรือการหารถถังทดแทนในระยะยาว

นอกจากรถถังเลพเพิร์ด 2 และ ชาเลนเจอร์ 2 แล้ว มีสัญญาณมาว่ายูเครนอาจได้รับรถถังหลักจากฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน

เมื่อวานนี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้แถลงหลังการประชุมร่วมกับโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังหารือเรื่องความเป็นไปได้ในการส่งรถถังหลักเลอแคลก์ (Leclerc) (เลอแคล) ของฝรั่งเศสให้แก่ยูเครน

รถถังเลอแคลก์ เป็นรถถังหลักของฝรั่งเศส ถูกพัฒนาโดยบริษัทเน็กซ์เตอร์ ซิสเต็มส์ บริษัทอาวุธของรัฐบาลฝรั่งเศส และผลิตในช่วงต้นทศวรรษ 1990 จนถึงช่วงปลายทศวรรษ 2000 

ตัวรถขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 8 สูบ ติดอาวุธหลักเป็นปืนรถถังลำกล้องเรียบสัญชาติฝรั่งเศส ขนาด 120 มิลลิเมตร ยิงได้ 40 นัด ส่วนอาวุธรองเป็นปืนกลร่วมแกนชนิด M2HB ขนาด 12.7 มิลลิเมตร ยิงได้ 1,100 นัด และปืนกลขนาด 7.62 มิลลิเมตร ยิงได้ 4,000 นัด สามารถบรรทุกพลขับได้ 3 นาย

รถถังรุ่นนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรถถังที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลกร่วมกับเอ็มวัน เอบรามส์ ชาเลนเจอร์ และเลพเพิร์ด

เนื่องจากรถถังรุ่นนี้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการโจมตีแม่นยำในการแข่งขันรถถังนาโต ขณะเข้าร่วมการฝึกปฏิบัติการไอรอน สเปียร์ ที่ประเทศลัตเวียเมื่อปี 2019 ซึ่งมีคู่แข่งคือ เลพเพิร์ด 2 และเอ็มวัน เอบรามส์

นอกจากนี้ หากอ้างอิงตามเอกสารด้านงบประมาณของรัฐบาลฝรั่งเศสประจำปี 2022 รถถังเลอแคลร์กเป็นรถถังสมัยใหม่ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยมีราคาอยู่ที่ 16 ล้านยูโร หรือราว 572 ล้านบาทต่อคัน 

หลายฝ่ายมองว่า การประกาศของผู้นำฝรั่งเศสในครั้งนี้เป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกับชาติตะวันตกอื่น ๆ กดดันเยอรมนีทางอ้อม ให้ส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ไปให้แก่ยูเครน

ด้านโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแถลงว่า เยอรมนีจะไม่ลดการช่วยเหลือและจะช่วยเหลือยูเครนต่อไปตราบเท่าที่จำเป็น โดยเยอรมนีจะยึดหลักประสานงานกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือยูเครน

นอกจากนี้ นักข่าวยังได้ถามนายกฯ เยอรมนีถึงความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะส่งมอบรถถังเลพเพิร์ด 2 ของตนเองไปยังยูเครน

นายกฯ โอลาฟ ชอลซ์ของเยอรมนีตอบคำถามนี้เพียงสั้น ๆ ว่า อาวุธทุกชนิดที่เยอรมนีจะส่งไปยังยูเครนจะอยู่ภายใต้กรอบของการทำงานร่วมกับพันธมิตร รวมไปถึงสหรัฐฯ  และ “เราอาจจะส่งรถถังไปยูเครนในอนาคต”

คำพูดดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถงของบอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนีที่ให้สัมภาษณ์ว่า เยอรมนีจะพิจารณาเรื่องการส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้แก่ยูเครนในเร็ว ๆ นี้

อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบที่สุด เพราะรถถังดังกล่าวสามารถถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการโจมตี(Offensive purpose) ได้ด้วย ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้