ผมได้เล่าไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าวัดหลวงอาร์เจนตินายามที่ไม่มีพระจำวัด เคยถูกวัยรุ่นชาสโคมุสบุกงัดประตูเข้าไปขโมยข้าวของมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง เอาไปแม้กระทั่งช้อนส้อมและบาตรพระ ล่าสุดตอนที่ผมเดินทางออกมาจากวัดแล้วทราบข่าวว่าเด็กเหลือขอจำนวนหนึ่งเอาก้อนหินปาเข้าไปยังตัวอาคารวัด และเข้าเป้าทำลายกระจกแตกไป 1 บาน ซึ่งเป็นบานที่ติดกับอาสนะของพระสำหรับนั่งฉันภัตตาหาร โชคดีที่ตอนขว้างไม่ใช่เวลาฉัน การขว้างปาก้อนหินนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตอนกลางคืน
ข่าวลักวิ่งชิงปล้นในอาร์เจนตินามีให้เห็นทุกวัน ที่ออกไปทางขำขันก็มี เช่น ขณะมอเตอร์ไซค์จอดติดไฟแดงมีโจรมาจี้ชิงมอเตอร์ไซค์พร้อมหมวกกันน็อค สวมหมวกกันน็อคเสร็จจะขี่มอเตอร์ไซค์แต่ดันขี่ไม่เป็น จึงทิ้งมอเตอร์ไซค์ ได้ไปแต่หมวกกันน็อค บางคนเวลาจะกดเงินออกจากตู้เอทีเอ็มต้องนำหมาพันธุ์ดุๆ เช่น ร็อดไวเลอร์ไปด้วย เพราะโจรมักจะคอยจังหวะที่เงินไหลออกมาแล้วฉกไป หรือเดินตามไปปล้น คนที่ออกมาจากร้านแลกเงินก็ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะต้องมีเงินอยู่ในกระเป๋า
เนื่องจากว่าค่าเงินเปโซนั้นเบาหวิว จำเป็นต้องพกทีละหลายใบ และไม่สามารถใส่กระเป๋าตังค์ได้หมด ต้องใส่ในกระเป๋ากางเกง เวลาล้วงออกมาผมก็จะล้วงทั้งปึก เพื่อนับส่วนที่จะต้องใช้ มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเดินเข้าเมืองไปกับคนลาว พอผมล้วงเงินออกมา ก็โดนห้ามทันที “เจ้าอย่าจกเงินทั่วทีปซำหนี่เด้อ”
หรืออย่างเวลาผมถามเรื่องการโดยสารรถไฟเข้ากรุงบัวโนสไอเรส ก็จะถูกคนลาวห้าม บอกว่าไม่ปลอดภัย ผมจึงต้องนั่งรถบัส พอจะกลับมายังชาสโคมุส ผมถามคนไทยที่กรุงบัวโนสไอเรสว่าซื้อตั๋วรถไฟได้ที่ไหน ก็ถูกห้ามอีก บอกว่าในรถไฟนั้นมีการปล้นจี้กันบ่อย ผมก็ต้องนั่งรถบัสกลับมา อยู่อาร์เจนตินา 3 เดือน ผมไม่เคยได้โดยสารรถไฟ
กลับมาพูดเรื่องถนนหนทางในเมืองชาสโคมุสต่ออีกสักนิด เช้าหรือสายวันไหนที่ฝนตก แม่ออกชาวลาวท่านใดท่านหนึ่งจะโทรศัพท์มาหาผมเพื่อบอกว่าพวกท่านจะไม่มาถวายเพล “หนทางเป็นขี้ตม ย่างบ่ได้ เจ้าเฮ็ดให้พระอาจารย์ฉันเด้อ”
ช่วงหนึ่งมีข่าวว่าประธานาธิบดี “อัลเบร์โต เฟร์นันเดซ” จะเดินทางมาเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ 200 เมตร ถนนเส้นหน้าศูนย์ดังกล่าวยังเป็นแบบเดียวกับถนนหน้าวัดหลวงอาร์เจนตินา แต่ไม่กี่วันทางเทศบาลเมืองก็จัดการเนรมิตถนนลาดยางขึ้นมา เชื่อมจากเส้นที่เป็นถนนคอนกรีตให้ผ่านหน้าศูนย์จนมาถึงสี่แยกติดกับวัด
แม้ว่าสุดท้ายแล้วประธานาธิบดีจะส่งคนอื่นมาเปิดศูนย์แทน แต่ก็ถือเป็นอานิสงส์จากขบวนการผักชีโรยหน้าดังกล่าว วันไหนฝนตกและผมจำเป็นต้องเดินเข้าเมือง ผมเดินลุยโคลนไปนิดเดียวก็ถึงถนนเส้นนี้ เป็นการเดินอ้อมจากเส้นทางที่เคยใช้ประจำประมาณ 300 เมตร พอผ่านหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปหน่อยก็เลี้ยวไปเดินบนคอนกรีตชื่อถนนเปรู หนึ่งในถนนเส้นหลักสำหรับเข้าตัวเมือง ถนนที่มาตัดกับถนนเปรูส่วนมากเป็นถนนโลกพระจันทร์ และพอใกล้ๆ ตัวเมืองถนนก็จะมีสภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนมากเป็นถนนคอนกรีต ถนนหินแบบโบราณ ที่เรียกว่า Cobblestone ก็มี
บ่ายวันเสาร์ที่ 4 เดือนมิถุนายน ผมเดินประมาณ 2 กิโลครึ่ง ถึงตัวเมืองบนถนน Libres del Sur แวะดื่มกาแฟที่ร้าน Tribeca กาแฟในอาร์เจนตินาที่ผมถามๆ ดู ทราบว่าส่วนมากนำเข้าจากบราซิลและโคลอมเบีย คนอาร์เจนตินาชอบดื่มกาแฟกับขนมอบ หรือที่เรียกว่า Factura โดย “ฟักตูรา” ยอดนิยมก็คือ Medialuna แปลว่า “พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว” ทุกครั้งผมจะสั่งมีเดียลูนามากินคู่กับดับเบิลเอสเปรสโซ
ผมเคยสั่งครัวซองต์ แต่ไม่มีใครรู้จัก ความจริงมีเดียลูนาก็คือครัวซองต์แบบฉบับของอาร์เจนตินา เพียงแต่หวานกว่าและมีรูปทรงกลมกว่า มีเดียลูนานี้ถือกำเนิดขึ้นในฮับสบวร์ก (ออสเตรีย) ช่วงที่จักรวรรดิออตโตมันของชาวเติร์กแผ่ขยายอิทธิพลและยึดครองแอฟริกาเหนือ ทางยุโรปก็กินดินแดนบอลข่านทั้งหมด รวมถึงฮังการี และบางครั้งก็เปิดศึกกับออสเตรีย และเนื่องจากว่าธงของออตโตมันคือพระจันทร์เสี้ยว (และดาวห้าแฉก) คนทำขนมอบในออสเตรียตอบโต้ทหารเติร์กด้วยการทำขนมที่มีรูปร่างเหมือนพระจันทร์เสี้ยว แล้วกินต่อหน้าทหารเติร์ก แสดงอาการเหยียดหยาม ต่อมาเมื่อชาวออสเตรียย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในอาร์เจนตินาก็ได้นำมีเดียลูนามาด้วย ส่วนมีเดียลูนาจะยังมีอยู่ในออสเตรียหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ
ร้าน Tribeca มีโต๊ะวางนอกร้าน 3 ตัว ยามบ่ายอากาศไม่ค่อยหนาว และถ้าลมไม่แรงผมก็จะนั่งโต๊ะด้านนอกเพื่อมองความเคลื่อนไหวบนถนนและทางเท้า หากเป็นวันจันทร์ถึงศุกร์ ตัวเมืองจะเงียบเชียบ เพราะคนอาร์เจนตินาพักนอนกลางวันหรือที่เรียกว่า “เซียสตา” กัน 3 – 4 ชั่วโมง ร้านรวงยกเว้นร้านกาแฟปิดบริการ คลินิกรักษาโรคก็ปิด ซุปเปอร์มาร์เก็ต หากไม่ใช่ร้านคนจีนก็ปิด กลับมาเปิดอีกทีตอนประมาณ 5 โมงเย็น
วันเสาร์-อาทิตย์ ตัวเมืองมีชีวิตชีวาขึ้นมา วันนี้มีรถดับเพลิงหลายคันวิ่งเปิดหวอมาตามถนน มีอาสาสมัครดับเพลิงนั่งมาด้วย โบกไม้โบกมือให้กับคนทั้ง 2 ฝั่งถนน นี่คือพาเหรดรถดับเพลิงที่มีขึ้นปีละครั้ง รำลึกถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในเขตลาโบคา กรุงบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1884 หรือเมื่อ 138 ปีก่อน วันนั้นมีคนในละแวกดังกล่าวชื่อ “โทมัส ลิเบอร์ตี” และลูกชายของเขาได้เสี่ยงชีวิตตนเองเข้าดับเพลิง เพื่อนบ้านเห็นเข้าก็รวมกลุ่มช่วยกันคนละไม้คนละมือ เหตุการณ์นี้ได้ส่งผลให้มีการก่อตั้งหน่วยดับเพลิงอาสาสมัครขึ้น และต่อมาก็ได้ถือเอาวันที่ 2 มิถุนายนเป็นวันนักผจญเพลิงอาสาสมัครแห่งชาติ (Dia Nacional del Bombero Voluntario) แต่ที่ต้องมาจัดกิจกรรมในวันที่ 4 เพราะตรงกับวันเสาร์ วันที่ผู้คนออกนอกบ้านตอนกลางวัน
ขบวนพาเหรดรถดับเพลิงผ่านไปได้สักพักผมกล่าวกับสาวเสิร์ฟ La cuenta, por favor แปลว่า “โปรดนำบิลมาให้ฉัน” จ่ายเงินค่ากาแฟและมีเดียลูนา 300 เปโซ และทิป 100 เปโซ แล้วออกเดินมุ่งหน้าทิศใต้ไปบนถนน Libres del Sur ถนนนี้มีความหมายว่า “ผู้ปลดปล่อยแดนใต้” ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกเหตุการณ์ที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านการปกครองที่กดขี่ของผู้ว่าการจังหวัดบัวโนสไอเรสเมื่อ ค.ศ. 1839 เหตุเกิดที่ 3 เมืองทางใต้ของจังหวัด ได้แก่ โดโลเรส ทันดิล และชาสโคมุส แต่เหตุการณ์จบลงเมื่อกองกำลังฝ่ายรัฐบดขยี้ฝ่ายกบฏลงได้ที่เมืองชาสโคมุสแห่งนี้
ชาสโคมุส เขียนเป็นภาษาสเปนว่า Chascomús คนอาร์เจนตินาออกเสียงไปทาง “จาโกมุส” มากกว่าจะเป็นชาสโคมุส
บริเวณสี่แยกที่ถนน Libre del Sur ตัดกับถนน Lastra มีหอนาฬิกาชื่อ “หอนาฬิกาอิตาเลียน” ตั้งอยู่ตรงกลางสี่แยก ทำให้หอนาฬิกานี้ทำหน้าที่คล้ายวงเวียนไปในตัว โดยที่ได้ชื่อว่า Reloj de los Italianos ก็เพราะว่าในสมัยก่อนย่านนี้เป็นชุมชนคนอิตาเลียน และเมื่อ ค.ศ. 1939 ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการปลดปล่อยแห่งแดนใต้ พวกเขาก็สร้างหอนาฬิกาแห่งนี้ขึ้น
ทั้งนี้ คนอิตาเลียนถือเป็นเชื้อชาติหลักในอาร์เจนตินามากกว่าสเปนเสียอีก โดยมีถึงประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ
ถนนที่ต่อจาก Libres del Sur ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Bartolome Mitre มุ่งหน้าไปยังทะเลสาบชาสโคมุส แต่ก่อนจะถึงทะเลสาบ ต้องผ่านสถานที่สำคัญ Plaza Independencia หรือจัตุรัสอิสรภาพอยู่ทางขวามือ กลางจัตุรัสมีอนุสาวรีย์นายพลซานมาร์ตินตั้งอยู่ ในท่าทางกำลังขี่ม้าออกศึก โดยหันหน้าไปทางอาคารเทศบาลเมืองชาสโคมุส หันหลังให้กับโบสถ์ Iglesia Catedral Nuestra Senora de la Merced
“โฆเซ เด ซาน มาร์ติน” นายทหารผู้นำอเมริกาใต้ครึ่งล่างปลดแอกจากจักรวรรดิสเปนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 คือ “พ่อของแผ่นดิน” ของอาร์เจนตินา ชิลี และเปรู เหมือนกับที่ “นายพลซิมอน โบลิวาร์” เป็นบิดาของหลายชาติอเมริกาใต้ครึ่งบน อาทิ เวเนซุเอลา โคลอมเบีย และเอกวาดอร์
เลยจัตุรัสไปมี 4 แยกเล็กๆ หากเลี้ยวซ้ายเข้าถนน Lavalle ไปไม่ถึง 100 เมตรก็พบกับบ้านของ “ราอูล อัลฟองซิน” อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนตินาระหว่าง ค.ศ. 1983 – 1989 หลังยุคเผด็จการทหาร 7 ปี (ค.ศ. 1976 – 1983) อัลฟองซินเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กในบ้านหลังนี้ ปัจจุบันบ้านถูกแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยที่ก่อนหน้าที่ไม่นานยังเปิดให้บริการที่พักแบบ Bed & Breakfast อยู่เลย
หลังประธานาธิบดี “ฆวน เปรอน” ถูกรัฐประหารเมื่อ ค.ศ. 1955 พรรค Justicialist Party ของเขาและปีกการเมือง “เปรอนิสต์” ถูกคำสั่งห้ามส่งผู้สมัครลงแข่งขัน และเมื่อได้รับอนุญาต ฝ่ายเปรอนิสต์ก็ชนะทุกคราว ราอูล อัลฟองซิน ถือเป็นประธานาธิบดีอาร์เจนตินาคนแรกที่เอาชนะ “เปรอนิสต์” ได้ ซึ่งเปรอนิสต์นั้นเน้นนโยบายประชานิยม อัลฟองซินสังกัดพรรค Radical Civic Union มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยมเสรี
เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว อัลฟองซินได้ออกกฎหมายเพิกถอนกฎหมายเก่าที่รัฐบาลทหารได้ออกไว้นิรโทษกรรมพวกตัวเอง จากนั้นตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบังคับให้บุคคลสูญหาย เนื่องจากว่าในช่วงรัฐบาลทหารและก่อนหน้านั้นประมาณ 2 ปีได้มีการอุ้มฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นจำนวนมาก เรียกยุคสมัยนั้นว่า Dirty War (ค.ศ. 1974 – 1983) มีผู้เสียชีวิตและสูญหายหลักหมื่นคน การทำงานของคณะกรรมการดังกล่าวนำไปสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล สามารถเอาอดีตผู้นำทหารหลายคนเข้าคุกได้ แม้ว่าต่อมาใน ค.ศ. 1986 จะต้องออกกฎหมายใหม่ ยกเลิกการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องที่เหลือเพราะมีแนวโน้มว่าขืนเดินหน้าต่อไปอาจเกิดรัฐประหารอีกรอบ
อย่างไรก็ตามอัลฟองซินก็ยังได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษด้วยความกล้าหาญในการจัดการกับอดีตเผด็จการทหารในช่วง 3 ปีแรก เป็นผู้ไม่มีประวัติด่างพร้อยเรื่องคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนี้ถือว่าเขาคือผู้นำในการฟื้นคืนประชาธิปไตยในอาร์เจนตินา ประคับประคองสถานการณ์ในยามหมิ่นเหม่และเปราะบางไม่ให้เกิดการยึดอำนาจ เมื่อผ่านสมัยของอัลฟองซินมาได้ อาร์เจนตินายังไม่มีรัฐประหารรอบใหม่จนถึงปัจจุบัน
อัลฟองซินเสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 2009 พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของเขาเวลานี้ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ผมจึงไม่ได้เข้าไป ได้แต่ถ่ายรูปจากภายนอกแล้วออกจากถนน Lavalle กลับเข้าถนนเส้นเดิม ทะเลสาบ หรือ Laguna de Chascomus อยู่ห่างออกไป 500 เมตร บ้านเรือนและถนนหนทางในโซนนี้ถือว่าสวยงามหรูหราและดูสะอาดตามากกว่าส่วนอื่นๆ ของเมือง
ทะเลสาบชาสโคมุสมีขนาดใหญ่กว้าง มีถนนล้อมรอบ ยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ทางเดินริมทะเลสาบบางช่วงทำไว้ดีมาก เหมาะที่จะมาเดินเล่นตอนเย็นๆ บางช่วงมีลานตั้งแคมป์และกางเต๊นท์นอน น้ำในทะเลสาบยังค่อนข้างสะอาด มีปลาอยู่มากมายให้ชาวเมืองได้หากิน คนลาวมีปลาร้ากินก็จากปลาในทะเลสาบแห่งนี้ ริมทะเลสาบฝั่งที่ติดเมืองมีร้านอาหารตั้งอยู่ไม่มากนัก สองสามร้อยเมตรจะมีสักร้านหนึ่ง
นึกขึ้นได้ว่ายิ่งเดินไกลออกไป ขากลับก็จะยิ่งเดินไกลเท่านั้น จุดนี้ห่างจากวัดประมาณ 3 กิโลครึ่ง เป็นระยะที่พอรับได้ ใกล้ๆ กันคือร้าน Kibor Cerveceria ร้านเบียร์คราฟต์หลากชนิดติดถนน หันหน้าเข้าหาทะเลสาบ ขายราคาแก้วละประมาณ 30 บาทเท่านั้น ผมเลยแวะเข้าไป
1 แก้วสำหรับแก้คอแห้ง อีก 1 แก้ว for the road.
Members of the SWE D…
This website uses cookies.