จากอดีตนักร้องบอยแบนด์ชื่อดัง UHT ของยุค 90s และมีอัลบั้มเดี่ยวถึง 3 อัลบั้ม ที่มีเพลงฮิตติดหูอย่าง “ก็พอ”, “บอกได้ไหม” ให้แฟนๆ ได้ร้องตามกันทั้งประเทศ ล่าสุดนักร้องหนุ่มอารมณ์ดี “เต็ม วุฒิสิทธิ์ สืบสุวรรณ” ก็ได้หวนกลับมาจับไมค์อีกครั้งเพื่อร่วมเป็นหนึ่งในศิลปินที่จะมาขับกล่อมบทเพลงรักบนเวที “Green Concert #19 The Lost Love Song To Be Continued ร้อยเพลงรักที่กลับมา” ซึ่งในช่วงที่หายหน้าจากวงการ เจ้าตัวก็ได้เบนเข็มจากแสงสีในเมืองหลวงเพื่อหันไปเริ่มต้นชีวิตนักแข่งจักรยานวิบาก และถึงแม้ตอนนี้จะยังเป็นเพียงแค่ก้าวเล็กๆ ของนักแข่งมือสมัครเล่น แต่ทว่าประสบการณ์ที่หนุ่มเต็มได้รับกลับหวือหวาและน่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
จากความไม่ชอบที่ค่อยๆ ซึมซับจนก้าวสู่นักปั่นมือสมัครเล่น
ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากผมมีพี่คนหนึ่งมี่สนิทกันมานานแล้ว และเขาเองก็เป็นคนทำสนาม ซึ่งเริ่มจากสนาม ATV ก่อน เป็นสนามขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่ตั้งอยู่ในกรมทหาร ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นสนามปั่นรถจักรยานแทน รวมถึงเราได้มีโอกาสทำรายการด้วยกันอันหนึ่งชื่อว่า “เสือน่องโต” และทุกอย่างก็เริ่มจากตรงนี้ครับ เพราะตัวผมเองก็ไม่เคยปั่นจักรยานมาก่อน และไม่เคยคิดที่จะปั่นด้วย เนื่องจากเรารู้สึกว่ามันเหนื่อย แถมการปั่นจักรยานชนิดนี้มันไม่ใช่การปั่นบนพื้นปูน แต่เป็นการปั่นแบบวิบากปั่นไปบนดินบนหญ้าทั้งหมด ซึ่งบังเอิญอีกว่าด้วยความสนิทกับพี่คนนี้รวมถึงได้ทำรายการร่วมกัน มันก็เลยทำให้ผมซึมซับสิ่งต่างๆ เข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งตัดสินใจซื้อจักรยานคันแรก ซื้ออุปกรณ์ เครื่องป้องกันต่างๆ รวมถึงลงแข่งขันหลายรายการและจริงจังกับมันมากขึ้นเรื่อยๆ
ครอบครัวไม่สนับสนุน แต่ทุกคนรู้ว่าผมเป็นคนชอบ “เสี่ยง”
ทางบ้านไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่ครับ ทั้งคุณพ่อและก็คุณลุงเขาไม่ค่อยอยากให้เล่น เพราะเขารู้ว่านิสัยของผมคือเป็นคนชอบอะไรที่เอ็กซ์ตรีม ชอบความผาดโผน และทุกอย่างที่ทำมันก็สามารถทำให้เจ็บตัวได้ง่ายๆ ซึ่งเขาก็คอยเตือนอยู่เสมอว่าให้เบาๆ หน่อย และก็อย่าไปเต็มที่มากจนตัวเองต้องเจ็บหนัก
อุบัติเหตุครั้งสำคัญที่เกือบพรากชีวิต
จำได้ว่าช่วงนั้นผมไปแข่งที่สนามดาวน์ฮิล เป็นการแข่งขันแบบปั่นลงเขา ซึ่งรายการที่ว่านี้เป็นรายการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย โดยจัดขึ้นที่จังหวัดชัยนาท และถือได้ว่าเป็นสนามที่โหดที่สุดของประเทศไทยด้วย ผมยอมรับนะว่าตอนนั้นผมอยากไปจริงๆ แต่ด้วยความที่ประสบการณ์ของผมยังน้อย พอปั่นไปเจอกับเนินที่ยากที่สุดซึ่งทุกคนเรียกมันว่าเนินฟ้าใส มีความสูงประมาณตึก 2 ชั้น และตัวผมตอนนั้นถ้าเปรียบก็คือยืนอยู่บนยอดตึก ก็ตัดสินใจปั่นกระโดดลงมา สุดท้ายปรากฏว่ายางรถจักรยานแตกทำให้รถคว่ำ บวกกับความเร็วที่ปั่นมาหลายๆ อย่าง ก็เลยส่งผลให้กระดูกไหปลาร้าหัก ซึ่งตอนไปโรงพยาบาลคุณหมอก็บอกว่าโชคดีมาก เนื่องจากระดับที่หักมันคือหัวไหล่ แต่มันก็มีโอกาสสูงมันเหมือนกันที่จะกลายเป็นคอ และอาจถึงตายได้
แต่เท่าที่ผมดูมาในกีฬาประเภทนี้คือยังไม่มีใครตาย และอาการไหล่หักก็ถือได้ว่าเป็นอุบัติเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบประจำเลยด้วย ตอนนั้นผมใช้เวลาพักฟื้นที่บ้าน 3 เดือน นอนอยู่กับที่ เพราะช่วงไหล่ไม่สามารถดามหรือเข้าเฝือกได้ ทำได้แค่ใส่อุปกรณ์ที่คอและนอนพักผ่อนเฉยๆ เป็น 3 เดือนที่ทรมานมาก ไปไหนไม่ได้เลย แต่ผมก็ยังไม่เข็ดนะ พอร่างกายหายแล้วก็กลับมาแข่งใหม่อีก
ความคิดเปลี่ยนการเติมความสนุกให้ชีวิตมีได้ทุกรูปแบบ
จากที่เมื่อก่อนเราปั่นเล่นกันอยู่แค่สองคน แต่ตอนนี้เรารวบรวมเพื่อนๆ จนกลุ่มเริ่มใหญ่ขึ้น การปั่นก็สนุกขึ้น จากที่เมื่อก่อนผมเป็นคนชอบไปเที่ยวทะเล ไม่ชอบเข้าป่าเพราะไม่มีคนพาไป แต่ด้วยความที่กิจกรรมตรงนี้มันทำให้เราได้ออกกำลังกาย และก็ได้เที่ยวไปด้วย มันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าคุ้ม แถมยังมีโอกาสได้ตั้งแคมป์ ได้ก่อกองไฟ ทำกับข้าว ใช้ชีวิตข้างๆ น้ำตก 3 วัน 3 คืน ถามว่าแตกต่างจากการอยู่ในเมืองไหม มันเป็นคนละความรู้สึกมากกว่า เพราะการเที่ยวในเมืองก็แบบหนึ่ง แต่การอยู่ในป่ามันก็สนุกในอีกแบบหนึ่งเช่นกัน
ใจรักในการแข่งขัน…เต็มที่ได้แต่ต้องรู้ขีดจำกัดตัวเอง
เมื่อก่อนเคยตั้งเป้าว่าจะต้องแข่งแล้วได้แชมป์ไว้เหมือนกันครับ และผมเองก็เคยคว้าที่ 3 มาได้ด้วยครั้งหนึ่งของการแข่งขัน ดูโอ ดาวน์ฮิล แต่หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุมันก็เริ่มทำให้คิดได้ว่าต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะสำหรับผมตอนนี้ยังถือได้ว่าเป็นเพียงแค่นักแข่งมือสมัครเล่นเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าหากใครสนใจกีฬาชนิดนี้เราก็กำลังจะมีการแข่งขัน ไทยแลนด์เอนดูโร ซีรีส์ เป็นการแข่งขันปั่นจักรยานวิบากระดับโลก รวมตัวนักแข่งขันจากเมืองนอกหลายๆ ประเทศมาร่วมสนุกกัน ยังไงก็ลองหาข้อมูลและมาแข่งด้วยกันได้ครับ
เครดิตภาพประกอบ Instagram @tem_wuttisit