เทศกาลฉลองปีใหม่แบบข้ามวันข้ามคืน ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ยิ่งดื่มสุราติดต่อกันหลายวัน เสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลัน ล่าสุดแพทย์ออกมาเตือนถึงการดื่มสุราแบบเพียวๆ ที่นิยมกันในหมู่วัยรุ่นและนักท่องราตรี หากดื่มรวดเร็วต่อเนื่องเกิน 10 ชอต มีโอกาสหมดสติเสียชีวิต
“รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลที่มีการหยุดยาว ทำให้หลายคนเฉลิมฉลองด้วยการดื่มสุราแบบข้ามวันข้ามคืน โดยคนไข้มีอาการอ่อนเพลีย หมดสติ แพทย์จึงต้องฉีดกลูโคสเพื่อให้ฟื้นตัว
“ตามต่างจังหวัด เมื่อถึงช่วงเทศกาลจะดื่มเหล้ากันข้ามคืนข้ามวันเป็นสัปดาห์ ทำให้กลุ่มนักดื่มจะมีปัญหาสุขภาพในช่วงท้ายๆ ของสัปดาห์ เพราะร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลียจนทนไม่ไหว สุดท้ายญาติต้องพามาโรงพยาบาล”
คนไข้ที่มาส่วนใหญ่มีการดื่มสุราในปริมาณมากและต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะหมดสติ ต้นเหตุมาจากภาวะสุราเป็นพิษ คนไข้มีลักษณะการดื่มในปริมาณมากและรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การดื่มสุราแบบไม่ผสม ใส่ในแก้วชอต ดื่มแข่งกันให้หมดในเวลารวดเร็ว ทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเพิ่มขึ้นสูง ซึ่งถ้าแอลกอฮอล์ในร่างกายเพิ่มขึ้นเกิน 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีโอกาสหมดสติถึงขั้นเสียชีวิตได้
ปกติผู้ที่เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณ เมื่อชันสูตรศพจะพบปริมาณแอลกอฮอล์ถึง 300-400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ผู้เสียชีวิตจะดื่มเหล้าแบบเพียวๆ โดยไม่ผสมต่อเนื่องกันในเวลารวดเร็วประมาณ 8-10 แก้วชอต
จากประสบการณ์ที่เคยพบ มีผู้เสียชีวิตจากการดื่มสุราแบบแข่งขันกัน โดยไม่ได้ดื่มน้ำตาม ทำให้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูง ส่งผลต่ออวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติจนเสียชีวิต หรือบางคนที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดัน โรคหัวใจ ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคอย่างรวดเร็ว
“กลุ่มที่มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากการดื่มสุราเกินขนาด เป็นกลุ่มคนที่จัดปาร์ตี้ แข่งกันดื่มสุราแบบเพียวๆ แต่ถ้าคนที่ดื่มแบบผสมน้ำ จะเสี่ยงน้อย เนื่องจากมีปริมาณของน้ำเข้าไปผสมเพื่อเจือจางแอลกอฮอล์ เพราะปกติการปัสสาวะเป็นการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ดังนั้นคนที่ดื่มแบบผสมจะปวดปัสสาวะบ่อย ทำให้มีแอลกอฮอล์ในร่างกายลดลง จึงไม่เกิดความเสี่ยงที่จะหมดสติเฉียบพลัน”
ปกติการออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าไปช่วงแรกจะกระตุ้นให้ร่างกายกระชุ่มกระชวย แต่พอดื่มเข้าไปในปริมาณมากมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ถ้าคนมีโรคประจำตัว พักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้โรคประจำตัวกำเริบจนเสียชีวิตเฉียบพลันได้
การเลี้ยงฉลองควรพอประมาณ ไม่ควรดื่มสุราเกินกว่าที่ร่างกายจะรับไหว นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการขับรถเมื่อดื่มสุรา เพราะจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับตนเองและผู้อื่นในช่วงเทศกาลนี้ได้.