ภาพรวมการส่งออก11เดือนแรก(ม.ค.–พ.ย.) ปี2563 มีมูลค่า211,385ล้านดอลลาร์ ติดลบ6.92% และการนำเข้าในช่วง11เดือนแรกของปีติดลบ 13.74%คิดเป็นมูลค่า187,872ล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยยังเกินดุลการค้า11เดือนเพิ่มขึ้น52.59%หรือคิดเป็นมูลค่า23,512. ล้านดอลลาร์
แม้สัญญาณการส่งออกปี 2563 จะเป็นไปในทิศทางดีขึ้น หลักๆน่าจะมาจากการปรับตัวและพอจะรับมือกับโควิด-19 ได้บางแล้วในบางประเทศ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายละเอียดการนำเข้าช่วง 11เดือนปีนี้ จะเห็นว่า มีสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า การส่งออกไทยยังไม่พ้นปากเหว
เนื่องจาก การนำเข้าที่ติดลบสูงถึง 13.73% ชี้ให้เห็นว่า การเตรียมพร้อมเพื่อผลิตและส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อจากนี้มีแนวโน้มไม่สดใส โดยกลุ่มสินค้าที่นำเข้าที่ติดลบและมีผลต่อกำลังการผลิตในอนาคตพบว่ามีอัตราการติดลบที่ค่อนข้างสูง เช่น สินค้าทุนพบว่าติดลบ 10.74% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ติดลบ ที่ 15.2%
นอกจากนี้ หากพิจารณา สถิติการนำเข้าย้อนหลังจะพบว่า หากการนำเข้าติดลบเท่าไหร่ ตัวเลขการส่งออกจะติดลบเป็นครึ่งหนึ่งของสัดส่วนการนำเข้าที่ลดลง และในทางกลับกันหากการนำเข้าขยายตัวการส่งออกก็จะขยายตัวด้วย
ปี 2558 นำเข้าติดลบ 11.02% ในปีนั้นการส่งออก ติดลบ 5.70%
ปี 2559 นำเข้าติดลบ 4.17% ในปีนั้นการส่งออก ขยายตัว 0.50%
ปี 2560 นำเข้าขยายตัว 14.07% ในปีนั้นการส่งออก ขยายตัว 9.86%
ปี 2561 นำเข้าขยายตัว 12.05% ในปีนั้นการส่งออก ขยายตัว6.90%
ปี 2562 นำเข้าติดลบ 4.8% ในปีนั้นการส่งออก ติดลบ 2.64%
ปี 2563 (11เดือน)นำเข้าติดลบ 13.74% การส่งออก ติดลบ 6.92%
จากสถิติย้อนหลังนี้ ชี้ว่าการนำเข้ามีส่วนต่อภาคการส่งออก ดังนั้น การนำเข้าที่ลดลงในช่วง ปีนี้ ก็กำลังจะสะท้อนว่า การส่งออกปี2563 น่าจะติดลบ แต่หากมองไกลไปถึงปี 2564 ที่เป็นความคาดหวังว่า การส่งออกจะขยายตัวนั้น หากตัดปัจจัยเชิงเทคนิคที่ว่า เมื่อฐานการเปรียบเทียบต่ำ การส่งออกในปีถัดไปจะเป็นบวก ก็จะพบว่า สัญญาณการนำเข้า 11 เดือนปีนี้ กำลังฉายภาพภาคการผลิตเพื่อการส่งออกของไทยที่ไม่ได้กำลังดีดตัวรับกับคาดการณ์เศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว หากแต่เป็นการประคับประคองธุรกิจส่งออกให้พอรอดตัวไปได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ อธิบายถึงสถานการณ์การนำเข้าของเดือน พ.ย.ว่า สินค้าเชื้อเพลิง : การนำเข้าหดตัวลดลง จากการขยายตัวของน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงอื่นๆ
ส่วนสินค้าทุน : การนำเข้าหดตัวลดลง จากการขยายตัวของเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้วิทยาศาสตร์และการแพทย์
ขณะที่กลุ่มสินค้าวัตถุดิบฯ : กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกหลังจากหดตัว 7 เดือน โดยสินค้าที่มีการขยายตัวสูงคือ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ สินค้าอุปโภคบริโภค : หดตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้น
สินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์การขนส่ง : หดตัวลดลง จากการหดตัวที่ลดลงของส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก
สนค. ยังประเมินอีกว่า หากการส่งออกในเดือน ธ.ค.นี้ มีมูลค่าเกิน18,500ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้การส่งออกของปี2563จะติดลบไม่เกิน 7% มูลค่า 229,030ล้านดอลลาร์
ส่วนการระบาดของโควิดรอบ 2 และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน คาดว่าจะกระทบตัวเลขการส่งออกในไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งสนค.คาดว่าปี 2564 จะกลับมา บวก4%ได้ โดยมีมูลค่า 238,477 ล้านดอลลาร์
สำหรับปัจจัยบวกปี 2564 ที่จะทำให้การส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวกมาจาก สินค้ากลุ่มสุขภาพ และสินค้ที่เกี่ยวข้องการทำงานจากบ้านและเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 รวมทั้งสินค้ากลุ่มเกษตรอาหาร การฟื้นตัวของการค้าโลกแม้จะมีการระบาดในรอบ 2 ในหลายประเทศ แต่คาดว่าจะมีการใช้มาตรการล็อคดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่เกิดการแพร่ระบาด การมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสูงกลับมาขยายตัว
อย่างไรก็ตาม สนค. ย้ำว่า ยังต้องเฝ้าระวังและจับตามองคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลกและนโยบายการค้าของโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและค่าเงินบาทแข็ง
การเช็คสภาพเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวหลักของประเทศอย่างการส่งออกที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึง 70% ในระยะทางวิ่ง 11 เดือนของปี2563 โดยการจับสัญญาณจากฝั่งการนำเข้าสินค้า ที่ยังมีสัดส่วนติดลบที่สูงอยู่ ก็พอจะประเมินได้ว่า การส่งออกปีนี้ไม่สู้จะดีนัก และปีวัวที่กำลังจะมาถึง ก็ดูเหมือนจะไม่ได้นำความหวังใดๆมาสู่เศรษฐกิจไทยมากนัก ทำให้การส่งออกปี 2564 ยังต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท การเร่งเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการ เฟ้นช่องทางและสินค้าใหม่เพื่อการส่งออกในยุคนิวนอร์มอลให้ได้มากขึ้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้เครื่องยนต์ส่งออก เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้ต่อไป