คุยกับเจ้าของร้าน ‘จึงเตี่ยฮวด’ ผู้ผลิต-ส่งออก และริเริ่มกระดาษไหว้หลากไอเดีย ตั้งแต่วัคซีน รถหรู เรือยอร์ช ฟันปลอม และหม้อชาบู บันทึกเทรนด์แห่งยุคสมัยผ่านความเชื่อและศรัทธาของเทศกาลสำหรับคนไทยเชื้อสายจีน
เมื่อเทศกาลตรุษจีนเวียนกลับมาอีกครั้ง ย่านถนนเยาวราชก็เต็มไปด้วยชาวไทยเชื้อสายจีนที่มาจับจ่ายใช้สอยและซื้อของไปไหว้เทพเจ้า ตามธรรมเนียมวันสำคัญที่เรียกกันว่า ‘วันจ่าย’ ซึ่งวันจ่ายในปี 2566 ตรงกับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566
วันจ่าย เป็นหนึ่งใน 3 วันเฉลิมฉลองของเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าจะต้องซื้อของไหว้เจ้าให้ตรงกับวันจ่ายตามธรรมเนียมเท่านั้น เพราะบางครอบครัว-ตระกูล อาจซื้อของไหว้ก่อนวันจับจ่ายจริงก็ได้ ส่วนอีก 2 วันสำคัญคือ วันไหว้ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 และวันตรุษจีน ปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า สำรวจแหล่งจับจ่ายใช้สอยตั้งแต่ย่านวัดมังกรไปจนถึงเยาวราช พบว่า เทศกาลตรุษจีน 2566 เริ่มคึกคักอีกมากขึ้นจากหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เบาบางลง ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากกว่าปีก่อนๆ แต่ที่น่าสนใจคือ เด็กรุ่นใหม่และวัยรุ่นจำนวนมากก็ออกมาซื้อของไหว้เจ้าเช่นกัน ผิดกับหลายปีก่อนที่คนซื้อของเหล่านี้จะเป็นผู้ใหญ่เสียส่วนใหญ่
นายพีรสรณ์ จิรพิชิตชัย หรือ นัท อายุ 29 ปี เจ้าของร้าน ‘จึงเตี่ยฮวด’ ให้สัมภาษณ์ว่า ปี 2566 ทางร้านมียอดขายมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะลูกค้ามาซื้อของที่หน้าร้านมากขึ้น ขณะที่ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดหนักจะเน้นการส่งของออนไลน์เป็นหลัก ขณะเดียวกันยังเห็นการไหว้-เผาย้อนหลัง เนื่องจากบางคนมีญาติเสียชีวิตช่วงโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดพิธีได้ จึงถือโอกาสในปีนี้ไหว้ย้อนหลัง
นัท บอกว่า จึงเตี่ยฮวด เป็นธุรกิจกระดาษไหว้เจ้าหนึ่งในรายใหญ่ของประเทศ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นต้นนำของวงการนี้ก็ได้ เนื่องจากมีทั้งสัญญากับโรงงานรับจ้างผลิตกระดาษไหว้เจ้า เป็นทั้งคนกลางในการกระจายสินค้าไปเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นผู้นำเข้ากระดาษบางประเภท รวมถึงเป็นผู้ส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาและลาว
“เราไม่อยากเคลมว่าเราใหญ่สุด แต่ถ้าตามเข้าใจทุกคนก็บอกแบบนั้น (รายใหญ่สุด) เราอยู่ระดับต้นๆ เพราะเราเป็นผู้นำเทรนด์ตลอดตั้งแต่ผมเข้ามาบริหารธุรกิจที่บ้าน”
นัท มองว่า จุดแข็งที่ทำให้ร้านเป็นรายใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี มี 3 ข้อ คือ
จุดแข็ง (1) ดีไซน์กระดาษและผลิตภัณฑ์ต่างๆ สวยงามกว่าร้านอื่น
ร้านทั่วไปวางขายกระดาษไหว้ปกติ (ตั่วกิม กิวจั้ว อวงแซจี้) แต่ร้านจึงเตี่ยฮวด มองว่าต้องเป็นผู้นำเทรนด์และมีมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์หรูรุ่นต่างๆ ทอง พาสปอร์ต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรือยอร์ช สินค้าแบรนด์เนม ของเล่น ตั๋วเครื่องบิน เครื่องบิน ไวน์ ยาสูบและบุหรี่ กระทั่งชุดฟันปลอมให้บรรพบุรษ
“ตั้งแต่โบราณก็มีเผากระดาษบ้านหรือเผาอะไรต่างๆ อยู่แล้ว พวกนี้เป็นของเสริม ไม่มีอะไรผิด ลูกค้าส่วนใหญ่จะตื่นเต้น-แฮปปี้ว่าปีนี้จะมีอะไรใหม่ๆ เช่น ได้ส่งรถรุ่นใหม่ไปแล้ว ล่าสุดผมก็เพิ่งแซวลูกค้าไปว่า เดี๋ยวได้ซื้อแลมโบฯ แล้วนะ มันเป็นความสนุกสนานเวลาจับจ่าย”
นอกจากนี้ยังมีกระดาษไหว้ที่ตามเทรนด์แต่ละปี อย่างในปี 2565 ทางร้านได้ทำกระดาษไหว้ ‘วัคซีนโควิด-19’ ล้อกับสถานการณ์ในช่วงไหนที่การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญในประเทศ รวมถึงยังมีกระดาษไหว้ในรูปแบบหน้ากากอนามัย คล้ายกับส่งหน้ากากอนามัยให้เจ้าหรือบรรพบุรุษป้องกันเชื้อโรคอีกด้วย
ส่วนปี 2566 นัท บอกว่ากระดาษไหว้รุ่นใหม่ๆ ของปีนี้คือ ‘หม้อชาบู’ เพราะเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วงที่ผ่านมา
“เรามีโรงงานออเดอร์สินค้า สั่งทำทุกอย่าง บางอย่างจะไม่เห็นที่อื่นเลย มีแค่ที่นี่ เพราะผมต้องการความแตกต่าง รูปแบบใหม่ตลอด ลูกค้าหลายคนบอกว่าของที่ร้านสวย มันเป็นจุดต่างในการทำธุรกิจ ผมไม่อยากได้ของเหมือนคนอื่น แต่ของพื้นฐานเราก็มีเหมือนกัน”
นัท ให้ข้อมูลว่า กระดาษไหว้หลายประเภทที่ร้านสั่งโรงงานทำจะมีจำนวนจำกัดและมีปริมาณน้อย เพราะไม่ได้ใช้เครื่องจักรทำ อย่างกระดาษไหว้เจ้าบางประเภทต้องใช้คนจำนวนมากมานั่งพับและจัดเป็นชุดๆ แต่จะให้ไปโรงงานผลิตหรือขึ้นรูปกระดาษไหว้ใหม่ๆ ก็จะสายเกินไป ตัวอย่างเช่น กระดาษไหว้หน้ากากอนามัย ถ้าโควิด-19 จบไป หน้ากากอนามัยก็จะไม่หวือหวาเหมือนก่อนหน้านี้ ดังนั้นการจะทำกระดาษไหว้ใหม่ๆ ออกมา มี 2 จุดที่ต้องมองคือ เทรนด์และความคุ้มค่า
นัท เสริมว่า ในช่วงใกล้สิ้นปี โรงงานจะคิดรูปแบบกระดาษใหม่ๆ มานำเสนอให้ร้านพิจารณาว่าตรุษจีนปีถัดๆ ไปจะทำอะไร และในบางครั้งร้านก็เป็นฝ่ายเสนอไปเช่นกัน
จุดแข็ง (2) ราคาเข้าถึงได้และเป็นมิตร ตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อย จนถึงงบที่ลูกค้ามี
จุดแข็ง (3) ความไว้เนื้อเชื่อใจกับลูกค้า เนื่องจากธุรกิจนี้จำเป็นต้องมีผู้ให้คำแนะนำหรือคนมีความรู้มาให้ข้อมูลกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการที่ลูกสามารถเข้ามาพูดคุยหรือขอคำแนะนำได้ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
“เรื่องพวกนี้เราอยู่กับเขาทั้งทุกข์และสุข เวลาสุขอยากขอบคุณเจ้า เวลาทุกข์ไม่ต้องไปซ้ำ บอกเขาในสิ่งที่เป็นจริงและพอดีกับบ้านเขา ไม่ใช่อัดทุกอย่างขายแพงๆ เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ เราต้องถามลูกค้ามีงบเท่าไรบอกได้เลย ไม่ใช่อัดอย่างเดียว ลูกค้าบางคนไหว้เจ้าไม่เป็น แต่จะซื้อไปไหว้ ผมเห็นเขาหยิบของไหว้ผี เลยบอกให้เอาออกทันที…ร้านอื่น อาจจะไม่บอก เขาบอกคุณเอาไปเลย เพราะเขาได้ขาย ร้านผมไม่สน เรามองความถูกต้องและความซื่อสัตย์กับลูกค้า ลูกค้าทุกคนจะสนิทสนมกัน เหมือนซื้อจนเป็นเพื่อน มันเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจ”
นัท บอกว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจทำให้ธุรกิจรายใหญ่ๆ ที่พยายามกระโดดเข้ามาแข่งขันสู้ไม่ได้ เพราะรายใหญ่ๆ ขายแบบไม่ยั่งยืน ในหนึ่งปีมาขายแค่หนึ่งครั้ง ราคาสูงกว่า ขณะเดียวกันเวลาลูกค้าต้องการไหว้เจ้าแล้วเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ไปถามพนักงานไม่ได้เพราะพนักงานไม่มีความรู้เรื่องความเชื่อและการไหว้
อย่างไรก็ตาม เทศกาลตรุษจีน เป็นหนึ่งในวัฏจักรใน 1 ปีของธุรกิจ (cycle) เพราะนอกจากตรุษจีนยังมี เช็งเม้ง สารทจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลกินเจ วันไหว้ขอบคุณพระเจ้า (เสี่ยซิ้ง) และที่เพิ่มเข้ามาคือเทรนด์คนรุ่นใหม่ อายุ 20 ปีขึ้นไปซื้อของไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และแก้ชง ตลอดจนไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ‘สายมู’ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่
ท้ายที่สุด นัท ทิ้งท้ายว่า เขาเข้ามาบริหารธุรกิจเป็นรุ่นที่ 3 โดยเริ่มต้นเป็นจากรุ่นอากง-อาม่า ต่อมารุ่นพ่อ-แม่มาเปิดธุรกิจเอง และสืบทอดมาสู่รุ่นปัจจุบัน ดังนั้นการบริหารธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจความเชื่อในมุมมองคนคนรุ่นใหม่คือจะต้องนสำพาให้ จึงเตี่ยฮวดเป็น One Stop Service ด้านความเชื่อของคนไทย โดยเริ่มต้นด้วยการทำให้เทศกาลการไหว้ทุกปีเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และไอเดียที่สดใหม่อยู่เสมอ
This website uses cookies.