สองล้อไทยเจาะเลือดเช็คฟิตพร้อมออกโปรแกรมซ้อมรายบุคคล

สองล้อนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบในการเก็บตัวนักปั่นทีมชาติไทยเพื่อสู้ศึกใหญ่ในปี 2566 ควอลิฟายอลป., ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา และเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่จีน พร้อมทดสอบสมรรถภาพร่างกายและเจาะเลือดหาค่าแลคเตทของนักกีฬา เพื่อนำไปวางแผนการฝึกซ้อมให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ เดินหน้าเก็บตัวนักกีฬาทีมชาติไทยระยะยาว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬารายการใหญ่ในปี 2566 ได้แก่ การแข่งขันรายการระดับนานาชาติเพื่อเก็บคะแนนสะสมคัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส, การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา และการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน  สมาคมกีฬาจักรยานฯ ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬา จากทีมงานระดับอาชีพมาตรวจวิเคราะห์สมรรภาพร่างกายนักกีฬาเพื่อวางโปรแกรมฝึกซ้อม ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของนักกีฬาแต่ละตน

พลเอกเดชา กล่าวว่า กระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาดังกล่าว สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ได้รับความร่วมมือจากกองวิทยาศาสตร์กีฬา ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดย นายสุรศักดิ์ เกิดจันทึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งได้มอบหมายให้คณะนักวิทยาศาสตร์การกีฬาชุดใหญ่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นางวัชรี แสวงไวศยสุข หัวหน้างานทดสอบสมรรถภาพกีฬา, ผศ.ดร.สืบสาย บุญวีรบุตร ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬา, ดร.อรวรรณ ภู่ชัยวัฒนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกีฬา พร้อมเจ้าหน้าที่กองวิทยาศาสตร์กีฬา อีก 7 คน เข้าร่วมในกระบวนการทดสอบร่างกายนักปั่นไทยประเภทถนน, ลู่ และเสือภูเขา ทั้งชาย-หญิง  เก็บตัวอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 

 ” กระบวนการทดสอบดังกล่าวใช้วิธีการเจาะเลือดระหว่างที่นักกีฬาแต่ละคนออกแรงตามที่กำหนด เพื่อหาค่าสารเคมีในเลือด นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลที่เก็บไว้ในช่วงเวลาที่นักกีฬาแต่ละคนมีความฟิตสูงสุด เพื่อให้ผู้ฝึกสอนแต่ละประเภทได้นำข้อมูลนี้ไปออกแบบการฝึกซ้อมให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของนักกีฬาในปัจจุบัน และระยะเวลาการฝึกซ้อมของการแข่งขันแต่ละรายการ โดยจะเริ่มต้นศึกใหญ่รายการแรกคือ การแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2023” ระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2566 เส้นทางจากภาคตะวันตกไปยังภาคตะวันออก ต่อด้วยการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 และการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่นครหางโจว ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน- 8 ตุลาคม 2566 “

สำหรับกระบวนการเจาะเลือดหาค่าแลคเตท (Lactate) สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้รับความร่วมมือจาก มร.ไว มุน เยียง และ มร.ปีเตอร์ พูลลี่ ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ  จะนำค่าเลือดที่ได้เข้าประมวลผลในซอฟต์แวร์ แอทเลติก เพอร์ฟอมานซ์ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เฉพาะทางที่ทีมจักรยานอาชีพระดับโปรทีมและนักกีฬาอาชีพชั้นนำทั่วโลกใช้ ดังนั้นค่าต่าง ๆ ที่ตรวจวัดและประมวลผลจะมีความเที่ยงตรง ทำให้คณะผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย สามารถนำไปใช้ออกแบบการฝึกซ้อมที่เหมาะสมกับนักกีฬาแต่ละคน เพื่อที่จะรีดเอาศักยภาพสูงสุดของนักกีฬาออกมาได้ในระหว่างการแข่งขันที่นักกีฬาทีมชาติไทยจะต้องออกไปตระเวนแข่งขันเกือบตลอดทั้งปี 2566

นอกจากนั้นจะมีนักโภชนาการ ได้ทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ มาแล้วกว่า 5 ปี จะเข้ามาร่วมตรวจวิเคราะห์สภาพกล้ามเนื้อและแกนกลางร่างกายในส่วนที่สำคัญสำหรับนักกีฬาจักรยาน เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูกล้ามเนื้อหรือตรวจรักษากรณีที่มีอาการบาดเจ็บอีกทางหนึ่ง โดยกำหนดเข้ามาตรวจวิเคราะห์ร่างกายนักกีฬา ในวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 

“จะเห็นได้ว่าในระบบการพัฒนานักกีฬาจักรยานไทยยุคปัจจุบัน สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ นำเอาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์การกีฬาทุกแขนงที่จำเป็นสำหรับนักกีฬามาปรับใช้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานนักกีฬาจักรยานไทยให้ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง และไม่เฉพาะแต่นักปั่นระดับทีมชาติหรือทีมอาชีพเท่านั้น แต่สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ยังร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาโดยเฉพาะในด้านไบโอแมคคานิคส์ (Biomechanics) หรือชีวกลศาสตร์ มาพัฒนานักกีฬาจักรยานรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาเสริมทีมชาติไทยในอนาคตข้างหน้าอีกทางหนึ่งด้วย” พลเอกเดชา กล่าวเสริม


ที่มาของภาพ :