สองล้อพัฒนาบุคลากรไม่หยุดยั้งได้ผู้ตัดสินระดับชาติขั้นสูงเพิ่มเติม

   

“สองล้อ” พัฒนาบุคลากรอย่างไม่หยุดยั้ง หลังจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ได้อนุมัติให้จัดอบรมผู้ตัดสินระดับชาติขั้นสูง Elite National Commissaire course จำนวน 2 หลักสูตร มีผู้ตัดสินไทยผ่านการอบรมหลักสูตรบีเอ็มเอ็กซ์ จำนวน 3 คน และหลักสูตรเสือภูเขา จำนวน 4 คน ด้าน “เสธ.หมึก” เผยเตรียมผลักดันต่อยอดให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้ตัดสินระดับนานาชาติในอนาคต พร้อมทั้งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันระดับประเทศ และส่งไปฝึกงานการตัดสินระดับนานาชาติต่อไป

“เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ตามที่สหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ “ยูซีไอ” ได้อนุมัติให้สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดการอบรมผู้ตัดสินระดับชาติขั้นสูง Elite National Commissaire course จำนวน 2 หลักสูตร โดยมีวิทยากรของยูซีไอ มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย หลักสูตรการอบรมผู้ตัดสินกีฬาจักรยานประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ระดับนานาชาติ หลักสูตร BMX Elite National Commissaire Course Level 2 เมื่อวันที่ 12-16 สิงหาคม และหลักสูตรการอบรมผู้ตัดสินกีฬาจักรยานประเภทเสือภูเขาระดับนานาชาติ หลักสูตร MTB Elite National Commissaire Course Level 2 เมื่องวันที่ 2-6 กันยายน ที่โรงแรมวาสิฏฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี

พล.อ.เดชา กล่าวว่า ผลการอบรมทั้ง 2 หลักสูตรดังกล่าวปรากฏว่าผู้ตัดสินไทยผ่านสอบผ่านการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติหลักสูตรบีเอ็มเอ็กซ์ จำนวน 3 คนประกอบด้วย สาโรจน์ กาญจนานนท์, ขัตติยะ ศรีโสดา และนวพร สุขประยูร ส่วนหลักสูตรเสือภูเขา ผู้ตัดสินไทยสอบผ่านภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย อนุวัฒน์ อุตตะเภา, ศิริลักษณ์ วาระเพียง, เสรี เรืองศิริ และ จิตติพงษ์ เทียมรัตน์ ส่งผลให้ไทยเรามีผู้ตัดสินระดับชาติขั้นสูงประเภทเสือภูเขาเพิ่มขึ้นเป็น 10 คน จากเดิมที่มี นายสาโรจน์ กาญจนานนท์, พันตรีหญิง จันทร์เพ็ง นนทะสิน, นางสาวนวพร สุขประยูร, นางสาวศศิมา อารี, นายขัตติยะ ศรีโสดา และนางสาวธิติกาญจน์ ศิริพงศ์พัชร ที่สอบผ่านมาแล้วก่อนหน้านี้

พล.อ.เดชา กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการพัฒนาผู้ตัดสินทั้ง 10 คน ต่อยอดไปสู่การเข้าอบรมและสอบผู้ตัดสินระดับนานาชาติในอนาคต ทางสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ มีนโยบายให้ผู้ตัดสินทั้ง 10 คน เข้าฝึกการบริหารงานและการทำหน้าที่ผู้ตัดสินทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยในระดับชาติแต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ของการแข่งขันจักรยานระดับชิงแชมป์ประเทศไทย ของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติและกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ของการกีฬาแห่งประเทศไท ทั้งระดับภาคและระดับประเทศ รวมถึงการส่งไปฝึกงานในการแข่งขันระดับนานาชาติประเภทเสือภูเขาและบีเอ็มเอ็กซ์ในประเทศต่าง ๆ ของเอเชีย รวมถึงเกมส์ระดับภูมิภาคทั้งกีฬาซีเกมส์และเอเชี่ยนเกมส์ เนื่องจากการคัดเลือกผู้ตัดสินเข้าอบรมหลักสูตรระดับผู้ตัดสินนานาชาติของยูซีไอ ประสบการณ์การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือก

“ขณะเดียวกัน ในปี 2566 สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ก็จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาและจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ระดับนานาชาติควบคู่ไปกับการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย โดยประเภทเสือภูเขาจะมีรายการนานาชาติ C1 จำนวน 2 สนาม คือวันที่ 2 มีนาคม 2566 ที่จังหวัดพิจิตร และวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ที่ จ.จันทบุรี ขณะที่ประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ซึ่งจะจัดการแข่งขันที่สนามบีเอ็มเอ็กซ์ในสวนกีฬากมล ถนนสุวินทวงศ์ เขตหนองจอกรวม 5 สนาม จะมีรายการนานาชาติระดับ C1 จำนวน จำนวน 3 สนาม ประกอบด้วย สนามที่ 1 วันที่ 4-5 กุมภาพันธ์, สนามที่ 2 วันที่ 18-19 มีนาคม, สนามที่ 4 วันที่ 8-9 กรกฎาคม 2566 และระดับชิงแชมป์ประเทศ CN อีก 1 สนาม คือ สนามที่ 3 วันที่ 1-2 กรกฎาคม 2566 ซึ่งผู้ตัดสินระดับชาติขั้นสูงทุกคนจะได้รับการแต่งตั้งเข้าทำหน้าที่สำคัญต่าง ๆ ของการแข่งขันทุกสนามเพื่อทำงานร่วมกับหัวหน้าผู้ตัดสินที่ทางยูซีไอแต่งตั้งมาควบคุมการแข่งขัน” พล.อ.เดชากล่าว

นายกสองล้อไทย เจ้าของฉายา “หมึกต้นแบบ” กล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาผู้ตัดสินในประเภทลู่และถนนเพื่อพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติ ทางสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ จะหารือแนวทางกับยูซีไอ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อนำมาใช้ยกระดับผู้ตัดสินประเภทลู่และถนน เพื่อพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน สมาคมกีฬาจักรยานฯ ก็ยังมีนโยบายพัฒนาผู้ฝึกสอนไทยให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น จากล่าสุดที่สมาคมฯ ได้ส่ง “โค้ชตั้ม” วิสุทธิ์ กสิยะพัท และ ร้อยตำรวจโทหญิง กฤติกา ศิลาพัฒน์ เข้าอบรมผู้ฝึกสอนระดับ 3 อันเป็นระดับสูงสุดของยูซีไอ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“นอกจากนี้ ในวันที่ 16-23 พฤศจิกายน สมาคมกีฬาจักรยานฯ ก็มีโครงการร่วมกับยูซีไอ เปิดการอบรมผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานประเภทลู่ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีผู้ฝึกสอนและช่างกีฬาจักรยานจากทั่วประเทศจำนวน 30 คนเข้าร่วมการอบรม ซึ่งทางยูซีไอจะส่ง นายจอนส์ ไทโรน วิทยากรชาวแอฟริกาใต้ ผู้ฝึกสอนระดับโลกและช่างจักรยานฝีมือเยี่ยมจากศูนย์ฝึกจักรยานโลกมาเป็นวิทยากร ขณะที่โค้ชวิสุทธิ์กับกฤติกาก็จะเข้ารับหน้าที่แรกหลังจากผ่านการอบรมระดับ 3 ด้วยการเป็นผู้ช่วยวิทยากรในระหว่างการอบรมด้วย” พล.อ.เดชา กล่าวเสริมในตอนท้าย

     

ภาพประกอบข่าว © Matichon ภาพประกอบข่าว 1 ภาพประกอบข่าว © Matichon ภาพประกอบข่าว ภาพประกอบข่าว © Matichon ภาพประกอบข่าว

Microsoft และคู่ค้าอาจได้รับค่าคอมมิชชันหากคุณซื้อบางสิ่งผ่านลิงก์ที่แนะนำในบทความนี้