วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
“สองล้อ” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 จัดการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติ์” รวดเดียว 3 สนามติดต่อกัน ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มข้นเป็นพิเศษ ในแบบชีวิตวิถีใหม่ New Normal (ไม่มีผู้ชม) ให้ชมจากการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเฟซบุ๊กไลฟ์ Thaicycling Association สำหรับสนามสุดท้าย ได้รับการการรับรองจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) บรรจุให้เป็นการแข่งขันในระดับ CN
“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ลงนามประกาศการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เรื่องคำสั่งปิดสถานที่และมาตรการการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) ปิดสถานที่และสนามกีฬาซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมของ กกท. (สนามกีฬาหัวหมาก) เป็นการชั่วคราว เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา
พลเอกเดชา กล่าวว่า ล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ได้มีคำสั่ง ฉบับที่ 2 ออกมาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สรุปได้ว่า สำหรับพื้นที่ควบคุมของ กกท. (สนามกีฬาหัวหมาก) ในส่วนของสนามกีฬาหรือพื้นที่เพื่อออกกำลังกายประเภทกลางแจ้ง หรืออยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนากีฬาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่จะมีการจัดการแข่งขันกีฬา ให้สมาคมกีฬาหรือผู้จัดการแข่งขันกีฬา แจ้งการแข่งขันกีฬาให้การกีฬาแห่งประเทศไทย พิจารณาล่วงหน้า เพื่อกำหนดมาตรการการป้องกันความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดต่อไป
นายกสองล้อไทย กล่าวต่อไปว่า จากคำสั่งดังกล่าวของ ผู้ว่าการ กกท. สมาคมกีฬาจักรยานฯ จึงได้เชิญคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ พร้อมฝ่ายเทคนิค มาประชุมร่วมกันในการปรับโปรแกรมการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประจำปี 2564 โดยได้ข้อสรุปว่า สมาคมฯ จะดำเนินการจัดแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติ์” ในแบบชีวิตวิถีใหม่ New Normal (ไม่มีผู้ชม) สนามต่อ ๆ ไป หลังจากแข่งขันมาแล้ว 2 สนาม โดยมีโปรแกรมการแข่งขันดังนี้ สนามที่ 3 ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม, สนามที่ 4 ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน และสนามที่ 5 สนามสุดท้าย ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน ที่สนามเวโลโดรม หัวหมาก ทั้ง 3 สนาม
“เสธ.หมึก” กล่าวอีกว่า ในส่วนของสนามสุดท้าย สมาคมกีฬาจักรยานฯ ได้ลงทะเบียนกับ สหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ ยูซีไอ ให้บรรจุลงในปฏิทินการแข่งขันระดับ CN โดยผู้ชนะเลิศการแข่งขันรายการเปอร์ซูต ประชาชนชาย-หญิง, คีริน ประชาชนชาย-หญิง, ไทม์ไทรอัล ประชาชนชาย-หญิง, สแครชต์ ประชาชนชาย-หญิง และสปรินต์ ประชาชนชาย-หญิง จะได้สิทธิ์สวมเสื้อที่มีลายธงชาติไทย ตามระเบียบของ ยูซีไอ ไปแข่งขันรายการต่าง ๆ ในฤดูกาล 2022 ที่ ยูซีไอ รับรองได้ทั่วโลก ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีคะแนนรวมสูงสุดทั้ง 5 สนาม ก็จะได้ครองแชมป์ประเทศไทย มีสิทธิ์สวมเสื้อลายธงชาติไทยลงแข่งขันในการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทาน “ควีนส์สิริกิติ์” ประจำปี 2565
“นอกจากนี้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันในสนามที่ 3 วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม และสนามที่ 5 วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน ในรายการปั่นสู่ฝันคนวัยมันส์ เวลา 14.00-16.00 น. ทั้ง 2 วัน ส่วนการแข่งขันในวันอื่น ๆ สมาคมกีฬาจักรยานฯ ก็จะดำเนินการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ Thaicycling Association รวมทั้งในสนามที่ 4 จะถ่ายทอดสดให้ชมทุกวัน ขณะเดียวกันในช่วงที่มีสถานการณ์โรคไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ดังนั้นเพื่อเป็นการเยียวยาสโมสรสมาชิก ในการแข่งขันสนามที่ 3 สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่นักกีฬาฟรี โดยแจกเป็นข้าวกล่องเพื่อรักษามาตรการการเว้นระยะห่าง และลดการแออัด” นายกสองล้อไทย กล่าว
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า การแข่งขันครั้งนี้ สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้นมากกว่าเดิม มีการปิดกั้นพื้นที่สนามแข่งขันให้มีการเข้า-ออกทางเดียว และห้ามผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาในสนามอย่างเด็ดขาด จะอนุญาตเฉพาะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ประจำทีมที่ลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้าเท่านั้น พร้อมทั้งแนบผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการ PCR Test ที่มีผลเป็น “ลบ” มาในระบบด้วย ซึ่งต้องตรวจภายใน 72 ชั่วโมงก่อนแข่งขัน ในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วให้นำหลักฐานการฉีดวัคซีนแนบมาในระบบการสมัครแข่งขันฯ ด้วย และจะต้องรายงานบันทึกการเดินทาง (Timeline) ล่วงหน้าก่อนการแข่งขัน 14 วัน ซึ่งในวันแข่งขันทุกคนต้องแสดง QR Code เพื่อตรวจสอบรายชื่อและคุณสมบัติ พร้อมกับดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” และมีการสแกน QR Code “ไทยชนะ” เพื่อเช็คอิน มีการวัดอุณหภูมิร่างกาย พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่รถจักรยาน และล้างเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
“นักกีฬาที่เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องทำประกันอุบัติเหตุ รวมทั้งจะต้องทำบัตรอนุญาตแข่งขัน (License) จึงจะมีสิทธิลงแข่งขันได้ เมื่ออยู่ในสนามแล้วให้นั่งประจำที่ของตัวเองโดยเว้นระยะห่าง ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ส่วนการอบอุ่นร่างกายก่อนการแข่งขัน ให้นักกีฬาใช้พื้นที่ส่วนกลางที่สมาคมฯ จัดไว้ให้ ซึ่งจะมีฉากพลาสติกกั้นเป็นสัดส่วน ส่วนพิธีมอบรางวัลจะให้นักกีฬารับเหรียญรางวัล พร้อมใบประกาศนียบัตรและช่อดอกไม้ด้วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส นอกจากนี้ สมาคมฯ กำหนดอัตราส่วนนักกีฬากับเจ้าหน้าที่ โดยนักกีฬา 3 คน จะมีเจ้าหน้าที่ได้ 1 คน กรณีสัดส่วนเกิน อาทิ นักกีฬา 4 คน หรือ 5 คน จะมีเจ้าหน้าที่ได้เพียง 1 คน เท่านั้น แต่ถ้านักกีฬา 6 คน จะมีเจ้าหน้าที่ได้ 2 คน
พลเอกเดชา กล่าวเสริมอีกว่า เนื่องจากการแข่งขันทั้ง 3 สนาม เป็นการแข่งขันระบบปิด ไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในสนาม แต่จะให้ชมจากการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเฟซบุ๊กไลฟ์ Thaicycling Association ประการสำคัญที่สุด หากนักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่จากสโมสรใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการ สมาคมจะพิจารณาลงโทษให้ออกจากการแข่งขันทันที และอาจจะพิจารณาลงโทษตามข้อบังคับของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ข้อที่ 68 ว่าด้วยการลงโทษทางวินัย ทั้งนี้นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการหลัก 5 ข้อ ของ ศบค. อย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์, เว้นระยะห่าง, หลีกเลี่ยงการสัมผัส และจำกัดจำนวนคน
ทั้งนี้ นักกีฬาที่ต้องการสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน และทำไลเซนส์ (license) หรือบัตรอนุญาตแข่งขัน สามารถสมัครและลงทะเบียนทำไลเซ่นส์ ได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมฯ www.thaicycling.or.th ส่วนการทำประกันอุบัติเหตุ สมาคมฯ ได้ประสานงานกับ บริษัท รู้ใจ จำกัด หรือประกันภัย “รู้ใจ” มาตั้งบูธให้บริการในวันแข่งขัน โดยนักกีฬาสามารถทำประกันอุบัติเหตุในราคา 60 บาท กรมธรรม์ครอบคลุมตลอดการแข่งขันทั้ง 3 วัน หรือสอบถามได้ที่ โทร.0-2719-3340-2 ในวันและเวลาราชการ.