สสส.จับมือ มสส.จัดเวทีถกผลสำรวจสุขภาวะสื่อไทย ในกระแสข่าวแรง แข่งเดือด แต่สุขภาพโอเคไหม?

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

สสส.จับมือ มสส.จัดเวทีถกผลสำรวจสุขภาวะสื่อไทย  พบสูบบุหรี่น้อยลง มีถึง 94%ที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ คิดจะเลิกสูบเลิกดื่มแต่ใจไม่แข็งพอ หนุนองค์กรสื่อจัดตรวจสุขภาพ 100 % ส่วน ทั้งสสส.และ มสส.พร้อมร่วมทำงาน  ด้านคอลัมนิสต์อาวุโสเสนอสำรวจสุขภาวะอาชีพอื่นเปรียบเทียบ เรียกร้องให้ธุรกิจสื่อใส่ใจสุขภาวะของคนทำงานด้วย

            มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)       ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  

(สสส.) จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ป   “สุขภาวะสื่อมวลชนไทย ในกระแสความเปลี่ยนแปลง”   เมื่อวันที่ 25  ตุลาคม  2565   ณ โรงแรมแกรนด์  ฟอร์จูน กรุงเทพ รัชดา   โดยมี นางสาวศิริวรรณ นพรัตน์ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ เอฟเอ็ม102.5 MHz   เป็นผู้ดำเนินรายการ 

             นายศรีสุวรรณ ควรขจร  กรรมการกองทุน สสส.กล่าวเปิดการประชุมว่า สื่อมวลชนถือเป็นอีกภาคีเครือข่ายที่ สสส. เห็นถึงความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทในการให้ความรู้ รณรงค์ประเด็นปัจจัยเสี่ยงสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็เป็นอีกกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่และดื่มสุรา   ดังนั้น สสส. จึงได้สนับสนุนมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  ให้ดำเนินงานรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ ซึ่งมีสื่อมวลชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ และสะท้อนมุมมองของสื่อมวลชนต่อบทบาทการเป็นผู้ชี้นำสังคมสุขภาวะและร่วมลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ โดยเฉพาะบุหรี่และสุรา พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและครอบครัว  ซึ่ง มสส.ได้ดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มข้นทั้งการจัดประชุมโฟกัส กรุ๊ป ในประเด็นสุขภาวะที่สำคัญ การผลิตและเผยแพร่ข่าวกิจกรรมโครงการผ่านสื่อมวลชน การผลักดันให้สื่อมวลชนร่วมรณรงค์ประเด็นสุขภาวะทั้งภายในและภายนอกองค์กร การค้นหาสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนต้นแบบโดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการค้นหาสื่อมวลชนที่ต้องการลดการสูบบุหรี่ และการผลิตสื่อรณรงค์ในรูปแบบ คลิปวีดีโอ เพลง และมิวสิควีดีโอที่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาวะด้วย

               สำหรับทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 10 ปีข้างหน้า สสส. ยังเน้นการลดอัตราการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในส่วนของ การป้องกันนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่  การลด ละ เลิกทั้งการสูบบุหรี่และผู้ดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการดูแลสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  โดยทำหน้าที่ในการเชื่อม สาน และเสริมพลังให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะในสื่อมวลชนไทย ทั้งนี้ในอนาคตหากสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชนที่มีความสนใจในการดำเนินงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและร่วมขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรสามารถประสานงานกับทางมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ในการขอรับการสนับสนุนชุดความรู้และการให้คำแนะนำการจัดกิจกรรมในองค์กรต่อไป ดังนั้นการ ประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่จะได้ทราบถึงสถานการณ์สุขภาวะของสื่อมวลชนไทย และค้นหาคำตอบในเชิงลึกว่า “ผลจากการที่มีการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบที่ตามมาอย่างไร” รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็น “สุขภาวะสื่อมวลชนไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง” จะเป็นประโยชน์อย่างมากใน การวิเคราะห์และร่วมกันหาแนวทางสร้างเสริมสุขภาวะของสื่อมวลชนไทยในระยะต่อไป 

            นายอภิวัชร์ เกตุทัต  ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)   กล่าวขอบคุณสสส.ที่สนับสนุนให้ มสส.ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและองค์กรสื่อมวลชน จากการจัดกิจกรรมกับสื่อหนังสือพิมพ์  โทรทัศน์ วิทยุและออนไลน์  8  องค์กร ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนเป็นอย่างดี โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการสำรวจสถานการณ์สุขภาพของสื่อมวลชน โดยการจัดส่งแบบสอบถามไปยังกองบรรณาธิการรวม 160 ชุด ผลการสำรวจพบว่าสุขภาพส่วนใหญ่ 78.4 % ไม่มีโรคประจำตัว ส่วนอีก  21.6%  มีโรคประจำตัว โรคที่เป็นมากที่สุดคือภูมิแพ้   รองลงมาคือไวรัสตับอักเสบบี เกาต์และโรคข้อ    ส่วนใหญ่ 74.5% มีการตรวจสุขภาพประจำปีส่วนอีก25.5% ไม่ได้ตรวจ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเวลาและไม่ได้มีอาการป่วยอะไร เลยไม่ตรวจ  ขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 66.7% มีการออกกำลังกาย ส่วนอีก 33.3%  ไม่ออกกำลังกายส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่เหมาะสมและขี้เกียจ

        ส่วนพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เรื่องการสูบบุหรี่ซอง สื่อมวลชนส่วนใหญ่ 74.5% ไม่สูบบุหรี่ อีก 25.5 %  สูบหรือเคยสูบ  เหตุผลที่ไม่สูบส่วนใหญ่ 39.3%  ไม่ชอบกลิ่นบุหรี่ รองลงมา 37.7%  เห็นว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ความถี่ในการสูบส่วนใหญ่ 38.5%   สูบ 2-3  สัปดาห์ต่อซอง  รองลงมา 15.4% สูบ 2-3 วันต่อซอง ที่น่าสนใจส่วนใหญ่มากถึง 76.92%  คิดที่จะเลิกสูบ เพราะต้องการให้สุขภาพดี  รองลงมาจะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อถามว่าแล้วเลิกสูบบุหรี่ สำเร็จหรือไม่คำตอบที่ได้คือเลิกได้กับเลิกไม่ได้  คิดเป็น 50%  เท่ากัน      สาเหตุสำคัญที่เลิกไม่สำเร็จคือใจไม่แข็งพอ  ส่วนคนที่เลิกสำเร็จ 60% บอกว่าเพราะ เป็นความตั้งใจของตนเองที่จะเลิก ที่น่าสนใจคือสื่อส่วนใหญ่ 94.12% ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เหตุผลเพราะรู้ว่าผิดกฎหมาย  รองลงมาคือคนในครอบครัวไม่สูบ, เคยสูบแล้วปอดชื้น ส่วนคนที่สูบให้เหตุผลว่าไม่ต้องหาที่ ทิ้งก้นบุหรี่และเข้าใจว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

          สำหรับพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ 62.8%  ยังดื่มอยู่ ความถี่ในการดื่มนั้น 53.8%  ดื่ม เดือนละครั้ง  รองลงมาดื่มสัปดาห์ละครั้งและนานๆครั้ง    สถานที่ที่ดื่มส่วนใหญ่ดื่มที่บ้านตัวเอง   รองลงมาดื่มที่ร้านอาหาร และดื่มที่บ้านเพื่อน   คำถามสำคัญคือคิดจะเลิกดื่มหรือไม่ส่วนใหญ่ 71.88%   ไม่คิดจะเลิกดื่มเพราะดื่มปริมาณน้อย, ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย    ส่วนคนที่คิดจะเลิกดื่มมีถึง66.7%ที่เลิกไม่สำเร็จเพราะยังไม่ชนะใจตัวเอง  ด้านการพนันส่วนใหญ่ 64.7% ไม่เคยเล่นการพนัน แต่มีถึง 35.3%  เคยเล่นการพนัน และมีถึง 51.9% ซื้อลอตเตอรี่เพราะมองว่าไม่ผิดกฎหมายไม่ใช่การพนันรองลงมาคือหวยใต้ดิน  ส่วนการเกิดอุบัตินั้นส่วนใหญ่ 80.4%ไม่เคยประสบอุบัติเหตุ คนที่เคยเกิดอุบัติเหตุสาเหตุหลักมาจากขับรถด้วยความเร็ว  ตามด้วยผู้ใช้รถร่วมทางประมาท

              นายอภิวัชร์ได้สรุปปิดท้ายว่า จากข้อมูลที่ได้ จึงมีข้อเสนอถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วนด้วยกันคือ หนึ่ง ข้อเสนอในการทำงานกับองค์กรสื่อมวลชน  ควรรณรงค์ให้องค์กรสื่อมวลชนกำหนดให้เป็นนโยบาย หรือมาตรการองค์กรในการตรวจสุขภาพประจำปีที่จัดให้พนักงานทุกคน ควรจะจัดให้มีพื้นที่ออกกำลังกาย การแก้ปัญหาโรคภูมิแพ้ การมีมาตรการองค์กร การรณรงค์ และหากสื่อต้องการเลิกบุหรี่ แอลกอฮอล์จะเติมเทคนิคเอาชนะใจตัวเองได้อย่างไร รวมทั้งการรณรงค์เรื่องการพนันและอุบัติเหตุด้วย   สอง ข้อเสนอในการทำงานกับกองบรรณาธิการสื่อทั้ง 4 ประเภท โดยเสนอให้เข้าร่วมกิจกรรมของภาคี ร่วมสื่อสารสาธารณะ รณรงค์และขับเคลื่อนมาตรการและนโยบายสาธารณะด้านสุขภาวะในทุกระดับ และสามคือ ข้อเสนอต่อภาคีและ สสส.ด้วยการสื่อสารอย่างใกล้ชิดทันท่วงทีหรือยามที่ต้องการข้อมูลหรือองค์กรไปหนุนเสริม รวมทั้งจัดการประชุมร่วมกัน เพื่อสร้างแกนนำและสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาวะในทุกมิติซึ่ง มสส.พร้อมเป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกัน

           ด้านนายสมหมาย  ปาริจฉัตต์  คอลัมนิสต์อาวุโส รองประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าผลการสำรวจทำให้เรารู้ความจริงว่าการที่เราไม่ตรวจสุขภาพประจำปีเพราะเห็นว่ายังไม่เป็นโรคอะไร การไม่ออกกำลังกายโดยอ้างว่าไม่มีเวลา หรือการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์แล้วอยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้เพราะใจไม่แข็งพอสื่อเองก็รู้ตัวเองแต่คำถามคือทำไมถึงทำไม่ได้  สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่กระทบกับสื่อมวลชน  ผลสำรวจครั้งนี้ระบุชัดว่าสื่อมวลชนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นสื่อออนไลน์ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง แข่งกันที่ความเร็วเป็นหลัก จึงเกิดคำถามว่าเป็นปัจจัยที่กระทบต่อสุขภาวะของสื่อมวลชนมากกว่าสื่อยุคเก่าหรือไม่ จึงอยากเสนอว่านอกจากการสำรวจปัญหาสุขภาวะทางกายแล้ว อยากให้เพิ่มการสำรวจสุขภาวะทางใจ และสุขภาวะทางปัญญาด้วย โดยเฉพาะสื่อมวลชนควรจะต้องสร้างปัญญาให้กับสังคม อย่างเช่นการนำเสนอข่าวสาร ก็ควรนำเสนอข่าวสารในเชิงสืบสวน สอบสวน ค้นหาสาเหตุของปัญหา และอยากจะให้สอบถามสื่อมวลชนเหมือนกันว่า “นิยามของคำว่าความสุข คืออะไร” นอกจากนี้อยากเสนอให้มีการสำรวจสุขภาวะของอาชีพอื่นๆด้วยเพื่อเปรียบเทียบว่าสุขภาวะของสื่ออยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป ต่ำกว่าหรือสูงกว่า   จะทำให้รู้ว่าสุขภาวะสื่ออยู่ในระดับใด ดี ปานกลาง ต่ำ  รุนแรง น่ากังวลหรือไม่  และอยากให้ตัวสื่อมวลชน องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพ องค์กรธุรกิจสื่อให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานสื่อแล้วจะส่งผลต่อคุณภาพของงานในองค์กร เป็นประโยชน์ต่อของสังคมด้วย .  

            หลังจากนั้นสื่อมวลชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น นายจิระพงษ์ เต็มเปี่ยม  หัวหน้าข่าวหน้า 1 นสพ.แนวหน้า เสนอว่า อยากจะให้เพิ่มเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม และยอมรับว่าปัจจุบันคนทำสื่อมีความเครียดจากการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ ขณะที่ นายเทพสิทธิ์ โมฬีชาติ บรรณาธิการบริหาร เสนอว่า ทำอย่างไรถึงจะให้สื่อมวลชน และสังคมเห็นว่า ปัญหาเรื่องบุหรี่ แอลกอฮอล์ และการพนัน เป็นเรื่องไม่ธรรมดา มิฉะนั้นทุกคนจะเคยชิน การคุกคามของเทคโนโลยี ส่งผลให้นักข่าวทุกคนเกิดความเครียด ต้องทำงานทุกอย่างครบวงจร จนกลายเป็นนักธุรกิจสื่อไปแล้ว คุณแวววยุลี ลุ่มร้อน บก.ข่าวเศรษฐกิจ จากไทยรัฐทีวี กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์ก็มีความเครียด เนื่องจากจะต้องดูเรทติ้งจากคนชมเป็นหลัก วันไหนเรทติ้งตกก็เกิดความเครียด ส่วนความสุขของคนทำสื่ออย่างหนึ่ง ก็คือ ถ้าปลายปีมีเงินโบนัส หรือเงินเดือนเพิ่มขึ้น นั่นก็คือความสุขแม้จะเกิดความเครียดก็ตาม ด้านนายถวัลย์ ไชยรัตน์ ผู้จัดการส่วนสนับสนุนงานสถานีวิทยุ บมจ. อสมท.  กล่าวว่า สื่อต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพตัวเอง ทำให้ชีวิตมีความสุขในหลายมิติ อยากให้นำเรื่องศาสนาพุทธ เรื่องสมาธิเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อใจมีความสุข กายก็จะมีความสุขด้วย